Skip to main content

เป็นเวลา 4 ปีแล้วหลังจากแทมมี ดักเวิร์ธ กลับมาเยือนเมืองไทยครั้งก่อน ครั้งนี้เธอกลับมาพร้อมกับบทบาทการเป็นแม่ของลูก 2 คนเพื่อพบปะนายร้อยและเยี่ยมชมการทำงานของรัฐสภาไทย นอกจากนี้เธอวางแผนจะไปเยี่ยมและให้กำลังใจทหารผู้ได้รับบาดเจ็บในโรงพยาบาลทหารผ่านศึก สุดท้ายเธอจะเดินทางไปเชียงใหม่เพื่อพบปะญาติพี่น้องและพักผ่อนหย่อนใจก่อนกลับสหรัฐฯ

พันโทหญิง ลัดดา แทมมี ดักเวิร์ธ เป็นสมาชิกวุฒิสภาสหรัฐอเมริกา จากรัฐอิลลินอยส์เคยเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงกิจการทหารผ่านศึกของประเทศสหรัฐอเมริกา เธอเป็นลูกครึ่งไทย-อเมริกันที่สูญเสียขาทั้งสองข้างระหว่างรบในสงครามอิรัก เมื่อปี 2547 ในตอนนั้นเธอเป็นนักบินเฮลิคอปเตอร์กองทัพสหรัฐอเมริกา

Thisable.me ชวนคุยกับแทมมีอย่างส่วนตัวกับเรื่องราวความเป็นแม่ หน้าที่การงาน และสิ่งที่เธอต่อสู้เพื่อจะได้เห็น และอ่านการแลกเปลี่ยนกับสื่อหลายที่ที่ให้ความสนใจในการกลับมาครั้งนี้ของเธอ

อะไรคือข้อได้เปรียบ เสียเปรียบ โอกาสและความท้าทายในฐานะแม่ที่ทำงานการเมือง

ดักเวิร์ธ: โชคดีมากที่ดิฉันได้มีโอกาสทำงานนี้ เมื่อเห็นอะไรที่ลำบากหรือเป็นอุปสรรคก็มีโอกาสเขียนกฎหมายได้ ตอนที่เริ่มต้นทำงานที่เมืองหลวงของสหรัฐฯ การหาทางขึ้นที่วีลแชร์ขึ้นได้ตามตึกต่างๆ ยังเป็นเรื่องยากลำบากมาก หลายตึกเป็นตึกโบราณกว่า 200 ปี บางที่ก็ไม่มีห้องน้ำคนพิการ บางห้องประชุมที่ใช้วีลแชร์ก็ยังเข้าไม่ได้ สิ่งเหล่านี้ต้องเปลี่ยน ทำตามกฎหมายที่ว่า คนทุกคนจะต้องเข้าถึงได้ ใช้ได้ การเข้ามาทำงานของดิฉันจึงเป็นโอกาสที่ทำให้ประเทศของตัวเองเกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น

ปัจจุบัน มีสตรีทำงานการเมืองที่หาเสียงมากขึ้น และทุกปีและมีสตรีที่อายุน้อยลง เมื่อก่อนนี้หากผู้หญิงจะหาเสียงเลือกตั้งก็จะคอยให้ลูกโตก่อน นักการเมืองหญิงบางคนไม่ได้หาเสียงจนกระทั่งลูกโต แต่ใน 15 ปีที่ผ่านมาผู้หญิงบางคนอายุแค่ 20 กว่าๆ หลายคนยังมีลูกเล็กที่อยู่ที่บ้านก็ก้าวเข้าสู่การหาเสียงเลือกตั้ง เรื่องราวเหล่านี้เป็นเรื่องที่ดี เขาจะเป็นคนที่เข้าใจครอบครัวที่ต้องไปทำงาน และออกกฎหมายที่เอื้อต่อการทำงานของครอบครัวที่ยังมีลูกเล็กด้วย

จำเป็นไหมที่คนพิการต้องขับเคลื่อนงานคนพิการและจะก้าวข้ามความพิการไปสู่ประเด็นอื่นได้อย่างไร

คนพิการควรทำงานเรื่องนี้ก่อนคนอื่นเพราะเรารู้จักตัวเอง อะไรเป็นเรื่องที่ลำบาก ความลำบากเป็นยังไง อะไรที่อยากเปลี่ยนแปลง สมาคมคนพิการที่สหรัฐฯ มีคนไม่พิการหลายคนที่ร่วมมือกัน ดิฉันเองจึงคาดหวังที่จะคนพิการทำงานในทุกด้าน ไม่เฉพาะแค่เรื่องคนพิการ เหมือนกับตัวดิฉันที่เป็นทหารผ่านศึก บาดเจ็บจากสงคราม คนเห็นดิฉันเพราะการเป็นทหารผ่านศึก ไม่ได้เห็นความพิการ ไม่ได้เห็นความเป็นผู้หญิง และสิ่งนี้เป็นสิ่งที่พิเศษของตัวดิฉันเอง

เนืองจากดิฉันเป็นแม่ หลังคลอดลูก 2 คนก็เริ่มที่จะเขียนกฎหมายใหม่ที่ช่วยครอบครัวสหรัฐฯ ได้มีวันหยุดดูแลลูกที่คลอดมา เพราะปัจจุบันสหรัฐฯ ไม่มีกฎหมายบังคับให้หยุดแบบรับเงินเดือนเหมือนในยุโรป ที่ให้หยุดได้ถึง 6 เดือนทั้งพ่อและแม่ ดิฉันเลยพยายามเปลี่ยนกฎหมายเหล่านี้และมีส.ส.ที่เป็นแม่หลายคนร่วมสนับสนุนผ่านกฎหมายตัวนี้

ทำไมกลุ่มคนตัวเล็กตัวน้อยอย่าง LGBT คนพิการ ทหารผ่านศึก ฯลฯ จึงมีความสำคัญสำหรับคุณ

ปัจจุบันสหรัฐฯ เริ่มให้ความสำคัญกับเรื่อง Intersectionality หมายความว่าเรื่องที่สำคัญกับกลุ่มนี้ อาจจะไปซ้อนทับกับอีกเรื่อง เราจึงพยายามทำงานในเรื่องเหล่านี้มากขึ้น เช่น ปัจจุบันคนพิการหางานยากมาก ร้อยละ 80 ไม่มีงานทำ เช่นเดียวกับสตรีที่มีลูกก็หางานยากเหมือนกัน บางคนหางานแบบ Part time เพราะอยากมีเวลาดูแลลูกฉะนั้นสมาคมคนพิการกับสมาคมสตรีหรือแม่ก็สามารถร่วมมือกันเพื่อหาทางช่วยคนที่ว่างงานให้มีงานทำ ทำให้สังคมเห็นว่า คนพิการส่วนมากจะมีความจงรักภักดีกับที่ทำงาน ไม่เปลี่ยนงานบ่อยๆ เพราะฉะนั้นสำหรับบริษัทที่จ้างคนพิการก็จะได้กำไรเพราะคนพิการจะไม่เปลี่ยนงานบ่อย ไม่ต้องสอนคนใหม่เรื่อยๆ

จากการทำงานด้านทหารสู่การเป็นนักการเมืองมีอะไรที่แตกต่างไปบ้าง

ตอนที่ดิฉันยังอยู่ที่โรงพยาบาลเมื่อครั้งบาดเจ็บใหม่ๆ มองว่า รัฐบาลของเราดูแลทหารผ่านศึกได้ไม่ดีพอ  จึงติดต่อไปที่ ส.ว.รัฐอิลลินอยส์ซึ่งเป็นกรรมการทหารผ่านศึกเพื่อบอกเล่าเรื่องราวปัญหา หลังจากนั้นเกือบ 10 เดือน ดิฉันก็ถูกเรียกไปหาเสียง วันนั้นเป็นจุดเริ่มต้น ดิฉันไม่เคยคิดว่าจะต้องออกไปหาเสียงเพราะมองว่า ตัวเองเป็นทหารและกำลังจะทำงานที่โรเตอรีสากล แต่เมื่อประเทศเรียกให้เราไปทำงาน เราก็ต้องไป หลังจากเข้าสู่การเมืองก็ทั้งสนุก โมโหหรือบางวันก็เสียใจ ก็เหมือนงานอื่นๆ แต่ว่าสิ่งที่ดีคือเราได้รับใช้ชาติและมีโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงชาติของตัวเองให้ดีขึ้น

อะไรคือบทเรียนที่สำคัญที่สุดในการทำงานทั้งด้านทหารและการเมือง

สิ่งที่สำคัญที่สุดในตอนเป็นทหารคือต้องดูแลทุกคนที่เป็นลูกน้อง ดิฉันเป็นนายร้อย นายพัน และเป็นพันโท ก็ต้องอย่าเห็นแก่ตัวเอง ต้องดูแลคนที่ตำแหน่งที่ต่ำที่สุดอยู่ใต้บังคับบัญชาให้ดี คนที่เป็นผู้นำที่ดีต้องดูแลลูกน้องก่อนดูแลตัวเอง ทหารสหรัฐฯ มีประเพณีว่าเมื่อทานอาหาร คนที่เป็นหัวหน้าจะไม่ทานจนกระทั่งลูกน้องทานหมดแล้ว ส่วนเขาจะทานที่เหลือ และพักผ่อนทีหลังลูกน้องเสมอเพราะคนพวกนี้เป็นคนที่ทำให้ กลุ่มทหารของเรามีความสำเร็จ

การรับใช้ชาติก็เช่นกัน เราต้องรับใช้ชาติก่อนจะรับใช้ตัวเองและอย่าคิดว่าเรารู้จักคนอื่นเพียงแค่เห็นด้านเดียว ต้องใช้เวลาที่จะเข้าใจ และรู้จักกันจริงๆ ดิฉันอยู่พรรคเดโมแครตและคนมักคิดว่า จะไม่มีทางเห็นตรงกันกับรีพับลิคกัน แต่บางครั้งเมื่อพวกเราหารือกัน เช่น กฎระเบียบเรื่องลูก ดิฉันพยายามเปลี่ยนกฎระเบียบให้สามารถพาลูกเพิ่งคลอดมาที่รัฐสภาก็ได้ ส.ส.จากพรรครีพับลิคกันมาร่วมพลักดันเพราะเขามองว่าตอนที่มีลูกเขาก็อยากจะพาลูกมาที่รัฐสภาเหมือนกัน จึงพร้อมที่จะสู้ทั้งที่เราอยู่กันคนละพรรค คนละแนวคิดทางการเมือง ความเป็นพ่อทำให้เขาเข้าใจเรื่องเหล่านี้มากขึ้น

สำหรับคนพิการไทย ดิฉันเห็นกรุงเทพฯ สร้างตึกใหม่อยู่เรื่อยๆ แต่ทำไมตึกใหม่ถึงไม่มีการสร้างให้มีทางที่คนพิการเข้าถึงเพราะหากสร้างตั้งแต่แรกจะต้นทุนน้อยที่สุด เวลานี้เป็นเวลาที่เหมาะสมที่สุดที่จะเปลี่ยนแปลงเมืองหลวงของประเทศไทยให้เป็นที่ที่คนพิการมีอิสรภาพในการเดินทางไปไหนมาไหนได้

ทำอย่างไรจึงรักษาคะแนนนิยมได้

สิ่งที่สำคัญสำหรับสหรัฐฯ คือ ส.ส.และ ส.ว.ต้องอย่าลืมว่า เราเป็นคนใช้ของประชาชนหรือ  Public services คำสำคัญอย่าง Services จะต้องไม่ลืม ข้าราชการต้องเป็นข้าผู้รับใช้ของคนธรรมดา คนที่ลืมเรื่องนี้จะเป็นคนที่จะไม่ประสบความสำเร็จและไม่ได้รับเลือก

ประสบการณ์ในการเป็น ส.ว.แตกต่างจาก ส.ส.ตรงที่ ส.ว.สหรัฐฯ มีเพียง 100 คน ฉะนั้นอิทธิพลของ ส.ว.จะมีมากกว่า ต่างจาก ส.ส.ที่มี 435 คนซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนกลุ่มที่เล็กกว่า รัฐที่ดิฉันอยู่เป็นรัฐที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 5 ของสหรัฐฯ ความรับผิดชอบก็มากขึ้นไปด้วย สิ่งที่คิดว่าทำสำเร็จคือการผ่านกฎหมายต่างๆ ขณะเป็น ส.ว.และ ส.ส. พอเป็นแม่ดิฉันเริ่มรู้สึกว่ากฎหมายหลายอย่างนั้นดีไม่พอ เช่น ก่อนหน้านี้แม่ที่เดินทางด้วยเครื่องบิน ต้องการให้นมลูกต้องใช้พื้นที่ห้องน้ำ นี่มันสกปรก ไม่ใช่เรื่องที่ดี ฉะนั้นดิฉันจึงทำกฎหมายให้มีห้องให้นมในทุกสนามบิน หากดิฉันไม่ได้เป็นแม่ก็อาจไม่รู้ปัญหาเรื่องนี้เลย

ในไทยมีผู้หญิงทำงานการเมืองมากขึ้น คุณมีข้อแนะนำอย่างไร

รัฐบาลของประเทศต้องมีหน้าตาเหมือนกับคนในประเทศของเรา Politic needs to look like people ที่สหรัฐฯ มีผู้หญิง 51% ของประชากรทั้งหมดแต่มีนักการเมืองหญิงเพียง 20% เรื่องนี้เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เพราะควรมีนักการเมืองหญิงแตะ 50% ของผู้ที่เป็น ส.ส.และ ส.ว. รวมถึงจำนวนของคนพิการก็ไม่เท่ากับเปอร์เซ็นต์ที่ในสังคมมี จนมีเรื่องตลกที่พูดว่า มีคนที่มีอำนาจในรัฐบาลเป็นผู้ชายผิวขาวชื่อจอห์นจำนวนมากกว่าผู้หญิงแอฟริกันอเมริกันหรือเอเชียเสียอีก ฉะนั้นจึงสำคัญมากที่นักการเมืองจะต้องสะท้อนประชาชนเพราะหากเราไม่มีที่นั่งบนโต๊ะอาหาร เราจะเป็นได้เพียงแค่เมนูที่ถูกคนอื่นเลือก เขาจะไม่นึกถึงเราว่าอยากจะกินอะไร (If you’re not at the table then you’re on the menu)

การมีรากของความเป็นไทยเป็นแรงบันดาลใจต่อการทำงานอย่างไร และประชาธิปไตยของไทยปัจจุบันอย่างไร

การเป็นคนไทยของดิฉันนั้นสำคัญมาก เพราะทำให้เห็นค่าและบทบาทของอเมริกาที่มีต่อโลก โดยไม่ได้คิดว่าอเมริกาเป็นผู้นำ แต่เรามีหน้าที่รับผิดชอบต่อสังคมโลก

สำหรับในเรื่องของการเมือง ก็คงตอบแบบไทยว่า ใจเย็นๆ ค่ะ ในสหรัฐฯ หลังจากเป็นประชาธิปไตยมา 100 ปีก็ยังมีเหตุการณ์สงครามกลางเมือง ครอบครัวต้องต่อสู้กันเอง คนฆ่ากันเองในประเทศตัวเอง จึงเป็นเรื่องปกติมากที่จะมีความสับสน วุ่นวายและเลอะเทอะเพราะ Real democracy is messy เรากำลังก้าวเข้าสู่ความเป็นประชาธิปไตย ดิฉันเข้าใจความกังวล และความอึดอัดใจของคนไทยที่อยากเห็นประชาธิปไตยก้าวไปเร็วกว่านี้ และดีใจมากที่คนไทยหลายคนมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะเห็นประเทศของเราเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

คชรักษ์ แก้วสุราช
มัลติมีเดีย, Editor
content creator ที่หน้าตาดีที่สุดในตำบลบึงยี่โถ