Skip to main content

กลั่นแกล้งล้อเลียน ในโลกคนพิการที่มีความหลากหลายทางเพศ

ณิชากร ศรีเพชรดี

 

“โตขึ้นไปจะทำอาชีพอะไร”

 

“พิการแล้วยังไม่เจียมตัว”

 

“ถ้าใช้(อวัยวะ)นี้ไม่ได้ก็ตัดทิ้งไปซะ”

 

“เพศที่สาม”

 

“กะเทยแก่”

 

“คนสู้ชีวิต”

 

และอื่นๆ

 

ถ้าสายตาของคุณมีความสามารถในการจับภาพ ร่างกายคุณขยับเคลื่อนไหวพอจะเลื่อนนิ้วเพื่อจับและไถอุปกรณ์สมาร์ทโฟนหรือคอมพิวเตอร์จนผ่านเข้ามอ่านข้อความข้างต้นได้

 

คุณรู้สึกอย่างไร เคยถูกคำพูดเหล่านี้หล่นใส่หรือไม่ เคยเป็นผู้พูดคำเหล่านี้กับคนอื่นรึเปล่า และคุณรู้สึกมีปัญหากับคำพูดเหล่านี้หรือไม่ ถ้าไม่ ทำไม? และถ้าใช่ เป็นเพราะอะไร?

 

แต่ในการรับรู้ของคนพิการและบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ มันเป็นคำแสนหนักหน่วง ต้องได้ยินซ้ำแล้วซ้ำเล่าและฝังลึกจนเป็นบาดแผล(ที่ไม่เคยหาย)ในจิตใจ

 

การกลั่นแกล้ง ล้อเลียน หรือในภาษาอังกฤษเรียกว่า ‘bullying’ เฉพาะที่เกิดขึ้นในคนที่มีอวัยวะครบ 32 ถือเป็นความรุนแรงที่ไม่อาจนิ่งเฉย สังคมออกมาเรียกร้องต่อกันขอให้เข้าใจความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากการสะสมความบอบช้ำและไม่อาจต่อสู้ต่อกรเพื่อยืนหยัดปกป้องอัตลักษณ์ ความไม่เหมือนกันของใครแต่ละคน

 

ในโลกของคนพิการ การล้อเลียนกลั่นแกล้งทั้งทางกายภาพและวาจา – โดยเฉพาะเมื่อคนพูดไม่รู้เลยว่าคำนั้นหรือพฤติกรรมนั้นมันมีปัญหา คิดว่าเป็นเรื่องปกติที่พูดได้ ใครๆ ก็พูดและทำ – เป็นประสบการณ์ร่วมของคนพิการ และมีงานสื่อสารในเชิงรณรงค์ออกมาอย่างต่อเนื่องว่าขอให้ทุกคนหยุด เพราะมันคือการคุกคามในฐานของความเป็นมนุษย์

 

แต่การล้อเลียนกลั่นแกล้งยิ่งโหดร้ายบอบช้ำซ้ำลงไปอีก เมื่อคนพิการคนนั้นเป็นคนที่มีความหลากหลายทางเพศ

 

ทั้งหมดนี้จึงเป็นที่มาของวงคุย ‘ต่อต้านการกลั่นแกล้ง การล้อเลียนและข่มเหงในสถานที่สาธารณะต่อสตรี คนพิการ และคนที่มีความหลากหลายทางเพศ’ (STAND UP to Bullying towards women, persons with disability and LGBT persons) จัดงานร่วมกันระหว่าง สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย, สำนักงานองค์การคนพิการสากลประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Disabled Peoples’ International Asia-Pacific Region: DPI-AP), สถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา (Gender and Development Research Institute) โดยได้รับทุนจากกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาผ่านมูลนิธิเอเชีย (Asia Foundation) วันที่ 25 มิถุนายน 2561 โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพฯ

 

“เราจะเห็นว่าการกลั่นแกล้ง ล้อเลียน ข่มเหง เกิดขึ้นในที่สาธารณะ โดยเฉพาะในโซเชียลมีเดีย โดยมีผลกระทบอย่างยิ่งต่อความเป็นมนุษย์ในทุกมิติของคนพิการ สตรี และคนที่มีความหลากหลายทางเพศ การกลั่นแกล้งโดยใช้คำพูดเหยียดหยาม ซึ่งมีผลกระทบต่อผู้กระทำเอง ผู้ถูกกระทำ และสังคม

 

มีงานวิจัยหลายชิ้นยืนยันว่า การกลั่นแกล้งนำไปสู่ความรู้สึกโดดเดี่ยว รู้สึกถูกทอดทิ้ง รู้สึกว่าถูกแบ่งแยกปฏิเสธออกจากสังคม ทำให้ผู้ถูกกระทำสิ้นหวัง มีผลต่อการพัฒนาตัวเอง หลายๆ รายเกิดภาวะซึมเศร้า

 

เสาวลักษณ์ ทองก๊วย นักสิทธิคนพิการ DPI-AP

ประสบการณ์ในวงเสวนานี้ไม่ใช่ทั้งหมดที่คนพิการและคนที่มีความหลากหลายทางเพศต้องเจอ แต่อาจพอเห็นภาพว่า ในโลกที่คนทั่วไปไม่เคยได้สัมผัส มีเรื่องราวอะไรซ่อนอยู่ ดังนี้

 

  • ความรักในคนพิการที่มีความหลากหลายทางเพศ
  • ถึงจะพิการแต่หน้าตาดี แบบนี้อยากมีเสี่ยเลี้ยงไหม
  • บริการทางเพศของคนพิการ ทั้งที่เต็มใจและการถูกข่มขืน
  • การถูกล้อเลียนจากคนพิการด้วยกันเอง

 

ความรักในคนพิการที่มีความหลากหลายทางเพศ

เปิดวงคุยด้วยภาพยนตร์สั้น Inside of Me: เปิดเปลือยชีวิตของเชอร์รี่ เชอร์รี่-มงคล ปิ่นแก้ว ผู้มีความหลากลายทางเพศที่ต้องนั่งรถเข็นตลอดชีวิต ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศโครงการ Attitude SHORT FILM กำกับโดย โสภณ ฉิมจินดา พิธีกรรายการ ‘ล้อ เล่น โลก’

โสภณกล่าวว่า จุดประสงค์ของสารคดีสั้นเรื่องนี้คือการจุดประเด็นความหลากหลายทางเพศในโลกของคนพิการ ซึ่งประเด็นที่อยู่ในหนังสั้นนี้ คือแพทเทิร์นของคนพิการที่มีความหลากหลายทางเพศจะเจอคล้ายกันทั้งหมด

 

ขณะที่เชอร์รี่อธิบายสั้นๆ ถึงโลกที่เธออาศัยอยู่ว่า

“ตั้งแต่จำความได้ก็รู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้หญิง แต่ต้องแอ๊บแมนมาตลอดจนกระทั่งเรียนจบ เริ่มดูแลตัวเองได้ ถึงจุดหนึ่งก็คิดว่าทนไม่ได้อีกต่อไป วันแรกเราเขียนคิ้ว ยังไม่ได้แต่งหน้าอย่างอื่นเลย แต่วันนั้นโดนสวดทั้งคืน

 

คนแถวบ้านบอกว่า ‘ดูสิ พิการแล้วยังเป็นกะเทยอีก’

 

แต่พอโตขึ้นมาหน่อยเธอจะได้ยินคำว่า

 

“พิการแล้วยังซื้อกิน ทำไมไม่เก็บเงิน ไม่เจียมตัว แต่คนพิการไม่ใช่คนเหรอ คุณค่าในมนุษย์ทุกคนมีเท่ากัน แต่พอเป็นคนพิการและยังเป็นคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ทุกอย่างดู drop ลงไปหมดเลย”

 

 

บอกไม่ได้ว่าทั้งหมดนี้คือสิ่งที่คนพิการและมีความหลากหลายทางเพศทุกคนจะพบเจอ แต่สิ่งที่ตอบได้เบื้องต้นคือ ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับความสนใจแวดวงภาพยนตร์ต่างประเทศ ปัจจุบันถูกเปิดฉายทั้งในเกาหลีใต้และไต้หวัน ทั้งยังถูกเปิดในคลาสเรียนหนึ่งในสหรัฐ เพื่อเป็นกรณีศึกษาและประเด็นตั้งต้นในการพูดถึงมายาคติที่มีต่อคนพิการในระดับสากล

 

“ถึงจะพิการแต่หน้าตาดี แบบนี้อยากมีเสี่ยเลี้ยงไหม”

อีกหนึ่งเรื่องเล่าที่แสดงถึง ‘การถูกคุกคามทางเพศ’ ของคนพิการก็คือเรื่องเล่าของ น้องบัดดี เพราะเธอเป็นเด็กสาวหน้าตาสดใส และต้องเดินทางไปไหนมาไหนด้วยบริการรถแท็กซี่ตลอด นั่นทำให้กรณีของเธอส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากบทสนทนาระหว่างเดินทางกับคนแปลกหน้าที่เพิ่งรู้จักกัน

 

“คนขับแท็กซี่จะชอบถามว่า ‘โตขึ้นไปจะทำอะไร หน้าตาแบบนี้อยากมีคนดูแลไหม’” น้องบัดดีอธิบายว่า คำพูดแบบนี้ทำให้เธอรู้สึกสองอย่างคือ รู้สึกถูกคุกคามทางเพศ และกำลังโดนดูถูก

 

ตอนนั้นหนูกำลังจะไปโรงเรียน กำลังจะทำชีวิตให้ดี พอเขาพูดมาแบบนี้เลยรู้สึกว่า…ทำไมต้องพูดแบบนี้

 

นอกจากความรู้สึกถูกคุกคาม ยังเป็นความรู้สึกไม่ปลอดภัย น้องบัดดีอธิบายว่าเพราะต้องเดินทางด้วยแท็กซี่ ทำให้เธอรู้สึกเป็นรอง ไม่กล้าพูดจาที่จะทำให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้งเพราะกลัวว่าเธอจะต่อสู้หรือขอความช่วยเหลือใครไม่ได้ในกรณีที่คู่กรณีรู้สึกโกรธเคืองขึ้นมา

 

สิ่งที่ต้องชวนถามต่อคือ อะไรคือมูลเหตุที่ทำให้คนแปลกหน้ากล้าถามคำถามเหล่านี้กับคนที่เพิ่งรู้จักกันไม่ถึงชั่วโมง

 

บริการทางเพศของคนพิการทั้งที่เต็มใจและถูกข่มขืน

อีกเรื่องหนึ่งที่หยิบมาแชร์กันในวงสนทนาคือ การขายบริการทางเพศของคนหูหนวก และการถูกข่มขืนเพราะไม่อาจระวังตัวเอง

 

พัชราวัลย์ แสงสุนทร สตรีหูหนวก อธิบายต่อยอดจากภาพยนตร์สั้นของโสภณว่า อันที่จริงแล้วอาชีพขายบริการทางเพศในคนพิการไม่ใช่เรื่องใหม่ มีคนขายบริการที่เต็มใจและเป็นสิทธิส่วนบุคคล แต่สิ่งที่เธออยากชวนคุย คือสถานการณ์คนหูหนวกโดยเฉพาะผู้ที่อาศัยต่างจังหวัดและไกลจากตัวเมือง ซึ่งที่ตั้งของบ้านมักอยู่ไกลกัน มีคนหูหนวกถูกข่มขืนจำนวนหนึ่งเนื่องจากจะไม่ได้ยินว่ามีใครเข้ามาในบ้าน หรือกระทั่งเข้ามาอยู่ใกล้ๆ และไม่อาจร้องเรียกเพื่อขอความช่วยเหลือเร่งด่วนได้

 

 

การถูกกลั่นแกล้งล้อเลียนจากคนพิการด้วยกันเอง

ไม่ใช่แค่เฉพาะจากคนไม่พิการ แต่หลายครั้งการดูถูก ล้อเลียน กลั่นแกล้ง ก็มาจากคนพิการด้วยกันเอง

 

ภัทริสา ศศิตระกูล สตรีตาบอด แชร์ประสบการณ์ว่าตอนเด็กๆ เธอเรียนโรงเรียนร่วม ทำให้มีทั้งเพื่อนนักเรียนทั่วไปและคนพิการด้วยกันเอง เพื่อนทั่วไปไม่มีปัญหา แต่เธอมักได้รับความกดดันทั้งทางอารมณ์และทางร่างกาย เช่น การใช้ดินสอเบรลล์จิ้ม แต่ทั้งหมดทั้งมวล เธอไม่รู้ว่านี่คือ ‘การกลั่นแกล้ง’ คิดว่านี่คือเรื่องปกติ จึงไม่ได้รู้สึกเป็นปัญหา แต่ท้ายที่สุดเธอบอกกับอาจารย์ในครั้งจะเปลี่ยนชั้นเรียนว่าไม่ขอเรียนห้องเดียวกับเพื่อนคนนี้อีกต่อไป เรื่องราวทั้งหมดจึงคลี่คลายและถูกลืม

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อโตขึ้นและได้ไปเรียนต่างประเทศ ก็เกิดเหตุการณ์เช่นนี้คล้ายกันจากเพื่อนฝรั่ง คือมีการเรียกเธอด้วยคำหยาบคาย แต่เช่นกัน เธอแปลคำแสลงเหล่านั้นไม่ออก จึงไม่รู้สึกว่านี่คือการกลั่นแกล้งทางวาจา ไม่รู้สึกเดือนร้อนหรือมีปัญหา เธอจึงปฏิบัติตัวกับเพื่อนเหล่านี้ด้วยความปกติจนคำเรียกเหล่านั้นค่อยหายไป

 

“คือตอนนั้นเราไม่รู้ว่ามันคืออะไร แต่เรารู้ มันคงมีผลกระทบแน่ๆ” เธอกล่าว

 

 

แต่ที่เป็นไฮไลท์คือ เมื่อเธอเข้าวัยทำงานและต้องทำงานกับคนพิการที่เป็นผู้ชายและอาวุโสกว่า เธอพบกับการดูถูก การคุกคามทางเพศทางวาจา และการทำให้เธอโดดเดี่ยวออกจากสังคม ทั้งหมดนี้ทำให้อัดอัด รู้สึกไม่ปลอดภัย

 

ทั้งหมดนี้ทำให้ภัทริสาตั้งคำถามว่า อันที่จริงแล้วการดูถูกเหยียดหยาม หรือการคุมคามทางเพศ ไม่ได้เกิดเฉพาะคนที่ไม่เข้าใจข้อจำกัดของคนพิการ เพราะแม้กระทั่งคนพิการด้วยกันเองก็ยังมีพฤติกรรมเช่นนี้

 

ซึ่งนั่นน่าตั้งคำถามต่อไปว่า สุดท้ายแล้วเป็นเรื่องความการเป็นคนนอกคนใน หรือเป็นความเข้าใจในหลักการการคุกคามทางเพศสากล

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน https://waymagazine.org/bullying_disable_lgbtq/

ภาพโดย สุภาพิชนุช หมุดคำ / อาสาสมัคร DPIAP