Skip to main content

เมื่อวันที่ 14 – 15 ก.ย.ที่ผ่านมา ภายในงาน “Good Society Expo 2018 : ทำดีหวังผลเริ่มต้นที่เรา ”มีการจัดเสวนาเรื่อง “Inclusion As A Human Rightการเรียนร่วม สิทธิขั้นพื้นฐานของเด็กทุกคน” และ “พ่อแม่สำคัญ..สอนลูกไม่ให้รังแกผู้อื่น ” นำโดยโรสซาลีนา อเล็กซานเดอร์ ประธานกรรมการมูลนิธิ เดอะเรนโบว์รูม,ขวัญ รอสส์ นักจิตวิทยาคลินิก กรรมการมูลนิธิ เดอะเรนโบว์รูม,สุคนธา สินธพ ผู้เชี่ยวชาญด้านออทิสซึ่ม ,วรนันท์ ประเสริฐเมธ นักจิตวิทยา ผู้พิพากษาสมทบศาลเยาวชน นนทบุรี,ทสมา คอทสไมร์และ นันทรี ชีวมงคล แม่ของลูกที่เป็นดาวน์ซินโดรม 

โรสซาลีนา อเล็กซานเดอร์ ประธานกรรมการมูลนิธิ เดอะเรนโบว์รูมกล่าวว่า การเรียนรวมหรือInclusive Educationเป็นสิทธิพื้นฐานของมนุษย์ตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ที่ระบุว่า เด็กทุกคนต้องได้รับการศึกษา และเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพ แต่ในสังคมไทยการเรียนรวมนั้นอยู่ตรงไหนกันแน่ เราทุกคนจะช่วยให้เกิดการเรียนรวม เพื่อพัฒนาเด็กให้เต็มศักยภาพได้อย่างไร 

เรียนรวมหรือเรียนร่วม

โรสซาลีนาระบุว่า ยูเนสโกนิยามศัพท์ต่างๆที่เกี่ยวข้องไว้ดังนี้“Inclusion”คือ กระบวนการที่ช่วยให้ก้าวข้ามอุปสรรค ที่จำกัดการเข้าร่วม มีส่วนร่วมและความสำเร็จของผู้เรียน เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นใคร สภาพร่างกายเป็นอย่างไรก็สามารถเรียนได้“Inclusive education”หรือการเรียนรวมคือกระบวนการที่จะช่วยให้สมรรถณะของระบบการศึกษาเข้มแข็ง เพื่อให้เข้าถึงผู้เรียนทุกคนได้ ไปจนถึงคำว่า “Integration”หรือการเรียนร่วม ซึ่งเป็นคำศัพท์ที่เคยใช้เมื่อก่อน ทำให้ผู้เรียนถูกแปะป้ายว่ามีความต้องการพิเศษทางด้านการเรียนรู้ และจัดให้เรียนแบบกระแสหลักเพื่อใช้ทรัพยากร แต่มีเงื่อนไขว่าเด็กต้องสามารถเรียนในโครงสร้างและทัศนคติที่เป็นอยู่ โดยไม่มีการปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมแต่อย่างใด

ทสมา กล่าวว่า ตอนนี้ลูกสาวอายุ 4 ขวบ มีความต้องการพิเศษและมีภาวะดาวน์ซินโดรม ซึ่งรู้ตั้งแต่ตอนท้องแล้ว เลยมีการเข้าพบผู้เชี่ยวชาญและหาข้อมูลล่วงหน้าเพื่อเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ หลังคลอดสองเดือนแรกเราเริ่มทำการกระตุ้นพัฒนาการ กายภาพบำบัด และส่งเข้าโรงเรียนเตรียมอนุบาลตอนอายุ1ขวบ8เดือน เด็กดาวน์ซินโดรมจะเรียนรู้ได้จากการมองเห็นและทำตามเพราะฉะนั้นถ้าเขาได้อยู่ในสภาพแวดล้อมเดียวกับเด็กทั่วไปเขาก็จะทำตาม เห็นได้ชัดจากตอนเขายังเดินไม่ได้คนเดียวในคลาส ภายในเวลา 2 เดือนก็สามารถเดินได้ เค้าความพยายามที่ทำสิ่งต่างๆ ให้ได้เหมือนกับเพื่อนในห้อง ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี

สำหรับทสมาการเลือกโรงเรียนเป็นเหมือนการซ้อปปิ้ง เธอจะหาข้อมูลจากแม่คนอื่นที่มีประสบการณ์เพื่อประกอบการตัดสินใจ เช่นเดียวกับสุคนธาเธอก็ปรึกษากับแม่คนอื่นๆ และเลือกโรงเรียนใกล้บ้านและเป็นโรงเรียนที่ไม่เร่งรัดและสอนทักษะชีวิต ท้ายที่สุดจึงเลือกโรงเรียนทางเลือก เพราะที่นี่เรียนแบบส่งเสริมการเรียนรู้ตามธรรมชาติของเด็กแต่ละคน

นอกจากได้โรงเรียนที่พอใจแล้ว แม่เองก็ต้องมีบทบาทในการสร้างความเข้าใจกับครูผู้สอนด้วย ทสมาระบุว่า เธอต้องสื่อสารกับโรงเรียน รวมถึงอธิบายให้ครูฟังว่า เด็กที่มีภาวะดาวซินโดรมจะกล้ามเนื้อไม่แข็งแรง ทำให้เขาไม่สามารถนั่งกับพื้นนานๆ ได้ เราจึงแก้ปัญหาด้วยการนำเก้าอี้ญี่ปุ่นไปให้นั่งเพื่อให้เขาสามารถทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อนนานขึ้น 

นอกจากความไม่เข้าใจแล้ว เด็กบางคนที่ไม่เหมือนเพื่อนๆ มักจะโดนคนอื่นกลั่นแกล้ง สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากเด็กอีกคนนิสัยไม่ดี แต่เขาเองก็อาจจะเป็นเหยื่อของพฤติกรรมรุนแรงเช่นเดียวกันวรนันท์ยกตัวอย่างของไจแอนท์ เด็กชายตัวใหญ่จากเรื่องโดราเอมอน ตอนอยู่กับเพื่อนๆ ไจแอนท์จะวางตัวใหญ่ เล่นใหญ่และรังแกคนอื่น แต่กลับกัน เมื่ออยู่บ้านไจแอนท์จ๋อยมากเพราะพ่อแม่ไม่เคยให้โอกาสได้ทำอะไร ไม่มีสิทธิไม่มีเสียง คำพูดที่รุนแรงของแม่ทำให้ไจแอนท์ไม่มีตัวตน และไม่มีความสุข ไจแอนท์ถึงต้องออกไปแสดงข้างนอกว่าฉันใหญ่กับคนที่อ่อนแอสู้คนไม่ได้ ไม่มีสิทธิไม่มีเสียงอย่างโนบิตะ

โรงเรียนต้องทำหน้าที่สังเกตความต่างและเตรียมพร้อม

ขวัญกล่าวว่า ปกติแล้วโรงเรียนเรียนรวมจะต้องเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ โดยมีผู้เชี่ยวชาญคอยสังเกตว่า เด็กแต่ละคนมีความต้องการอย่างไร โดยไม่แบ่งแยกโดยใช้คำว่า “มีความต้องพิเศษ”เพราะเด็กทุกคนมีความต้องการพิเศษ หรือไม่มีความต้องการพิเศษแตกต่างกัน เช่น เด็กบางนั่งไม่ได้ ผู้เชี่ยวชาญในโรงเรียนก็จะต้องสังเกตและหาทางเลือกที่เหมาะสมให้ เพื่อให้เด็กทุกคนมีสิทธิที่จะใช้อุปกรณ์หรือสิ่งต่างๆ ในห้องเรียนอย่างเท่าเทียมและเรียนรู้ได้อย่างเต็มศักยภาพ

ทสมาเสริมว่า การเรียนรวมในประเทศไทยนั้นเป็นสิ่งใหม่ เราจึงต้องให้โอกาสลูกเราไปเป็นหนูทดลอง ถ้าโรงเรียนทำไม่ถูกต้องตามหลักการเรียนรวม เราก็ต้องให้ความรู้เขาเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องด้วย

หลายครั้งมักมีความกังวลว่า เด็กที่ไม่มีความต้องการพิเศษจะรู้สึกว่าเด็กที่มีความต้องการพิเศษนั้นได้มากกว่าหรือเปล่า ซึ่งเรื่องนี้วรนันท์ได้ย้ำว่า เด็กจะไม่มีความรู้สึกว่า คนนั้นคนนี้ได้อภิสิทธิมากกว่าถ้าเขาเข้าใจ เด็กจะรู้สึกอะไร แบบไหน ต้องการอะไร ส่วนมากมาจากพ่อแม่ทั้งนั้น หน้าที่สำคัญของครูคือสร้างให้เกิดข้อตกลงที่ชัดเจน ผิดคือผิด ถูกคือถูก เด็กทุกคนจะเข้าใจว่าเราไม่แตกต่างกัน สิ่งนี้เป็นสิ่งที่จะช่วยให้เด็กทุกคนเรียนรู้ได้ เช่น อธิบายว่า เพื่อนต้องใช้ฟ้อนท์บางชนิดในการอ่านหนังสือ การใช้ไอแพดจะช่วยให้อ่านง่ายขึ้น เด็กทั่วไปก็จะเข้าใจว่านั่นไม่ใช่สิทธิพิเศษแต่เป็นการทำให้เพื่อนเรียนได้เหมือนกับเรา

หลายครั้งการสร้างความเข้าใจกับโรงเรียนอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ ผู้ปกครองของเด็กคนอื่นๆก็เป็นกลุ่มที่ควรจะเข้าใจเช่นเดียวกัน สุคนธา กล่าวว่า ครู ผู้ปกครองของเด็กที่มีความพิเศษและผู้ปกครองทั่วไป ควรเข้าใจว่าการเรียนรวมเป็นยังไง ควรปฏิบัติตัวอย่างไร ควรสอนลูกอย่างไร เช่น ควรเล่น หรืออยู่กับเพื่อนที่มีความต้องการพิเศษอย่างไร

ขวัญเสริมว่า เนื่องจากโรงเรียนมีหน้าที่เยอะพอสมควรในการทำความเข้าใจก่อนที่จะรับเด็ก ทั้งการศึกษาหาข้อมูล เช่น วิธีการสอน วิธีการสนับสนุนเด็ก และวิธีการสื่อสารกับผู้ปกครอง รวมไปถึงการมีทัศนคติที่ยืดหยุ่น รับฟังความคิดเห็นของผู้ปกครอง นอกจากนี้ยังมีเรื่องของอาคารสถานที่ที่ควรออกแบบมาเพื่อให้เด็กทุกคนสามารถใช้งานได้ เพราะฉะนั้นโรงเรียนจะต้องเปิดกว้างกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น โดยต้องมีภาพที่ชัดเจนก่อนว่า เราต้องการอะไรจากการเรียนรวม เพราะหลายครั้งคนอาจมองว่า การเรียนรวมทำโดยแค่เอาเด็กทุกคนไว้ในห้องเรียนเดียวกัน แต่การทำเช่นนี้อาจไม่เพียงพอ การที่จะเป็นโรงเรียนเรียนรวมที่ดี ต้องเริ่มจากโรงเรียนและผู้ปกครองมีวิสัยทัศน์ ที่พร้อมจะอำนวยความสะดวกให้กับเด็กทุกคน โดยการจัดเตรียมพื้นที่ อุปกรณ์ และบทเรียนต่างๆให้เข้ากับเด็กแต่ละคน 

แต่การหาโรงเรียนก็ใช้จะราบรื่นและได้รับความเข้าใจไปทั้งหมดแจมเล่าว่า ลูกของเธอต้องทำกายภาพบำบัด แต่บางโรงเรียนกลับให้แยกเด็กเพื่อไปทำกายภาพ โดยระบุว่าถ้าเอาลูกบอลมาเพื่อทำกายภาพบำบัด เด็กคนอื่นก็อยากเล่นด้วย นั่นแสดงให้เห็นถึงความไม่เข้าใจเพราะการอำนวยความสะดวก และขจัดสิ่งกีดขวางการเรียนรู้ให้กับเด็กสามารถทำได้ในทุกเหตุการณ์และพื้นทที่ การที่เด็กที่มีความต้องการพิเศษทำกายภาพในห้อง เพื่อนคนอื่นก็ต้องสามารถเล่นด้วยและมีส่วนร่วมได้ แม้การทำกิจกรรมเช่นนี้อาจเป็นวิธีการที่แปลกใหม่ในวงการการศึกษาไทย แต่ก็คงไม่ใหม่เมื่อไทยเองก็กำลังจะก้าวเข้าสู่การศึกษาของศตวรรษที่ 21ซึ่งควรมีการเรียนในลักษณะทำงานร่วมกันและใช้ความคิดสร้างสรรค์ได้แล้ว

เด็กทั่วไปจะได้รู้จักเพื่อนที่แตกต่างจากตัวเอง

สุคนธากล่าวว่า พอเธอทำงานด้านนี้ ครูก็จะคิดว่าลูกสองคนจะต้องเชี่ยวชาญไปด้วย เมื่อมีน้องที่มีความต้องการพิเศษ ก็มักมอบหมายให้เป็นพี่เลี้ยงซึ่งบางวันเขาก็ไม่พร้อม เราก็ต้องแนะนำว่า ลูกสามารถบอกคุณครูได้ ให้สลับเป็นคนอื่นบ้าง เพราะธงของการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน คือไม่จำเป็นต้องเอื้ออาทรตลอดเวลา ต้องรู้จักวิธีที่จะบอกปฏิเสธ 

เช่นดียวกับโรสซาลีนา ที่ระบุว่า จะต้องมีความร่วมมือตั้งแต่ระดับผู้บริหารจนมาถึงครูประจำชั้น นอกจากนั้นผู้ปกครองของเด็กในโรงเรียนจะต้องคอยอธิบายให้ลูกเข้าใจเพื่อนที่มีความสามารถแตกต่าง โดยไม่จำเป็นต้องรอโรงเรียนหรือรอผู้เชี่ยวชาญแต่อย่างใด เด็กต้องเข้าใจว่า บางครั้งการเมื่อปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนที่มีความต้องการพิเศษ อาจมีการกระทบกระทั่งกันบ้าง อาจมีบางอย่างที่เค้าไม่เข้าใจ และสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ถามได้

ขวัญเสริมว่า ตัวเองก็เป็นแม่และอยากให้ลูกได้อยู่โรงเรียนเรียนเรียนรวม แต่ปัจจุบันคนส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยมีความรู้และความเข้าใจเรื่องนี้ ความไม่รู้ทำให้เรากลัวไปก่อนว่าจะไม่ดี ฉะนั้นถ้าเราสามารถให้ความเข้าใจและให้ความรู้เกี่ยวกับการเรียนรวม เราจะสามารถดึงหลายๆ มาช่วยผลักดันได้มากขึ้น รวมถึงภาครัฐก็ต้องสนับสนุนและผลักดันด้านนี้ทั้งเรื่องเงินทุนเพิ่มเติมเพื่อเตรียมบุคลากรและข้อมูลด้วย

ในตอนท้ายของงานเสวนา ต่างพูดไปในทิศทางเดียวกันเกี่ยวกับทิศทางการเรียนรวมในไทย โดยต่างหวังให้ลูกอยู่ร่วมในสังคมได้ต่อให้มีความบกพร่องหรือข้อจำกัดอื่น และอยากให้มองว่า ความแตกต่างคือความสวยงาม รวมไปถึงอยากให้การเรียนรวมนั้นเกิดขึ้นจริง

“การเรียนรวมคือการทำลายสิ่งกีดขวางการเรียนรู้ทุกรูปแบบเพื่อให้เด็กทุกความสามารถ ได้มีโอกาสเรียนรู้ในสังคมของเรา และนั่นไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่งแต่เป็นหน้าที่ของเราทุกคน”โรสกล่าว