Skip to main content

เช้านี้ (3 ต.ค.) ปรีดา ลิ้มนนทกุล ประธานเครือข่ายพิทักษ์สิทธิคนพิการแถลงข่าวกรณีละเมิดสิทธิและการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมในการจ้างงานคนพิการตามมาตรา 33 และ 35
สืบเนื่องจากกรณีที่ปรีดา ลิ้มนนทกุล ประธานเครือข่ายพิทักษ์สิทธิคนพิการเข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เมื่อวันที่ 17 ก.ย.ที่ผ่านมาที่ระบุว่า ต้องการให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิและปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมกับคนพิการ หลังได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมตามมาตรา 33 โดยระบุตัวเลขคนพิการถูกจ้างงานจำนวน 25,000 คน แต่มีการทำงานจริงแค่ 20,000 คน โดยทั้งนี้ประมาณการว่า ความเสียหายที่เกิดจากมาตรา 33 นั้นเป็นเงินประมาณ 1,500 ล้านบาทต่อปีและในมาตรา 35 ที่กำหนดให้สถานประกอบการที่ไม่ประสงค์จะจ้างงานคนพิการสามารถจัดอบรมคนพิการแทน ทำให้เกิดการทุจริตเงินค่าวิทยากรและการหักหัวคิว จนทำให้เกิดการตื่นตัวและเป็นที่พูดถึงในวงกว้างนั้น


ปรีดา ลิ้มนนทกุล

วันนี้การแถลงข่าวเป็นไปอย่างเรียบง่าย โดยปรีดาและผู้เสียหายซึ่งเป็นคนพิการและผู้ดูแลคนพิการจากจังหวัดสมุทรสาครและกาฬสินธุ์ เข้าร้องเรียนโดยมีหลักฐานการลงลายมือชื่อในเอกสารที่ไม่ระบุรายละเอียดด้านการเงินตามมาตรา 35 มาแสดง และในส่วนของกรณีจากจังหวัดสมุทรปราการ ผู้ดูแลคนพิการที่ใช้สิทธิตามมาตรา 33 จ้างงานที่ถูกละเมิดสิทธิและได้รับการจ้างงานอย่างไม่เป็นธรรมยังไม่สามารถเดินทางมาร้องเรียนได้ เพราะเหตุอ้างที่ว่า หากออกข่าวแล้วจะทำให้กระทบต่อผู้ใช้สิทธิรายอื่น โดยจากกรณีนี้คนพิการได้รับค่าจ้างที่หักประกันสังคมแล้วเพียงเดือนละ 2,945 บาท

ผู้สื่อข่าวระบุว่า ตัวแทนผู้ปกครองคนพิการจากกาฬสินธุ์เล่าว่า เห็นความไม่เป็นธรรมในการจ้างงานคนพิการ เนื่องจากคนพิการในครอบครัวไม่ได้รับรายได้ครบตามจำนวนที่เป็นข้อกำหนด จึงตัดสินใจออกมาสู้หลังจากที่รู้สิทธิของคนพิการจากข่าวว่าควรได้รับรายได้เท่าไหร่ต่อเดือน แต่ไม่ได้จริง และคิดว่า หากสมาคมคนพิการมองอย่างจริงใจว่า เงินส่วนนี้จะจุนเจือครอบครัวคนพิการได้จริง ก็ไม่น่าที่จะหักเงินและให้อย่างเต็มจำนวน ทางกลุ่มอยากให้หน่วยงานที่รับผิดชอบหันมาดูแลและตรวจสอบสิทธิของคนพิการอย่างจริงจัง และป้องกันคนอื่นเอาสิทธิไป ที่ผ่านมาเคยโดนคุกคามมีโทรศัพท์มาขู่ ทางเราก็ไปบันทึกข้อความกับตำรวจแล้วเรียบร้อย ทางเจ้าหน้าที่ก็ให้ความช่วยเหลือเต็มที่

นอกจากนี้ทางกลุ่มยังย้ำว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง อยากให้สังคมรับรู้ และอยากจะเป็นกระบอกเสียงให้คนพิการได้รู้สิทธิของตัวเอง รวมทั้งฝากถึงผู้ดูแลคนพิการ คนพิการคนอื่นๆ ให้ลุกขึ้นมาสู้เพื่อความถูกต้อง หยุดเอื้อให้คนที่ทำมาหากินกับคนพิการ

อย่างไรก็ดี ปรีดากล่าวว่า ตั้งแต่ยื่นเรื่องต่อ กสม. ทำให้มีคนร้องเรียนถึงเรื่องดังกล่าวเข้ามามากขึ้น และทางเครือข่ายฯเองก็มีระเบียบปฏิบัติในการคัดกรองข้อมูลและตรวจสอบความถูกต้องก่อนจะนำเสนอกับสื่อมวลชน และถึงแม้ว่าก่อนหน้านี้ ศุภชีพ ดิษเทศ นายกสมาคมคนพิการแห่งประเทสไทย สุมาลี ทวงเพ็ชรและณัฐพล ลาภเกิน ได้กล่าวว่ามีการทุจริตจริงแต่มูลค่าเสียหายไม่มากนั้น ตนมองว่า ถึงจะมูลค่าน้อยก็ต้องได้รับการตรวจสอบและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องออกมารับผิดชอบ ส่วนจะถึง 1,500 ล้านบาทหรือไม่ก็ต้องติดตามกันต่อไป

ทั้งนี้ เครือข่ายพิทักษ์สิทธิคนพิการจะรอผลตรวจสอบของคณะกรรมการกระทรวงแรงงานและจะเดินหน้ายื่นหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่่ยวข้อง เช่น ประกันสังคมและกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน, คณะกรรมการ ปปช., คณะกรรมการ ปปง., กรมสอบสวนคดีพิเศษและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนต่อไป

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คนพิการยื่น กสม.สอบสมาคม-มูลนิธิทุจริตเงินทำงาน-อบรม 1,500 ล้านต่อปี

รมต.แรงงานเตรียมตั้ง กก.สอบข้อเท็จจริงทุจริตเงินคนพิการ ใน15วัน ชี้ไม่เคยได้รับร้องเรียน

พม.แจงกรณีทุจริตเงินจ้างงานคนพิการ ย้ำพร้อมสอบข้อเท็จจริง-ดำเนินคดีถ้าผิดจริง

คนพิการพบ ก.แรงงานชี้ข้อมูลทุจริตจ้างงาน ม.33,35 สูงเกินจริง หวั่นกระทบจ้างงาน