Skip to main content

โควิด-19 กลับมาระบาดระลอกใหม่ มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าระลอกแรก สถานศึกษาหลายที่ถูกสั่งปิดการเรียนการสอนชั่วคราวเป็นเวลาหลายเดือน หากพูดกันโดยพื้นฐานสำหรับเด็กทั่วไปและทรัพยากรเพียงพอ สิ่งเหล่านี้สามารถชดเชยได้ด้วยการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งที่ผ่านมาสถานศึกษาหลายแห่งก็ได้ตระเตรียมระบบไว้รองรับแล้ว

อย่างไรก็ตาม สำหรับคนพิการที่การเข้าถึงสื่อการเรียนการสอนมีข้อจำกัด ความต้องการหลายอย่างถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางการเรียนมากกว่าคนทั่วไป อีกทั้งความพิการแต่ละประเภทก็มีความแตกต่างออกไปอีก สิ่งเหล่านี้กลายเป็นความท้าทายและภาพสะท้อนประสิทธิภาพการจัดการศึกษาอย่างเท่าเทียมของรัฐที่ทำให้คนพิการอีกไม่น้อยถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

ความขาดแคลนที่ว่าไม่ใช่เพียงตัวอุปกรณ์ดังที่เป็นข่าวว่าผู้ปกครองบางคนต้องเอาข้าวของไปจำนำเพื่อมาซื้อโทรศัพท์มือถือให้ลูกใช้เรียนออนไลน์ แต่ยังรวมถึงซอฟต์แวร์ ทักษะการสอนของบุคลากร อินเทอร์เน็ต ไปจนถึงหลักสูตรที่สอดคล้องกับคนพิการแต่ละประเภทด้วย

โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพก่อนโควิด-19

เด็กพิการทางสายตาเป็นกลุ่มตัวอย่างที่ชัดเจนกลุ่มหนึ่ง พิสิฐ พฤกษ์สถาพร หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี โรงเรียนคนตาบอดกรุงเทพมหานคร มูลนิธิคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ เล่าว่า

“ก่อนโควิดไม่ได้มีการสอนออนไลน์อย่างเป็นทางการ แต่เป็นลักษณะคุณครูนัดติวผ่านเมสเซนเจอร์ ผ่านกรุ๊ปไลน์ คล้ายๆ นัดสอนพิเศษหรือนัดเป็นกลุ่มย่อย ซึ่งสำหรับโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ คุณครูจะใช้ 2 โปรแกรมนี้เป็นส่วนใหญ่ แต่ก็มีระบบ Google classroom สำหรับเรียนออนไลน์ ซึ่งถ้าเป็นเด็กตาบอดที่เรียนในโรงเรียนเรียนรวมหรือในสถาบันอุดมศึกษาเขาก็สามารถใช้ได้ในแง่ของการเรียนทางไกลร่วมกับคนตาดี

“แต่ว่าอาจจะมีบางอย่างที่เข้าไม่ถึง เช่น ภาพที่ไม่มีคำอธิบายหรือเว็บไซต์บางเว็บที่ไม่ซัพพอร์ท ไฟล์พีดีเอฟ เวลาที่อัพโหลดขึ้นไปบนออนไลน์ก็เข้าไม่ถึงเพราะโปรแกรมเสียงไม่อ่านหรือไฟล์เวิร์ดที่ก๊อปรูปลงมา รวมทั้งเอกสารที่เป็นภาพ ซึ่งในโปรแกรมเวิร์ดอ่านไม่ได้ อันนี้เป็นข้อจำกัดของนักเรียนตาบอดที่เรียนทางไกลในระบบทั่วไป”

ช่องทางการเรียนรู้ของคนพิการทางสายตามีอยู่ 3 ช่องทางคืออักษรเบรลล์ สื่อภาพนูน และสื่อเสียง ซึ่งอย่างหลังมีส่วนสำคัญมากในการเรียนเนื่องจากไม่สามารถรับรู้เป็นภาพได้ โปรแกรมที่แปลงตัวอักษรเป็นเสียงจึงมีความจำเป็น

ใช่, นี่คือปัญหาหลัก ทว่า ปัญหาที่ใหญ่กว่าและไม่ใช่เฉพาะคนพิการคือปัญหาช่องว่างทางดิจิตัล

ช่องว่างทางดิจิตัล-ช่องว่างทางการศึกษา

บทความเรื่อง ‘วิกฤตโควิด-19 รัฐต้องเร่งลดช่องว่างดิจิทัล เพื่อความเท่าเทียมในห้องเรียนออนไลน์’ ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาหรือทีดีอาร์ไอ โดยเสาวรัจ รัตนคำฟู อ้างอิงข้อมูลของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) พบว่า ครัวเรือนในประเทศไทยเข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ตจากที่บ้านคือการไม่มีคอมพิวเตอร์ใช้ที่บ้าน ซึ่งหากเทียบกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก ประเทศไทยมีสัดส่วนครัวเรือนที่มีคอมพิวเตอร์เพียงร้อยละ 21 ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของทั่วโลกที่ร้อยละ 49 และค่าเฉลี่ยของประเทศกำลังพัฒนาที่ร้อยละ 38 ขณะที่ประเทศไทยมีสัดส่วนครัวเรือนที่มีอินเทอร์เน็ตที่บ้านร้อยละ 68 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั่วโลกที่ร้อยละ 55 และค่าเฉลี่ยของประเทศกำลังพัฒนาที่ร้อยละ 44 ในปี 2561

อีกทั้งการเข้าถึงคอมพิวเตอร์ของครัวเรือนยิ่งยากมากขึ้นหากเป็นครัวเรือนที่มีฐานะยากจน ข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ปี 2560 ครัวเรือนที่มีรายได้เฉลี่ยต่อปีน้อยกว่า 2 แสนบาท มีคอมพิวเตอร์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเพียงร้อยละ 3 ของครัวเรือนทั้งหมด ขณะที่ครัวเรือนที่มีรายได้เฉลี่ยต่อปี 2 แสนบาทขึ้นไปมีคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตร้อยละ 19 ของครัวเรือนทั้งหมด และเมื่อจำแนกตามภูมิภาคพบว่า กรุงเทพมหานครมีสัดส่วนครัวเรือนที่มีคอมพิวเตอร์สูงถึงร้อยละ 42 ของครัวเรือนทั้งหมด ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงกว่าในภาคอื่นๆ กว่าเท่าตัว กล่าวคือ ครัวเรือนที่มีคอมพิวเตอร์มีสัดส่วนร้อยละ 21 ในภาคกลาง ร้อยละ 19 ในภาคเหนือ ร้อยละ 17 ในภาคใต้ และร้อยละ 14 ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

เสาวรัชเห็นว่า ช่องว่างทางดิจิตัลจะยิ่งทำให้ช่องว่างทางการศึกษาผ่านการเรียนออนไลน์เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ปี 2560 นักศึกษาที่กำลังศึกษาในระดับอนุปริญญาและปริญญาในสถาบันอุดมศึกษาของไทยมีจำนวนทั้งหมดเกือบ 1.9 ล้านคน คาดการณ์ว่าสัดส่วนของนักศึกษาอย่างน้อยร้อยละ 25 มาจากครัวเรือนที่มีรายได้เฉลี่ยต่อปีน้อยกว่า 2 แสนบาท

เด็ก 10 เปอร์เซ็นต์ที่ไม่ได้เรียน

พิสิฐ เล่าว่า ช่วงที่โรงเรียนปิด สำหรับโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพที่มีนโยบายให้นักเรียนมีกิจกรรมระหว่างปิดเทอม ทางโรงเรียนจะจัดการเรียนการสอนแบบทางไกลทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ เนื่องจากเด็กบางคนอาจเข้าไม่ถึงในส่วนที่เป็นการสอนสดทางไกล เพราะไม่มีอุปกรณ์อย่างโทรศัพท์มือถือของตนเองหรือคอมพิวเตอร์ ส่วนนี้ครูจะอัดคลิปวีดีโอแล้วส่งผ่านเข้าไลน์กลุ่มให้ผู้ปกครองเปิดให้นักเรียนดูและตอบคำถาม โดยให้ผู้ปกครองถ่ายคลิปส่งกลับมาให้ หรืออีกแบบหนึ่งคือครูส่งสื่อการสอนที่เป็นอักษรเบรลล์ไปให้ที่บ้าน แล้วให้นักเรียนตอบกลับมา โทรกลับมาหาคุณครูหรือคุณครูโทรกลับไปเช็คว่าตอบคำถามได้หรือยัง

จากการเก็บข้อมูลของโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ พบว่า มีนักเรียนเข้าเรียนร้อยละ 90 แต่ก็มีปัญหาว่าไม่สามารถตรวจสอบได้ว่านักเรียนทำการบ้านเองหรือเปล่าหรือผู้ปกครองทำให้ หมายความว่ามีเด็กอีกประมาณร้อยละ 10 ที่ไม่ได้เข้าเรียนเพราะไม่มีอุปกรณ์หรือเข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ต

“ด้วยความที่นักเรียนโรงเรียนเราไม่ได้เข้าถึงสื่อกันทุกคน เพราะฉะนั้นจะไม่เหมือนโรงเรียนทั่วไปอย่างเซนต์คาเบรียลหรือเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์ที่นับรวมเวลาเรียนในออนไลน์ด้วย ช่วงเรียนทางไกลเราจึงเป็นการสอนเสริมระหว่างอยู่บ้าน แล้วพอเปิดเทอมก็กลับมาสอนอีกรอบหนึ่ง เราจึงไม่ได้นับช่วงเวลาการเรียนทางไกลเป็นหน่วยหนึ่ง เป็นเพียงแค่การสอนเสริมระหว่างอยู่บ้านเพราะเด็กแต่ละคนเข้าถึงได้ไม่เท่ากัน”

ปีแห่งการเรียนรู้ที่สูญหายของบัวบุญ

นิธินาถ ตรีรัตน์ทวีชัย ประกอบอาชีพข้าราชการ เป็นแม่ของน้องบัวบุญซึ่งเป็นดาวน์ซินโดรม เธอเล่าว่า พอบัวบุญเห็นพี่ชายในชุดรับปริญญาก็บอกกับเธอว่า อยากเรียนมหาวิทยาลัยบ้าง ปลายปี 2562 บัวบุญเข้าเรียนคณะนิเทศศาสตร์ สาขาศิลปะการแสดงที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ร่วมกับเพื่อนที่เป็นดาวน์ซินโดรมอีก 2 คน แต่พอเข้าเดือนมกราคม 2563 ที่โควิด-19 เริ่มระบาด ทางมหาวิทยาลัยจึงต้องปิดทำการสอนเนื่องจากเด็กกลุ่มนี้มีความเสี่ยงมากกว่าเด็กทั่วไปและต้องการปรับปรุงหลักสูตรใหม่ จนถึงตอนนี้บัวบุญก็ยังไม่ได้กลับไปเรียน


แม่ของบัวบุญ

ปี 2563 จึงเป็นปีที่สูญหายของชีวิตการเรียนของบัวบุญ

“น้องบัวไม่ได้เรียนออนไลน์ เพราะแม้แต่สำหรับนักเรียนทั่วไปการเรียนออนไลน์ก็ยังเป็นอุปสรรคอยู่ ทั้งในแง่ความเข้าใจต่อบทเรียนและความพร้อมด้านทุนทรัพย์ที่เป็นปัญหาใหญ่ ช่วงที่ไม่ได้ไปมหาวิทยาลัยน้องบัวบุญชอบฟังเพลง ถ้าแม่บอกให้อ่านหนังสือ เขาก็จะอ่าน จนถึงตอนนี้ก็หยุดเรียนไปเลยเกือบปี เราก็ไลน์ถามอาจารย์ว่าพร้อมให้น้องเรียนหรือยัง เขาก็ตอบว่ากำลังปรับหลักสูตร รออีกนิดหนึ่ง เราก็เข้าใจเพราะเป็นช่วงโควิด เด็กกลุ่มนี้อ่อนแอติดเชื้อง่าย

“เขาจะถามเราบ่อยๆ ว่า แม่ มหาวิทยาลัยเปิดหรือยัง เราก็ตอบว่ามันติดโควิด เดี๋ยวจะไม่สบาย อาจารย์เขาเป็นห่วง แล้วอาจารย์ก็กำลังปรับหลักสูตรให้ลูกรอนิดหนึ่ง เขาถามเป็นเนืองๆ”

ปัจจุบัน บัวบุญอายุ 23 ปี ถ้าการเรียนยังช้าออกไป เมื่อเธออายุครบ 25 ค่าใช้จ่ายส่วนหนึ่งที่นิธินาถสามารถเบิกได้จะหมดไป เธอจะต้องแบกรับค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด ซึ่งหลักสูตรการเรียนสำหรับคนพิการมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงและเธอกำลังกังวลเรื่องนี้

สิ่งที่นิธินาถทำได้คือมองหาสถาบันการศึกษาแห่งอื่นที่รองรับลูกสาวและทุนการศึกษาสำหรับเด็กพิการ

ในการแพร่ระบาดครั้งใหม่ยังมีหลายคนถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพและบัวบุญคือตัวอย่างความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา ที่ทำให้เห็นการขาดการรองรับสำหรับผู้เรียนทุกคนอย่างเท่าเทียม ซึ่งใน พ.ร.บ.การจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ พ.ศ.2551 ระบุไว้อยู่แล้ว ดังนั้นจึงเป็นปัญหาที่การปฏิบัติ

และแม้จะมีการศึกษาทางไกลผ่านดีแอลทีวีของมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม แต่ครูผู้สอนไม่สามารถรู้ได้ว่ามีคนพิการเรียนด้วยหรือไม่ ถ้าเป็นคนพิการทางสายตาก็ต้องเพิ่มทักษะการสอนด้านการบรรยายเข้าไป เพราะไม่สามารถเปิดแผ่นภาพหรือสไลด์ให้ดูเหมือนผู้เรียนทั่วไปได้

พิสิฐแสดงทัศนะว่า ปัญหาคือการสนับสนุนอุปกรณ์ อินเทอร์เน็ตและงบประมาณ รวมถึงการฝึกอบรมคนพิการ ผู้ปกครอง และครูให้พร้อมกับการเรียนการสอนออนไลน์

“รัฐต้องเข้ามาสนับสนุน แม้กระทรวงดิจิทัลฯ มีระบบให้ยืมอุปกรณ์มาใช้ได้ อุปกรณ์บางอย่างก็ล้าสมัยแล้ว บางอย่างยืมมาแล้วใช้ได้ไม่ดี ถามว่านโยบายดีไหม ดี แต่คนไม่รู้ ไม่มีการประชาสัมพันธ์ ทางกระทรวงยังมีกองทุนเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ด้วยระบบราชการและการทำเอกสารทำให้ไม่เอื้อให้คนพิการเข้าถึง”

พิสิฐคิดว่าอุปกรณ์ อินเทอร์เน็ต ซอฟต์แวร์ ควรเป็นสวัสดิการพื้นฐานสำหรับคนพิการในการเข้าถึงการศึกษา

คล้ายคลึงกัน นิธินาถเรียกร้องให้รัฐจริงจังกับการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ มีการทำหลักสูตรที่ชัดเจน สนับสนุนค่าใช้จ่าย เพราะไม่ใช่แค่บัวบุญเท่านั้น ยังมีคนพิการอีกมากที่มีศักยภาพในการเรียนรู้ แต่ไม่สามารถเข้าถึงได้

โควิด-19 ระลอกใหม่กลับมาแล้ว เด็ก 10 เปอร์เซ็นต์ของโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพฯ คงต้องหาทางเรียนด้วยตัวเองไปก่อนตามแต่ทรัพยากรที่มี และอาจเป็นปีแห่งการเรียนรู้ที่สูญหายของบัวบุญ

 

#มนุษย์กรุงเทพฯxThisablexกองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์