Skip to main content

แผนพัฒนาชีวิตคนพิการให้ดีขึ้นและเลี้ยงตัวเองได้ นับเป็นสิ่งที่หลายประเทศให้ความสำคัญ เช่นเดียวกับประเทศโมร็อกโก ที่มีการส่งเสริมพัฒนาอาชีพของคนพิการ โดยสมาคมฮาดาฟ องค์กรที่ทำงานเพื่อบูรณาการทางสังคมและอาชีพของคนพิการทางจิต ซึ่งช่วยให้เยาวชนที่พิการมีอาชีพและยังช่วยเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับความพิการอีกด้วย

ตัวอย่างนำร่องที่เกิดขึ้นคือ ร้านอาหารในกรุงราบัต เมืองหลวงของโมร็อกโก ที่เหมือนจะธรรมดาแต่กลับมีความโดดเด่น เนื่องจากอาหารที่ทำสดใหม่เสิร์ฟแก่ลูกค้านั้นมีราคาเพียงเมนูละราวๆ 200 บาท อีกทั้งพ่อครัวแม่ครัวของร้านทั้งหมดเป็นคนพิการทางพัฒนาการและการเรียนรู้ หลังพวกเขาได้เรียนทำอาหาร ซึ่งแม้จะใช้เวลายาวนานในการเรียนรู้ แต่ก็สามารถทำอาหารได้ในที่สุด ส่วนลูกค้าที่มาใช้บริการพอได้ลิ้มรสอาหาร ต่างก็ชื่นชมทั้งคุณภาพและราคาที่เป็นมิตร


ภาพจาก http://hawaiitribune-herald.com/news/features/disabled-chefs-serve-model-change-morocco

สลัดโมร็อกโก เนื้อย่าง ข้าวบาสก์หรือมูสเลม่อน เป็นเมนูประจำวันของร้านอาหารแห่งนี้

"ในช่วงแรก การสอนพวกเขาทำอาหารนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่หลายวันต่อมา พวกเราก็ได้แต่ขอบคุณพวกเขา ที่ตัดสินใจเข้าร่วมและขอบคุณในความพยายาม พวกเขาพัฒนาความสามารถในการทำอาหารอย่างมาก" นอร่าห์ ฮาชามิ ผู้เชี่ยวชาญด้านการฝึกของฮาดาฟกล่าว

ตั้งแต่เริ่มเปิดตัวในเดือนพฤษภาคม ร้านแห่งนี้ก็ได้รับคำติชมที่น่าพึงพอใจ ลูกค้ากล่าวว่าพวกเขาประทับใจในคุณภาพอาหาร ราคาที่เหมาะสมและความเป็นมาในการก่อตั้งร้านอาหารแห่งนี้้ นอกจากนั้น ร้านนี้ยังเป็นหนึ่งในโปรเจคระดับรัฐเพื่อเป็นต้นแบบในการพัฒนาทักษะคนพิการ และสร้างแบบแผนของการหารายได้ของคนยากจนอีกด้วย

วัยรุ่นพิการ 12 คนเป็นเชฟที่ทำงานทั้งในครัว และการเตรียมข้าวของเพื่อบริการลูกค้ามากกว่า 100 คนต่อวัน พวกเขาเป็นทั้งผู้จัดการ พนักงานเสิร์ฟ ซึ่งมีทั้งเป็นห้องส่วนตัว และบริเวณที่่คล้ายกับศูนย์อาหาร

"ผมชอบทำอาหาร  ผมมีหน้าที่เตรียมสลัด ข้าว ของหวาน และอีกหลายๆ อย่าง และวันหนึ่งผมจะสามารถมีกิจการเป็นของตัวเองได้" ซายาด ซาเฮล วัย 23 ปี ผู้ที่เข้าร่วมการฝึกฝนทำอาหารกล่าว

ในศูนย์ฮาดาฟ สมาชิกกว่า 85 คนมาจากคนที่รับผลกระทบหรือผู้ที่เผชิญกับความผิดปกติทางจิต หรือคนที่มาจากภูมิหลังที่ไม่ค่อยดีนัก อมินา เซฟเฟอร์ ประธานสมาคมกล่าวว่า เรื่องทั้งหมดเริ่มต้นจากการที่ลูกสาวของเธอมีความพิการทางจิต และเธอไม่สามารถหาโรงเรียนให้กับลูกสาวได้ เพราะพวกเขากลัวที่จะต้องมีคนพิการอยู่ในโรงเรียนร่วมกับเด็กคนอื่นๆ เธอจึงตัดสินใจส่งลูกสาวเข้าไปในสถาบันการศึกษาพิเศษ ซึ่งเป็นภาระค่าใช้จ่ายที่สูงมาก และจะหยุดเรียนต่อเมื่อคนคนนั้นมีอายุ 21 ปี นั่นจึงทำให้เธอตัดสินใจก่อตั้งฮาดาฟ ในปี 1997 ซึ่งหมายถึงความสำเร็จในภาษาอาระบิก และเพื่ออยู่เคียงข้างกับครอบครัวหรือผู้ที่ต้องดูแลคนพิการทางจิตด้วย

ในปี 2005 ฮาดาฟก่อตั้งศูนย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสังคมขึ้นในราบัต ซึ่งรวบรวมเอาเวิร์คชอปและคอร์สเรียนวิชาต่างๆ เช่น จิวเวอรี เย็บผ้า จิตรกรรมและงานไม้เอาไว้ด้วย

จากสถิติพบว่า จาก 347,000 คนที่มีภาวะทางจิตในโมร็อกโก มีเพียง 10,000 คนเท่านั้นที่ได้รับการศึกษาหรือการช่วยเหลือให้เข้าสู่สังคม และครึ่งหนึ่งในจำนวนนี้ได้รับการช่วยเหลือโดยองค์กรการกุศล และอีกครึ่งได้รับการช่วยเหลือทางการเงินโดยรัฐ

 

แปลและเรียบเรียงจาก

http://hawaiitribune-herald.com/news/features/disabled-chefs-serve-model-change-morocco