Skip to main content
คนทั่วไปพาผู้ป่วยจิตเวชซึ่งหายแล้วออกไปดูโลกภายนอกกับเข้าสังคม
ผู้ป่วยหรือผู้มีความบกพร่องทางจิตส่วนใหญ่ที่ไม่ยอมไปพบจิตแพทย์และเข้ารับการรักษา เกิดจากการวิตกกังวล หวาดกลัว อับอาย และที่สำคัญไม่ต้องการถูกตีตราบาปจากสังคมว่า เป็นโรคจิต คนบ้า ฯลฯ โดยเชื่อว่าการมีสถานภาพเป็นผู้ป่วยจิตเวชแม้จะรักษาอาการจนหายดีแล้วก็ตาม จะทำให้ตนเป็นที่รังเกียจจนถูกกีดกันออกจากสังคม ไม่ถูกยอมรับ เสียโอกาสในด้านต่างๆ เช่น หน้าที่การงาน หรือแม้แต่การถูกเลือกปฏิบัติแตกต่างออกไปจากคนอื่น ท้ายที่สุดจึงเลือกปกปิดอาการและเก็บไว้เป็นความลับแทน รอคอยว่าสักวันหนึ่งคงหายได้เองโดยไม่ต้องพึ่งพาการรักษา
แล้วอะไรล่ะ? เป็นตัวการทำให้พวกเขาเข้าใจผิดเช่นนั้น เพราะอะไรจึงเชื่อว่า เรื่องที่เคยได้ยินเป็นเรื่องจริง ในวันนี้อดีตผู้ป่วยจิตเวชจะมาปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาและบอกพวกคุณว่า ทั้งหมดที่เคยเชื่อมาเป็นแค่เรื่องโกหก! พร้อมเปิดเผยเรื่องราวที่จะเปลี่ยนทุกความเชื่อและฆ่าทุกความกลัวของคุณไปตลอดกาล สิ่งที่คิดกับความเป็นจริงจะต่างจากสิ่งที่รับรู้มาขนาดไหน ลองมาฟังประสบการณ์จริงจากปากพวกเขากัน

 

ผู้ป่วยจิตเวชเป็นกลุ่มบุคคลที่ไม่ถูกยอมรับในสังคม คือความเชื่อและความเข้าใจผิดที่ส่งผลให้สถิติผู้ป่วยจิตเวชที่ไม่ได้เข้ารับการรักษามีจำนวนสูงขึ้น พญ.พรรณพิมล วิปุลากร โฆษกกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีผู้ป่วยจิตเวชประมาณ 500,000 ราย ในจำนวนนี้ 300,000 ราย อยู่ในระบบการดูแลรักษา ส่วนอีก 200,000 รายที่เหลือยังไม่เข้ามารับการรักษา[1] กรมสุขภาพจิตชี้ให้เห็นว่า สาเหตุของเรื่องดังกล่าวส่วนหนึ่งมาจากการนำเสนอและผลิตซ้ำของสื่อ ยิ่งมีการนำเสนอข่าวผู้ป่วยจิตเวชก่อความรุนแรงสังคมก็ยิ่งหวาดกลัว กลายเป็นการตีตราผู้ป่วยจิตเวช จนทำให้บุคคลเหล่านี้ไม่กล้าใช้ชีวิตในสังคม[2] และเมื่อสังคมเริ่มติดภาพว่า ผู้ป่วยจิตเวชเป็นคนบ้า โรคจิต เป็นผู้ก่ออาชญากรรม-คดีร้ายแรง ความกลัวจึงบังเกิดขึ้น นำมาสู่การไม่เปิดใจยอมรับและไม่เชื่อว่าผู้ป่วยจะสามารถกลับมาหายเป็นปกติได้จริง การหยิบยื่นโอกาสในการกลับเข้าสู่สังคมอีกครั้งจึงไม่เกิดขึ้น

ทางด้านผู้ป่วย หลายคนก็เชื่อเช่นนั้น เมื่อรักษาจนหายดีแล้วจึงพยายามเก็บตัวอยู่แต่ในบ้าน ไม่สุงสิงกับใคร ไม่กล้าพบปะผู้คน กลัวการไม่ถูกยอมรับ พญ.พันธุ์นภา กิตติรัตนไพบูล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคจิตเวชเคยกล่าวในบทความสุขภาพจิตเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า เมื่อถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคทางจิต ผู้ป่วยจะถูกตราหน้าตั้งแต่วินาทีนั้นว่าเป็นผู้ป่วยโรคจิต เป็นตราบาปที่ติดตัวผู้ป่วยไปตลอดชีวิต เปรียบเสมือนแผลเป็นบนใบหน้าที่ไม่สามารถลบเลือนได้ ทำให้คนทั่วไปไม่อยากคบหาสมาคม ไม่อยากยุ่งเกี่ยวกับผู้ป่วย มองผู้ป่วยในแง่ลบ ตราบาปนี้มีผลกระทบอย่างมากต่อการดำรงชีวิตของผู้ป่วย ทั้งในด้านชีวิตประจำวัน สัมพันธภาพกับบุคคลอื่น การหางานทำ การหาที่พักอาศัย การรักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วย สังคมจะพยายามกีดกันผู้ป่วยออกจากกลุ่มของตนเอง จากผลกระทบเหล่านี้ทำให้ผู้ป่วยพยายามปกปิดอาการของตน ไม่ยอมรับการรักษา ไม่กล้าพบจิตแพทย์ ก็ยิ่งทำให้อาการผู้ป่วยรุนแรงมากขึ้น สังคมก็ยิ่งหวาดกลัวและรังเกียจผู้ป่วยมากขึ้น เป็นวงจรเช่นนี้เรื่อยไป 

นอกจากนี้ บุคลากรทางจิตเวชก็มักจะถูกผลกระทบนี้เช่นกัน เช่น จิตแพทย์และโรงพยาบาลจิตเวชมักจะถูกล้อเลียนและเป็นตัวตลกอยู่เสมอ[3] ทำให้ผู้มีอาการทางจิตจำนวนมากวิตกกังวลและกลัวที่จะเข้ารับการรักษา ในที่สุดก็ตัดสินใจไม่ไปพบจิตแพทย์ ปล่อยให้อาการเรื้อรังจนนำไปสู่จุดจบที่ไม่สวยงามเท่าใดนัก

---

จากการสัมภาษณ์และพูดคุยกับแหล่งข่าวทั้ง2คนซึ่งเป็นผู้ป่วยจิตเวชที่มีอาการแตกต่างกันกลับพบว่า ไม่มีคนไหนเลยในฐานะผู้ป่วยที่ถูกตีตราบาปหรือถูกกีดกันจากสังคม ทุกคนยังคงสามารถใช้ชีวิตได้เหมือนคนทั่วไป มิหนำซ้ำยังได้รับทั้งความช่วยเหลือและกำลังใจจากคนรอบข้างอย่างล้นหลามต่างจากที่เคยทึกทักเอาไว้ก่อนหน้าอีกด้วย โดยต่างยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า ความสัมพันธ์อันดีจะไม่มีทางเกิดขึ้นได้หากเราเริ่มต้นจากความกลัว วิธีที่ดีที่สุดในการพาตัวเองกลับเข้าสู่สังคมอีกครั้งคือการให้โอกาสตัวเองอีกครั้ง เริ่มจากการพูดคุยกับคนอื่นก่อน อาจเริ่มจากคนใกล้ตัว โดยอย่ากลัวและอย่าคิดไปเองถึงสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น ที่สำคัญต้องเชื่อมั่นในตนเองให้มากอีกด้วย

การเข้าสังคมของมนุษย์โดยพื้นฐานตั้งแต่สมัยโบราณมักใช้วิธีการสนทนา เพื่อสื่อสารระหว่างกันเป็นจุดเริ่มต้นของทุกความสัมพันธ์ เมื่อความสัมพันธ์ก่อร่างขึ้นจนเข้มแข็งแล้ว ก็จะนำไปสู่การถูกยอมรับและการได้รับโอกาสในด้านต่างๆ หรือที่เรียกว่า การเข้าสังคม นั่นเอง ดังนั้น เมื่อผู้ป่วยจิตเวชจะกลับเข้าสู่สังคม สิ่งแรกที่จะต้องทำคือเริ่มพูดคุยสนทนาเพื่อสร้างสัมพันธ์กับคนอื่นก่อน ส่วนเรื่องหน้าที่การงาน และสถานภาพทางสังคมเป็นเรื่องรองและจะถูกกำหนดขึ้นในภายหลัง ผู้ป่วยจิตเวชจึงควรเริ่มต้นจากการฝึกสร้างสัมพันธ์กับคนใกล้ชิดก่อน โดยเฉพาะครอบครัวหรือเพื่อนสนิท เพื่อให้เกิดความมั่นใจในตนเอง จนพร้อมสำหรับการเข้าสู่สังคมที่ใหญ่ขึ้น

ผู้ป่วย2คนยินดีอย่างยิ่งที่จะมาร่วมพูดคุยและแบ่งปันประสบการณ์ของพวกเขาเกี่ยวกับการกลับเข้าสู่สังคมหลังจากได้รับสถานภาพใหม่เป็นผู้ป่วยจิตเวช โดยทั้งคู่ยืนยันว่ามิได้ถูกตีตราบาปจากสังคมแต่อย่างใด กลับกันยังได้รับความช่วยเหลือและความเข้าใจจากคนรอบข้างอย่างท่วมท้นอีกต่างหากซึ่งต่างจากที่เคยตื่นตูมเอาไว้ล่วงหน้าโดยสิ้นเชิง

 

อย่าตีตนไปก่อนไข้...แล้วจะเห็นว่าชีวิตไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิด

ผู้หญิงซึ่งเป็นผู้ป่วยจิตเภทนั่งในวงกลมสีแดงที่ตัวเองเป็นคนสร้างขึ้นมา
ภาพประกอบ: TOYTHOYY

ไอมี่ อายุ 23 ปี ผู้ป่วยโรคจิตเภทซึ่งมีอาการหูแว่วมาตั้งแต่อายุ 14 ปี ปัจจุบันอาการดีขึ้นมากแต่ยังคงไปพบแพทย์และรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง ให้ความเห็นว่า แม้ว่าผู้ป่วยจิตเภทจะสามารถทำอะไรได้ตามปกติแต่การไปพบจิตแพทย์ก็ยังเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยทำให้ข้อจำกัดของโรคนี้ลดน้อยลง บางคนอาจกลัวผลกระทบทางสังคมจนลืมไปว่า การปล่อยปละละเลยจนอาการกำเริบหนักจนไม่สามารถรักษาให้หายได้นั้นน่ากลัวกว่า

สำหรับเธอ ผลกระทบจากปัญหาครอบครัวและสิ่งแวดล้อมรอบข้างเป็นเหตุทำให้เกิดอาการหูแว่ว ได้ยินเสียงคนคุยด้วย โดยมาในลักษณะของเสียงข่มขู่ ด่าทอ นินทา ให้กำลังใจ ฯลฯ เมื่ออาการหนักเข้าทำให้บุคลิกเปลี่ยนจากเป็นคนพูดคุยเก่งกลายเป็นคนเก็บตัวเงียบไม่พูดจากับใครแทน แต่ถึงอย่างไร เธอก็ยังสามารถเรียนหนังสือได้จนจบปริญญาตรีโดยไม่มีโรคจิตเภทมาเป็นข้อจำกัด ไอมี่รับมือกับภาวะที่เกิดขึ้น โดยเริ่มจากการพยายามควบคุมสติและยอมรับในอาการป่วยของตนเองไปพร้อมกับการเข้าพบจิตแพทย์และกินยาอย่างต่อเนื่อง แม้ทีแรกจะกลัวและวิตกกังวลในหลายอย่างที่ยังไม่เกิดขึ้นโดยเฉพาะสายตาของคนที่มองและผลกระทบที่จะเกิดขึ้น แต่เมื่อได้รับความเข้าใจ กำลังใจ และความช่วยเหลือจากแม่ซึ่งเป็นคนที่เธอไว้ใจที่สุดทำให้เธอฮึดสู้ พยายามกลับมาใช้ชีวิตอีกครั้ง และเริ่มพูดคุยกับคนอื่นมากขึ้น

สุดท้ายนี้เธอยังยืนยันอีกว่าตั้งแต่เริ่มมีอาการหูแว่วมาจนถึงปัจจุบันที่อาการดีขึ้นจนสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ เธอไม่เคยเจอประสบการณ์เลวร้ายหรือถูกตีตราจากสังคมเลย จะมีก็แต่ตัวเธอเองเท่านั้นที่สร้างตราบาปขึ้นมาเพราะคิดว่า ไม่มีใครเข้าใจในโรคที่เป็น พยายามกีดกันตัวเองออกจากสังคมภายนอก ประกอบกับคนไทยส่วนใหญ่ยังเข้าใจว่าผู้ป่วยจิตเภทเป็น คนบ้า จึงยิ่งทำให้เกิดความกลัวในการที่จะบอกคนอื่นว่า ตนเองป่วยเป็นอะไร และเชื่อว่าหลายคนที่เป็นโรคนี้พยายามเก็บอาการป่วยไว้เป็นความลับก็เพราะเหตุผลเดียวกัน ดังนั้นเธอจึงอยากเชิญชวนทุกคนทั้งผู้ป่วยและคนทั่วไปให้หันมาสร้างความเข้าใจใหม่อีกครั้ง โดยเริ่มจากเข้าใจว่าโรคจิตเภทสามารถรักษาให้หายหรือทุเลาลงได้ และผู้ป่วยก็สามารถใช้ชีวิตได้อย่างคนทั่วไปได้

 

โรคพวกนี้อาจทำให้เรากลัวทุกอย่างในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิตในสังคมหรือการถูกตีตราว่าบกพร่อง แต่อย่าลืมว่าความบกพร่องเหล่านั้นสามารถแก้ไขได้ด้วยการรักษา อย่ามองแค่ที่จุดด้อยของเรา แต่ต้องมองหาจุดเด่นของเราด้วยแล้วหาวิธีเสริมจุดนั้นดู อย่ามองอะไรแค่มุมเดียว ลองมองโลกในแง่มุมใหม่ดูบ้างแล้วจะเห็นว่าชีวิตไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิด ไอมี่กล่าว

 

กลับมาใช้ชีวิตได้อีกครั้งเหมือนก่อนที่จะป่วยเพราะเข้ารับการรักษาจนได้ค้นพบว่าสิ่งที่แย่คือความคิดและความรู้สึกของเรา...ไม่ใช่สิ่งรอบข้าง

 
ผู้ป่วยจิตเวชมีเพื่อนที่เป็นคนทั่วไปนั่งอยู่เคียงข้างเป็นเพื่อนเงียบๆโดยไม่พูดอะไรสักคำ
ภาพประกอบ: TOYTHOYY

ศิรินทรา อายุ 30 ปี ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าชนิดเรื้อรังที่ปัจจุบันอาการดีขึ้นมากและสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ เปิดเผยว่า ตนเริ่มต้นจากการตัดสินใจบอกคนใกล้ตัวและที่ทำงานว่าป่วยเป็นโรคซึมเศร้าหลังจากได้รับการรักษามาระยะหนึ่ง เพราะอยากให้คนรู้จักเข้าใจและถ้าเผื่อวันหนึ่งมีอาการขึ้นมาในเวลาทำงานหรือเมื่ออยู่ข้างนอก คนอื่นจะได้รับมือและช่วยเหลือได้ในทันที ซึ่งในตอนแรกกังวลมากในหลายเรื่อง เช่น ถ้าบอกคนอื่นไปว่าป่วยพวกเขาจะปฏิบัติตัวอย่างไร กลัวคนอื่นเข้าใจผิดว่าเป็นการเรียกร้องความสนใจ และกลัวไม่มีใครสนใจฟัง แต่เมื่อได้บอกไปแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นกลับต่างจากที่เคยคิดและวิตกกังวลเอาไว้อย่างมากทีเดียวโดยเฉพาะกับเพื่อนสนิท

ตอนที่ตัดสินใจบอกคนอื่น เรากังวลมากกลัวว่าเขาจะพูดกลับมาแค่ว่า อืม สู้ๆนะ ซึ่งคำนี้ให้ความรู้สึกเหมือนเป็นคำตัดบทแบบขอไปทีเพราะผู้ป่วยโรคนี้เขาสู้กับตัวเองอยู่แล้ว แต่พอได้บอกไปแล้วเขากลับเข้าใจและดูแลเราเป็นอย่างดี จำได้ว่ามีอยู่ครั้งหนึ่งตอนที่อารมณ์ดิ่งมาก รู้สึกไม่โอเค จึงตัดสินใจโทรหาเขาให้ช่วยเข้ามาอยู่เป็นเพื่อนหน่อย ซึ่งเขาก็มาเลยโดยไม่อิดออด พอมาถึงก็มานั่งข้างๆ เงียบๆ เท่านั้นไม่ได้พูดอะไร ซึ่งจริงอยู่เขาอาจจะหาคำมาปลอบใจอะไรไม่ได้ แต่การมานั่งเฉยๆ เป็นเพื่อนเพื่อคอยระวังไม่ให้เราทำอะไรไม่ดี แค่นี้ก็ทำให้เรารู้สึกดีมาก สำหรับผู้ป่วยการกระทำทำให้รู้สึกได้มากกว่าคำพูดหรือปลอบใจ ศิรินทรากล่าว

นอกจากนี้ ศิรินทรายังยืนยันอีกว่าหลังจากเข้ารับการรักษาแล้วตนสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติอีกครั้ง เหมือนได้ชีวิตก่อนที่จะป่วยกลับคืนมา ประกอบกับเพื่อนสนิทยังคงชวนไปเที่ยวหรือออกไปหากิจกรรมทำข้างนอกเหมือนอย่างเคย ไม่ได้ปล่อยให้ “ติดเตียง” อีกทั้งคนรอบข้างก็เข้าใจในอาการป่วยที่เป็นและไม่ได้แสดงพฤติกรรมใดที่ทำให้รู้สึกแปลกแยก การที่ทุกสิ่งทุกอย่างยังคงเหมือนเดิมทำให้เธอเข้าใจว่า ที่จริงแล้วสิ่งรอบตัวไม่มีอะไรแย่เลยนอกจากสุขภาพและจิตใจของเธอเอง เมื่อเธอต่อสู้กับความคิดและอารมณ์ของตัวเองได้ การใช้ชีวิตก็ง่ายขึ้นเหมือนคนทั่วไป เธอจึงอยากสนับสนุนให้ทุกคนที่ป่วยอยู่แต่ยังไม่ได้ไปพบแพทย์รีบไปเข้ารับการรักษาเพราะสำหรับเธอแล้วยาเป็นส่วนสำคัญเลยที่ทำให้อาการดีขึ้น

---

การพาผู้ป่วยจิตเวชกลับเข้าสู่สังคม อาจไม่ใช่แค่การสร้างงานสำหรับผู้ป่วยจิตโดยเฉพาะขึ้นมา การให้สวัสดิการด้านต่างๆมากกว่าคนทั่วไป หรือแม้แต่การรณรงค์ให้สถาบัน-สังคมเปิดใจยอมรับผู้ป่วยจิตเวช และการตั้งสมาคมนำผู้ป่วยทุกคนมารวมตัวกัน เพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนแต่ย้ำเตือนและคอยผลักดันให้ผู้ป่วยจิตเวชมีสถานะใหม่ที่แตกต่างและห่างไกลจากสถานะคนทั่วไปอย่างที่ควรจะเป็นเข้าไปทุกที สิ่งที่ดีที่สุดที่ควรจัดสร้าง คือ การสร้างความเข้าใจใหม่ที่ถูกต้องโดยเฉพาะกับตนเองของผู้ป่วย และการทำอย่างไรจึงยุติความกลัวของผู้ป่วยที่รู้สึกว่าตนกำลังจะถูกตีตราว่าเป็น โรคจิต ไปตลอดชีวิต โดยอาจเริ่มจากการสร้างความเข้มแข็งทางจิตใจให้กับผู้ป่วยให้ได้เชื่อมั่นในตนเองว่าจะสามารถกลับเข้าสู่สังคมได้จริง จนมีความกล้ามากพอที่จะออกไปใช้ชีวิตได้อย่างคนทั่วไป

ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องอาศัยความเข้าใจและทัศนคติอันดีของคนในสังคมด้วย เพราะทัศนคติที่ดีต่อผู้ป่วยจะทำให้ผู้ป่วยจิตเวชหรือผู้มีความบกพร่องทางจิตในระยะเริ่มต้นเปิดใจที่จะเข้ารับการรักษามากขึ้น และยอมรับได้ว่าตนเองป่วยจนนำไปสู่การเข้ารับการรักษาในที่สุด

 

จิตเวช = Psychiatry เป็นคำที่ใช้เรียกกลุ่มอาการทางจิตใจหรือพฤติกรรมที่ทำให้บุคคลเกิดความทุกข์ทรมานหรือบกพร่องในกิจวัตรต่างๆ แบ่งออกได้เป็นหลายประเภทโดยถือเอาสาเหตุหรืออาการเป็นตัวกำหนดโรคนั้นๆ โดยโรคทางจิตเวชที่พบบ่อย ได้แก่ โรคจิตเภท โรคซึมเศร้า โรคอารมณ์สองขั้ว โรคออทิสซึ่ม เป็นต้น

จิตเภท = Schizophrenia เป็นโรคทางจิตเวชชนิดหนึ่งซึ่งมีลักษณะอาการที่รุนแรง เรื้อรัง และพบได้บ่อย ใน 100 คนสามารถพบผู้ป่วยจิตเภทได้ 1 คน อาการของโรคนี้จะค่อยๆพัฒนาขึ้น อาจมีอาการเริ่มต้น เช่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ วิตกกังวล สนใจหมกมุ่นเรื่องศาสนา ไสยศาสตร์ การเมือง หรือวิทยาศาสตร์ การรับผิดชอบต่อหน้าที่การเรียนหรือการงานไม่ดี จนกระทั่งมีพฤติกรรมประหลาด ญาติและคนรอบข้างจึงสังเกตเห็น

ที่มา: http://www.thaifamilylink.net/web/node/29#an2