Skip to main content

สมาคมผู้บกพร่องทางจิตแห่งประเทศไทย จัดวงเสวนา “ทำไมต้องให้ที่ยืนกับคนป่วยใจ” ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ผ่านสื่อ เพื่อเป็นกระบอกเสียงให้ผู้ป่วยทางจิตมีที่ยืนในสังคม สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับโรคจิตเวช ชี้แจงข้อมูลข่าวสาร อยากให้ทุกฝ่ายเปิดใจเรียนรู้ แนะนำช่องทางให้ความช่วยเหลือพร้อมนำเสนอกิจกรรมวิ่ง ก้าวแรก บัดดี้รัน ( Buddy Run ) จับมือองค์กรระหว่างประเทศขยายเครือข่ายการทำงานทั่วอาเซียน

เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2560 สมาคมผู้บกพร่องทางจิตจัดแถลงข่าวโครงการ “ขอที่ยืนให้ผู้ป่วยใจ” ที่โรงแรมเวสทิน แกรนด์ สุขุมวิท ร่วมกับกรมสุขภาพจิตและเครือข่าย เพื่อสร้างความเข้าใจโรคจิตเวช และผู้ป่วยจิตเวช

การจัดงานครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ผู้เข้าร่วมเข้าใจ ยอมรับ รู้จักวิธีรับมือ และให้โอกาสผู้ป่วยทางจิต เนื่องจากพบว่า คนไทยเจ็บป่วยทางจิตเพิ่มขึ้น แต่มีความรู้ ความเข้าใจผู้ป่วย และโรคทางจิตเวชน้อยมาก ทำให้ผู้ป่วยหลายคนไม่ยอมเข้าสู่กระบวนการรักษา ทำให้อัตราการเสียชีวิตจากโรคซึมเศร้าสูงเป็นอันดับ 2 รองจากโรคหัวใจ โดยมีผู้ร่วมเสวนาในหัวข้อ“ทำไมต้องให้ที่ยืนกับคนป่วยใจ” 5 ท่าน ได้แก่ นุชจารี คล้ายสุวรรณ นายกสมาคมเพื่อผู้บกพร่องทางจิตแห่งประเทศไทย, ประกอบ วงศ์ผลวัต ผู้อำนวยการสำนักงานเลขานุการกรมสุขภาพจิต, บอย โกสิยพงษ์  นักแต่งเพลง, ไขศรี วิสุทธิพิเนตร  นักเขียน ร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า และ Silvana mechra  ผู้อำนวยการภาคพื้นเอเชียองค์กรซีบีเอ็ม 


จากซ้าย นุจจารี คล้ายสุวรรณ, ประกอบ วงศ์ผลวัต และบอย โกสิยพงษ์

“นุจจารี คล้ายสุวรรณ” สังคมยังเข้าใจผิดว่า คนเป็นโรคจิตเวชน่ากลัว-ชอบทำร้ายคนอื่น

นุจจารี กล่าวว่า สมาคมเพื่อผู้บกพร่องทางจิตแห่งประเทศไทย ก่อตั้งมาจากการรวมกลุ่มของญาติพี่น้อง ผู้ป่วย คนในครอบครัว ร่วมกับจิตอาสา เห็นว่า สังคมไทยส่วนใหญ่ยังไม่ยอมรับผู้ป่วยทางจิต ทั้งที่ปัจจุบันมีจำนวนกว่า 130,000 คน สาเหตุแรกเกิดจากครอบครัวของผู้ป่วยปิดกั้น ไม่ให้พบเจอกับสังคมภายนอก เพราะกลัวคนรอบข้างไม่ยอมรับ และอีกสาเหตุหนึ่ง คือการกล่าวหาว่าเป็นโรคจิต และคนบ้า ซึ่งเป็นคำที่ผู้ป่วยและบุคคลากรในองค์กรไม่อยากได้ยิน บทบาทของสมาคมจึงมีหน้าที่ดูแล และให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยทางจิต ให้ได้รับการรักษาและดูแลอย่างถูกวิธีจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

ผู้ป่วยทางจิตแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งที่จดทะเบียนเป็นคนพิการ เพราะมีความบกพร่องมาก อาการเข้าข่ายคนพิการทางจิต กับอีกส่วนที่มีความบกพร่องทางจิต ซึ่งมีจำนวนเยอะมากแต่ยังไม่เข้าข่ายคนพิการทางจิต โดยแพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยและประเมิน จึงจะทำการจดทะเบียนคนพิการได้

นุจจารีเสริมว่า ความพิการทางจิตไม่ใช่ความพิการถาวร เนื่องจากป่วยแล้วหายได้ หากแพทย์เห็นว่า ผู้ป่วยสามารถดูแลตัวเองได้ ไม่มีความบกพร่องที่เข้าข่ายพิการ ก็จะทำการยกเลิกบัตรคนพิการ แต่ก็ยังเป็นผู้ป่วยที่ต้องทานยาตามแพทย์สั่ง ทั้งนี้จะมีผู้ป่วยบางส่วนที่บอกว่าตัวเองหายแล้ว เหตุเพราะผลข้างเคียงจากการทานยาทำให้จำชื่อใครไม่ได้ จึงหยุดทานยา ส่งผลให้เกิดอาการคุ้มคลั่ง ดังนั้นสิ่งสำคัญคือผู้ป่วยห้ามคิดเอง หรือเป็นคุณหมอเองเพราะทำให้ไม่ได้รับการรักษาที่ต่อเนื่อง และมีผลต่อการใช้ยา

นอกจากนี้ กระบวนการฟื้นฟูและการให้ความช่วยเหลือ ก็ทำให้เกิดคำถามว่า ทำอย่างไรผู้ป่วยจะเกิดความมั่นใจ สามารถดูแลตัวเองได้ มีความเป็นอยู่ที่ดี สังคมให้โอกาสผู้ป่วยทางจิตให้สามารถอยู่ร่วมกัน ดังนั้นสมาคมจึงต้องทำทุกวิถีทาง เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถออกสังคมได้ จึงก่อตั้งเพจ “เพื่อนคนป่วยใจ” เพื่อให้ข้อมูลประชาชน พร้อมทีมงานแพทย์ที่ปรึกษาให้คำแนะนำ อีกทั้งทีมงานจากกรมสุขภาพจิตที่ให้ความร่วมมือ ช่องทางติดต่อ 1323 และต้องการสร้างความเข้าใจให้สื่อ เช่น เวลาสื่อออกข่าวที่มีเหตุการณ์ทำร้ายคนอื่น สังคมมักจะบอกว่า การทำพฤติกรรมแบบนี้คือโรคจิต ทั้งๆ คนที่พิการทางจิต ต้องให้แพทย์เป็นคนประเมินเท่านั้น ด้วยความไม่เข้าใจของคนหลายๆ คน จึงมักโยนความผิดให้กับผู้ป่วย เลยทำให้สังคมกลัว เวลาคนป่วยด้วยโรคทางจิต โรคซึมเศร้า โรคไบโพลาร์ หรืออะไรก็ตาม จึงไม่อยากบอกใคร เพราะกลัวสังคมจะบอกว่าเป็นโรคจิต เป็นคนน่ากลัว สะท้อนให้เห็นว่าความเชื่อ ความเข้าใจในสังคมไทย กับเรื่องของความเจ็บป่วยทางใจ อยู่ในระดับที่ต่ำมาก

 

“ประกอบ วงศ์ผลวัต” โรคจิตเวชไม่ใช่โรคติดต่อ เป็นได้ก็หายได้

ประกอบกล่าวว่า โรคจิตเวช ไม่ใช่โรคติดต่อ จากการค้นคว้าและสอบถามข้อมูลจากจิตแพทย์นั้น ความเจ็บป่วยทางจิตก็เหมือนเจ็บป่วยทางกาย ฉะนั้นโรคป่วยทางจิต โรคซึมเศร้า เกิดจากความผิดปกติของสารเคมีทางสมอง ไม่เกี่ยวกับเรื่องความหดหู่ ความท้อแท้ เป็นแล้วก็หายได้อีกทั้งยังอาจเกี่ยวกับเรื่องของการเลี้ยงดูของพ่อแม่ สังคม และตัวเขาเองด้วย

 

“บอย โกสิยพงษ์” โรคซึมเศร้าจากการสูญเสียคนรัก ดีขึ้นได้เพราะยอมรับความจริง

บอยเล่าประสบการณ์อาการป่วยโรคซึมเศร้า โดยกล่าวว่า ทุกคนก็เคยเป็น แต่อาจไม่รู้ตัว แต่สำหรับเขาเองมันทำให้รู้สึกผิดปกติ เขามีครอบครัวที่ทุกคนสนิทกัน ในช่วงเวลาห้าปี ทุกคนต่างค่อยๆ จากไปปีละ คนเริ่มจากพ่อ กระทั่งตนเองรู้สึกรับไม่ไหวกับการที่ต้องสูญเสียคนที่รัก จึงเกิดความเศร้า จากแรกๆ ที่พยายามทำใจยอมรับ แต่มันคือการฝืน เพราะว่าจริงๆ แล้วไม่ได้ยอมรับมัน อาการนอน ตื่นขึ้น แล้วก็นอน เกิดขึ้นเป็นเวลาหนึ่งเดือน ภรรยาบอกให้ลุกขึ้นสู้ เขารู้สึกว่ามันผิดปกติมาก ที่ตนไม่ไปทำงาน ไม่ไปไหนทั้งสิ้น เมื่อเริ่มรู้สึกว่าไม่ปกติจึงไปหาหมอจิตแพทย์ จนหมอวินิจฉัยว่า เป็นโรคซึมเศร้า หลังจากนั้นหมอให้ยามาโดยบอกว่า สารเคมีบกพร่องเกิดจากการเสียใจอย่างรุนแรง ผ่านไปประมาณ 2-3 อาทิตย์ เขาเริ่มรู้สึกว่าต้องลุกขึ้นมาเมื่อเห็นภรรยาร้องไห้ และพยายามคิดว่าต้องอยู่อย่างไรในสถานะไม่มีพ่อ เลยนึกถึงคำที่พ่อสอนว่า อยู่กับสิ่งที่มีแล้วทำให้ดีที่สุด ก็เลยแต่งเป็นเพลง Live and learn สอนใจตัวเอง ทำให้หลุดจากอาการโรคซึมเศร้าได้ โดยใช้การแต่งเพลงเป็นการเยียวยา และฟังเพลงนั้นเพื่อเยียวยา

บอยเล่าอีกว่า “ช่วงนี้ผมกลับมาเป็น (โรคซึมเศร้า) อีกแล้ว หลังลูกๆ เริ่มโตกันหมด คนโตเรียนต่อต่างประเทศ ต้องการฝึกไอซ์สเก็ตที่อเมริกา เขาอยากเป็นนักไอซ์สเก็ต ภรรยาก็ต้องไปดูแลเขาที่นั่น  แล้วพอครอบครัวไม่ได้อยู่ด้วยกัน ก็เกิดอารมณ์อ่อนไหว แต่ต้องทำหน้าที่พ่อ เราต้องเข้มแข็งให้พอที่จะเสถียรได้ทุกวัน ที่เราจะไม่ซึมเศร้าได้ทุกวัน บางวันกลับมาบ้านก็ไม่เจอใคร รู้สึกเหงาเลยได้แต่โทรศัพท์หากัน”

บอยบอกว่า ให้คิดเสียว่าโรคจิตเวชเป็นเหมือนโรคหวัด ที่เวลาป่วยจะเจ็บคอ ไอ ก็เหมือนกันกับเวลาที่อารมณ์ดีมาก เศร้า สูญเสีย แต่ไม่สามารถที่จะขึ้นจากความสูญเสียได้ เป็นความไม่สบายใจ จึงเกิดคำถามว่า สังคมรังเกียจคนที่ไม่สบายใจด้วยเหรอ?

บอยกล่าวว่า การโชว์ความอ่อนแอ ให้กับสังคมได้รับรู้ว่า เราล้วนไม่สมบูรณ์แบบ ยิ่งทำให้คนในสังคมอยู่ได้ง่ายขึ้นกว่าการโชว์เฉพาะด้านดี เวลาเข้าไปในเฟซบุ๊กเราก็จะเห็นแต่ชีวิตดีๆ ทุกอย่างดีหมดเลย ทำให้คิดว่า นี่คือความป่วยของสังคม เพราะจริงๆ ทุกคนมีปัญหาหมด พูดง่ายๆ คือ อยู่กับความจริง ไม่มีอะไรที่วิเศษสุดและไม่มีอะไรที่แย่ที่สุด กายป่วยได้ ใจก็ป่วยได้ ป่วยแล้วก็รักษาให้หายได้ ถ้าใครมาบอกว่าเราบกพร่องทางจิต โรคซึมเศร้า เราก็พูดกลับไปว่า คุณสมบูรณ์แบบเราก็ยินดีด้วย

 

“ไขศรี วิสุทธิพิเนตร” ไบโพลาร์ เรื่องเล่าจากยอดภูเขาน้ำแข็ง

นักเขียนผู้แต่งหนังสือ เรื่องเล่าจากยอดภูเขาน้ำแข็งที่เกิดจาก อาการป่วยโรคซึมเศร้า แต่ไม่รู้ว่าตัวเองป่วย กระทั่งผ่านไป 3-4 เดือน เพื่อนจึงพาไปหาหมอ เพราะรู้สึกถึงอาการบีบ ใครพาไปไหนก็ไปแต่ไม่เคยคิดว่าจะหลุดจากอาการซึมเศร้าได้ รวมถึงมีอาการทางกายและใจที่เปลี่ยนแปลงไป จิตแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้า แต่สุดท้ายแล้วกลับกลายเป็น ไบโพลาร์

ไขศรีเคยเจอประสบการณ์ไม่มีที่ยืนในสังคมอยู่บ้าง แต่ไม่ถึงขั้นสุด หลังจากที่หายป่วย ก็ได้เขียนหนังสือเล่มนี้ และช่วยงานสมาคมสายใยครอบครัว จัดคอร์สอบรมเกี่ยวกับความรู้เรื่องจิตเวช คนที่มาอบรมส่วนมากจะเป็นคนที่ดูแลผู้ป่วย เช่น พ่อ แม่ ญาติ หรือตัวผู้ป่วยเอง คล้ายๆ กับการบำบัดกลุ่ม แชร์ประสบการณ์ ส่วนมากผู้ป่วยที่มาจะเป็นวัยรุ่น ซึ่งพ่อแม่เป็นทุกข์มาก เพราะไม่สามารถช่วยลูกได้ หากเด็กวัยรุ่นช่วงประมาณมัธยมปลายป่วย ก็จะเกิดปัญหาที่โรงเรียน ในห้องเรียน โรงเรียนก็จะทำการขอร้องให้เด็กดรอปเรียน การดรอปเรียนเหมือนเป็นการผลักเขาเข้าไปอยู่ในถ้ำ ทำให้เห็นภาพชัดว่ายังไม่มีผู้ที่เข้าใจในการป่วยเป็นโรคและการรับมือกับโรคนี้จริงๆ

ไขศรีเพิ่มเติมว่า หากลูกหรือหลานวัยรุ่นป่วยเป็นซึมเศร้า สิ่งสำคัญแรกคือการไปพบจิตแพทย์สำคัญที่สุด ถ้าเด็กไม่ยอมไปยังไงเราก็ต้องพาเขาไปให้ได้ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม ในคลาสอบรมก็จะมีการสอนเรื่องการสื่อสารกับผู้ป่วย ก็จะมีวิธีการที่เราจะพูด หรือวิธีที่จะสะท้อนความรู้สึกของเขาให้ออกมา ซึ่งมันก็ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ว่าบางครั้งตนมองว่าเป็นเรื่องของความอดทน

นี่คือการเปิดมุมมองใหม่ที่ว่า พ่อแม่ไม่รู้วิธีรับมือ และต้องมีทักษะพิเศษในการสื่อสารกับผู้ป่วยที่ต้องใช้เวลาฝึก แต่ในเมืองไทยไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้

 

"Silvana mechra" ระบบที่ดีจะช่วยต่อยอดการทำงานกับผู้ป่วย

Silvana กล่าวว่า ในโลกนี้ผู้ป่วยทางจิตเป็นกลุ่มที่ถูกลืม ถือเป็นกลุ่มคนลำดับท้ายๆ ที่คนจะสนใจ นั่นคือเหตุผลที่ตัดสินใจทำงานในด้านนี้ และปัจจุบันกำลังทำงานอยู่ในองค์กรซีบีเอ็ม ซึ่งตนเองนั้นมีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบประเทศในแถบเอเชีย คือ เขมร ลาว กัมพูชา และในปีหน้าจะขยายองก์กรไปที่อินโดนีเซีย ฟิลิปินส์ และปากีสถาน ในส่วนที่ว่าทำไมจึงสนใจมาทำงานที่ประเทศไทย Silvana ให้เหตุผลว่า ประเทศไทยมีโครงสร้างระบบการบริหารจัดการทางสุขภาพที่แข็งแรงมาก เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย อีกทั้งหน่วยงานของตนมีความพร้อม และความสามารถในการฝึกฝน พัฒนาบุคลากร และครอบครัวของผู้ป่วย รวมถึงได้มีการพูดคุยกับสมาคมผู้บกพร่องทางจิตแห่งประเทศไทย และมีความคิดในทิศทางที่ตรงกัน เช่น โรงพยาบาลในประเทศลาวมีเตียงที่รองรับผู้ป่วยทางจิตเพียง 19 เตียงเท่านั้น ถ้าอาศัยอยู่ในชนบทก็หมดสิทธิ์ในการเข้ารับการรักษา เพราะไม่มีความพร้อมทางด้านการให้บริการทางการแพทย์

Silvana กล่าวว่า ประเทศไทยมีกฎหมายที่แข็งแรงเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงระบบสาธารณสุขด้วย ถ้ามีการวางโครงสร้างที่ดี พัฒนาเสริมบางอย่างเข้าไปก็จะทำให้ได้รูปแบบโครงสร้าง และการดำเนินการที่ประเทศไทยสามารถนำไปต่อยอดเป็นรูปแบบอื่นๆ ได้ และชี้ว่ามาตรา 33, 35 พ.ร.บ ส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนพิการ คือกฎหมายสำหรับคนพิการทุกประเภท  ควรจะทำให้โครงสร้างกฎหมายมีความแข็งแรงเพื่อพัฒนาต่อไปได้ เน้นเรื่องของการจ้างงาน เช่น ผู้ว่าจ้างไม่พร้อมรับคนป่วยทางจิตเข้าทำงาน รวมถึงเรื่องของการให้ตราบาปกับผู้ป่วย ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในเมืองไทย สิ่งแรกที่ต้องทำ คือ อบรมบุคลากรที่เกี่ยวข้องแล้วก็ผู้ป่วย ให้รู้จักวิธีการรับมือสถานการณ์หลายๆ อย่างให้ดีขึ้น และบอกว่า ตนรู้สึกดีใจที่ได้ร่วมงานกับหน่วยงานนี้ เพราะสามารถช่วยกันอุดช่องโหว่ ในเรื่องของการจัดทำระบบหลายๆ อย่างให้เกิดการจ้างงานผู้ป่วย ผู้พิการทางจิตและอื่นๆ อีกมากมาย

 

เนื้อหา/ ภาพโดย ชนากานต์ ตระกูลสุนทรชัย, นันทินี แซเฮง