Skip to main content

11,000 ปีที่แล้วมนุษย์เริ่มนำสุนัขมาเลี้ยงในครัวเรือน จวบจนปัจจุบันสุนัขวิวัฒนาการและปรับตัวให้อยู่ในสังคมมนุษย์ได้เป็นอย่างดี ด้วยคุณลักษณะของสุนัขซึ่งเราไม่จำเป็นต้องบรรยาย มันถูกนับเป็นสมาชิกในครอบครัวคนหนึ่ง เป็นเพื่อน และผู้เยียวยาโดยธรรมชาติยามที่มนุษย์จิตใจแตกร้าวหรือร่างกายแตกหัก

Jean Burden เคยกล่าวไว้ว่า "ฉันพูดเสมอว่า สุนัขคือร้อยแก้ว แมวคือบทกวี" อาจเพราะสุนัขเข้าใจง่ายกว่าแมว ไม่ต้องตีความให้วุ่นวายใจ มันจึงเป็นที่นิยมมากกว่าในการเป็นผู้ช่วยหรือผู้บำบัดแก่ผู้ที่มีความต้องการพิเศษ อาจเป็นธรรมชาติของสุนัขอยู่แล้วเพราะแค่อยู่กับพวกมันก็ทำให้มนุษย์สบายใจขึ้น

แต่เมื่อเจ้าของและสุนัขร่วมมือกันจะสามารถทำได้มากกว่าที่เราคิด วรกร โอสถารยกุล ผู้ก่อตั้งโครงการและหลักสูตรสุนัขนักบำบัดแห่งประเทศไทยและนายกสมาคมสุนัขบำบัด จะเล่าให้เราฟังว่าทีมสุนัขนักบำบัดทำอะไรได้บ้าง

 

ทีมสุนัขนักบำบัด การทำงานเป็นทีมระหว่างเจ้าของกับสุนัข

การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและกำลังเข้าใกล้สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์นำมาซึ่งความท้าทายหลายหลาก หนึ่งในนั้นคือปัญหาสุขภาพซึ่งเชื่อมโยงถึงเรื่องเศรษฐกิจและสังคม ยังไม่นับผู้มีความต้องการพิเศษ เช่น คนพิการ เด็กพิเศษ หรือผู้ป่วยทั่วไป ความต้องการทีมสุนัขนักบำบัดจึงสูงขึ้นสวนทางกับจำนวนทีมที่ต้องอาศัยระยะเวลาการฝึกฝนตามกลไกตลาดทั่วไป

แต่สิ่งที่สังคมยังสับสนก็คือสุนัขบำบัดกับทีมสุนัขนักบำบัดนั้นต่างกัน วรกรกล่าวว่า ปัจจุบันโครงการหลักสูตรสุนัขนักบำบัดยังไม่แพร่หลาย ทั้งมีความเข้าใจว่าสุนัขบำบัดคือการนำสุนัขไปให้ผู้ที่มีความต้องการพิเศษกอดหรือเล่นด้วย เป็นหน้าที่ของสุนัขฝ่ายเดียวและเรียกว่าสุนัขบำบัด

“ความหมายของสุนัขบำบัดลึกกว่านั้น มันไม่ได้มีแค่สุนัข แต่เป็นเรื่องของเจ้าของสุนัขกับสุนัขที่กลายเป็นทีมสุนัขนักบำบัด คำว่าสุนัขนักบำบัดเป็นคำจำกัดความที่เราสร้างขึ้นมาเพื่อให้คนเข้าใจถึงความแตกต่างระหว่างคำว่าสุนัขบำบัดกับสุนัขนักบำบัด ถามว่าเข้าใจถูกไหมว่ามีสุนัขหนึ่งตัวแล้วไปให้คนไข้ ก็ถูก เพราะสุนัขเกิดมาบำบัดคนได้อยู่แล้วด้วยธรรมชาติของเขา แต่สิ่งที่เราเพิ่มคุณค่าให้กับเขาคือเมื่อเราเป็นเจ้าของเขา เรารักเขา เราสื่อสารกับเขารู้เรื่อง ฉะนั้น เราสามารถใช้สุนัขของเราเป็นเครื่องมือในการช่วยเหลือคนไข้หรือผู้ป่วยหรือคนที่ต้องการรับการบำบัดในกลุ่มต่างๆ ได้”

 

ทีมนักบำบัดซ่อนรูปผู้สร้างคุณค่าให้ผู้ป่วย

ทีมสุนัขนักบำบัดที่หมายถึงเจ้าของสุนัขและตัวสุนัขจะทำงานร่วมกันด้วยการสร้างสรรค์กิจกรรมหลากหลายที่เหมาะกับผู้รับบริการและเหมาะกับทีมสุนัขนักบำบัดเพื่อบำบัดทุกข์บำรุงใจคนไข้ ทำให้คนไข้รู้สึกเปิดใจให้แก่ความสุขในชีวิตและมีกำลังใจที่จะดูแลตัวเอง กิจกรรมที่เกิดขึ้นจึงไม่ใช่แค่ทำให้ผู้ป่วยได้รับการบำบัดตามที่แพทย์ต้องการ แต่ยังช่วยให้ผู้ป่วยเห็นคุณค่าและศักยภาพในตัวเองอีกด้วย

“หลังจากที่เปิดใจแล้วเราก็สร้างกิจกรรมให้เขาเห็นคุณค่าของตัวเอง เช่น คุณหมอให้เขาออกกำลังกายด้วยการเดินให้มากขึ้นเพราะขาอ่อนแรง อยู่ดีๆ ให้เขาไปฝึกเดินก็อาจจะเบื่อกับการเดินไปเดินมากับนักบำบัด ต้องอยู่แต่ในโรงพยาบาล เราก็จะเป็นนักบำบัดซ่อนรูป ไม่แสดงตัวเป็นนักบำบัด แต่เราจะทำตัวเป็นเหมือนลูกหลานเหมือนญาติ พาสุนัขมาเล่นด้วย เขาจะเข้าใจว่าเราไปเยี่ยมเขา พาสุนัขไปเล่นกับเขา”

วรกรยกตัวอย่างดังนี้ สมมติคนไข้อ่อนแรงซีกซ้าย แพทย์ต้องการให้ใช้ซีกซ้ายเพิ่มมากขึ้น สิ่งเหล่านี้ก็จะอยู่ในกิจกรรมที่ทำ เช่น ช่วงคริสต์มาสทีมนักสุนัขบำบัดจะพาคุณยายมาปาร์ตี้คริสต์มาสและพาสุนัขมาเล่นด้วย ทีมอาจจะพาคุณยายเดินจูงสุนัขหรือเข็นรถเข็นสุนัขไปเลือกของตกแต่งต้นคริสต์มาส ระหว่างนี้คุณยายต้องเข็นและต้องเดิน คุณยายก็จะสนุกกับการเดินเพราะไม่ได้เดินด้วย Walker หรือมีเจ้าหน้าที่กายภาพเดินจูงเฉยๆ แต่มีสุนัขให้คุณยายดูแล คุณยายมีคุณค่าขึ้นมาเพราะมีหน้าที่ดูแลสุนัขที่อยู่ในรถเข็น เราก็บอกว่าช่วยกันแต่งต้นคริสต์มาสได้ไหม เราทำให้คุณยายรู้สึกมีความหมายมากขึ้น แต่หากระหว่างนี้ผู้รับการบำบัดไม่ยอมใช้ซีกซ้ายอย่างที่แพทย์ต้องการ...

“ยังใช้ข้างขวาอยู่แล้วก็ปล่อยมือจากรถเข็น ถ้าปล่อยมือเดี๋ยวรถเข็นไหลสุนัขจะหล่น เขาเพิ่งเล่นกับสุนัขมาน่ารักมากเขาก็ไม่อยากให้สุนัขตกจากรถเข็น เขาก็รีบเอามือขวามาจับรถเข็น แล้วก็ใช้มือซ้ายจับของประดับตกแต่งแทน หลังจากนั้นเราก็เพิ่มเข้าไปอีก ให้ฝึกคาร์ดิโอ ฝึกยืดเหยียดการยืดแขนสูงก็คือการคาร์ดิโออย่างหนึ่ง เราก็จะคุณยาย ตรงนี้ค่ะ ตรงนี้ยังไม่มีเลย ตรงนี้ด้วยเขาออกกำลังกายแบบยืดเหยียดโดยไม่รู้ตัวซึ่งเป็นท่าเดียวกันกับการกายภาพบำบัด แต่วันนี้เขาทำแบบมีความสุข นี่คือผลลัพธ์ที่เขาเห็นกับตัวเอง”

 

หัวใจสำคัญคือความสัมพันธ์อันดีระหว่างเจ้าของและสุนัข

จากกระบวนการข้างต้นผู้อ่านรับรู้ได้เองว่าเจ้าของสุนัขและสุนัขจะต้องผ่านการฝึกฝนเพิ่มทักษะและทำงานร่วมกันเป็นทีม เป็นเหตุผลให้ต้องเรียกว่าทีมสุนัขนักบำบัด ถึงตรงนี้น่าจะเกิดคำถามแล้วว่าสุนัขที่จะฝึกต้องเป็นสุนัขแบบไหน ต้องเป็นสุนัขสายพันธุ์หรือเปล่า วรกรเฉลยว่าไม่จำเป็น จะเป็นสุนัขจรที่รับมาเลี้ยงก็ได้ แก่นสำคัญไม่ใช่สายพันธุ์ แต่คือความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าของกับสุนัข การที่ทีมจะมีความสัมพันธ์กับคนอื่นได้ เจ้าของต้องมีความสัมพันธ์อันดีกับสุนัขของตนก่อน

“ถามว่าไปเอาสุนัขจรจัดมาฝึกได้ไหม ได้นะ แต่คุณต้องอยู่ร่วมกันมาไม่น้อยกว่า 1 ปีต้องมีความสัมพันธ์อันดีต่อกันก่อนแล้วคุณค่อยมาอบรมเพราะถ้าคุณยังคุยกับสุนัขคุณไม่รู้เรื่องคุณจะทำอะไรต่อไม่ได้เลย เมื่อคุณมีความสัมพันธ์อันดีกับสุนัขของคุณแล้ว คุณจะพาเขาออกไปเที่ยวออกไปทำอะไรคุณก็จะสนุก พอคุณมาเรียนคุณก็จะสนุก สุนัขคุณก็จะสนุก จะไม่มีใครถูกบังคับให้มา เมื่อไม่มีใครถูกบังคับให้มาเวลาที่คุณเรียน คุณสั่งคำสั่ง มันจะสั่งด้วยความสนุก สุนัขจะรู้สึกเหมือนมาเล่น รู้สึกเหมือนมาเจอเพื่อน

“เราต้องเอาแกนสำคัญซึ่งก็คือความสัมพันธ์อันดีระหว่างสุนัขกับเจ้าของมาก่อน สุนัขไม่จำเป็นต้องมีสกิลที่เก่ง ไม่จำเป็นต้องบอกให้ทำตามคำสั่งได้ว่าต้องนั่งได้หมอบคอย ไม่ต้อง คุณคุยกับเขารู้เรื่อง เขาฟังคุณบอกให้เดินก็เดินก็แค่นั้น เขา enjoy ที่จะมีชีวิตกับคุณ เขามีความเป็นมิตรไม่กัดคน แค่นี้เบื้องต้นได้แล้ว”

 

เรียนรู้ทฤษฎี

ก่อนเข้าโครงการทุกคนต้องกรอกใบสมัครแล้วทางโครงการจะโทรไปสัมภาษณ์ว่ามีเป้าหมาย ความคิด ความเข้าใจอย่างไร เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันก่อน หลังจากนั้นจะมีการทดสอบทั้งเจ้าของและสุนัขโดยดูว่าเจ้าของและสุนัขมีความสัมพันธ์กันอย่างไร คาแรคเตอร์ของสุนัขเป็นอย่างไร มีการตรวจสุขภาพประจำปีของสุนัข เมื่อผ่านแล้วจึงค่อยชำระค่าฝึกอบรม

วรกรกล่าวว่ากระบวนการไม่ได้ยากมาก ทั้งการที่สุนัขมีความฉลาดไม่เท่ากัน มีหลากหลายสายพันธุ์ ผู้เลี้ยงมีความแตกต่างหลากหลายกลับยิ่งเพิ่มความสนุกและยิ่งดีต่อการสร้างทีมสุนัขนักบำบัด

“ถามว่าฝึกยากไหม ความยากคือการที่เราพยายามทำให้เจ้าของผู้เลี้ยงสุนัขมีสกิล มีความรู้ ความเข้าใจด้านการแพทย์เกี่ยวกับคนกลุ่มต่างๆ ที่เขาจะไปบำบัดดูแล เช่น เขาต้องเรียนเกี่ยวกับจิตวิทยาเด็กพื้นฐานโดยเราเน้นการมี empathy การเข้าใจผู้อื่นเป็นหลัก เราจะไม่สงสารคนแต่เราจะใช้วิธีเข้าใจเขา”

ผู้ฝึกต้องรู้จักลักษณะอาการความเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของผู้สูงวัย สิ่งที่ควรและไม่ควรทำ เข้าใจโรคประจำตัวและลักษณะของโรค ลักษณะของเด็กพิเศษเป็นอย่างไร ความแตกต่างระหว่างเด็กออทิสติกกับดาวน์ซินโดรมแตกต่างกันอย่างไร หรือบุคลิกของเด็กปกติที่ต้องการการสนับสนุนจากเรา คนที่มีภาวะซึมเศร้าเป็นอย่างไร สิ่งที่ควรพูดควรเป็นคำพูดแบบไหน หรือในกลุ่มคนพิการหูหนวก เราควรเรียกเขาว่าอะไร ต้องให้เกียรติทุกคนและรู้วิธีสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจกันเบื้องต้น ดังนั้น ผู้ฝึกก็จะได้เรียนภาษามือเบื้องต้นด้วย

 

ฟังดูยุ่งยากและต้องใช้เวลาเรียนรู้มาก แต่จำเป็น วรกรอธิบายว่า

“ทำไมต้องรู้ ถ้าเราเข้าไปหาผู้สูงวัย เราคุยกับเขาไม่ถึง 5 นาทีเขาถามคำถามเดิมถาม 3 รอบแล้ว ถ้าเราไม่เข้าใจ เราจะรู้สึกโกรธว่าฉันอุตส่าห์เอาหมามาเล่นด้วย เตรียมกิจกรรมมาตั้งมากมายทำไมไม่สนใจในสิ่งที่ฉันพูด แต่ถ้ารู้ว่าเขาเป็นอัลไซเมอร์ก็จะเข้าใจ ถามอีก 10 รอบ 20 รอบก็ตอบได้ด้วยความสุขเพราะว่าเข้าใจเขา แล้วก็จะเข้าใจว่าจะสื่อสารกับเขาแบบไหนที่ไม่ทำให้เขารู้สึกว่าเขาป่วย”

ฝึกภาคปฏิบัติ

ในส่วนภาคปฏิบัติ ทางโครงการจะพาผู้เข้าอบรมและสุนัขไปอบรมในสถานที่จริง แต่ยังไม่ได้เจอคนจริง เช่นไปเรียนรู้เรื่องผู้สูงวัยสวางคนิเวศของสภากาชาดไทย หรือไปโรงพยาบาลศรีธัญญาเพื่อเรียนรู้ภาวะซึมเศร้า ไปโรงเรียนเศรษฐเสถียรสำหรับคนหูหนวก ศูนย์การศึกษาพิเศษในกรณีเด็กพิเศษ เป็นต้น เพื่อให้เจ้าของและสุนัขมีความคุ้นเคยกับสถานที่เหล่านี้ รู้ว่าควรจะดูแลตัวเองและสุนัขอย่างไร

นอกจากนี้ หัวใจสำคัญในการอบรมคือการออกแบบการบำบัด โครงการจะสอนการใช้สุนัขเป็นเครื่องมือในการบำบัด ตั้งแต่การเตรียมตัวเองและสุนัขก่อนเข้าไปบำบัด กระบวนการออกแบบกิจกรรมบำบัด การจัดการสถานที่ การเปิดใจ การนำเข้าสู่กิจกรรมบำบัดเชิงลึก การปิดเซสชั่นด้วยความสุข และให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาทางการแพทย์ต่อไป

“ตั้งแต่การฝึกภาคปฏิบัติก็ต้องทำงานร่วมกันเป็นทีมเพราะเจ้าของเป็นคนสั่งสุนัข เขาไม่ได้เอาสุนัขมาฝากเราแล้วเราพาไป ทุกคนต้องจูงสุนัขไปในสถานที่ด้วยตัวเองแล้วก็ไปเรียนว่าวันนี้จะเรียนหัวข้ออะไร การเดินแบบนี้เป็นยังไง การเดินกับรถเข็นเป็นยังไง การช่วยเหลือคนตาบอด เราสอนเขาแล้วเขาก็สอนสุนัขเดี๋ยวนั้นเลย อันนี้คือการจัดการกับสุนัขเบื้องต้น การออกแบบการบำบัดจะเป็นการสอนให้เขารู้ว่าจะใช้สุนัขของเขาเป็นเครื่องมือในการไปบำบัดคนป่วยอย่างไร เขาต้องทำงานกันเป็นทีม”

และด้วยความหลากหลายของเจ้าของและสุนัขที่แตกต่างทั้งพันธุ์ ความเฉลียวฉลาด และขนาดตัว การฝึกทีมสุนัขนักบำบัดก็ไม่ได้ละเลยประเด็นเหล่านี้ การฝึกสุนัขขนาดเล็กกับขนาดใหญ่จึงมีรายละเอียดแตกต่างกันไป ท้ายที่สุดเมื่อเรียนจบทุกทีมจะมีคาแรคเตอร์ของตัวเอง ซึ่งเป็นจุดแข็งที่ทำให้สามารถจับคู่ทีมกับผู้รับการบำบัดเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดตามโจทย์ที่แพทย์ให้มา

เช่นถ้าเป็นการบำบัดแบบกลุ่มก็ต้องจัดกลุ่มผู้ป่วยที่มีความใกล้เคียงกัน อาจจะเป็นทางกายภาพหรือลักษณะโรค เมื่อเป็นการบำบัดแบบกลุ่มข้อมูลแบบย่นย่อก็เพียงพอในการออกแบบการบำบัดโดยสามารถใช้สุนัขเพียง 1 ทีม 2 ทีมหรือ 3 ทีมก็ได้ให้เหมาะสมกับกิจกรรมที่ออกแบบและจำนวนคน

 

สอบไฟนอล

เมื่อเจ้าของและสุนัขเรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติเสร็จสิ้นก็จะมีสอบ โดยภาคทฤษฎีเจ้าของต้องสอบข้อเขียนใช้เวลา 3 ชั่วโมง ส่วนการสอบภาคปฏิบัติทางโครงการจะเชิญกรรมการที่เป็นตัวแทนจากองค์กรต่างๆ เช่น ผู้สูงวัย เด็กพิเศษ คนพิการ เป็นต้น โดยเจ้าของจะต้องสอบภาคปฏิบัติพร้อมกับสุนัขของตนเอง ทั้งหมดนี้เพื่อมั่นใจว่าทีมสุนัขนักบำบัดทีมนี้มีความสามารถเข้าไปในสถานที่ต่างๆ เพื่อบำบัดได้

“มีสอบตก ก็ค่อยมาสอบซ่อม เมื่อสอบเสร็จแล้วเราก็จะให้ไปฝึกงานซึ่งก็จะได้บำบัดคนจริงๆ จะได้เห็นว่าเขาสอบผ่านสำหรับคนในกลุ่มไหนด้วยบางทีมกลุ่มผู้สูงวัยอาจจะรู้สึกว่าทีมนี้ไม่เหมาะก็มี

“ทุกคนเห็นร่วมกันที่จะให้สมาคมเป็นคนสกรีนงานเพราะทีมสุนัขบำบัดทุกทีมไม่ได้บำบัดคนได้ทุกกลุ่ม อย่างที่บอกว่าเราใช้คาแรคเตอร์ของเจ้าของสุนัขด้วย ดังนั้น ถ้าปลายทางคือให้ผู้ได้รับการบำบัดเกิดประสิทธิผลที่สุด ทางสมาคมจะคัดว่าภูมิหลังของคนไข้รายนี้ควรจะใช้ทีมไหนส่งไปบำบัดถึงจะดีที่สุด”

ทีมสุนัขนักบำบัดที่สอบผ่านจะได้ประกาศนียบัตรที่มีอายุ 1 ปี ถ้าทีมนั้นๆ ทำงานเก็บชั่วโมงร่วมกับโครงการครบตามที่กำหนดก็ไม่ต้องชำระเงินค่าต่ออายุ แต่ถ้าทำงานไม่ครบชั่วโมงก็ต้องชำระเงินค่าต่ออายุและมีการทดสอบเบื้องต้น ที่ต้องทำแบบนี้วรกรให้เหตุผลว่าถ้าเจ้าของได้ประกาศนียบัตรไปสัก 3 เดือน แล้วต้องไปต่างประเทศ 6 เดือน พอกลับมาเจ้าของกับสุนัขอาจสื่อสารกันไม่เข้าใจแล้วเพราะไม่มีคนดูแล พฤติกรรมเปลี่ยน การต่ออายุประกาศนียบัตรจึงเป็นกฎที่ให้มั่นใจว่าแต่ละทีมยังมีหน้าตาเหมือนเดิมหรือมีพัฒนาการเปลี่ยนไปอย่างไร ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยสำหรับทุกคนเพราะการทำงานเป็นการนำสิ่งมีชีวิตไปคุยกับสิ่งมีชีวิตที่เป็นผู้ป่วย

หลักสูตรจากสวิตฯ ปรับให้เป็นหลักสูตรไทย

“เราเอาแนวทางหลักสูตรมาจากสวิตเซอร์แลนด์เพราะเราไม่สามารถก๊อปปี้เพตมาวางได้” วรกรกล่าว “จากที่เราคุยกับทางโน้น บริบททางสังคมของเราไม่เหมือนกัน ไลฟ์สไตล์การเลี้ยงสุนัขก็ไม่เหมือนกัน สุนัขที่นู่นต้องฝึก การเชื่อฟังคำสั่งพื้นฐานต้องได้ คุณต้องพาสุนัขไปเดินออกกำลังกายทุกวันวันหนึ่งกี่ชั่วโมง เขามีกฎหมายกำหนด ต้องเลี้ยงสุนัขแบบไหน ยังไง ต้องเสียภาษี ทุกอย่างมีข้อบังคับชัดเจนมีการกำกับดูแลชัดเจนเป็นกฎหมายสำหรับผู้เลี้ยงสุนัข

“แต่บ้านเราไม่มี ใครจะเลี้ยงแบบไหนก็ได้ เมื่อไม่มีข้อบังคับการที่สุนัขกับคนจะมีพันธะกันแบบนั้นก็ไม่ได้ง่าย สังเกตว่าทำไมเราเห็นสุนัขเมืองนอกดูง่ายจังเดินตามเจ้าของบนถนนไม่ต้องจูงเลย เมืองไทยยังไม่ได้ขนาดนั้นต้องค่อยๆ ปรับ”

เป็นเหตุผลให้หลักสูตรทีมสุนัขนักบำบัดจากสวิตเซอร์แลนด์ต้องปรับเปลี่ยนให้เข้ากับบริบทสังคมไทย ซึ่งทางโครงการได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและจากผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านนั้นๆ มาช่วยกับปรับปรุงหลักสูตร

“เราคุยในแบบขององค์กรต่อองค์กรเพราะเรากำลังทำเรื่องใหญ่มากและต้องการเข้าไปดูแลคนในแต่ละกลุ่ม ปลายทางที่เราต้องการคือเป็นทางเลือกเครื่องมือแพทย์ เราจึงต้องคุยกับผู้ใหญ่ทุกคนว่าเราจะทำยังไงได้บ้าง องค์ความรู้ของคนกลุ่มต่างๆ จึงแน่นมาก มาเป็นผู้สอนให้กับเรา ทุกองค์กรเลยส่งอาจารย์และผู้เชี่ยวชาญมาช่วยเราปรับหลักสูตรว่าแค่ไหนที่เราควรต้องรู้ เพราะเราไม่ใช่หมอแต่เราต้องมีความรู้เพียงพอกับการทำงาน”

ต้นทุนการสร้างทีมสุนัขนักบำบัด

วรกรเล่าว่าค่าใช้จ่ายในการฝึก ณ ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 60,000 กว่าบาท โดยมีการฝึกอบรม 3 ประเภทคือแบบ Duo 1 เจ้าของ 1 สุนัข ประเภทที่ 2 คือ Trio เจ้าของ 2 คน สุนัข 1 ตัวเนื่องจากบางครอบครัวเป็นเจ้าของสุนัขร่วมกันกัน ประเภทสุดท้ายคือ Duo Plus หมายถึงเจ้าของ 1 คน แต่มีสุนัข 2 ตัว เชื่อว่าเมื่อหลายคนเห็นราคาแล้วรู้สึกตกใจ แต่วรกรเผยว่าทุกวันนี้ทางโครงการสุนัขนักบำบัดแห่งประเทศไทยซึ่งอยู่ภายใต้บริษัทออลไฟน์ยังขาดทุนอยู่หลายล้านบาท

“บริษัท ออลไฟน์เป็นผู้ก่อตั้งโครงการสุนัขนักบำบัดแห่งประเทศไทย หลังจากนั้นเราสร้างสมาคมสุนัขนักบำบัดเพื่อต้องการให้ทีมสุนัขนักบำบัดในอนาคตเข้าไปเป็นกรรมการบริหารจัดการเอง เรามองว่าในอนาคตถ้าเราไม่อยู่อย่างน้อยมีสมาคมแล้วจะอยู่ด้วยตัวเอง จะไม่ตายไปพร้อมเรา พร้อมบริษัท การตั้งสมาคมขึ้นมาก็ทำให้โครงการอยู่ไปได้ด้วยตัวของมันเอง”

เหตุที่ต้นทุนการทำโครงการค่อนข้างสูงส่วนหนึ่งเพราะสิ่งนี้เป็นเรื่องใหม่มากสำหรับประเทศไทย ขณะที่ในต่างประเทศจะใช้วิธีระดมทุนก่อนแล้วจึงเปิดโครงการ แต่วรกรเห็นว่าถ้าระดมทุนไม่รู้จะได้เริ่มเมื่อไหร่เพราะต้องเริ่มตั้งแต่การให้การศึกษาการเลี้ยงสุนัข คนไทยยังเห็นการเลี้ยงสุนัขเป็นเรื่องสนุก เป็นเรื่องของคนในครอบครัว แต่ยังไม่มีใครนึกภาพออกว่าสุนัขจะเป็นเครื่องมือทางการแพทย์ได้อย่างไร โครงการจึงต้องไปพูดคุยกับหลายองค์กรเพื่อทำความเข้าใจ วรกรจึงตัดสินใจเริ่มด้วยทุนของตนเอง สร้างตัวอย่างต้นแบบให้เห็น สร้างทีม สร้างกระบวนการ และสร้างผลลัพธ์ให้เป็นคำตอบโดยตัวมันเอง

“คนส่วนใหญ่คอมเม้นต์เยอะตอนเห็นราคา ไหนบอกว่าเป็นจิตอาสา แล้วทำไมคิดราคาแบบนี้ บางคนเข้ามาเรียนก็จะบอกว่าคิดราคาถูกไปหรือเปล่า เขาเห็นสิ่งที่เราให้มันเยอะกว่านั้นมาก แล้วกว่าจะเรียนจบกันจริงๆ 6 เดือน คนมักจะเอาราคาไปเทียบกับการฝึกสุนัข แต่ถ้าคุณเอาราคานี้ไปเปรียบเทียบกับต้นทุนการฝึกวิชาชีพสักอย่างมันจะถูกไปเลย เพราะนี่คือการสร้างโลกใหม่ให้กับคุณ อยู่ดีๆ คุณไม่มีความรู้ทางด้านการแพทย์เลยและคุณกลายไปเป็นนักบำบัด คุณทำให้คนไข้เปลี่ยนได้ คุณไปช่วยคุณหมอได้”

Future Medicine

การสร้างทีมสุนัขนักบำบัดยังต้องอาศัยการประชาสัมพันธ์อีกมาก เพราะสิ่งนี้ไม่ใช่การฝึกสุนัข หากเป็นการฝึกผู้คนให้มีความรู้ด้านการแพทย์และนำสุนัขของตนไปเป็นเครื่องมือในการช่วยเหลือซึ่งในอนาคตสามารถเป็นอาชีพได้

ปัจจุบันมีคนขอทางโครงการให้ส่งทีมไปช่วยบำบัดอยู่เสมอ แต่วรกรต้องการสร้างมาตรฐานให้ชัดเจนก่อน ตอนนี้ทางสมาคมจึงทำงานภาคการบำบัด 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นงานจิตอาสาให้แก่องค์กรการกุศลโดยมีภาคเอกชนเข้ามาสนับสนุนค่าใช้จ่าย อีกส่วนเป็นการให้บริการแก่สถานพยาบาลต่างๆ ที่ขอเข้ามาหรือแม้กระทั่งการเข้าไปสร้างความสุขให้กับพื้นที่ทำงานในออฟฟิศ ซึ่งถือเป็นการบำบัดความเครียดให้แก่พนักงานเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่เป็นงานของสมาคมในภาคการบำบัด

โดยยังไม่มีการบำบัดรายบุคคลตามที่พักอาศัยแม้ว่าจะมีคนติดต่อมาจำนวนมาก เนื่องจากทางทีมไม่สามารถประเมินคนไข้เองได้ ต้องเป็นหน้าที่แพทย์ หากทางทีมทำหน้าที่ตรงนี้จะทำให้ขาดความน่าเชื่อถือ นอกจากนี้ บุคลากรที่โครงการอยากทำงานด้วยคือแพทย์ซึ่งจะทำให้ได้ประสิทธิผลที่สุด

จากเรื่องราวทั้งหมดนี้คงทำให้เห็นแล้วว่า ทีมสุนัขนักบำบัดมีศักยภาพทางธุรกิจที่จะเติบโตต่อไปในอนาคต วรกรเชื่อว่าสิ่งนี้คือ...

“Future Medicine วันนี้การบำบัดรักษาไม่ใช่แค่การใช้ยาอย่างเดียว เราไม่ได้บอกว่าการใช้ยาไม่ดี เพียงแต่ว่ามันมีองค์ประกอบหลายอย่างในการดูแลคนหนึ่งคน ตั้งแต่ร่างกาย จิตใจ จิตวิญญาณ มันต้องดูแลหมดทุกอย่าง ทำไมถึงบอกว่าคนป่วยต้องทำตัวให้มีความสุขและสุขภาพจะดีเพราะมันมีผลถึงกันหมด ฉะนั้นวิธีการดูแลบำบัดใจบำบัดร่างกายต้องไปด้วยกัน เราเชื่อว่านี่เป็นทางเลือกหนึ่งในเวลาที่เหมาะสม แต่ไม่ใช่สิ่งทดแทน”

 

น้องแมว น้องกระต่าย น้องนก และน้องอื่นๆ

คนที่เป็นทาสแมว ทาสนก ทาสกระต่ายน่าจะเกิดคำถามในใจว่า สัตว์เลี้ยงของฉันสามารถเป็นนักบำบัดได้หรือไม่ วรกรตอบว่าเป็นได้หมด ถ้ารู้ว่าจะใช้สิ่งมีชีวิตที่มีอยู่ไปช่วยเหลือคนอื่นอย่างไร

“สมมติโอมีโทรศัพท์มือถือหนึ่งเครื่องแล้วจะไปดูแลคุณย่าที่เบื่อมาก โออาจจะหยิบแท็บเล็ตหรือมือถือขึ้นมาแล้วชวนคุณย่าเล่นเกมด้วยกัน นี่คือเครื่องมือเรา แล้วเราจะใช้มันยังไงไปดูแลคนอื่น

“แต่ถ้าเราใช้สิ่งมีชีวิต บทเราก็จะน้อยลงเพราะสิ่งมีชีวิตจะมีบทบาทช่วยเหลือเราเอง สมมติมีนกแก้วก็อาจจะเอาไปเล่นกับคุณย่า เอาอาหารใส่มือนกก็มาจิกกิน มันเกาะนิ้วได้ลองดูไหม ถ้าคุณย่ามืออ่อนแรงต้องทำแขนแบบนี้นะแล้วมันจะมาเกาะก็เป็นการฝึกเขาได้อย่างหนึ่ง ฉะนั้นสัตว์ทุกอย่างโอว่าฝึกได้หมดเพียงแต่เจ้าของต้องรู้ว่าจะใช้มันเป็นเครื่องมืออย่างไรในการดูแลคนอื่น”

แต่ตอนนี้ทางโครงการยังไม่มีแผนสร้างทีมบำบัดในสัตว์ชนิดอื่น เพราะองค์ความรู้ยังไม่พร้อมและการฝึกทีมสุนัขนักบำบัดก็ยังผลิตไม่ทันต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง