Skip to main content

ช่วงที่ผ่านมา กระแสของทราย-คีริน เตชะวงศ์ธรรมและลูเต้อร์ สุนัขนำทางพันธุ์ลาบราดอร์สีดำสนิทหน้าตาแสนเป็นมิตร ทำให้เกิดแรงกระเพื่อมต่อสังคมเป็นวงกว้าง คนเริ่มรู้จักและรู้วิธีการปฏิบัติตัวต่อคนพิการที่ใช้สุนัขนำทาง รวมทั้งทรายเองก็ได้มีโอกาสเข้าใช้บริการในสถานที่ต่างๆ ที่ไม่เคยได้เข้าไป

แต่คำถามก็คือ แล้วกระแสนี้จะนำไปสู่การปฏิบัติที่เท่าเทียมต่อคนตาบอดที่ใช้สุนัขนำทางได้หรือไม่ ทำอย่างไรจึงจะก้าวพ้นจากความน่ารักแสนรู้ของลูเต้อร์ ไปสู่การปฏิบัติอันเป็นมาตรฐานและการสร้างความเข้าใจเรื่อง Service Dog หรือสุนัขบริการ ชวนคุยกับครอบครัวเตชะวงค์ธรรม (วิภาวี โอทกานนท์-แม่และ วสันต์ เตชะวงศ์ธรรม-พ่อ) ถึงความคืบหน้าของการต่อสู้ของพวกเขา และหมุดหมายที่อยากให้เกิดขึ้นภายหลังจากทรายกลับไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกาอีกครั้ง

ภาพครอบครัวทรายยืนอยู่นหน้าบ้าน พร้อมกับลูเต้อร์

เห็นอะไรในกระแสที่เกิดขึ้น

ทราย: หลายที่อนุญาตให้เราไปใช้บริการ เช่น เซ็นทรัลทุกสาขา รถไฟฟ้าบีทีเอส อิมแพ็คเมืองทองธานี ฯลฯ อย่างไรก็ดี ตอนขึ้นบีทีเอสก็ยังมีเจ้าหน้าที่พยายามช่วยเรา เหมือนกับคนตาบอดทั่วไปที่จะมีเจ้าหน้าที่คอยช่วย ที่จริงแล้วทรายถูกฝึกมาให้ไม่ต้องใช้ให้เจ้าหน้าที่ช่วย สามารถเดินเองได้ในเมืองนอก และคิดว่าในเมืองไทยก็สามารถเดินเองได้ แต่ระบบไทยยังมองว่าคนตาบอดจะต้องมีเจ้าหน้าที่ช่วย ต่างกับที่สหรัฐฯ ที่มองว่าคนพิการสามารถดูแลตัวเองได้ ซึ่งคนตาบอดบางคนก็ต้องการให้มีเจ้าหน้าที่คอยช่วยเหลือ แต่สิ่งที่สำคัญคือ ทรายอยากให้เขาถามเราสักนิดนึง เคารพการตัดสินใจของเรา คือถ้าเราไม่ต้องการให้เขาเข้ามาช่วย ก็อยากให้เขาเคารพตรงนั้น

คนในสังคมที่รู้จักทรายกับลูเต้อร์ทุกคนให้ความร่วมมือดีมากเลย ทรายเห็นคนตื่นเต้นและพูดถึงลูเต้อร์ แต่ไม่พุ่งเข้ามาเล่นให้ลูเต้อร์เสียสมาธิ ซึ่งเราดีใจมาก แต่ก็ยังมีสิ่งที่ต้องปรับคือ พอทรายไม่ให้คนเล่นกับลูเต้อร์ คนก็ไม่กล้าเข้ามาทักทายทรายไปด้วย ทั้งที่จริงๆ แล้วสามารถทักทรายได้ เวลาคนพูดถึงเรา แต่ไม่มาทักเรา ก็ทำให้รู้สึกเหมือนกับว่าเราไม่ได้อยู่ตรงนั้น คนอยากจะคุยกับหมาแต่ไม่ได้อยากจะคุยกับคน เป็นความรู้สึกที่คนพิการหลายคนเจอบ่อย เช่น เมื่อทรายไปร้านอาหารกับแม่ พนักงานก็จะคุยกับแม่เกี่ยวกับตัวทราย “น้องเขาอยากได้อะไร น้องเขาอยากกินอะไร” เหมือนกับว่าเราไม่ได้อยู่ตรงนั้น

ลูเต้อร์เองก็ปรับตัว เรียนรู้ได้เร็ว เขาไปเดินในสวนหลวงได้ 2-3 ครั้งแล้ว เราพยายามสอนเส้นทางเดิมๆ ซึ่งเขาก็เริ่มจำได้ เห็นจากเมื่อเจอสี่แยกเขาก็รู้ว่าต้องเลี้ยวไปทางไหน หรือหยุดหากไม่แน่ใจ

รูปทรายยิ้มพร้อมฉากหลังต้นไม้สีเขียว

หลังจากกระแสสุนัขนำทาง คิดว่าเป็นไปได้แค่ไหนที่จะใช้สุนัขนำทางแบบ Independent ได้

ทราย: ก็ยังต้องผลักดันกันอีกเยอะ ไม่ใช่แค่มีโรงเรียนฝึกหรือมีหมาแล้วจะแปลว่าใช้ได้ ตอนนี้ไทยก็พยายามส่งคนไปเรียนฝึกสุนัขที่ออสเตรเลีย กระนั้นเองแม้ที่นู่นจะมีโรงเรียนฝึกแต่ก็ยังต้องคัดเลือกคนตาบอดที่มีความรับผิดชอบสูง มีระเบียบวินัย มีความพร้อมที่จะรับสุนัขอย่างอย่างแท้จริง ฉะนั้นแค่ขั้นแรกก็มีรายละเอียดเยอะแล้ว

เจ้าของสุนัขนำทางต้องมีความรับผิดชอบสูงมาก ต้องไม่ปล่อยให้ใครก็ได้มาเล่นหรือเอาขนมให้กิน พอทรายเห็นว่า เมื่อลูเต้อร์เป็นที่รู้จักคนก็เริ่มพูดว่า “เดี๋ยวจะเอาหมาไปแจก” ความคิดนี้ใช้ไม่ได้เด็ดขาด นอกจากมีการฝึกแล้ว โครงสร้างอื่นๆ เช่น ฟุตปาธไทยก็ยังต้องปรับโครงสร้างเยอะ ดังนั้นที่ทรายห่วงก็คือ การที่ภาครัฐคิดว่า ถ้ามีโรงเรียนสุนัขนำทางได้แล้วก็สำเร็จ จะไม่ต้องปรับโครงสร้าง ไม่ต้องปรับทัศนคติคนและคนพิการสามารถใช้ชีวิตได้อย่างเป็นอิสระแล้ว ทั้งที่มันไม่ใช่ ยังมีอีกหลายอย่างที่ต้องทำต่อ

วันที่ไปเจอภาครัฐ ทรายไม่แน่ใจจริงๆว่าผลเป็นอย่างไร จะเห็นว่ามีแค่การพูดถึงการอนุญาตให้เข้าสวนสาธารณะหรือสถานบริการด้านสาธารณสุขได้ ส่วนเรื่องอื่นก็ยังแบ่งรับแบ่งสู้ รวมถึงมีเวลาพูดคุยน้อยและมักถามคนอื่นว่าคิดและควรจะแก้ไขยังไง เราไม่ค่อยเห็นคนพิการเข้าไปมีส่วนร่วมเลย เหมือนกับคนไม่พิการเป็นคนนั่งคิดแก้ไขปัญหาให้คนพิการ หากมีการรับฟังปัญหาจากคนพิการมากขึ้นหรือให้คนพิการเข้าไปมีส่วนร่วมในฐานะเจ้าของปัญหาก็อาจจะดีกว่า

ภาพครอบครัวนั่งที่ม้าหินหน้าบ้าน

แผนการต่อสู้ให้ได้มาซึ่งการใช้ชีวิตอย่างอิสระ

แม่: แผนการเป็นเรื่องที่เราวางแผนร่วมกัน เรื่องสิทธิการเข้าถึงสิ่งต่างๆ ของคนพิการเป็นเรื่องที่อยู่ในใจทรายอยู่แล้วตั้งแต่เริ่มทำเพจ และไม่ได้คาดหวังว่า การใช้ชีวิตกับสุนัขนำทางจะไวรัลขนาดนี้

พ่อ: ประเด็นนี้ถือเป็นหัวหอกที่สร้างความรับรู้ในสังคมโดยรวม ปัญหาคนพิการและความพิการในสังคมเป็นประเด็นมนุษย์ล่องหน คนอาจจะเห็นแต่ไม่ได้คิดต่อว่า ชีวิตความเป็นอยู่ของคนพิการเป็นยังไง จนทำให้การแก้ไขปัญหาจากทั้งภาครัฐและเอกชนมีแค่เบื้องต้น กฎหมายมีแค่ไหนก็ทำแค่นั้น

“เรื่องของทรายจึงเป็นหัวหอกที่สร้างความรับรู้ ขนาดหมาตัวเดียวยังมีปัญหาขนาดนี้ แล้วเรื่องอื่นจะขนาดไหน”

ทราย: ตอนนี้คนไทยจำนวนมากพร้อมกันรู้จักว่า สุนัขนำทางคืออะไรและรู้ว่าควรจะปฏิบัติยังไง ในแง่นั้นเกินที่คาดคิดเยอะมาก แต่ในแง่ทัศนคติเกี่ยวกับคนพิการยังต้องปรับอีกเยอะ แม้แต่ในเพจเองคนก็ยังส่งข้อความมาว่า “ฝากคุณแม่ไปบอกน้องทรายหน่อยค่ะว่า…” หรือไม่ก็ส่งรูปภาพเข้ามา ทรายก็จะถามกลับไปว่า “อันนี้รูปอะไรคะ” เขาก็ตอบว่า “รบกวนคุณแม่ช่วยบรรยายให้น้องฟังหน่อยค่ะ” การคิดถึงเรื่องนี้มันยังอึมครึมในสังคมไทย คือเขายังไม่รู้ว่าทรายทำอะไรเองได้บ้าง และยังไม่รู้ว่าควรปฏิบัติกับคนพิการยังไง 

ตอนอยู่ที่สหรัฐฯ ก็เจอภาวะแบบนี้อยู่บ้างเพราะที่นั่นประชาชนคนพิการก็ยังเป็นคนส่วนน้อย คนทั่วไปก็ไม่รู้ว่าควรจะปฏิบัติตัวกับคนพิการยังไง บางครั้งก็ไม่กล้าเข้ามาคุย เวลาไปร้านอาหารเขามักถามเพื่อนว่าทรายอยากกินอะไร ทั้งที่เราอยู่ตรงนี้และได้ยิน เมื่อ 2-3 วันก่อนแม่โทรไปคุยกับห้างๆหนึ่ง เจ้าหน้าที่ถามว่าถ้าเกิดไม่ได้ใช้สุนัขนำทาง ทรายต้องนั่งรถเข็นหรือเปล่า “เฮ้ย หนูตาบอด แต่เดินได้” คนอื่นชอบคิดว่าคนพิการทำไม่ได้ เวลาไม่รู้ว่าทำได้หรือไม่ได้ ก็จะใส่ว่าทำไม่ได้ไว้ก่อน ตรงนี้เป็นสิ่งที่ไม่โอเค

ความสัมพันธ์ของหมากับคนนั้นไม่ใช่เจ้าของ แต่เป็น handlers และ partner ship เราทั้งคู่เป็น ลักษณะของทีมเวิร์คไม่ได้เป็นเจ้าชีวิตแต่เป็นความสัมพันธ์ที่ให้ความเท่าเทียม  เรายังเห็นความเข้าใจผิด เช่น คอมเมนท์ว่าหมาเป็นคนจูงหรือดูแลพี่ทราย ในเชิงที่ว่าลูเต้อร์เป็นเหมือนพี่เลี้ยงหรือคนที่ต้องดูแลทราย โดยไม่เข้าใจว่าเราสองคนทำงานด้วยกัน 

ภาพทรายหยีตา เล่นกับลูเต้อร์ที่อ่างน้ำ

อะไรคือสิ่งที่ขาดและอะไรเป็นสิ่งที่เกิน

แม่: ขาดการคิดว่าคนพิการก็ทำอะไรได้เหมือนกับทุกคน เราต้องมีโรลโมเดลให้เห็นว่าคนพิการก็ทำได้ อาจจะด้วยวิธีต่างกัน และบางสิ่งที่เขาทำไม่ได้เป็นเพราะสังคมไม่ได้มีโครงสร้างที่ทำให้เขาทำได้อย่างอิสระ เวลาพูดว่าทรายเรียนมวยไทย เรียนโยคะ ปีนหน้าผาจำลอง หรือเล่นเปียโน คนจะประหลาดใจว่าทำได้ด้วยเหรอ ทรายทำได้ทุกอย่างหากมีการรองรับและการยอมรับ ให้เกิดการสนับสนุนที่เหมาะสม ซึ่งบ้านเรายังไม่มีภาพเหล่านี้มากพอ คนเลยตั้งค่ามาตรฐานไว้เลยว่าคนพิการคงทำไม่ได้ หรือถ้าทำได้ก็คงเสี่ยงเกินไป

ทราย: สิ่งที่เราห่วงคือเวลาที่คนตาบอดหรือคนพิการไปไหนมาไหนแล้วมีเจ้าหน้าที่ประกบตลอดเวลาก็จะทำให้คนอื่นมองว่าคนพิการคงไม่สามารถทำเองได้

เรารู้สึกว่า สังคมปฏิบัติกับคนพิการเหมือนเป็นเด็ก ทราย 22 แล้วแต่คนกลับพูดกับเราผ่านแม่ “ทรายอยากกินอะไร” หรือหยิบนู่น หยิบนี่ให้เหมือนเราเป็นเด็กที่ไม่มีความคิดเห็นหรือความเชื่อมั่นในตัวเอง อยากจะจูงไปนู่น ไปนี่โดยไม่ไว้ใจว่าเราจะดูแลตัวเองได้ ตัดสินใจเองได้ และเรามีความหนักแน่นมากพอที่จะระวังตัวเอง หากเราตัดสินใจว่า ‘จะทำ’ นั่นเป็นเพราะมั่นใจว่าทำได้ แต่คนอื่นกลับคิดว่าการตัดสินใจของเขานั้นแม่นกว่าเรา

พ่อ: ทั้งหมดเป็นเรื่องของระบบคิด แทนที่จะมาคอยช่วยคนพิการแต่ละคน ทำไมไม่คิดเรื่องการทำโครงสร้างให้เหมาะกับการใช้งานของคนพิการ คนตาบอดเดินไปไหนมาไหน เดินข้ามถนนก็อันตรายมากอยู่แล้ว เขามีทักษะในการระวังตัวเองที่ดี

ตั้งแต่กลับมาจากสหรัฐฯ ได้ลองเดินทางเองกับลูเต้อร์บ้างหรือยัง

ทราย: ตั้งแต่กลับมาก็ยังไม่ได้ไปไหนแบบ Independent ทรายไม่เคยไปไหนเองในไทยเพราะฉะนั้นยอมรับเลยว่ายังไม่มีความมั่นใจ กำลังดูเรื่องการฝึกขึ้นรถเมล์เพราะเราอยากเดินทางเอง ตอนพ่อแม่เดินตามเขาก็จะคอยบอกว่า ‘ตรงนั้นมีเสา ตรงนั้นมีลวด’ บางทีเราก็อยากเดินชนเพื่อจะได้สอนลูเต้อร์

แม่ยืนจับต้นไม้หน้าบ้าน

ทำไมส่งทรายไปเรียนรู้ทักษะของคนตาบอดที่สหรัฐฯ

แม่: มี 2-3 เหตุผล ตั้งแต่ทรายเรียนมัธยม โรงเรียนก็ไม่รู้หรอกว่าต้องทำยังไงกับเด็กตาบอด เขาให้ทรายไปคุยและสาธิตว่าทำอะไรได้บ้างจนยินดีรับเข้าเรียน แต่เราก็รู้ว่า การเดินนำทางทรายไปเรียนทุกวันมันไม่พอ มีไลฟ์สกิลหลายอย่างที่มีความจำเป็นสำหรับคนตาบอด ตอนนั้นทรายยังเดินไม้เท้าไม่เป็นด้วยซ้ำ แม่จึงค้นข้อมูลและไปเจอการฝึกทักษะภาคฤดูร้อนสำหรับคนตาบอด เป็นคอร์สสั้นช่วงซัมเมอร์ ที่สอนทักษะในการใช้ชีวิต

พ่อ: ระบบนี้เป็นระบบที่ดีมาก เป็นสวัสดิการที่ทุกรัฐในสหรัฐฯ สนับสนุนให้พลเมืองของเขาได้เรียนรู้ทักษะต่างๆ ที่ทำให้สามารถดำรงชีพ ทำให้พลเมืองมีประโยชน์กับสังคม ฉะนั้นเขายอมเสียเงินเพื่อหนุนช่วยให้คนสามารถอยู่ได้อย่างอิสระ ซึ่งเป็นระบบที่บ้านเราไม่ได้คิดถึงเลย หากจะมีแต่ระบบสังคมสงเคราะห์ ช่วยเป็นมื้อๆ อยู่รอดกันเป็นวันๆ

ทราย: คอร์สฤดูร้อนยาว 2 เดือนให้สกิลเรา แต่สิ่งที่เปลี่ยนมากกว่าคือความมั่นใจ ก่อนหน้านั้นเราไม่รู้ว่าคนตาบอดทำอะไรได้บ้างหรือทำยังไง วิชาที่เรียนมี 4 วิชาหลักคือ เบรลล์ เทคโนโลยี การใช้ไม้เท้าและการเดินทาง และการทำกับข้าว เป้าหมายหลักของศูนย์คือการสร้างความมั่นใจและการเชื่อในตัวเองผ่านชั้นเรียน ตอนคอร์สใกล้จะจบ จะมีการทดสอบให้เราหาร้านอาหาร โดยไม่บอกว่าอยู่ที่ไหน

นอกจากโปรแกรมนี้ ยังมีโปรแกรมระยะยาว 6 ถึง 9 เดือน จะมีวิชาเพิ่มเติมอย่าง Industrial Art และทักษะการใช้เครื่องมือ การซ่อมเครื่องไฟฟ้า ทักษะทางช่าง เลื่อยไฟฟ้า ฯลฯ ซึ่งเป็นโปรแกรมที่กำลังจะกลับไปฝึก เป้าหมายของโครงการคือการก้าวข้ามความกลัว ฝึกความมั่นใจ ความเชื่อในตัวเอง ให้สามารถมีทักษะทั่วไปเหมือนคนที่จะอยู่ด้วยตัวเอง

พ่อ: อยากเห็นสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในประเทศไทย การเกิดขึ้นของระบบต่างๆ แปรผันโดยตรงจากสิ่งที่คุณคิดต่อประเด็นต่างๆ เหมือนกับที่เราชอบพูดว่า คุณจะให้ปลาหรือคุณจะให้เบ็ด  เราจึงควรเปลี่ยนแนวคิด เปลี่ยนทัศนคติการมองคนพิการว่าความบกพร่องไม่ได้ทำให้เขาสิ้นสูญสมรรถภาพ มีศักยภาพอื่นๆ ที่สามารถดึงออกมาใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ หากคนพิการมีงานก็ไม่เป็นภาระกับรัฐ ไม่ต้องใช้เงินภาษีมาคอยสงเคราะห์และเขาเองก็สามารถเสียภาษีได้ ผมถึงดีใจมากที่สภามีส.ส.เป็นคนพิการ ในอดีตสภาเรามีส.ว.คนพิการที่ไม่ได้ผ่านการเลือกตั้ง  แต่ส.ส.เป็นตัวแทนของประชาชน เขาจะมีโอกาสได้อภิปรายและทำอะไรต่อมิอะไรให้คนได้เห็นคนพิการมากขึ้น

ทรายและลูเต้อร์ยืนถ่ายรูปด้วยกันในสวน

หมุดหมายที่อยากไปถึงคืออะไร

ทราย: ทรายก็ไม่รู้ว่าจะพูดเรื่องนี้ไปได้ถึงไหนเหมือนกันเพราะอีกไม่นานก็จะกลับไปเรียนต่อ และทรายเองก็ไม่ได้เป็นคนที่ชอบการเผชิญหน้า ค่อนข้างเป็นคนเก็บตัวด้วยซ้ำไป รวมถึงเราเองมีความสนใจส่วนตัวในเรื่องสุขภาพจิต หากเรียนจบก็อยากเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา

ในตอนนี้อยากให้มีคนพิการใช้สุนัขนำทาง เพื่อให้เรื่องนี้อยู่ในความรับรู้ของสังคมและผลักดันต่อไป หากมีคนใช้จริงก็จะเจอปัญหาซึ่งจะช่วยไฮไลท์ให้คนได้รับรู้ ส่วนเรื่องการทำโรงเรียนสุนัขนำทาง ก็อยากให้เกิด แต่ค่อนข้างซับซ้อน ความคิดที่จะเอาสุนัขปลดประจําการหรือสุนัขจรจัดมาฝึกนั้นทรายไม่ค่อยแน่ใจเท่าไหร่ว่าจะเวิร์ค โรงเรียนของลูเต้อร์ใช้สุนัขที่เพาะพันธุ์เอง ฝึกตั้งแต่เกิดและไม่ใช่ทุกตัวจะได้เป็นสุนัขนำทาง เพราะมีความซับซ้อนมาก เขาต้องทำหน้าที่ที่เขาฝึกมาได้แต่ก็ต้องเข้าสังคมได้ด้วย  สุนัขจะต้องถูกประเมินแล้วประเมินอีก โดยเฉพาะเรื่องเข้าสังคม หากผ่านจึงจะเริ่มฝึกสุนัขนำทาง และประเมินเรื่อยๆ จนกว่าจะจบคอร์ส  คนรับสุนัขเองก็ต้องเทรน 3 อาทิตย์ เก็บข้อมูลว่าเราเหมาะกับตัวไหน ลองเดิน เรียนรู้การดูแล เช่น ให้อาหาร ให้น้ำ เก็บขี้ หวีขน ฯลฯ จึงทำให้กว่าจะมาอยู่กับทราย เขาก็อายุ 2 ปีแล้ว

แม่: ใน พ.ร.บ. ส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนพิการ 2550 มีการเขียนเรื่องสุนัขนำทางไว้อยู่แล้ว ซึ่งเราก็เคยเอาข้อมูลส่วนนี้ไปลงในเพจ ใจความว่า กฎหมายอนุญาตให้คนพิการนำสิ่งอำนวยความสะดวกรวมถึงสุนัขนำทาง เข้าถึงสถานที่สาธารณะต่างๆ โดยไม่มีข้อยกเว้น สิ่งที่เราทำคือขอความร่วมมือให้ทำตามกฎหมาย ไม่ได้ขอมากกว่ากฎหมาย เวลาไปเจอสถานที่ที่บอกว่าไม่อนุญาตเราก็จะหงุดหงิดนิดนึง เพราะเรื่องนี้เป็นกฎหมาย ฉะนั้นจริงๆแล้ว เราไม่ควรต้องขออนุญาตด้วยซ้ำ ที่ต้องทำแบบนี้เพราะยังรู้สึกว่าอยากให้เกียรติเขา

พ่อ: กฎหมายที่เป็นอยู่ในเวลานี้ บังคับใช้จริงไม่ได้ ไม่มีบทลงโทษ ถึงแม้คุณจะทำผิดคุณก็ไม่โดนอะไร ไม่ทำตามกฎหมายก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น เรายังติดอยู่กับระบบความคิดและอำนาจจากข้างบนมาข้างล่าง แต่การมีส่วนร่วมในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆกลับไม่มี

ลูเต้อในอ่างน้ำพร้อมลูกบอล

ทำไม ‘ทางเลือก’ จึงสำคัญสำหรับคนตาบอด และคนทั่วไปทำอะไรได้บ้าง

ทราย: มันคือปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เรารู้สึกว่า ใช้ชีวิตด้วยตัวเองได้ บางครั้งคนทั่วไปในสังคมมักคิดว่าคนตาบอดดูแลตัวเองไม่ได้หรือต้องให้คนอื่นช่วยคิดตลอดเวลา พอเป็นแบบนั้นเรารู้สึกว่าถูกขโมยการตัดสินใจ คนเข้ามาตัดสินใจให้เราว่า จะทำอันนี้ให้, จะไม่ทำอันนี้ให้, คุณทำอันนี้ไม่ได้หรอก เราไม่มี Autonomy (อิสรภาพ) ในการตัดสินใจด้วยตัวเอง เรื่องนี้สำคัญกับทรายมาก ฉะนั้นการมีหมาเป็นส่วนหนึ่งที่เราสามารถตัดสินใจว่าเราจะใช้หรือไม่ใช้

เวลาพูดถึงสังคม คุณและคนพิการก็เป็นส่วนหนึ่ง ฉะนั้นวิธีที่คุณคิดหรือมองคนพิการต้องเปลี่ยนไป อยากให้ระวังเวลาพูดชมคนพิการ “น้องเป็นแรงบันดาลใจ น้องเก่งมาก” ทั้งที่เขาไม่รู้อะไรเกี่ยวกับทรายเลย ทรายก็จะสงสัยว่าเขาชมเรื่องอะไร เก่งอะไร ทำไมแค่เดินห้างก็กลายเป็นคนเก่งหรือว่าแค่พิการก็เก่งเพราะเดินห้างได้ อยากให้ทุกคนตระหนักในเรื่องนี้ให้มากขึ้น

และนอกจากเรื่องความคิดแล้ว อยากให้ไปต่อว่าคุณทำอะไรได้ เช่น ช่วยทำให้สังคมรอบตัวนั้นโอบอุ้มทุกคน สอนลูกว่าถ้าเห็นคนพิการควรคิดถึงเขาแบบไหน ถ้าคุณเปลี่ยนทัศนคติในวงเล็กๆรอบตัวคุณได้ ก็จะค่อยๆกระจายสารเหล่านี้ได้

พ่อ: อนาคตหลังจากนี้เราอยากทำให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันในสังคม ความพิการแต่ละอย่างมีความต้องการแตกต่างกัน ค่อยเรียนรู้ด้วยกันทีละนิด ขนาดพ่อเองก็ยังต้องเรียนรู้และบางครั้งก็โดนทรายตำหนิ เพราะเรื่องคนพิการเป็นเรื่องที่เราไม่เคยรับรู้มาก่อน จึงต้องสร้างจิตสำนึก ความรู้สึก และความอ่อนไหวต่อความต้องการของคนอื่นในทุกกลุ่มด้วย

ภาพถ่ายลูเต้อร์แบบใกล้ๆ เห็นตากลมสีเหลืองอมส้มชัดเจน

เข้าไปดูคลิปสัมภาษณ์ได้ที่นี่ ผมชื่อลูเต้อร์

คชรักษ์ แก้วสุราช
มัลติมีเดีย, Editor
content creator ที่หน้าตาดีที่สุดในตำบลบึงยี่โถ