Skip to main content

แต่ละประเทศมีสิทธิขั้นพื้นฐานให้ประชาชนในประเทศแตกต่างกันไป ไม่ว่าจะสิทธิในการศึกษา สิทธิการเข้าถึงการรักษาพยาบาล การอำนวยความสะดวกในการเดินทางด้วยขนส่งมวลชนต่างๆ แม้กระทั่งสิทธิในการที่จะประกอบอาชีพเพื่อเลี้ยงตัวเอง ไม่เว้นแม่แต่คนพิการ

คุณได้รับสิทธิ...นั้นเดี๋ยวนี้! เมื่อคุณอยู่ในประเทศ... ในสหรัฐอเมริกาอาคารส่วนใหญ่ถูกออกแบบให้เป็น Universal design เพื่อรองรับการใช้งานที่แตกต่าง รัฐบาลออสเตรเลียมีกฎหมายห้ามกีดกันการจ้างงาน สร้างความเท่าเทียมให้คนพิการมีอาชีพและทำงานได้ อังกฤษเน้นที่เรื่องการศึกษามีการจัดการที่หลากหลายสำหรับคนพิการและมีศูนย์ให้คำปรึกษาโดยผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะ ญี่ปุ่นเริ่มตั้งแต่การเดินทางในชีวิตประจำวันไปไหนมาไหนก็สะดวก ส่วนในไทยนั้นพยายามสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกแต่ก็ยังไม่เพียงพอและไม่ส่งเสริมให้คนพิการออกมาข้างนอกมากนัก และสิงคโปร์มีการเอาเทคโนโลยีมาพัฒนาช่วยเหลือผู้พิการให้มีความสะดวกในการใช้ชีวิตในด้านต่างๆ

เว็บไซต์ The Matter รายงานว่า ฝนก็ตก รถก็ติด ขึ้นรถไฟฟ้าแต่ละทีคนก็มากมาย ขนาดเราเดินทางไปไหนกันก็ยังลำบาก แล้วคนพิการเค้าต้องเจออะไรมากกว่าเราแค่ไหน ไม่ว่าจะพื้นที่ไม่สม่ำเสมอ เบรลล์บล็อกก็มีบ้างไม่มีบ้าง อาคาร รถไฟฟ้าบางที่ก็ไม่มีลิฟต์อีก  เพราะคนพิการก็มีความเท่าเทียมเหมือนกับเรา จะดีแค่ไหนถ้าเขาสามารถเดินทางไปไหนได้อย่างง่ายดาย ได้รับการอำนวยความสะดวกสบาย การสนับสนุนทางการศึกษา ทั้งการอบรมให้คำปรึกษาด้านการงานอาชีพด้วย ไปดูว่าแต่ละประเทศเขาให้สิทธิ ให้ความเท่าเทียมแก่คนพิการในการใช้ชีวิตกันอย่างไร

 

สหรัฐอเมริกา ใช้ชีวิตด้วยกัน อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ

อาคารส่วนใหญ่ในอเมริกาถูกออกแบบ Universal design เพื่อรองรับการใช้งานที่แตกต่าง มีทางลาดสำหรับรถเข็น มีศูนย์อำนวยความสะดวกให้คนพิการที่ต้องการความช่วยเหลือ นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้คนพิการมีส่วนร่วมกับกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าชมการแข่งขันกีฬา ที่นั่งสำหรับการดูละครเวที สวนสาธารณะที่พื้นที่ทำกิจกรรมร่วมกับผู้คนทั่วไป  และนอกเหนือจากมีพื้นที่ให้กับคนพิการแล้วที่อเมริกาก็ยังมีพิพิธภัณฑ์คนพิการโดยจุดประสงค์เพื่อให้ผู้คนทั่วไปได้เข้าใจคนพิการมากขึ้น และยังเพื่อให้ทุกคนรู้สึกเท่าเทียมกัน สามารถใช้ชีวิตประจำวันร่วมกันอย่างเข้าใจ ถึงแม้ว่าเมื่อเร็วๆ นี้จะมีข่าวออกมาว่ารัฐบาลจะมีการตัดงบที่เกี่ยวข้องกับคนพิการบางส่วนก็ตาม

 

ออสเตรเลีย พัฒนาศักยภาพ เข้าสู่ตลาดแรงงาน

ประเทศออสเตรเลียรัฐบาลมีการส่งเสริมเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ศักดิ์ศรีและความเท่าเทียมของประชากรในประเทศ จึงมีกฎหมายห้ามกีดกันการจ้างงาน เพื่อเป็นการผลักดันและสร้างความเท่าเทียมให้คนพิการที่ต้องการมีอาชีพสามารถออกมาทำงานได้ จัดให้มีองค์กรที่ให้ความรู้และช่วยเหลือจัดหางานที่เหมาะสม ออสเตรเลียมีคนพิการจำนวนมากที่ประสบความสำเร็จในการทำงาน มากกว่าหนึ่งในสามสามารถพัฒนาให้เป็นพนักงานระดับมืออาชีพ ทำหน้าที่ได้อย่างมีศักยภาพและมีทักษะในการทำงานและความสามารถที่หลากหลายไม่ต่างจากคนปกติทั่วไป สามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ แถมรัฐบาลออสเตรเลียยังช่วยเหลือเงินค่าใช้จ่ายบางส่วนให้กับคนพิการที่ออกมาทำงาน เช่น ค่าเดินทางในชีวิตประจำวัน และเพื่อกระตุ้นการจ้างงานคนพิการ รัฐมีนโยบายให้เงินสนับสนุนค่าจ้าง เพื่อลดต้นทุนด้านค่าจ้างของนายจ้างที่จ้างแรงงานคนพิการอีกด้วย

 

อังกฤษ ส่งเสริมการศึกษา สร้างคุณภาพชีวิต

ประเทศอังกฤษให้ความสำคัญและสนับสนุนด้านการศึกษาของคนพิการอย่างเต็มที่เพื่อที่จะให้คนพิการสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ ในระดับมหาวิทยาลัย คนพิการสามารถขอทุนการศึกษาจากมหาวิทยาลัยโดยตรงและจากรัฐบาลได้ โดยแต่ละมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยจะมีการจัดการที่หลากหลายสำหรับคนพิการ มหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ในอังกฤษจะมีศูนย์สำหรับนักศึกษาพิการเพื่อให้คำปรึกษาโดยผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะ ให้คำแนะนำเรื่องค่าใช้จ่าย การใช้ชีวิตในหอพัก การเรียน สุขภาพ แนะแนวอาชีพและการจ้างงาน มีการพัฒนาการสอนเพื่อสามารถเอื้อประโยชน์และเข้าถึงคนพิการได้

 

ญี่ปุ่น รองรับทุกการใช้งาน จะไปไหนมาไหนก็สะดวก

ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศหนึ่งที่ให้ความสำคัญกับคนพิการมากๆ โดยเริ่มต้นตั้งแต่การเดินทางในชีวิตประจำวันที่มีความสะดวก เพราะรัฐบาลญี่ปุ่นเชื่อว่าการให้ความสำคัญกับคนพิการนั้นไม่ใช่เพียงแค่ช่วยเหลือแต่ต้องให้ทุกคนสามารถใช้ชีวิตประจำวันร่วมกันได้อย่างปกติและพึ่งพาตัวเองได้นั่นเอง

การอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันให้แก่คนพิการ ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นปรับปรุงอาคารสถานที่ต่างๆ และการขนส่งสาธารณะเพื่อรองรับการใช้งานที่แตกต่างกันของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นสถานีรถไฟ สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินหลายๆ แห่งมีลิฟต์หรือทางลาดสำหรับผู้ที่ต้องใช้รถเข็น ไม่ใช่แค่รถไฟฟ้าอย่างเดียว แต่รถสาธารณะอย่างรถเมล์ก็ยังมีสายพิเศษโดยเฉพาะอย่าง รถเมล์ non-step bus ที่มีทางลาดขึ้นลงให้ผู้ที่ใช้รถเข็นสามารถใช้บริการร่วมกันได้

นอกจากนี้ยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกไม่ว่าจะเป็นเส้นสีเหลืองเบรลล์บล็อกเพื่อคนพิการทางสายตา ห้องน้ำสาธารณะที่รองรับผู้ใช้ทุกรูปแบบ อักษรเบรลล์ตามสถานที่ต่างๆ ทำให้สามารถเดินทางได้อย่างปลอดภัยขึ้น

 

สิงคโปร์ เทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพมากขึ้นอีก

ที่สิงคโปร์ถึงจะไม่มีกฎหมายสำหรับคนพิการโดยเฉพาะแต่คนพิการสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติโดยความช่วยเหลือจากรัฐและเอกชน มีการเอาเทคโนโลยีมาพัฒนาช่วยเหลือคนพิการให้มีความสะดวกในการใช้ชีวิตในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อช่วยขจัดอุปสรรคสำหรับคนพิการในการทำงาน โดยมีศูนย์ Tech Able Centre  อยู่ในความดูแลของ SG Enable และ SPD ซึ่งศูนย์นี้เปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการในเดือนตุลาคมปีที่แล้วเพื่อส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการผ่านบริการให้คำปรึกษาและประเมินผลตลอดจนจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการฝึกอบรม

แต่เรื่องการเข้าถึงเทคโนโลยีกับคนพิการทุกคนอาจจะยังมีช่องว่างอยู่ ซึ่งทั้งภาครัฐและเอกชนของสิงคโปร์พยายามจะอุดช่องว่างนี้เพื่อให้คนพิการทุกคนได้เข้าถึงเทคโนโลยีที่สามารถช่วยการทำงานในชีวิตประจำวันให้สะดวกและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

 

ไทย กระตุ้นและผลักดันแต่ยังไม่พอนะจ๊ะ

ในส่วนของประเทศไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา องค์กรเอกชนและภาครัฐให้ความสำคัญกับการผลักดันสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อคนพิการแล้วเหมือนกัน

ในบ้านเรามีสถานที่ปรับปรุงและพัฒนาแล้วหลายแห่ง อย่างเช่น โครงการนำร่องซอยประชาบดี จังหวัดนนทบุรี ที่มีการคิดค้นและสร้างถนน ให้คนพิการสามารถใช้งานได้อย่างสะดวก ด้วยเลนถนนสำหรับคนพิการที่ใช้วีลแชร์ และเลนสำหรับคนพิการทางสายตาโดยมีอักษรเบรลล์บนพื้น ความพยายามสร้างลิฟท์ของรถไฟฟ้าบีทีเอสที่ยังไม่เสร็จอีกหลายสถานี เพื่อทำให้คนปกติและคนพิการสามารถใช้สัญจรได้อย่างเท่าเทียม

แต่ถึงอย่างนั้นสิ่งอำนวยความสะดวกและสภาพแวดล้อมในบ้านเราก็ถือว่ายังไม่พอต่อการกระตุ้นให้คนพิการออกมาข้างนอกมากนัก แต่ถ้าหากมีสภาพแวดล้อมที่ถูกออกแบบมาอย่างเหมาะสม รวมถึงการสนับสนุนเต็มที่จากภาครัฐ คนพิการในไทยคงได้รับสิทธิความเท่าเทียมที่ทำให้เขาได้ใช้ชีวิตอย่างปกติและปลอดภัยมากขึ้น

 

ภาพประกอบโดย : นันทินี แซ่เฮง และ ชนากานต์ ตระกูลสุนทรชัย