Skip to main content

“ในช่วงวิกฤต กองทุนคนพิการควรถูกดึงมาใช้ เพื่อช่วยเหลือและดูแลคนพิการให้ได้มากที่สุด หมดโควิด-19 แล้วค่อยหาเงินใหม่ได้ ช่วยคนของเราก่อน อย่าให้ตัวเลขสำคัญกว่าชีวิตคน”

“กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการควรประเมินให้ดีกว่านี้ ที่ผ่านมาผมคิดว่าเขาประเมินต่ำไป ปัญหาหลักของคนพิการคือรายได้และค่าใช้จ่าย ฉะนั้นคำถามที่เกิดขึ้นคือ เราจะทำยังไงให้มีรายได้ อะไรที่ห่วยหรือตามไม่ทันก็ต้องมีการปรับ”

ชวนคุยกับ สุชาติ โอวาทวรรณสกุล นายกสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย หลังเกิดวิกฤตโควิด-19 อะไรคือปัญหาที่ทำให้ปัจจุบันคนพิการยังไม่ได้แม้แต่เงินเยียวยา เกิดอะไรขึ้น กับข้อเสนอและนโยบายที่จัดทำโดยคนพิการ ไปจนถึง สำรวจความพร้อมในการช่วยเหลือของภาครัฐต่อการจัดการวิกฤตสำหรับคนพิการ

คนพิการเดือดร้อนมากแค่ไหน

สุชาติ : เยอะมาก คนไม่พิการยังกระทบจนเอาตัวแทบไม่รอด  บริษัทต้องปิดตัว หลายคนตกงาน ผมและองค์กรคนพิการเลยต้องออกมาช่วยกันกดดันให้สังคมเห็นถึงความเดือดร้อนของคนพิการ  หลายคนมีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว บางคนทำงานคนเดียวเพื่อหาเลี้ยงทั้งครอบครัว พอตกงานก็กระทบหนัก บางบ้านไม่มีรายได้เลย ในช่วงที่ผ่านมาผมโอนเงินเยอะมาก คนพิการโทรมาก็ช่วยตามที่ช่วยไหว สมาคมคนพิการทางสติปัญญาที่ผมเป็นนายกสมาคมอยู่ก็มีนโยบายช่วยให้ได้มากที่สุด ไม่ว่าเป็นข้าวสารอาหารแห้งหรือเงินก็มีประโยชน์ทั้งนั้น ภาครัฐควรต้องช่วยให้เร็วที่สุด ลูกผมเป็นคนพิการ แต่หน้ากากสักอันก็ไม่เคยได้จาก กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) 

การเยียวยาที่ล้าช้า

ที่ต้องพูดถึง พก. เยอะเพราะเขาคือหน่วยงานที่ทำงานในภาพรวมของคนพิการทั้งประเทศ ช่วงแรกมีการทำหน้ากาก เจลล้างมือ อุปกรณ์ป้องกันตัวต่างๆ แต่ก็ไม่เคยเกิดเป็นรูปธรรมจริงแม้ว่ามีไอเดีย เขาไม่มีภาวะกดดันมากเท่า ความเป็นห่วงต่างๆ เช่น กลัวกองทุนคนพิการล้ม ผมคิดว่านโยบายที่เกิดขึ้นในภาวะวิกฤตควรเป็นนโยบายช่วยคนก่อน แม้แต่เรื่องข้อถกเถียงเรื่องเงินกู้สำหรับคนพิการ ทั้งที่ไม่ใช่การให้เปล่า ยืมแล้วก็ต้องคืน ก็ยังไม่มีนโยบาย ทั้งที่ ทุกคนควรเข้าถึงโอกาสนี้ เพื่อรักษาชีวิตของตัวเองระยะยาวจะเป็นอย่างไรค่อยว่ากัน 

นอกจากจะไม่ได้ใจคนพิการแล้ว แม้ถูกด่าก็ยังเฉย 

ผมคิดว่า ในช่วงวิกฤตเราควรโฟกัสปัญหาที่สำคัญที่สุดก่อน และ เกิดข้อปฏิบัติจริงจัง ไม่ใช่ตามระเบียบและกฎหมายไปเสียหมด สถานการณ์ฉุกเฉินควรแก้ได้ทำได้ ที่คุยมาคืออะไรก็ไม่ได้ ต้องผ่านกฎหมาย ผ่านการแก้ระเบียบก่อนแล้วจะเเรียกฉุกเฉินทำไม

สิ่งที่บรรลุตามข้อเสนอ 4 ข้อคือ  1.เงินเยียวยาโควิด-19 1,000 บาท 2. เงินกู้ 10,000 บาท 3. การพักชำระหนี้ 4. เพิ่มเบี้ยยังชีพคนพิการจาก 800 บาทเป็น 1,000 บาท 

และแม้แต่นโยบายพักชำระหนี้เองก็มีปัญหาจนถึงทุกวันนี้ ทั้งที่ไม่น่ามีปัญหาอะไร และเราเสนอบอร์ดชาติว่าให้ทำโดยอัตโนมัติ แต่ราชการกลับต้องการเอกสารมากมาย ต้องมีพยาน ช่วงนี้ใครอยากมาเซ็นต์ ถ้าต้องการเพียงแค่คนพิการเซ็นต์ก็โอเค  เหมือนที่ธนาคารออมสินทำได้ ใช้เวลาเพียง5 วัน ขณะที่เรื่องคนพิการผ่านบอร์ดชาติแล้ว 4 ข้อ แต่เงินยังไม่ถึงคนพิการ

นโยบายที่ขอไป100 แต่ได้ไม่ถึง50

นโยบายเพิ่มเบี้ยยังชีพคนพิการสำหรับกลุ่มอายุต่ำกว่า 18 ปี เกิดขึ้นจากเมื่อธันวาคมปีก่อนเราเสนอให้เพิ่มเบี้ยยังชีพคนพิการเพื่อเป็นของขวัญให้กับคนพิการทั้งประเทศ จาก 800 บาทเป็น 1,000 บาท เหมือนค่าแรงขั้นต่ำที่ควรเพิ่มทุกปีเป็นเรื่องธรรมดา ในวาระบอร์ดชาติเขาก็เห็นด้วย แต่พอผ่านในวาระ ครม. กลับตัดให้เหลือแค่คนที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 

คนที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐคือคนอายุ 18 ปีขึ้นไป และต้องมีที่ไม่เกิน 1 ไร่ ในไทยคนพิการอยู่ในระบบบัตรสวัสดิการแห่งรัฐประมาณ 1 ล้านคน ถึงแม้เป็นข้อบ่งชี้ว่าคนพิการเป็นคนจนเยอะ แต่ก็อย่าลืมว่า มีคนพิการที่ไม่ได้จด เพราะไม่เข้าใจกระบวนการและเข้าไม่ถึงกระบวนการทำบัตร

จนเมื่อวันที่ 28 เมษายนที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติเพิ่มจาก 800 บาทเป็น 1,000 บาทเฉพาะกลุคนพิการที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ทั้งที่ตอนแรกเราเสนอให้เป็นถ้วนหน้า ผมคิดว่า ที่เขาเอาจำนวนอายุต่ำกว่า 18 ปีเพราะว่ามีไม่เยอะ ประมาณ 120,000 คน จึงใช้เงินไม่เท่าไหร่ ถ้าเทียบกับให้ถ้วนหน้า ผมจึงเสนอไปว่า ให้มีการทำบัตรสวัสดิการแห่งรัฐอีกรอบสำหรับคนพิการตกหล่น  

ด้านนโยบายพักชำระหนี้ก็ยังได้คำตอบไม่ชัดเจน แถมเรื่องเงินกู้ 10,000 บาท ก็มีปัญหา ทั้งที่ในช่วงสถานการณ์ความเดือดร้อน คนต้องการการช่วยเหลือที่รวดเร็วที่สุด จนวันนี้ก็ยังไม่เกิดทั้งที่อนุมัติตั้งแต่ 30 มีนาคม เงินก็มีอยู่แล้ว รายชื่อคนพิการมีอยู่แล้ว เลขที่บัญชีก็มีอยู่แล้ว ทำไมเงินพันเดียวยังไม่สามารถโอนได้ ทำไมต้องพึ่งพากรมบัญชีกลาง หากบอกว่าข้อมูลอยู่ที่ฐานกรมบัญชีกลาง คำถามคือคุณทำงานด้านคนพิการมาแล้วกี่ปี แต่กลับไม่มีฐานข้อมูลเป็นของตัวเอง ทำไมต้องตรวจสอบอีก กว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้แล้ว

ข้อเสนอจากสมาคมคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย 

สมาคมคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทยคิดนโยบายเยียวยาคนพิการ 5,000 บาท 3 เดือน ทั้งหมดประมาณ 29,000 ล้านบาท เงินเหล่านี้ไม่ได้หายไปไหน แต่หมุนเวียนบรรเทาความเดือดร้อน อย่างไรก็ดี 5,000 ไม่น่าจะเป็นจริง ข่าวแว่วมาว่าได้เป็นคนละ 1,000 บาท 3 เดือนแทน 

นอกจากนี้ก็มีเรื่องค่าน้ำ ค่าไฟฟรีสำหรับคนพิการ ที่ใช้ไฟไม่เกิน 3,000 ยูนิต แค่มีบัตรคนพิการและมีบ้านเลขที่ชัดเจน ก็เอาหลักฐานไปยื่นและควรจะเป็นการให้แบบถ้วนหน้า อย่างน้อยจะช่วยแบ่งเบาภาระได้ อาจเริ่มต้นสัก 6 เดือน 

ระบบทำให้เกิดความล้าช้า

สิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่ายังอ่อนคือ ฐานข้อมูลด้านคนพิการ จากที่คุยนักคุยหนาว่า มีฐานข้อมูลแน่น แต่เมื่อขอดูก็เห็นเลยว่าแทบไม่ได้ทำอะไรเลย แม้จะทำมาหลายปี แต่ของจริงมีเพียง 60 เปอร์เซ็นต์ที่มีข้อมูล แค่เรื่องจ้างงาน อายุ ที่อยู่บ้าน ข้อมูลแค่นี้ผมว่าไม่ยาก พอถึงช่วงเวลาวิกฤตจึงไม่สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปล่อยให้คนพิการรออยู่ด้วยความหวังต่อไป

อีกปัญหาหนึ่งคือ ที่มาของอำนาจ ข้าราชการทำงานภายใต้คำสั่งของผู้บังคับบัญชาอย่างเดียว ต้องเอาใจเจ้านาย เอาใจผู้หลักผู้ใหญ่มากกว่าคนพิการคงดีถ้าการทำงานมีประชาธิปไตยมากกว่านี้ ทั้งการจัดสรรตำแหน่ง หรือประเมินผลข้าราชการ การมีคนพิการหรือพ่อแม่ผู้ปกครองคนพิการทำงานอยู่ในระบบ จึงช่วยทำให้สังคมเห็นคนพิการมากขึ้น มากขึ้น เหมือนที่อาจารย์มณเฑียร บุญตัน ทำให้ระบบขับเคลื่อนได้โดยเฉพาะในเรื่องกฎหมายที่เกี่ยวกับคนพิการ

ภาครัฐหรือคนพิการต้องปรับตัว?

ในช่วงชีวิตปกติผมคิดว่า คนพิการเป็นกลุ่มคนที่ต่อสู้อยู่แล้ว พวกเขาต้องต่อสู้กับประเด็นต่างๆ ในสังคมที่เกิดขึ้นกับตัวเอง อย่าลืมว่าพวกเขาเป็นกลุ่มคน ซึ่งมีแต้มต่อไม่เท่ากับคนอื่นในสังคม แม้คนตาบอดที่ทำอาชีพนวด จะพยายามฝึกทักษะใหม่ ก็ยากที่จะทันคนอื่น เพราะการพัฒนาแต่ละอาชีพก็ไม่ใช่เรื่องง่าย บางคนทำมาตลอดชีวิต เฉพาะการฝึกเพื่อต่อสู้อุปสรรค ข้ามขีดจำกัดของร่างกายตัวเองก็ยากอยู่แล้ว อยู่ๆ จะเปลี่ยนให้เขาทำอย่างอื่นเลย เป็นไปไม่ได้

ช่วงวิกฤตเช่นนี้ ควรดึงเงินกองทุนของคนพิการมาใช้ เพื่อช่วยเหลือและดูแลคนพิการให้ได้มากที่สุด หมดโควิด-19 แล้วค่อยกลับมาหาใหม่ได้ ช่วยคนของเราก่อน อย่าให้ตัวเลขสำคัญกว่าชีวิตคน

ผมคิดว่า ตอนนี้เป็นโอกาสอันดีที่ภาครัฐจะปรับตัวให้รูปแบบการทำงานให้สมัยใหม่มากขึ้น วิกฤตที่ผ่านมาคือข้อบ่งชี้ว่า เรามีระบบที่ไม่เสถียร ไม่สามารถช่วยเหลือคนพิการได้ทันการ เราจึงจะใช้แนวคิดแบบเดิมไม่ได้แล้ว ผมไม่ได้คาดหวังว่า ไอเดียทั้งหมดสามารถทำได้เลยทันที แต่อย่างน้อยต้องเข้าใจหลักการ แนวคิดและความต้องการของคนพิการ 

การกระจายอำนาจเป็นสิ่งที่ควรเกิดขึ้น ในต่างประเทศภาครัฐมีหน้าที่แค่ กำกับและตรวจสอบคุณภาพ แต่งานหลักมอบให้องค์กรเอกชนทำ เพราะไม่มีทางที่รัฐจะสามารถทำงานเองได้ทั้งหมด มีองค์กรคนพิการที่ถนัดและเชี่ยวชาญด้านนี้มากกว่า ก็ให้พวกเขาทำ รัฐมีหน้าที่ส่งเสริมและตรวจสอบก็พอแล้ว 

นอกจากนี้กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการควรประเมินผลให้ดีกว่านี้ ที่ผ่านมาผมคิดว่าเขาประเมินต่ำไปว่าปัญหาอะไรจะตามมา ปัญหาหลักของคนพิการคือเรื่องรายได้และค่าใช้จ่ายเพราะฉะนั้นคำถามที่เกิดขึ้นก็คือ เราจะทำยังไงให้เขามีรายได้ การทำงานอะไรที่ห่วยหรือตามไม่ทันต้องมีการปรับ 

ได้เห็นอะไรบ้างในช่วงโควิด 

ความเป็นผู้นำเห็นได้ชัดเจนว่าสำคัญ การตัดสินใจที่รอบคอบและรวดเร็ว เป็นสิ่งที่ควรกระทำ เป็นบทเรียนสำคัญที่จะทำให้เราฝ่าวิกฤติครั้งนี้ไปได้ นอกจากนี้ ควรคิดระยะยาว โดยเฉพาะเรื่องการปรับตัว เพื่อให้คนพิการสามารถอยู่รอดให้ได้

หากมองแบบปัจเจก ผมคิดว่าพึ่งตัวเองก่อนอาจจะดีที่สุด เพราะจากวิกฤตนี้เราจะเห็นได้ว่า เราพึ่งพาภาครัฐแทบไม่ได้เลย การพัฒนาตัวเองจึงเป็นสิ่งจำเป็น อย่างน้อยก็เป็นหลักประกันต่อสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต  คนพิการเองมีตลาด “คนพิการไม่ทิ้งกัน” ขายออนไลน์ไม่จำเป็นต้องเปิดหน้าร้าน ไม่ต้องเช่าที่ใคร คุณขายจากที่บ้านได้

ที่สุดแล้วการเยียวยาด้วยเงินก็เป็นการช่วยเหลืออีกรูปแบบหนึ่ง แต่สิ่งที่ควรจะส่งเสริมมากกว่าคือเรื่องความรู้ เพราะความรู้จะติดตัวไปตลอดชีวิต