Skip to main content

สภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย ร่วมกับ ภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนต้องขึ้นได้ (T4A) และคนพิการกว่า 500 คน ยื่นฟ้องศาลปกครองกลางต่อรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กรณีไม่จัดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการในรถไฟฟ้าสายสีม่วง

วันนี้ (27 พ.ย.61)ศาลปกครองกลาง ถนนแจ้งวัฒนะ สุชาติ โอวาทวรรณสกุล ประธานสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย และ ธีรยุทธ สุคนธวิท ประธานภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ (T4A) นำเครือข่ายคนพิการร่วม 500 คนยื่นฟ้อง รฟม. ต่อศาลปกครองกลาง ฐานละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ กรณีไม่จัดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการในรถไฟฟ้าสายสีม่วง สำหรับการฟ้องครั้งนี้เป็นการยื่นฟ้องครั้งแรกสำหรับรถไฟฟ้าสายดังกล่าว หลังจากที่เคยได้มีการยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายรายคน กรณีไม่สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกกับบีทีเอสตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดเมื่อปี 58 
(อ่านข่าวที่นี่) 
https://thisable.me/content/2018/05/411

นายธีรยุทธ สุคนธวิท ประธานภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ กล่าวว่า หลังจากที่เครือข่ายได้ทำการสำรวจรถไฟฟ้าสายสีม่วงและได้พบอุปสรรคในหลายจุด เช่น การติดตั้งลิฟต์ไม่ครบถ้วน ทั้ง 16 สถานี รวมทั้งเครือข่ายเคยขอความร่วมมือในการร่วมออกแบบสิ่งอำนวยสะดวกในช่วงของการก่อสร้างไปแล้วนั้น แต่ก็ไม่เคยมีการปฏิบัติงานร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม และเมื่อก่อสร้างเสร็จแล้วยังไม่สามารถก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกให้ครบถ้วนได้ จึงตัดสินใจยื่นฟ้องดังกล่าว


มานิตย์ อินทร์พิมพ์ (ซาบะ) นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิคนพิการ กล่าวกับผู้สื่อข่าว Thisable.me ว่า ได้มีการพูดคุยเกี่ยวกับการยื่นฟ้องรถไฟฟ้าสายสีม่วงมาระยะหนึ่งแล้ว โดยที่ผ่านมาพยายามสื่อสารเรื่องนี้ และตนเองเป็นคนที่ขอให้เครือข่ายประวิงเวลาไว้หน่อย เพราะคิดว่าน่าจะดีขึ้น แต่เมื่อเวลาผ่านก็พบว่ามันไม่ใช่ ไม่มีการเปลี่ยนแปลง

“ รถไฟฟ้าสายนี้ ดีขึ้นมากกว่าทุกสายที่ผ่านมา ทุกสถานีมีลิฟต์ฝั่งละตัว แต่มี 4 ทางเข้าออก เขาใส่ให้แค่ 2 ทางเข้าออก ถามว่าพอหรือยัง ก็ตอบว่ายัง อีกสองทางเข้าออกจะต้องทำยังไง ถ้าเราพูดถึงความเท่าเทียม ก็ควรมีทุกทางเข้าออก เรื่องเงินที่ใช้สร้างลิฟต์เพิ่มคิดว่าไม่ใช่ประเด็น เราคำนวนแล้วถ้าติดลิฟต์ทุกทางเข้าออกใช้ 1% ของโครงการเท่านั้น ”
.
ทั้งนี้สุชาติ โอวาทวรรณสกุล ประธานสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย ได้ทำการยื่นหนังสือต่อพรรคการเมืองและแลกเปลี่ยนความคิดเชิงนโยบายด้านคนพิการ ซึ่งครั้งนี้มีพรรคการเมืองเข้าร่วมรับฟังกันหลากหลายพรรค อาทิ พลังประชารัฐ, อนาคตใหม่, ประชาธิปัตย์, พลังพลเมืองไทย, ชาติพัฒนาและภูมิใจไทย ฯลฯ ไว้ 2 ข้อคือสร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ในระบบขนส่งมวลชนและ พัฒนากฏหมายด้านการเข้าถึงและใช้ประโยชน์สำหรับคนทั้งมวล

ภาพบรรยากาศ