Skip to main content

วันนี้ 11 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันคนพิการแห่งชาติ หลายคนน่าจะรู้แล้วว่าคนพิการเป็นอย่างไร แต่สิ่งที่หลายคนอาจยังไม่รู้จะนอกเหนือจากความพิการก็คือ ยังมีเรื่องอีกมากมายที่ยังไม่ถูกพูดถึง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเซ็กซ์ คำพูด และการใช้ชีวิตที่พวกเขาต้องเผชิญเหมือนกับทุกๆคน

ตลอดการทำงานที่ผ่านมาของ ThisAble.me เราได้พบเจอ พูดคุย สอบถาม และเรียนรู้จากคำถาม นำไปสู่คำตอบ เราจึงคัดสรร 9 บทสัมภาษณ์จากเว็บไซต์ของเรากลับมาให้คุณได้อ่านอีกครั้ง แล้วเราจะได้รู้จักกันมากขึ้น !

“ผี”หน้าตายังไงในโลกคนตาบอด กับปิยณัฐ ทองมูล คอเรื่องผีที่กลัวผีเป็นชีวิตจิตใจ

"......เคยเจอครั้งนึง ซึ่งไม่น่าจะเป็นคนรู้จักและไม่น่าจะเป็นคนที่อยู่ในนั้น เราลืมกุญแจ ตอนนั้นอยู่ที่โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพฯ ลืมในห้องหนังสือชั้น 3 "เราก็ขึ้นไปควานหากุญแจ พอควานเจอแล้วก็รีบเดินออก ตอนที่จะลง มีเสียงแฮ่! ก้องกังวาลและวังเวง ตอนนั้นเรารีบวิ่งลงบันไดเร็วมาก หันไปด่าด้วยว่า “มึงจะอะไรกับกูวะ” ไม่สวดมนต์ด้วยแต่ขอหันไปด่าหน่อย (หัวเราะ)

"เชื่อและคิดว่ามี เพราะเป็นอีกโลกนึงของเขา ไม่งั้นคงไม่มีเรื่องเล่ามาขนาดนี้ ที่ตัวเองเจอส่วนมากจะเป็นกลิ่นซะมากกว่า เป็นกลิ่นธูป ไม่ค่อยมีกลิ่นเน่า"

คุยกับปิยณัฐ ทองมูล นักศึกษาจากวิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล เรื่อง ผีๆ ในทัศนะของคนตาบอด ผีอะไรน่ากลัวที่สุด และผีอะไรที่เขานึกภาพไม่ออกมากที่สุด
อ่านเนื้อหาทั้งหมดได้ที่ 
https://thisable.me/content/2017/12/347

10 คำพูดที่คนตาบอดไม่อยากได้ยิน

“เคยมีคนพูดกับเราว่า ‘ชาติที่แล้วคงทำกรรมมาเยอะ ชาตินี้เลยมองไม่เห็น’ " 

“บางทีเจอคำพูดที่ไม่ค่อยสมเหตุสมผลเท่าไหร่ อย่างเช่น ตอนนั่งแท็กซี่แล้วคนขับพูดว่า ‘ผิวพรรณก็ดีนะ ไม่น่าตาบอดเลย’ "

“ตอนไปเที่ยวกับเพื่อนเจอคนพูดว่า ‘ตาบอดแล้วยังไม่เจียมตัว ออกมาเที่ยวทำไม?’ "

บางสถานการณ์อาจมีถ้อยคำหรือการกระทำที่คนไม่พิการพูดหรือปฏิบัติแล้วไปกระทบจิตใจของพวกเขา นี่คือคำพูดที่ผู้พิการทางการเห็นเคยได้ยินและความรู้สึกต่อคำพูดนั้น ๆ คนตาบอดมาเล่าให้ฟังว่าพวกเขาเคยได้ยินอะไรมาบ้าง และพวกเขารู้สึกอย่างไร บางคำพูดอาจเป็นคำที่คุณคาดไม่ถึงก็ได้ 
อ่านเนื้อหาทั้งหมดได้ที่ 
https://thisable.me/content/2018/01/360

สนทนากับ 'บุญรอด' ว่าด้วยเกย์ พิการ ความรักและเซ็กส์

"เรารู้ตัวว่าเป็นแบบนี้ตั้งแต่อนุบาล เพราะชอบเอารองเท้าส้นสูงของแม่มาใส่ ครั้งหนึ่งตอนแม่ไม่อยู่บ้าน เราไปหยิบเครื่องสำอางแม่มาแต่งหน้า แต่งเต็มมากกก ติดขนตาปลอม ปรากฏว่าแม่กลับมาตกใจ ร้องไห้ แล้วก็ตี

"หลังจากวันนั้นได้คุยกัน เขาบอกตอนนั้นเขาตกใจ อึ้ง ทำอะไรไม่ถูกก็เลยร้องไห้ แต่ไม่เคยเสียใจที่เราเป็นแบบนี้ แค่เป็นห่วงว่า ในอนาคตสังคมจะยอมรับเราได้หรือเปล่า และหลังจากนั้นแม่ก็ไม่ตีอีกเลย

"ช่วงเรียนมหา’ลัยเราเจอรักออนไลน์จากแอพหาคู่ของเพศทางเลือก ในแอพจะบอกคนที่อยู่ใกล้เราที่สุด

เราบอกเค้าว่าเราไม่แข็งแรง ไม่ปิดความพิการ มีครั้งหนึ่งเราเล่นแอพแล้วนัดเจอกัน พอเจอปุ๊บเขาถามว่าทำไมไม่เหมือนในรูปเลย แล้วก็วิ่งหนี(หัวเราะ) เราแอบเฟลนะแต่ก็ไม่เป็นไร"
อ่านเนื้อหาทั้งหมดได้ที่ 
https://thisable.me/content/2018/03/391

‘ฟัง’ภาษามือกับกัญจน์ชญา เรืองศิริกานต์: การสื่อสารไม่จำเป็นต้องใช้เสียง

"คนหูหนวกใช้ภาษาไทยไม่ค่อยแข็งแรง เขาอยากสื่อสารมาก ต้องการล่ามมาก อยากสื่อสารกับพ่อแม่มากที่สุด แต่ว่าพ่อแม่ไม่เข้าใจอะไรเลย บางคนก็เข้าใจว่าลูกหนวก พ่อแม่ก็ไปฝึกเรียนภาษามือเพื่อสื่อสารกับลูกก็มี 

" บางทีพ่อแม่ไม่ได้อยากให้ลูกใช้ภาษามือ อยากให้ลูกพูดได้ ลูกก็ต้องไปฝึกพูดโดยที่ตัวเขาเองไม่ได้ยินเสียง แล้วก็พูดไม่ได้ บางคนพาลูกไปผ่าตัดประสาทหูเทียม โดยไม่นึกว่าลูกจะเจ็บปวดไหม ลูกยอมรับในสิ่งที่เป็นหรือเปล่าเพราะคนที่เจ็บปวดคือคนที่ผ่าไม่ใช่คนที่ไม่ผ่า

อ่านเนื้อหาเต็มได้ที่ 
https://thisable.me/content/2017/11/325

ตามรถเมล์ไปติ่ง BNK48 และชีวิตคอสเพลย์ ‘นันนาลี’ พร้อมวีลแชร์ไฟฟ้า

" ชอบเฌอปรางมากที่สุด หาเหตุผลยากมาก แต่เฌอปรางเป็นคามิของเรา คามิคือคนนึงที่ชอบที่สุด เราชอบในความเก่งของเฌอปรางหลายๆ ด้าน ที่เป็นทั้งนักวิทยาศาสตร์เรียนภาคภาษาอังกฤษ เก่งทั้งภาษาอังกฤษ ภาษาญี่ปุ่น แล้วก็ยังเป็นกัปตันของวงด้วย ซึ่งต้องคอยจัดการดูแลคนอื่นอย่างดีมากๆ 

"รู้สึกว่าเค้าเป็นไอดอลเราได้ในเรื่องภาษา เพราะเราก็อยากพัฒนาทั้งอังกฤษและญี่ปุ่นเหมือนกัน ยิ่งพอได้สัมผัส ได้ไปเจอเฌอปรางในงานจับมือ รู้สึกว่าตอนที่พูดกัน เค้าใส่ใจเรามากจริงๆ ช่วงที่จับมือเขาก็จะบีบมือและสบตา และบอกให้เราสู้ต่อไปนะ เรารู้สึกประทับใจ" 

รถเมล์- ภณิตา เริ่มเป็นติ่งวัฒนธรรมญี่ปุ่นตั้งแต่อายุ 18 ปี เธอมีภาวะของโรคเส้นประสาทไขสันหลังเสื่อม วีลแชร์จึงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้เธอเคลื่อนไหวอย่างอิสระเหนือกล้ามเนื้อที่อ่อนแรงลงทุกวัน 

อ่านเนื้อหาทั้งหมดได้ที่
https://thisable.me/content/2017/11/331

กัมปนาท บุญรอด: “รู้แค่เราเล่นเก่งก็พอ” เพราะโลกเกมออนไลน์ทุกคนเท่ากันหมด

" ทุกวันนี้เกมค่อนข้างหลากหลาย ยิ่งมีมือถือยิ่งไม่มีข้อจำกัด เกมมือถือเล่นได้แทบทุกแนว และทุกวันนี้ชีวิตก็ค่อนข้างต้องการความรวดเร็ว การเล่นเกมโมบ้าจึงอาจตอบโจทย์ได้มากกว่า เพราะบางเกมเล่น 10- 20 นาทีก็รู้ผลแล้ว เหมือนเราแข่งกับเวลา

"ความพิการมักมาคู่กับความสงสาร ใครๆ เห็นก็มักจะรู้สึกสงสาร จะเรื่องอะไรก็ตามเค้าก็พยายามเสนอแต้มต่อให้เรา อย่างตอนไปโรงเรียนครูให้เพื่อนทำการบ้าน 5 หน้า แต่ให้เราทำ 4 หน้า ซึ่งเราไม่ต้องการ เราขอแค่ความเท่าเทียม เพราะหลายครั้งพอคนเห็นเรานั่งวีลแชร์เค้าก็ตัดสินไปก่อนแล้วว่าคนนี้ต้องการความช่วยเหลือนะ คนนี้ด้อยกว่าเรานะ"

คุยกับกัมปนาท เรื่องเกมๆ และการใช้ชีวิตของเขาที่ล้วนได้รับอิทธิพลจากเกม ทำไมโลกออนไลน์จึงเป็นพื้นที่ที่ทำให้เขาได้แสดงความสามารถอย่างเต็มที่โดยไร้การเสนอแต้มต่อ

อ่านเนื้อหาทั้งหมดได้ที่ 
https://thisable.me/content/2017/12/349

คลินิก "เติมรัก" เติมเต็มสัมพันธ์ข้ามข้อจำกัดเรื่องความพิการ

"ถ้ามีคนพิการในบ้านนอก บอกแม่ว่า “แม่ผมจะเอาเมีย” (แม่ ผมอยากมีเมีย) แม่ก็คงตอบว่า “สูสิเอาเฮ็ดหยัง เป็นจังซี้มันก็บาปแฮงแล้ว” (จะมีทำไม แค่นี้ก็บาปมากแล้ว) หรือคนไข้บางคนเคยถามหมอ หมอตอบกลับมาว่า “เป็นอย่างนี้ยังจะเอาอีกเหรอ”

"ดูเป็นเรื่องเคราะห์กรรม เรื่องบาป เรื่องความไม่เหมาะสม ไม่ควร ทำไมต้องไปหาภาระใส่ตัวเอง ซึ่งมันควรปรับแนวคิดใหม่ได้แล้วว่า เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องธรรมชาติ ถ้าตราบใดแม้แต่หมอบางโรงพยาบาลยังไม่มองว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ เขาก็ยังรู้สึกว่า คนพิการไม่ควรคิดถึงเรื่องนี้"

คุยกับ เทอดเกียรติ ฉายจรุง นักวิชาการสาธารณสุข พ.ญ.รักษินา มีเสถียร แพทย์ชำนาญการเวชศาสตร์ฟื้นฟู และประนอม กระจายศรี พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ ดูแลเรื่อง เพศสัมพันธ์ ครอบครัว ตลอดเรื่องความสัมพันธ์ ในคลินิก "เติมรัก"

อ่านเนื้อหาทั้งหมดได้ที่ 
https://thisable.me/content/2017/08/251

ไม้เท้าขาวของคนตาบอด มอบการดำรงชีวิตอิสระได้อย่างไร?

"ไม้เท้าทำให้เราเดินทางเองได้ในระดับหนึ่ง ถ้าเกิดไม่มีก็จะออกไปไหนไม่ได้ ต้องรอให้คนมาถามว่าเราจะไปไหน หรือต้องตะโกนบอกเขาเมื่อรู้สึกว่ามีคนเดินมาว่า ช่วยพาไปหน่อย

"พอมีไม้เท้าเราสามารถเดินไปเองได้ ในที่ที่เราไปไม่ถูก เราสามารถเดินไปหาคนให้เขาช่วยว่าจะไปตรงนี้ต้องเลี้ยวตรงไหนคะ ทำให้เราถามได้โดยไม่ต้องรอ"

คุยกับ กาญจนา เสลาคุณ พนักงานคอลเซ็นเตอร์ตาบอด และชนะภัย จันทร์ดำ เจ้าหน้าที่ผลิตสื่อจะมาร่วมแลกเปลี่ยนและพูดคุยเกี่ยวกับคนตาบอดและไม้เท้าขาว ว่าการใช้ไม่เท้าขาวนั้นเปลี่ยนแปลงชีวิตและมอบอิสระในการดำเนินชีวิตอย่างไร

อ่านเนื้อหาทั้งหมดได้ที่ 
https://thisable.me/content/2017/10/309

ThisAble x SideBySide: ‘ออทิสติก’ จะไม่ใช่เรื่องเฉพาะกลุ่มอีกต่อไป

"ด้วยพัฒนาการที่ช้า-สื่อสารได้น้อย เมื่อเจอสิ่งที่ชอบหรือสนใจเขาจะจำแล้วก็จะยึดมั่นสิ่งนั้นมากทำให้เขาเนิร์ดสิ่งนั้น เหมือนพี่ยิมในเรื่องที่ชอบแบดมินตันก็เลยเนิร์ดแบดมินตัน 

"สิ่งที่คนดูยังไม่รู้อีกคือเมื่อเขาเนิร์ดสิ่งนั้นกลับกลายเป็นว่าบางเรื่องก็ยืดหยุ่นไม่ได้ พอเขารู้ว่า ตัวเองชอบสิ่งนี้ก็จะจำว่าต้องทำแบบนี้ เช่น พี่ยิมต้องซ้อมทุกสี่โมงแล้วเลิกซ้อมตอนสองทุ่มทุกวัน ซึ่งผู้ปกครองที่มีลูกหลานที่เป็นออทิสติกก็ต้องคอยบอกคอยสอน

"บอสมีน้องชายเป็นออทิสติก เป็นน้องชายลูกของคุณน้า จะคล้ายกับพี่ยิมเลยคือ มีความร่าเริงสดใส แต่พอหงุดหงิดไม่พอใจก็จะเขวี้ยงของ อารมณ์จะขึ้นๆ ลงๆ เยอะ โตมากับน้องคนนี้ตลอด" 

คุยกับ บอส นฤเบศ กูโน ผู้กำกับผู้ให้กำเนิดซีรีส์“SideBySide พี่น้องลูกขนไก่” ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวความรักของครอบครัวนักกีฬาที่แสนอบอุ่น ซีรีส์เรื่องแรกที่นำเสนอประเด็น ‘ออทิสติก’ อย่างลึกซึ้ง

อ่านเนื้อหาทั้งหมดได้ที่ 
https://thisable.me/content/2017/07/229