Skip to main content

หากนึกถึงพรรคการเมืองพรรคใหญ่ หนึ่งในนั้นคงหนีไม่พ้นพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นพรรคที่เป็นที่รู้จักของใครหลายคนรวมทั้งคนพิการ ชวนอ่านนโยบายผ่านบทสัมภาษณ์ชานันท์ ยอดหงษ์  ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่ออันดับ 62 ของพรรคเพื่อไทย

เพื่อไทยเชื่อว่า คนพิการจะมีชีวิตของตัวเองได้ผ่านการเติมทักษะ มีอุปกรณ์สนับสนุน และระบบโครงสร้างทางสังคมที่เอื้อหนุน ฉะนั้นเบี้ยคนพิการ 3,000 บาท จึงเป็นเพียงเป้าหมายแรกที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตคนพิการ แต่มากไปกว่านั้นคือคนพิการต้องเข้าถึงงานที่มีคุณค่าที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้อย่างเท่าเทียม

นโยบายด้านคนพิการของเพื่อไทยเป็นอย่างไร 

ชานันท์: จากการคุยกับศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการเราคิดว่าต้องเริ่มจากสวัสดิการ 3,000 บาทก่อน หากคำนวนดูแล้วจะพบว่า ต้องใช้งบประมาณหลายหมื่นล้านบาทต่อปี อย่างไรก็ดี การให้เบี้ย 3,000 บาทนั้นไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต คนพิการบางคนต้องมีผู้ดูแลซึ่งอาจเป็นครอบครัว เพราะหากเรามีลูกพิการ เป็นเรื่องปกติที่คนในครอบครัวคนหนึ่งต้องลาออกจากงานเพื่อดูแลเป็นเวลา เขาต้องสูญเสียรายได้ ผู้ดูแลจึงควรได้เบี้ยด้วย ถ้าผู้ดูแลเสียชีวิต คนพิการก็ต้องสามารถอยู่ได้ผ่านอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการและระบบโครงสร้างสาธารณูปโภคที่เพียงพอ 

ในเรื่องของรายได้ คนพิการก็ต้องมีงานที่มีคุณค่า ผ่านการระบุลักษณะงาน ความถนัดและอัตราการรับคนพิการเข้าทำงานที่สมเหตุสมผลตามอัตราส่วนคนพิการ เพื่อให้คนพิการสามารถเลี้ยงตัวเองได้ หากไม่มีงานทำ การได้เงิน 3,000 บาทไม่สามารถทำให้มีคุณภาพชีวิตที่เหมาะสมได้ แต่การมีอาชีพทำให้คนพิการอยู่ได้ด้วยตัวเองอย่างอิสระ แน่นอนว่าในช่วงเวลาเร่งด่วน การทำให้ 3,000 บาทเกิดขึ้นจริงนั้นอาจทดแทนได้ช่วงเวลาที่ทุกอย่างยังไม่พร้อม อย่างไรก็ดี แม้แต่การให้เบี้ยก็ยังมีคนพิการร้อย ละ 40 ที่ยังเข้าไม่ถึงเนื่องจากการวัดเกณฑ์พิสูจน์ความพิการ ทั้งที่จริงแล้วการพิสูจน์ความพิการอาจใช้งบประมาณสูงมากพอๆ กับการให้เงินถ้วนหน้า สุดท้ายเขาอาจไม่ต้องการเบี้ยก็ได้ถ้าเขาสามารถเพิ่มศักยภาพได้ สิ่งเหล่านี้จะทำให้คนพิการเลือกงานได้ มีอํานาจทางเศรษฐกิจ สามารถอยู่ได้ด้วยตัวเองอย่างเท่าเทียมกัน นอกจากนี้เรายังจะสนับสนุนให้นักกีฬาพาราลิมปิกได้เงินเท่ากับนักกีฬาโอลิมปิก 

พอถึงเรื่องการเพิ่มศักยภาพ ซึ่งเหมือนเป็นจุดเริ่มต้นของรายได้ หากเราเริ่มต้นดูสถานคนพิการต่างๆ ของคนพิการ หลายที่มีลักษณะเหมือนบ้านสงเคราะห์ที่มีคนพิการอยู่จำนวนมาก ไม่มีส่วนร่วมกับสังคม จึงเกิดระยะห่าง คนที่ไม่พิการก็ไม่ได้เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับคนพิการ คนพิการเองก็ปรับตัวกับสังคมยาก จึงเกิดข้อเสนอแนะในการจัดตั้งศูนย์บริการคนพิการทั่วไป ทั้งเจ็ดประเภทความพิการ อย่างน้อยในแต่ละจังหวัดต้องมีสวัสดิในการที่จะทําให้คนพิการเข้าถึงศูนย์บริการได้อย่างง่าย ผ่านการมอบหมายให้ อบจ.และ อบต.เป็นคนจัดการงบประมาณ ผ่านระบบร่วมกันมาตรฐานในการให้บริการร่วมกันที่จะให้ความสําคัญกับการบริการ และศูนย์บริการจะไม่ใช่สถานที่ฝากลูกเมื่อพ่อแม่ไปทํางานแต่จะต้องเป็นศูนย์ฝึกทักษะ อบรมวิชาชีพตามความถนัด เพื่อป้อนคนพิการไปยังตลาดแรงงาน เช่น ในออฟฟิศ ในศูนย์ราชการ ในหน่วยงานราชการ โรงเรียน โรงพยาบาล ฯลฯ ประจําอยู่หน่วยงานต่างๆ เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจแก่คนไม่พิการในการอยู่ร่วมกัน ผู้ปกครองหรือคนในชุมชนก็สามารถมีส่วนร่วมได้ในระบบอาสาสมัครเพื่อดูแลกันเองได้และสร้างอาชีพให้คนในพื้นที่ 

ในเรื่องสภาพแวดล้อม เราต้องการที่จะปรับปรุงโรงเรียนและหน่วยงานราชการให้คนพิการสามารถเข้าถึงการศึกษาได้ อย่างที่รู้ว่าคนพิการ ร้อยละ 80 เรียนถึงระดับประถม และเหลือเพียงร้อยละ 10 ที่เรียนระดับมัธยม นั่นแปลว่าตกหล่นไปประมาณร้อยละ 70 แล้วเขาเข้าไม่ถึงการศึกษาเพราะอะไร เพราะสภาพแวดล้อมของสถานศึกษาไม่เอื้ออํานวย ไม่มีเจ้าหน้าที่ที่เข้าใจ อย่างน้อยที่สุดเราจึงต้องการผลิตบุคลากรคนพิการด้านต่างๆ เช่น ครูการศึกษาพิเศษ ล่ามภาษามือ เพื่อให้ครูรู้ภาษามือ อาจจะเริ่มจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเพราะมหาวิทยาลัยลัยราชภัฏเป็นมหาวิทยาลัยประจําจังหวัดที่สามารถผลิตบุคลากรในการสื่อสาร ให้ความรู้เป็นสื่อกลางระหว่างคนไม่พิการกับคนพิการ คนพิการเองก็ยังอยู่ในชุมชนของตัวเองได้โดยที่ไม่ต้องย้ายถิ่นฐานไปยังมหาวิทยาลัยใหญ่ๆ นอกจากนี้จะมีการรื้อฟื้นเรื่องแท็บเบล็ตอีกครั้งหนึ่ง เพราะเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญมาก คนที่มีปัญหาทางด้านการมองเห็นก็ต้องใช้ คนหูหนวกก็ใช้วิดีโอคอลภาษามือพูดคุยกัน หรือแม้แต่คนพิการทางการเรียนรู้ก็สามารถใช้อุปกรณ์นี้เปิดแบบเรียนหรือกิจกรรมดูได้ซ้ำๆ

เรื่องอุปกรณ์ความพิการ เราเห็นว่าปัจจุบันอุปกรณ์คุณภาพดีนั้นมีราคาแพง จะพิการอย่างเดียวไม่ได้ คุณต้องรวยด้วย ขนาดให้เบี้ยเดือนละ 3,000 บาทก็ยังไม่รู้ต้องเก็บเงินกี่ปีถึงจะซื้ออุปกรณ์ดีๆ ได้ เราจึงมองว่าอุปกรณ์เหล่านี้ต้องเป็นสิทธิ เช่นเดียวกับสมาร์ทโฟนและอินเทอร์เน็ต

คิดอย่างไรกับรัฐสวัสดิการและเบี้ยคนพิการ 3,000 บาท

อาจจะเกิดขึ้นช้าหน่อย ส่วนตัวมองว่าเบี้ยความพิการ 3,000 บาทนั้นไม่เพียงพอ ด้วยเงื่อนไขต่างๆ ของคนพิการ เราต้องสร้างศักยภาพ หนุนเสริมผู้ดูแล เพราะการให้เบี้ยไม่ใช่การแก้ไขปัญหาระยะยาว การแก้ไขระยะยาวจะต้องเปลี่ยนแปลงโครงสร้างหลายๆ อย่างเพื่อให้คนพิการมีศักยภาพในตัวเองได้โดยไม่ต้องรอเบี้ยคนพิการในรายเดือน

ให้คะแนนและวิจารณ์การทำงานเรื่องคนพิการของรัฐบาลที่ผ่านมา

ให้คะแนนติดลบ 8 ปีที่ผ่านมายังไม่เห็นทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน มีการเพิ่มเบี้ยความพิการ 200  บาท จาก 800 เป็น 1,000 บาทแต่ไม่ถ้วนหน้า 

คิดอย่างไรหากมีอธิบดีกรมคนพิการเป็นคนพิการ

เราเชื่ออย่างหนึ่งว่าคนที่จะมาทําประเด็นเฉพาะต้องมาจากเจ้าของประสบการณ์โดยตรง คนที่เผชิญปัญหาจริง ฉะนั้นอธิบดีคนพิการก็ต้องมีคนพิการทั้งเจ็ดประเภทให้ได้ ในการที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดสรรงบประมาณ จัดสรรทรัพยากร หรือออกแบบนโยบายต่างๆ แต่ถ้าคนๆ นั้นไม่ได้พิการ เขาก็ต้องมีความรู้ที่เป็นที่ยอมรับของคนพิการ เราคิดว่าที่ผ่านมา คนพิการไม่ได้มีโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรและมีเงื่อนไขเต็มไปหมด แค่จะประกอบอาชีพของเราเองโดยไม่มีตําแหน่งราชการระดับสูงยังยาก ระบบราชการเองก็ไม่ได้เอื้ออํานวยให้คนพิการอยู่ในนั้น แถมยังผลักคนพิการออกไปนอกพื้นที่ มันจึงยากมากที่จะเห็นคนพิการมีบทบาททางการเมืองสูงๆ 

พรรคเพื่อไทยจะทำให้คนพิการมีส่วนร่วมในพรรคได้อย่างไร 

ตอนนี้เรายังไม่มีผู้สมัครสมาชิกผู้แทนราษฏรพิการ ซึ่งเป็นสิ่งที่พรรคเพื่อไทยควรจะขอโทษเหมือนกันกับการไม่มีคนพิการเข้ามามีส่วนร่วม แต่พรรคเองก็พยายามที่จะเรียนรู้ พูดคุยกับภาคประชาสังคม นักวิชาการและองค์กรที่ทํางานด้านคนพิการเพื่อจัดทํานโยบาย อย่างไรก็ตาม นโยบายด้านคนพิการของพรรคเพื่อไทยจะประสบผลสําเร็จได้ก็ต้องมีคนพิการเข้ามามีส่วนร่วม

ทําไมคนพิการต้องเลือกพรรคเพื่อไทย 

เราพร้อมทำงาน เราพยายามทำความเข้าใจปัญหาผ่านการสอบถามพูดคุย ศึกษางานวิจัย คุยกับภาคประชาสังคม คุยกับนักวิชาการ เราพร้อมที่จะผลักดันแก้ไขปัญหา เข้าใจปัญหาเฉพาะหน้าและปัญหาเชิงโครงสร้างเกี่ยวกับคนพิการ ถ้ามีคนพิการที่มาอ่านบทความนี้ แล้วรู้สึกว่าอยากเข้ามามีส่วนร่วมกับเพื่อไทย ก็เข้ามาได้เลย มาชี้ถึงข้อบกพร่องของพรรคเพื่อไทยและเราพร้อมแก้ไขปัญหาและสร้างสวัสดิการให้กับทุกคนทุกกลุ่มอย่างถ้วนหน้าจริงๆ