Skip to main content

สถานการณ์โควิด-19 ทลายกำแพงความคิดที่ว่า สถานที่เป็นตัวกำกับกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่ง เพราะที่ผ่านมา บ้านกลับแปรสภาพกลายเป็นออฟฟิศ และมีแนวโน้มว่า จะเป็นเทรนด์การทำงานต่อไปในอนาคต  

บริษัทสถาปนิกยักษ์ใหญ่ระดับโลกอย่าง Gensler ได้ออกแบบสอบถามพนักงานเกี่ยวกับประสบการณ์ในการ Work From Home และพบว่า พนักงานโซนเอเชียแปซิฟิกพึงพอใจกับสไตล์การทำงานแบบใหม่ถึง 68% (อ้างอิง https://www.scb.co.th/th/personal-banking/stories/salary-man/workplace.html) ในทางกลับกันบริษัท Adobe กลับบอกว่าเทรนด์นี้จะทำให้เวลาส่วนตัวกลายเป็นเวลาทำงาน จนพนักงานเผชิญกับภาวะหมดไฟและแห่กันลาออกเป็นจำนวนมาก (อ้างอิง https://www.brandbuffet.in.th/2021/09/adobe-future-of-time-research/

ข้อโต้แย้งที่เกิดขึ้นผ่านบริษัทต่างๆ นี้สะท้อนให้เห็นว่า จากเดิมที่บ้านมีหน้าที่รักษาร่างกายและจิตใจจากโลกภายนอก ไม่ว่าจะเป็นที่ทำงาน โรงเรียน ได้เปลี่ยนสภาพเป็นสถานที่ทำงาน  เวลาส่วนตัวของคนก็ยิ่งลดลงน้อยถอยลงบนอุปสรรคต่างๆ เช่น เสียงเรียกไปกินข้าว เสียงทีวี เสียงหมาเห่า เสียงจากคนข้างบ้าน จนขาดสมาธิและไม่สามารถทำงานหรือเรียนได้มีประสิทธิภาพเท่าเดิม และอาจก่อให้เกิดเกิดวิกฤตการณ์ทางสุขภาพจิตที่รุนแรงขึ้นในอนาคต 

Thisable.me ชวน ดร.สุววุฒิ วงศ์ทางสวัสดิ์ นักจิตวิทยาการปรึกษา พูดคุยปัญหาการใช้พื้นที่ทับซ้อนไม่ว่าจะเป็นเชิงกายภาพ จิตใจ และโลกออนไลน์ อะไรคือสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และศาสตร์จิตวิทยาการปรึกษาจะช่วยเหลือแรงงานที่ Work From Home ในอนาคตได้อย่างไรบ้าง 

ภาพหน้าปกเป็นรูปดร.สุววุฒิ วงศ์ทางสวัสดิ์ยืนอยู่มุมขวาสุด พร้อมกับชื่อเรื่องบทสัมภาษณ์

ในศาสตร์จิตวิทยา ‘พื้นที่’ หมายถึงอะไร

สุววุฒิ: เวลาพูดถึงพื้นที่ เราอาจจะพูดถึงห้อง อาคาร สนามหญ้า แต่หากมองให้กว้างขึ้นก็จะพบว่าสิ่งเหล่านี้เป็นส่วนย่อยของคำว่า ‘สิ่งแวดล้อม’ ซึ่งมีผลต่อการกำกับท่าทีของคนว่าจะวางตัวหรือวางใจอย่างไรกับสถานที่นั้น เพราะการเข้าไปในพื้นที่หนึ่งไม่ได้มีแค่ตัวอาคารหรือวัตถุ แต่ยังมีผู้คนที่เป็นส่วนหนึ่งในการกำหนดบรรยากาศของในสถานที่นั้นด้วย 

ลองนึกภาพตอนไปออกกำลังกายก็ได้ ทำไมบางคนถึงชอบไปออกกำลังกายที่ฟิตเนส ยิม หรือสวนสาธารณะมากกว่าที่บ้าน เพราะสถานที่เหล่านี้แวดล้อมไปด้วยผู้คนที่ตั้งใจมาออกกำลังกาย ทำให้คนรู้สึกฮึกเหิมอยากออกกำลังกายมากขึ้น แต่หากออกกำลังกายที่บ้าน บางคนก็อาจรู้สึกไม่มีไฟ เพราะเราจดจำว่าบ้านคือสถานที่พักผ่อน ดูทีวี แต่อยู่ๆ เอาเสื่อโยคะมาปูออกกำลังกายที่บ้าน ถามว่าทำได้ไหม ก็ทำได้แต่อาจต้องใช้ความตั้งใจที่มากขึ้น อย่างไรก็ดี ถ้าสามารถเลือกได้ เราก็คงเลือกสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เราทำกิจกรรมนั้นได้ดีที่สุด

ภาพถ่ายดร.สุววุฒิ วงศ์ทางสวัสดิ์ระหว่างสัมภาษณ์

ปัญหาความจำใจใช้พื้นที่ร่วมกันในสถานการณ์โควิด

ก่อนหน้านี้เรายังสามารถเลือกสถานที่ที่เอื้อให้ทำอะไรบางอย่างได้ง่ายขึ้น แต่ช่วงสถานการณ์โควิด-19 ทำให้หลายคนไม่สามารถเลือกพื้นที่ที่เอื้อให้ทำกิจกรรมต่างๆ ได้ และจำเป็นต้องใช้พื้นที่ร่วมกับคนอื่น ซึ่งแต่ละคนก็มีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ไม่เท่ากัน 

บางคนมีบ้านหลังใหญ่ที่สามารถจัดโซนได้ว่าห้องนี้ใช้ทำงาน ห้องนี้ใช้พักผ่อน บางคนอยู่คอนโดคนเดียวก็อาจพอขยับตัวได้ว่าอยากไปทำอะไรตรงส่วนไหน เช่น ยกคอมพิวเตอร์ไปนั่งทำงานที่ระเบียงหรือโต๊ะกินข้าว แต่หากมีครอบครัวหรือเพื่อนอยู่ด้วยก็จะขยับยากขึ้นเพราะต้องใช้พื้นที่ร่วมกัน พอเดินไปเดินมาในห้องนั้น ก็ทำให้ไม่มีสมาธิจดจ่อกับงาน 

นอกจากนี้เรายังพอได้มีช่องว่างในการเปลี่ยนผ่านความรู้สึกระหว่างกิจกรรม เช่น ก่อนออกจากบ้านก็จะมีช่วงให้เราได้เตรียมตัว พอเดินทางมาทำงานก็จะได้เห็นรถ เห็นต้นไม้ เห็นท้องฟ้า ตลาด ผู้คน แล้วก็เปลี่ยนเข้าสู่โหมดการทำงาน แม้จะมีความตึงเครียด แต่ระหว่างการทำงานก็อาจมีการพักเบรก คุยกับเพื่อนร่วมงาน หลังเลิกงานก็สลับไปออกกำลังกาย ไปทานข้าวกับเพื่อน แต่ตอนนี้กลายเป็นว่าเราแทบไม่มีช่องว่างได้พักใจ ทุกอย่างเป็นเหมือนการสับสวิตซ์ระหว่างงานกับการพักโดยใช้ระยะเวลาแค่เสี้ยวนาที ไม่มีช่องว่างให้ผ่อนคลายเหมือนตอนทำงานที่ออฟฟิศ หรือตอนที่ยังได้ออกไปข้างนอกบ่อยๆภาพของตกแต่งในที่ทำงานของดร.สุววุฒิ วงศ์ทางสวัสดิ์ ประกอบไปด้วยภาพวาด กระถางต้นไม้ รูปปั้นแมว

หลายคนพูดตรงกันว่า Work form Home งานหนักขึ้น เพราะบ้านเปลี่ยนสภาพกลายเป็นที่ทำงาน พื้นที่ทุกอย่างซ้อนกันอยู่ในห้องพักตัวเอง ทั้งเป็นที่นอน ที่ทำงาน และหัวหน้างานก็รู้ว่าทุกคนอยู่กับหน้าจอตลอด ก็จะทัก Line มาตามงานบ้าง สั่งงานเพิ่มบ้าง ให้ทำงานด่วนบ้าง ซึ่งก็หลบเลี่ยงลำบาก ถ้าไม่เป็นคนหนักแน่นเรื่องการทำงานนอกเวลา บางคนก็อาจไม่มีอำนาจต่อรองที่จะปฏิเสธงาน ยิ่งช่วงนี้แต่ละบริษัทมีปัญหาทางการเงินและต้องดิ้นรนเอาตัวรอด อะไรที่ทำให้บริษัทไปต่อได้ผู้บริหารก็พร้อมจะทำ ความกดดันจึงตกมาที่พนักงาน อีกทั้งบริษัทก็มีสิทธิเลือกพนักงาน ในยุคที่คนตกงานเยอะ ก็มีคนที่พร้อมจะเข้ามาแทนที่อยู่ตลอด พนักงานเลยต้องจำใจทำงานหนักเพื่อรักษาความมั่นคงทางการงานและการเงินของตัวเองไว้ 

ส่วนเด็กที่อยู่บ้านนั่งเรียนออนไลน์ก็รู้สึกเบื่อ หลายวิชาไม่เหมาะกับการเรียนออนไลน์ การบ้านและรายงานที่เยอะขึ้น ต้องนั่งเรียนวิชาที่ยากและไม่ได้สนใจอยู่ที่หน้าจอเป็นเวลานาน ยิ่งไปกว่านั้นคือไม่ได้เจอเพื่อน ไม่ได้วิ่งเล่นหรือออกไปสัมผัสโลกภายนอก เด็กๆ จึงทุกข์ทรมานมาก พ่อแม่เองก็ทุกข์ที่ต้องเข้ามากำกับให้ลูกเรียนหรือต้องช่วยลูกทำการบ้าน ในขณะที่ตัวเองก็ยังต้องทำงานในพื้นที่เดียวกัน รับบทเป็นทั้งมนุษย์ทำงานและมนุษย์พ่อแม่ในสถานที่เดียวกัน ห้วงเวลาเดียวกัน ส่วนครูก็ทุกข์จากการต้องปรับตัวสอนออนไลน์ นักเรียนปิดกล้องกันหมด ไม่มีใครตอบสนองเวลาครูพูดหรือถาม เป็นสภาพที่สร้างความยากลำบากให้กับทุกคนและเป็นสถานการณ์บังคับที่ยากจะหลีกเลี่ยง

ภาพหันข้างดร.สุววุฒิ วงศ์ทางสวัสดิ์ที่มีใบไม้เบลอๆ เป็นกรอบให้กับรูป

พื้นที่ทับซ้อนระหว่างการทำงานและชีวิตส่วนตัวบนโลกออนไลน์

ไม่ว่าจะเป็น Line หรือ Microsoft Team ก็คือแอพพลิเคชั่น แต่วัตถุประสงค์การใช้งานอาจไม่เหมือนกัน Microsoft Team จะเน้นไว้ทำงาน แตกต่างกับ Line ที่มักใช้ในชีวิตประจำวันหรือชีวิตส่วนตัวก่อนที่จะถูกเอาไปใช้ในการทำงาน ที่นี้พอมีการคุยเรื่องงานเข้ามาปะปนในแอพพลิเคชั่นที่ไว้คุยเรื่องส่วนตัวอย่าง Line ก็จะทำให้เริ่มแยกไม่ออกว่า เสียงแจ้งเตือนที่ดังขึ้นนี้เป็นเสียงเรื่องงานหรือว่าเสียงเรื่องส่วนตัว จนบางคนมีประสบการณ์ไม่ดี เช่น การถูกตามงานผ่าน Line จนไม่มีเวลาส่วนตัว หรือบางคนโดนตำหนิผ่าน Line จนเสียความมั่นใจในตัวเอง เมื่อเกิดการเข้าคู่ระหว่างประสบการณ์ที่ไม่ดีกับเสียงการแจ้งเตือน เลยทำให้ใครหลายคนมีอาการผวาหรือจิตตกเวลาได้ยินเสียงแจ้งเตือน

อย่างผมเองก็ใช้ Line ในการติดต่องาน แต่ผมจะแยกพื้นที่การทำงานและพื้นที่ส่วนตัวออกจากกัน โดยแยก Line เป็นสองไอดี ไอดีหนึ่งเอาไว้คุยเรื่องงานเท่านั้น ก็จะตั้งเสียงแจ้งเตือนเป็นเสียงหนึ่ง ส่วนอีกไอดีที่ใช้สำหรับเรื่องส่วนตัวเท่านั้น ก็จะตั้งเสียงแจ้งเตือนไว้อีกเสียงหนึ่งที่ไม่เหมือนเสียงของงาน โชคดีที่ว่าโทรศัพท์ที่ใช้สามารถมี Line สองไอดีในเครื่องเดียวกันได้ ก็เลยไม่ต้องพกโทรศัพท์หลายเครื่อง ในขณะที่บางคนก็อาจจะเลือกแยกเป็นสองเครื่องสองเบอร์ออกจากกันไปเลย

วิธีสังเกตว่าได้รับผลกระทบจากปัญหาพื้นที่ทับซ้อนแล้ว

ให้สังเกตที่ประสิทธิภาพการทำกิจวัตรในชีวิตประจำวัน จะช่วยบอกว่า เราได้รับผลกระทบจากการใช้พื้นทับซ้อนแล้วหรือยัง บางคนการนอนแย่ เพราะฝันเห็นตัวเองทำงานตลอดเวลา บางคนทำงานได้ไม่ดี เพราะทำงานอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อให้มีสมาธิในการทำงาน บางคนอาจจะมีความรู้สึกหดหู่ เศร้า เกรี้ยวกราดจากการทำงานมากเกินไปจนหมดไฟ บางคนรู้สึกประสาทจะกินช่วงล็อกดาวน์ เพราะว่าไม่ได้ออกไปไหนเลย

เราจะใช้วิธีการปรับทัศนคติอย่างเดียวไม่ได้ เพราะสิ่งแวดล้อมก็เป็นสิ่งที่มีอิทธิพลต่อความรู้สึกของคน หากรู้ว่าต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมนี้แล้วรู้สึกแย่แน่ๆ ก็อาจต้องพาตัวเองหลบเลี่ยงหรือเปลี่ยนบรรยากาศให้ตัวเองได้หายใจหายคอหรือเปลี่ยนความรู้สึกบ้าง เอาไว้รู้สึกดีขึ้นก็ค่อยกลับมา หรือจะปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมถาวรก็ได้ อย่างน้อยก็ให้ตัวเองได้รู้สึกผ่อนคลายและพร้อมสู้ต่อ

ภาพถ่ายดร.สุววุฒิ วงศ์ทางสวัสดิ์นั่งและยิ้มให้กล้อง

ปัญหาการทับซ้อนพื้นที่และจิตวิทยาการปรึกษา 

หลายคนเจอปัญหาเรื่องการปรับตัวในการทำงาน เช่น เพิ่งออกจากที่ทำงานเก่ามาเข้าทำงานที่ใหม่ในช่วงที่บริษัทให้ Work From Home พอดี  จึงไม่รู้จักใครเลย พอมีข้อสงสัยเรื่องงานแล้วจะถามใครสักคนก็ต้องโทรไปถาม ซึ่งดูจริงจังมากกว่าการเดินไปถามที่โต๊ะ หรือบางคนมาปรึกษาว่าการทำงานที่บ้านทำให้ได้เจอแฟนน้อยลง เริ่มห่างกับแฟนก็มี เพราะงานหนักกันทั้งคู่ ส่วนคนที่ทำงานอยู่บ้านแล้วมีปัญหากับสมาชิกในครอบครัวเพราะอยู่ใกล้ชิดกันมากเกินไปก็มี

การปรึกษาเชิงจิตวิทยาจะเข้ามาช่วยให้เจ้าของปัญหาได้ทบทวนปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น พร้อมพิจารณาให้เห็นว่า จริงๆ แล้วยังพอมีทางเลือกอะไรบ้างที่จะทำให้รับมือกับปัญหาเหล่านี้ เช่น การให้ผู้มาปรึกษาค่อยๆ ได้ปรับใจมากพอที่จะกล้าสื่อสารกับเพื่อนร่วมงานใหม่ หรือมองหาใครสักคนในที่ทำงานที่สัมผัสได้ว่าพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือ ซึ่งอาจง่ายกว่าการสื่อสารกับคนในที่ทำงานแบบสุ่มเอา กรณีของคู่รักหรือครอบครัวที่เริ่มมีปัญหากันในช่วง Work From Home ก็อาจใช้กระบวนการปรึกษาแบบคู่เข้ามาช่วยยกระดับการสื่อสารและการเข้าอกเข้าใจกับคนในครอบครัว หรือในบางกรณีการปรึกษาก็ช่วยให้ผู้มาปรึกษาตระหนักได้ว่าตนกำลังบริหารจัดการระหว่างพื้นที่ทำงานและพื้นที่ส่วนตัวได้ไม่ดีนัก สมควรมีการปรับเปลี่ยนใหม่ หรือบางรายก็ตระหนักว่าตนไม่สามารถแยกแยะความรู้สึกได้หากใช้สถานที่ทับซ้อน จึงสมควรที่จะหาสถานที่อื่นๆ ที่ทำให้แยกแยะความรู้สึกได้ง่ายขึ้น ฉะนั้นการแก้ไขปัญหาจึงไม่ได้มีสูตรตายตัว เพราะขึ้นอยู่กับเงื่อนไข ข้อจำกัด และความพอดีกับใจของผู้มาปรึกษา

ทิศทางของปัญหาพื้นที่ทับซ้อนในอนาคต

ปัญหาทุกอย่างจะดีขึ้นหรือแย่ลงก็ขึ้นอยู่กับประเทศไทยรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 ได้ดีแค่ไหน หากรับมือได้ทุกคนก็อาจกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้ ไปทำงานที่ออฟฟิศได้ พักผ่อนที่บ้านจริงๆ ได้ แต่ถ้าสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น ทุกคนก็ต้องอดทนปรับตัวกันต่อไป ผมคิดว่าทุกคนคงโหยหาการได้กลับไปใช้ชีวิตตามปกติ ไปเที่ยวข้างนอก ไปเดินตลาด ไปคอนเสิร์ต ไปพบปะสังสรรค์ผู้คน เพราะที่ผ่านมาเราใช้ชีวิตกันแบบฝืนธรรมชาติมาก ก็หวังว่าสถานการณ์จะค่อยๆ ดีขึ้นและพวกเราก็จะได้กลับมาใช้ชีวิตได้อย่างมีชีวิตชีวาอีกครั้ง

 
คชรักษ์ แก้วสุราช
มัลติมีเดีย, Editor
content creator ที่หน้าตาดีที่สุดในตำบลบึงยี่โถ