Skip to main content

29 เม.ย. ณ mirror Art มูลนิธิกระจกเงาและภาคีเครือข่ายด้านคนพิการจัดงานเสวนาในหัวข้อเรื่อง “เลือกตั้งพิการ 66” : สิทธิในการเลือกตั้งและนโยบายพรรคการเมือง” ในวงที่ 2 นั้นพูดคุยเรื่องนโยบายพรรคการเมืองด้านคนพิการ โดยเชิญตัวแทนพรรคการเมืองต่างๆ มาพูดคุย ได้แก่ สุริยา แสงแก้วฝั้น พรรคสามัญชน, พชร วอแพง พรรคเสมอภาค, ศิริพงษ์ นานคงแนบ พรรคก้าวไกล, รัชฎาภรณ์ แก้วสนิท พรรคประชาธิปัตย์, วรกร ไหลหรั่ง พรรคไทยชนะ, สวิชญา วาทะพุกกะณะ พรรคชาติพัฒนากล้าและพัชรนันท์ นิธิยศจิระโชติ พรรคไทยสร้างไทย

สุริยา แสงแก้วฝั้น พรรคสามัญชน

สุริยากล่าวว่า ประชาธิปไตยจะต้องมีรากฐานเรื่องสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียม  พรรคเล็งเห็นถึงความสำคัญของคนทุกกลุ่ม ทุกชนชาติ เพราะชาติมาจากคนธรรมดา และต้องมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เสมอกัน ดีใจที่คนพิการเข้ามามีบทบาททางการเมือง โดยเฉพาะการเลือกตั้งปีนี้คนพิการเข้าไปสังกัดพรรคการเมืองแต่ละพรรค แสดงให้เห็นว่าแนวคิดพรรคการเมืองจะต้องโอบรับคนพิการเข้าไป ไม่ว่าจะเป็นการผลักดัน แก้ไข หนุนเสริมนโยบายต่างๆ ที่ดีกับคนพิการ เช่นเดียวกันพรรคสามัญชนก็เป็นพรรคการเมืองที่มีคนพิการเป็นตัวแทน 

พรรคมีนโยบายที่เกี่ยวข้องกับคนพิการหลายเรื่อง เช่น การส่งเสริมให้คนพิการมีงานทำ ตามความถนัดและศักยภาพของตัวเอง เพราะการมีงานทำเป็นเรื่องสำคัญในการดำรงชีวิต สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทหน้าที่ของพลเมืองที่มีศักดิ์และศรีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน นอกจากนี้ยังมีนโยบายในการส่งเสริมการศึกษา คนพิการต้องเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียมและเท่าทันกับโลกโลกาภิวัตน์ ต้องส่งเสริมการมีส่วนร่วมในภาคประชาสังคมและการเมืองของคนพิการในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ หรือในระดับจังหวัด ประเด็นสำคัญคือเรื่องของเบี้ยความพิการ ทุกคนควรเข้าถึงเบี้ยความพิการอย่างเท่าเทียม 

“เราจะยกเลิกแนวคิดอุปถัมภ์ เพราะแนวคิดนี้สะท้อนให้เห็นถึงการสงเคราะห์ในสังคมไทย เปลี่ยนเป็นแนวคิดสวัสดิการทางสังคมที่เสมอภาคและเท่าเทียมกัน” 

ปัจจุบันคนพิการได้เบี้ย 800 บาทต่อเดือน ถ้าอยากให้คนพิการดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีเงินจำนวนนี้ไม่เพียงพอ สิ่งสำคัญคือการส่งเสริมรัฐสวัสดิการที่ทุกคน ทุกชนชั้นจะต้องเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม วิธีการก็คือผลักดันกฎหมายรัฐสวัสดิการให้เข้าสู่สภาให้ได้มากที่สุด 

ในเรื่องผู้ช่วยคนพิการพรรคสามัญชนมองว่า คนพิการควรมีชีวิตอิสระ เพราะฉะนั้นผู้ช่วยคนพิการจึงจำเป็นสำหรับคนพิการหลายคน โดยเฉพาะคนพิการรุนแรงหรือคนพิการที่เป็นผู้ป่วยติดเตียง และเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดผู้ช่วยคนพิการมากกว่านี้ รวมถึงผลักดันให้อาชีพผู้ช่วยคนพิการกลายเป็นวิชาชีพ มีเกียรติและศักดิ์ศรี มีค่าตอบแทนที่เป็นธรรม และมีการฝึกอาชีพให้มีมาตรฐานและผลักดันศักยภาพของผู้ทำงานให้มากขึ้นอยู่เสมอ รวมถึงเข้าใจถึงเจตจำนงของคนพิการซึ่งเป็นหัวใจหลักของการทำงานผู้ช่วยคนพิการ 

พชร วอแพง พรรคเสมอภาค

พชรกล่าวถึงนโยบายพรรคเสมอภาคว่า มีนโยบายที่จะดูแลประชาชนโดยเฉพาะคนพิการผ่านพระราชบัญญัติสวัสดิการประชาชน เช่น มารดาคลอดบุตรจะต้องมีเงินใช้ก่อนและหลัง 12 เดือน เดือนละ 2,000 บาท รวมถึงสนับสนุนเด็ก 0-6 ปีเดือนละ 3,000 บาท เพิ่มเบี้ยยังชีพคนพิการ เดือนละ 3,000 บาท รวมถึงผู้สูงอายุ ก็เดือนละ 3,000 บาท 

เขาระบุว่า แม้คนพิการมีโอกาสน้อยนิด แต่คนอย่างตนก็ไม่ย่อท้อเพราะเป็นคนไม่ยอมแพ้ ถ้าตั้งใจแล้วก็จะทำแม้ว่าจะลำบาก พรรคเสมอภาคจะสร้างโอกาสให้กับทุกคน ทุกวัย ทุกชนชั้นและทุกเพศสภาพ 

“คนพิการหลายคนยังปิดตัวเอง มีคนพิการเพียงไม่กี่คนที่ออกมาต่อสู้กับโลกภายนอก ส่วนมากก็ยังอยู่ในบ้าน หลายคนไม่มีงานและรอความช่วยเหลือเพียงอย่างเดียว” 

เรื่องคนพิการกับการเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะ พชรมีความเห็นว่า ขนส่งสาธารณะหลายอย่างยังไม่สะดวกกับคนพิการ ไม่ว่าจะเป็นรถเมล์หรือรถไฟ ต่างจังหวัดก็ยังไม่มีขนส่งสาธารณะ สภาพเหล่านี้ไม่เอื้ออำนวยให้คนพิการได้ใช้ชีวิตในสังคม สิ่งที่ทำได้คือการสร้างจิตสำนึกว่าคนพิการก็มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แต่สังคมยังมองว่าคนพิการน่าสงสารเป็นภาระ รัฐก็ควรต้องออกกฎหมายในการบังคับใช้ให้เกิดขนส่งสาธารณะที่คนพิการใช้งานได้จริง ในทุกแพลตฟอร์มเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับคนพิการ

ในเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวก พชรมองว่า หากจะต้องออกกฎหมายเพื่อบังคับใช้เอกชนให้ทำสิ่งอำนวยความสะดวกก็เป็นการลิดรอนเสรีภาพ ถ้าบังคับใช้กฎหมายกระแสก็จะตีกลับมาที่คนพิการ สิ่งที่ทำได้คือการรณรงค์สร้างจิตสำนึกมากกว่า 

ศิริพงษ์ นานคงแนบ พรรคก้าวไกล

ศิริพงษ์กล่าวว่า ในอดีตที่ผ่านมาคนพิการส่วนใหญ่เป็นไม้ประดับทางการเมือง แต่พรรคก้าวไกลแตกต่าง สภาชุดที่แล้วพรรคก้าวไกลเป็นพรรคแรกที่มีคนพิการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่ผ่านมาพรรคพยายามผลักดันนโยบายเบี้ยคนพิการ 3,000 บาท และผู้สูงอายุ 3,000 บาท และนโยบายสวัสดิการนักกีฬาพิการและไม่พิการที่จะต้องเท่าเทียมกัน แต่เนื่องจากตนเป็นพรรคฝ่ายค้านจึงยังไม่สามารถทำอะไรได้มาก ก็หวังว่าในการเลือกตั้งครั้งนี้จะได้มีโอกาสเป็นรัฐบาลเพื่อเข้าไปผลักดันนโยบายคนพิการให้สำเร็จ 

“นโยบายด้านคนพิการของก้าวไกลมีหลายข้อ ข้อแรกคือเบี้ยคนพิการ 3,000 บาทถ้วนหน้า โดยที่มาของงบประมาณคือการรีดคืนธุรกิจจากกองทัพ ปรับงบประมาณกลางรวมถึงงบที่ไม่จำเป็นต่างๆ นำมาเติมในส่วนของสวัสดิการประชาชน” 

เรื่องเบี้ยคนพิการ ตนเห็นว่าเงินจำนวนนี้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตจริง จึงเสนอนโยบายเพิ่มเป็น 3,000 บาทถ้วนหน้า รวมถึงระบบดูแลผู้ช่วยคนพิการและผู้ป่วยติดเตียง วันนี้ยังมีหลายคนไม่มีผู้ดูแล ลูกหลานหลายคนต้องออกไปทำงาน จึงควรมีสวัสดิการสำหรับผู้ป่วยติดเตียงให้สามารถจ้างผู้ดูแลได้เดือนละ 9,000 บาท หรือจะให้ลูกหลานกลับมาดูแลและมีรายได้ก็ได้ และนอกจากนี้มีนโยบายเพิ่มผู้ช่วยคนพิการ และมองว่าจะต้องมีการเพิ่มค่าตอบแทนให้สมเหตุสมผลด้วย 

รัชฎาภรณ์ แก้วสนิท พรรคประชาธิปัตย์

รัชฎาภรณ์กล่าวว่า ตนเคยมีบทบาทเข้าไปร่วมเสนอรัฐธรรมนูญที่ส่งเสริมบทบาทของผู้หญิงและกลุ่มเปราะบาง และมีบทบาทในพรรคเกี่ยวกับการรับเรื่องร้องเรียนที่มาจากกลุ่มเปราะบาง ซึ่งก็ทำให้ตนมีความเข้าใจเรื่องนี้มากขึ้น ที่ผ่านมาพรรคประชาธิปัตย์ก็ได้มีโอกาสไปดูแลในส่วนของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 

เรื่องของเบี้ยความพิการตนเห็นด้วยที่คนพิการจะต้องได้เบี้ยเท่าเทียมถ้วนหน้า รวมถึงจะต้องปรับสภาพแวดล้อมให้เข้าถึงได้ เรื่องการรวมกลุ่มสมาคมคนพิการก็เป็นเรื่องที่ดีแต่ต้องระวังไม่ให้เกิดการเอาเปรียบสมาชิกภายในชมรม จนเกิดการทุจริตในสมาคมหลายแห่งอย่างที่เป็นข่าว 

เรื่องขนส่งสาธารณะ รัชฎาภรณ์กล่าวว่า วันนี้จะต้องเร่งสร้างความเข้าใจให้คนเรื่องหลักการความเท่าเทียม เช่น ต้องมีทางลาดบนรถเมล์ที่เข้ามาเทียบพอดีกับฟุตบาทแบบในต่างประเทศ ทำให้ทุกคนสามารถใช้บริการรถเมล์ได้ เราต้องทำให้ทุกบริการเข้าถึงได้ทุกคน 

“บางคนบอกคนพิการว่า บางที่ก็ทำสิ่งอำนวยความสะดวกไม่ได้ คนพิการไม่ต้องมา เราต้องเปลี่ยนวิธีคิด ทำให้เกิดความเท่าเทียม สิ่งอำนวยความสะดวกและพื้นที่สาธารณะต่างๆ ต้องใช้ได้เท่าเทียมกัน ถ้าทำทางลาดที่คนพิการใช้ได้ คนที่ไม่พิการก็ใช้ได้” 

เรื่องการเข้าถึงอาคารและสิ่งอำนวยความสะดวก รัชฎาภรณ์มองว่าวันนี้ก็ยังมีปัญหาอยู่มากแม้กระทั่งอาคารสถานที่ของหน่วยงานราชการหลายที่ก็ยังไม่อำนวยความสะดวกกับคนพิการ หลายคนคิดว่าเอกชนบังคับไม่ได้ แต่แท้จริงแล้วถ้ามีการออกกฎระเบียบที่ชัดเจนเป็นกฎหมาย ก็สามารถใช้บังคับได้เหมือนกัน สิ่งที่ควรทำก็คือเข้มงวดในระเบียบกฎกติกา หน่วยงานของรัฐควรต้องทำก่อนเพื่อเป็นตัวอย่างให้กับเอกชน 

วรกร ไหลหรั่ง พรรคไทยชนะ

วรกรกล่าวว่า ตนมีบทบาทในกลุ่มงานด้านขนส่งสาธารณะและงานด้านกฎหมายของคนพิการมาตลอด มีทั้งประสบการณ์และความรู้ที่เป็นประโยชน์กับงานคนพิการ แต่วันนี้จะเปลี่ยนมาทำงานในบทบาทของคนลงมือทำนโยบายบ้างเพื่อแก้กฎหมายทำในสิ่งที่คนพิการบางคนคิดว่าเป็นไปไม่ได้ 

คนพิการไม่ควรจะนั่งรอให้ใครมาหยิบยื่นโอกาสแม้กระทั่งวันนี้หน่วยงานและองค์กรด้านคนพิการเอง แม้กระทั่งองค์กรของรัฐที่ดูแลคนพิการโดยตรงบางครั้งก็เกียร์ว่าง เรื่องเหล่านี้ควรจะได้รับการขันน็อตและขยับสักที ซึ่งพรรคไทยชนะจะเข้าไปมีบทบาทในเรื่องนี้ให้ได้ ประเทศไทยมีกฎหมายคนพิการมากมาย ทั้งพระราชบัญญัติกฎหมายลูกต่างๆ แต่กลับใช้งานจริงไม่ได้เพราะไม่สอดรับกับความเป็นจริง 

ในเรื่องการจ้างงานคนพิการเขามองว่า วันนี้เอกชนจ้างงานคนพิการตามกฎหมายแล้วแต่ภาครัฐยังไม่ยอมจ้าง แถมเงินที่ถูกส่งเข้ากองทุนคนพิการก็ไม่สามารถเอาออกมาใช้งานได้อย่างที่ควรจะเป็น แถมก่อนหน้านี้ภาครัฐพยายามเอาเงินจากกองทุนคนพิการไปใช้ 2 พันล้านบาท ซึ่งคนพิการก็ต้องรวมกันไปฟ้องเพื่อเอากลับมา กฎหมายคนพิการไทยร่างเอาไว้สวยหรูแต่ในทางปฏิบัติกลับตรงกันข้ามแม้กระทั่งภาครัฐเอง

“สิ่งเหล่านี้เกิดจากกฎหมายที่ร่างไว้สวยหรู แต่ในกระทรวง ทบวง กรมไม่มีการขันน็อต กระทรวงแรงงานเคยติดตามการจ้างงานคนพิการไหม ทำไมคนพิการถูกเลิกจ้างหรือถูกกระทำไม่ชอบด้วยกฎหมายถึงไม่มีใครดูแล” 

เรื่องการศึกษาของคนพิการ วรกรระบุว่า สภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยให้กับคนพิการก็มีผลกระทบมาถึงเรื่องของการศึกษา เพราะคนพิการไม่สามารถเดินทางไปเรียนหนังสือหรือออกไปใช้ชีวิตประจำวันได้ คนพิการบางคนเข้าไปเรียนในระบบการศึกษาก็โดนกลั่นแกล้งหรือบูลลี่ พรรคไทยชนะสนใจการเรียนในระบบทางไกลเพื่อให้คนพิการสามารถเรียนอยู่ที่บ้านได้และมีทางเลือกตามที่ตัวเองสนใจ 

สวิชญา วาทะพุกกะณะ พรรคชาติพัฒนากล้า

พรรคชาติพัฒนากล้าเชื่อว่า คนทุกคนต้นทุนชีวิตไม่เท่ากัน แต่พรรคจะเสริมโอกาสให้คนตัวเล็กๆ มีต้นทุนเท่ากับคนอื่นให้ได้มากที่สุด พรรคมีนโยบายเรื่องอารยะสถาปัตย์ คือให้งบประมาณในการปรับปรุงซ่อมแซมบ้าน  50,000 บาทต่อหลัง เพราะจากสถิติมีผู้สูงอายุและคนพิการประสบอุบัติเหตุภายในบ้านประมาณ 3 ล้านคนต่อปี นำเงินส่วนนี้ไปปรับปรุงบ้าน ติดกระเบื้องกันลื่น หรือทำราวจับเพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับคนในบ้าน รวมถึงทางลาดเพื่อจะได้เดินทางเข้าบ้านสะดวก 

สวิชญากล่าวว่า พรรคไม่มีนโยบายในการตัดหรือโยกงบประมาณ แต่มีการตั้งเป้าหมายในการหาเงินเข้าประเทศ 5 ล้านล้านบาทจากนโยบายเศรษฐกิจ 7 เฉดสี เช่น ในเฉดสีเทาเราปฏิเสธไม่ได้ว่าบ่อนการพนันเป็นสิ่งที่ไม่มีในสังคม เราจะเปลี่ยนให้เป็น Entertainment Complex สร้างการมีงานทำมากขึ้นรวมถึงคนพิการ 

ในเรื่องของการจ้างงาน สวิชญา กล่าวว่าตนอยากเห็นชื่อของคนพิการทุกคนอยู่ในระบบฐานข้อมูล และเชื่อมโยงระหว่างกระทรวงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุขหรือกระทรวงพาณิชย์ เวลาที่ทำนโยบายหรือผลักดันเรื่องต่างๆ ก็สามารถใช้ข้อมูลร่วมกันได้ทันที แล้วก็จะสามารถผลักดันคนพิการเข้าสู่ระบบงานได้มากขึ้น 

“ควรจะผลักดันให้คนพิการได้มีโอกาสเรียนตามสิ่งที่ตนเองสนใจ เพิ่มผู้เชี่ยวชาญและผู้ชำนาญการ เข้าไปในระบบของการสนับสนุนการศึกษาของคนพิการ เช่น ล่ามภาษามือ”  

พัชรนันท์ นิธิยศจิระโชติ พรรคไทยสร้างไทย

มีนโยบาย 3 ป. ก็คือปราบปราม ปรับปรุง และเปลี่ยนแปลง ในเรื่องกฎหมายจ้างงานคนพิการตามพ.ร.บ.ส่งเสริมฯ มาตรา 33 และ 35 นั้นกระจุกอยู่กับกลุ่มคนพิการไม่กี่คน และมีการทุจริต ส่วนนี้ควรจะต้องปราบปราม ปรับปรุงก็คือปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกให้คนพิการสามารถเข้าถึงได้ เปลี่ยนแปลงก็คือเรื่องของสวัสดิการของคนพิการที่จะต้องเปลี่ยนเป็น 3,000 บาทถ้วนหน้า 

จากการลงพื้นที่ตนเห็นว่า คนพิการมีปัญหาหลายเรื่องโดยเฉพาะการกู้ยืมเงิน ซึ่งมีเงื่อนไขมากมายไม่ว่าจะเป็นการต้องให้ผู้ใหญ่บ้านหรือกำนันเป็นผู้เซ็นรับรอง ทำให้เกิดความยุ่งยากก็ควรจะต้องเปลี่ยนแปลงเพื่อให้คนพิการเข้าถึงการกู้เงินได้ง่ายมากขึ้นเพื่อเอาเงินไปใช้ดำรงชีวิตประจำวัน 

เรื่องการจ้างงานคนพิการ เธอระบุว่า จะสำรวจความต้องการเรื่องงานของคนพิการให้มากขึ้นและจะปราบปรามคนที่เอารัดเอาเปรียบและทุจริตการจ้างงานคนพิการที่กำลังมีอยู่ 

เรื่องการศึกษาของคนพิการ พัชรนันท์มองว่า จะต้องสร้างความเข้าใจเรื่องความพิการให้กับครูเพื่อส่งต่อไปยังนักเรียนที่ไม่มีความพิการได้เข้าใจด้วยเช่นกัน เพื่อให้เด็กพิการสามารถเข้าสู่ระบบการศึกษาทั่วไปได้ 

“สิ่งที่อยากเน้นย้ำคือ ปัญหาเรื่องคนพิการก็ควรให้คนพิการเป็นผู้ออกนโยบายเพื่อแก้ไขเพราะคนพิการคือคนที่เข้าใจได้ดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวก การศึกษาหรือการเข้าถึงบริการสุขภาพ”

<--break->