Skip to main content

29 เม.ย. ณ mirror Art มูลนิธิกระจกเงาและภาคีเครือข่ายด้านคนพิการจัดงานเสวนาในหัวข้อเรื่อง “เลือกตั้งพิการ 66” : สิทธิในการเลือกตั้งและนโยบายพรรคการเมือง” ในวงแรกเป็นการพูดคุยกับคนพิการในด้านต่างๆ ถึงปัญหาที่ต้องเจอในการเลือกตั้งและข้อเสนอนโยบายที่หวังให้พรรคการเมืองนำไปปฏิบัติ โดยมีสุนทร สุขชา คนพิการทางสายตาและตัวแทนสมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย ศุภวัฒน์ เสมอภาค คนพิการทางการเคลื่อนไหว และอธิพันธ์ ว่องไว คนพิการทางการเคลื่อนไหว เป็นผู้ร่วมเสวนา 

ติดตามเสวนาย้อนหลังได้ที่ https://www.facebook.com/mirrorf/videos/981472546546163

สุนทร สุขชา คนพิการทางสายตาและตัวแทนสมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ทุกวันนี้กระบวนการแจกจ่ายเครื่องมือจนไปถึงเลือกตั้ง เช่น เขตการเลือกตั้งที่ กกต. ได้มีการจัดพื้นที่ที่คนพิการและผู้สูงอายุเข้าถึง ส่วนใหญ่ก็จัดในจังหวัดใหญ่ๆ ที่คาดการณ์ว่ามีผู้สูงอายุและคนพิการอยู่ ทั้งที่จริงแล้วควรจัดให้ทุกเขตสามารถเข้าถึงได้ไม่ใช่เฉพาะเขตหนึ่งเขตใด 

แม้ว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง มาตรา 92 ระบุว่า หากคนพิการหรือผู้ทุพพลภาพไม่สามารถกาบัตรด้วยตัวเอง ก็สามารถให้มีผู้แทนช่วยกาได้ แต่ต้องเป็นไปตามเจตนารมณ์ของคนพิการ แต่โดยความเป็นจริงแล้ว การให้คนอื่นกาให้ก็ไม่เท่ากับการที่เราได้กาเอง เพราะถ้าเราได้ทำเองเราจะได้รู้และมั่นใจในสิ่งที่เราทำลงไป เพราะฉะนั้นสิ่งที่กกต.ควรจะทำคือทำให้คนพิการสามารถเข้าถึงสิทธิการเลือกตั้งด้วยตัวเองให้ได้ หากเป็นคนพิการทางสติปัญญาก็ให้ผู้อนุบาลใช้ดุลพินิจแทนได้ นี่เป็นสิ่งที่อยากจะถาม กกต.แต่เสียดายไม่มา 

วันนี้ตนชื่นชมที่หลายพรรคการเมืองดึงคนพิการเข้าไปมีบทบาทในการทำงานนโยบาย รวมถึงเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ถือได้ว่าคนพิการมีพลังในการเข้าไปเป็นหุ้นส่วนของการขับเคลื่อนนโยบาย ตนเชื่อว่าในอนาคตคนพิการก็จะสามารถแสดงศักยภาพให้แต่ละพรรคการเมืองยอมรับได้มากกว่านี้ แม้วันนี้จะยังถูกมองว่าเป็นไม้ประดับ แต่เชื่อว่าจะผลิบานในอนาคต 

นโยบายที่อยากฝากไปถึงพรรคการเมือง เรื่องแรกคือเบี้ยความพิการที่วันนี้ตนยังคาใจอยู่ เพราะวันนี้คนพิการบางคนก็ได้รับ 1,000 บาท บางคนก็ได้รับ 800 บาท วันนี้นโยบายใหม่หลายพรรคการเมืองจะให้เบี้ยความพิการ 3,000 บาท จะกี่พันก็ดีทั้งนั้น แต่ที่สำคัญคือต้องถ้วนหน้า ไม่เลือกปฏิบัติ คนพิการทุกคนควรได้เท่ากัน ต่อมาคือเรื่องของการจ้างงานคนพิการ วันนี้เอกชนสามารถจ้างงานคนพิการตามกฎหมายได้ครบแล้ว แต่ในส่วนของภาครัฐยังไม่ได้จ้างงานคนพิการอีก 16,000 กว่าตำแหน่ง วันนี้ถ้าพรรคการเมืองไหนชูเรื่องนี้ก็จะเป็นประโยชน์มากกับคนพิการ

ในเรื่องของการปรับสภาพแวดล้อมให้ทุกคนเข้าถึงได้สะดวกก็เป็นสิ่งที่ควรจะทำไม่ว่าจะเป็นทางกายภาพ ลิฟต์หรือทางลาดหรือทางดิจิตอลหรือเทคโนโลยี ก็ควรให้คนพิการที่มีข้อจำกัดสามารถเข้าถึงได้ทุกคน เราก็จะได้เห็นคนพิการออกไปใช้ชีวิต 

สุดท้ายแล้วทั้งหมดที่กล่าวมาจะสามารถทำจริงได้เมื่อมีกฎหมายที่สอดรับกับการปฏิบัติ การแก้ไขกฎหมายพระราชบัญญัติส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนพิการควรจะเกิดขึ้น ซึ่งวันนี้กรมส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการได้ให้ความเห็นชอบกับกฎหมายนี้แล้วก็หวังว่าในการประชุมสภาสมัยหน้าจะได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกสภาเช่นกัน 

ศุภวัฒน์ เสมอภาค คนพิการทางการเคลื่อนไหว กล่าวว่า ถ้าถามว่าวันนี้เลือกตั้งของคนพิการเหมาะสมหรือยังก็อาจจะพูดได้ว่ายัง แต่วันนี้ก็เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้นแล้วหลังจากที่หน่วยงานด้านคนพิการได้พยายามเข้าไปผลักดัน ปัจจุบันเข้าใจว่า กกต.ไม่ได้มีอำนาจในการไปสั่งให้มีการปรับปรุงสถานที่ กกต.มีสิทธิที่จะเตรียมอุปกรณ์ในการอำนวยความสะดวก เช่น โต๊ะที่คนพิการสามารถเข้าไปกาในคูหาได้  หรือบัตรทาบที่มีการเจาะช่องให้กับคนตาบอดสามารถกาได้ 

วันนี้เราได้มีการจัดทำเช็คลิสต์สำหรับการเลือกตั้งของคนพิการ ว่า กกต.ควรมีการจัดการเลือกตั้งอย่างไรที่จะอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ ไม่ว่าจะเป็นช่วงก่อนการเลือกตั้ง ระหว่างการเลือกตั้ง และหลังการเลือกตั้ง ซึ่งได้มีโอกาสทำร่วมกับ กกต.ตั้งแต่ปี 2560 สิ่งเหล่านี้ก็เป็นเครื่องยืนยันถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น แต่ถามว่าสะดวกแล้วใช่ไหม เราก็ต้องไปลุ้นกันที่หน้าคูหาในวันเลือกตั้งจริงเท่านั้น

ต้องยอมรับว่าคนพิการมีเงื่อนไขและอุปสรรคมากกว่าคนอื่นเช่น การเดินทาง หน้าที่ของพวกเราคือติดตามและตรวจสอบว่า กกต.ได้จัดเตรียมไว้เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับคนพิการหรือเปล่า หากคนพิการเจอปัญหาหน้าคูหาเลือกตั้งก็ควรจะต้องยืนยันสิทธิ์ในเจตนารมณ์ตัวเอง ว่าเราต้องการอะไรหรือความช่วยเหลืออย่างไร ต้องเข็นเข้าไปในคูหาไหม คนพิการทางจิต กฎหมายเคยระบุว่าไม่สามารถเลือกตั้งได้  แต่ถ้าเขาควบคุมสติตัวเองและสามารถเข้าไปเลือกตั้งได้ก็ควรเป็นสิทธิของเขา 

อยากฝากไปถึงสมาชิกผู้แทนราษฎรทุกคนว่า ทุกคนมีหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับคนพิการทั้งนั้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการออกกฎหมายทางตรงหรือทางอ้อม อยากให้มีการสอบถามความคิดเห็นของคนพิการก่อนผ่านกฎหมายต่างๆ บ้าง  เพราะหลายครั้งที่มีการออกกฎหมายเรื่องคนพิการก็ได้กฎหมายที่ไม่ตรงใจกับคนพิการหรือกฎหมายที่คนพิการเสนอเข้าไปก็ไม่ได้รับการจัดทำอย่างที่เจตนารมณ์ของคนเสนอเข้าไป 

อธิพันธ์ ว่องไว คนพิการทางการเคลื่อนไหว กล่าวว่าวันนี้หน่วยเลือกตั้งก็ยังถือว่าไม่เหมาะสมกับทุกคน วันนี้มีแค่ 28 หน่วยเลือกตั้งที่คนพิการสามารถไปใช้ได้ ทั้งที่ประเทศไทยมีคนพิการเกือบ 2 ล้านกว่าคน และปัญหาของคนพิการทางร่างกายก็มี อย่างตัวผมสามารถกาได้ แต่จะกาให้ตรงช่องเลยก็ไม่ง่ายแล้วก็อาจจะกลายเป็นบัตรเสีย ในต่างประเทศก็มีการให้ทำเป็นสัญลักษณ์อย่างอื่นก็เป็นการใช้สิทธิได้เหมือนกัน เป็นปัญหาที่จะต้องคุยต่อ 

วันนี้คนพิการติดเตียง ก็ยังไม่สามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ เพราะข้อกฎหมายบอกว่าการเลือกตั้งจะเกิดได้ก็ต่อเมื่อมากาที่คูหาเท่านั้น วันนี้หลายประเทศมีทางเลือกอื่นแล้วเช่น ส่งไปรษณีย์ให้คนไปกาที่โรงพยาบาลหรือในเรือนจำ หรือมีหน่วยเคลื่อนที่เข้าไปช่วยเหลือในการอำนวยความสะดวกการเลือกตั้ง ซึ่งวันนี้ประเทศไทยก็ยังไม่มี เราเคยไปคุยกับกกต. ซึ่งกกต.บอกว่าตนก็สนใจแต่พรรคการเมืองไม่โอเคเพราะมองว่าจะเป็นการทุจริต ตนก็มองว่าสามารถสร้างกระบวนการตรวจสอบที่โปร่งใสได้เพราะวันนี้เทคโนโลยีค่อนข้างไกลแล้ว 

อยากเห็นคนพิการเข้าไปมีบทบาทในการทำงานนโยบายมากขึ้น วันนี้เราเห็นคนพิการสมัครเป็น ส.ส.ทั้งแบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อ ผมอยากเห็นกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับคนพิการมีคนพิการเข้าไปมีบทบาทนำเพราะคนพิการก็จะเข้าใจปัญหาของคนพิการเอง วันนี้อาจจะต้องเริ่มต้นจากการที่ฝ่ายการเมืองเปิดใจและรับฟังปัญหาจากคนพิการจริงๆ มองถึงความถ้วนหน้าไม่ใช่แค่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง สวัสดิการสงเคราะห์ที่ทำให้คนไม่เท่ากันควรจะต้องเปลี่ยนให้ได้