Skip to main content

มายด์ - ฐิติพร ประวัติศรีชัย ปัจจุบันอายุ 31 ปี เธอกลายเป็นคนพิการเมื่อ 9 ปีที่แล้วจากอุบัติเหตุหักหลบสุนัขจนรถชน อุบัติเหตุครั้งนั้นทำให้มายด์ติดเชื้อที่ขาและต้องตัดส่วนเหนือหัวเข่าออก และต้องนั่งวีลแชร์ในชีวิตประจำวัน ก่อนเกิดความพิการ เธอเคยเป็นผู้จัดการศิลปินและทำอีเว้นท์จัดหาวงดนตรีไปเล่นตามงานต่างๆ แต่ภายหลังก็ต้องเปลี่ยนสายงานเป็นจัดหาวงดนตรีแต่ไม่สามารถตามไปดูแลศิลปินได้ 

ความพิการทำให้ชีวิตเปลี่ยนไปอย่างไร

เปลี่ยนไปเยอะ มีทั้งข้อดีและข้อเสียปนกันไป เรื่องแรกคือเรื่องการเดินทาง  ตอนนี้งานประจำของเราได้มาจากมาตรา35 ของ พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เราโชคดีที่มีแฟนคอยพาไปตลอด แต่หากแฟนติดงานเราก็ไม่สามารถใช้รถสาธารณะได้เพราะละแวกที่อยู่ไม่มีรถไฟฟ้า ดังนั้นสิ่งที่ใช้ก็คือ “เงิน” ถ้าเป็นคนพิการแล้วจน ก็ยิ่งใช้ชีวิตลำบาก เพราะทุกอย่างอาศัยเงิน การเดินทางของเราจึงต้องอาศัยเรียกแท็กซี่ แต่แท็กซี่ก็ไม่ได้รับทุกคัน เพราะกลัวว่าวีลแชร์จะทำเบาะรถเป็นรอย และหลายครั้งกระโปรงหลังก็มักมีถังแก๊สอยู่เต็มพื้นแล้วเราเจอเหตุการณ์แบบนี้บ่อยมากจนเวลาเรียกรถในแอพลิเคชันต้องระบุว่าเป็นคนพิการใช้วีลแชร์ คนที่รับจึงเป็นคนที่โอเคกับการที่จะช่วยยกวีลแชร์ขึ้น-ลง

นอกจากนี้ เราก็เจอเพื่อนน้อยลง เพื่อนไม่กล้าชวนเราไปไหนเพราะกลัวว่าพิการแล้วไปไม่ได้หรืออาจเดินทางไม่สนุกเพราะต้องคอยช่วยเหลือ 

ในเรื่องการทำงาน เราก็ไม่ได้เงินเดือนตามปกติ ตอนที่เคยพาศิลปินไปเล่นคอนเสิร์ต 1 ที่ ไม่ว่าจะในกรุงเทพหรือต่างจังหวัดก็จะได้ค่าดูแลต่อวันอย่างต่ำคือ 10,000 บาท แต่ตอนนี้พอใช้สิทธิคนพิการตามมาตรา 35 ทำให้ได้เงินเพียง 9,425 บาทต่อเดือน นอกจากนี้เรายังมีภาวะพึ่งพิงด้วย แม้เราจะรู้สึกว่าตัวเองแข็งแรงแค่ไหนแต่หากต้องไปที่ไหนสักแล้วเจอทางลาดชัน เราก็ต้องขอความช่วยเหลือจากคนที่อยู่ตรงนั้น ภาวะพึ่งพิงเป็นสิ่งที่คนพิการแต่ละคนต้องการแตกต่างกันแต่เราต้องยอมรับให้ได้เมื่อเกิดภาวะนี้ขึ้น 

ค่าใช้จ่ายสำหรับอุปกรณ์ความพิการต่างๆ คือเท่าไหร่

เราเองไม่เคยเสียตังค์กับวีลแชร์เลยสักคันเพราะได้มาจากคนรู้จัก แต่ก็ต้องเสียค่าเปลี่ยนยางครั้งหนึ่งประมาณเกือบ 3,000 บาท รวมค่าแรงและค่าช่าง ถ้าเปลี่ยนเองได้ก็ดีแต่ก็มีขั้นตอนเยอะแยะ

ช่วงนี้เดินทางบ่อยไหม

เดินทางบ่อยตั้งแต่ก่อนจะมีโควิด-19 แล้ว กระทั่งตอนนี้ก็ยังเดินทางอยู่เพราะสามีเป็นนักดนตรี ถึงแม้จะยังไม่มีคอนเสิร์ตแต่ก็ยังมีร้านอาหารในโรงแรม พวกบาร์แจ๊สให้ได้เล่นอยู่ เราเลยต้องเดินทางไปพัทยาทุกวันเสาร์-อาทิตย์ ส่วนวันธรรมดาสามีก็จะรับงานสอนดนตรีตามบ้านนักเรียน เลยทำให้เหมือนออกนอกบ้านบ่อยไม่ต่างจากเดิม

สิ่งสำคัญที่คิดว่าต้องมีในการเดินทางคืออะไร

เงินเยอะๆ เดี๋ยวนี้ทุกอย่างแก้ปัญหาได้ด้วยเงิน ที่พูดแบบนี้ไม่ไช่จะบอกว่าเงินเป็นใหญ่ แต่นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นจริง เวลาที่เราเรียกแกร็ปแล้วมีให้เลือกเช่น JustGrab, Grab Taxi ที่ราคาที่ถูกที่สุด แต่เขาไม่รับเรา เราเลยข้ามไปเลือกแบบพรีเมียมเพราะมีการคัดเกรดคนรับงาน บางทีที่อยากเดินทางไปกับเพื่อนที่นั่งวีลแชร์เหมือนกัน เราก็ต้องเรียกแท็กซี่ 6 ที่นั่งเพื่อเอาวีลแชร์ขึ้นรถ การเดินทางจึงเป็นอะไรที่เราต้องจ่ายเงินเยอะกว่าคนอื่น เราจึงต้องมีเงินและเงินที่ได้มาจากการทำงานตามมาตรา 35 ก็อาจไม่พอ

เงินเป็นปัจจัยในการออกจากบ้านหรือเปล่า

แน่นอน เพราะถึงแม้จะบอกว่าใช้ขนส่งสาธารณะฟรีได้ แต่ลองนึกดูคนตาบอดจะรู้ได้อย่างไรว่ารถเมล์สายไหนผ่านไปบ้างแล้ว แล้วเขาจะสามารถขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้างได้ตลอดหรือเปล่า แน่นอนว่าไม่ได้มีคนพร้อมสนับสนุนทุกที่ หลายอย่างมีไว้บอกว่ามี แต่ใช้งานได้จริงน้อยมาก เงินคนพิการที่ได้มาเท่านี้จะสามารถช่วยให้ใช้ชีวิตแบบพึ่งพาตนเองได้อย่างไร และถึงมีเงินก็ออกไปใช้เงินไม่ได้ ครั้งหนึ่งเราเคยไปกินบุฟเฟต์สายพานกับเพื่อนตาบอด เราต้องคอยคีบอาหารบนสายพานให้ เพื่อนก็มีหน้าที่คอยกินอาหารในชามที่เราคีบให้ ทุกอย่างมันยังครึ่งๆ กลางๆ ไม่เอื้อำนวยไปเสียทีเดียว

รัฐบาลสนับสนุนคนพิการในเรื่องอะไรบ้าง

จริงๆ แล้วทุนคนพิการมีเยอะมากแต่ไม่ได้ถูกเอามาบอก เป็นทุนที่ต้องเข้าไปดูถึงจะรู้ว่ามี เช่น เราเรียนอยู่ที่มหิดลก็จะมีกลุ่มในไลน์รวมเจ้าหน้าที่อยู่ในนั้นด้วย มีข้อมูลเอกสารทุนเยอะมากแต่ข้อมูลก็อยู่แค่ในกลุ่มนี้ หรือแม้มีการสนับสนุนคนพิการเรียนฟรีจนจบปริญญาตรี แต่คนพิการหลายคนที่ไม่ได้เรียนก็มีปัจจัยหลายอย่างและเบี้ยคนพิการ 800 บาทต่อเดือนก็ไม่ได้ช่วยอะไร แค่ค่าโทรศัพท์รายเดือนก็ประมาณ 600 บาทแล้ว งานของคนพิการในมาตรา 35 ที่ให้เงิน 9,000 กว่าบาทความจริงก็ไม่ได้เยอะ ขั้นต่ำควรต้อง 15,000 บาท ดังนั้น การสนับสนุนเช่นนี้จึงเป็นไปได้ยากที่จะทำให้คนพิการมีชีวิตที่พึ่งพาตัวเองได้

จะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างไร

สิ่งเหล่านี้แก้ไขไม่ได้ด้วยกลุ่มคนเล็กๆ มีคนพิการจำนวนมากที่ออกมาพิทักษ์สิทธิของตัวเอง เช่น คุณซาบะที่ต่อยกระจกลิฟต์บีทีเอส เขาก็ทำสุดความสามารถแล้ว แต่เสียงคนพิการก็ยังดังพอเพราะเราถูกวางไว้ไกลมาก ดังสุดเสียงก็ไม่ถึงหูผู้ที่มีอำนาจในการอนุมัติหรือสร้างความเปลี่ยนแปลงในระดับมหภาค คนพิการยังถูกวางไว้แถวหลัง ทั้งที่เรามีนักดนตรีคนพิการที่เก่งมากๆ นักร้องตาบอดที่ร้องเพลงเพราะ แต่ความสามารถก็ยังอยู่ได้แค่ในบ้านหรือกลุ่มคนที่รู้จักเท่านั้น สิ่งเหล่านี้ทำให้ถึงแม้คนพิการประเทศเราจะเรียนจบด็อกเตอร์มาจากอเมริกาแต่คนทั่วไปก็ยังคงปฏิบัติกับเหมือนเรียนจบชั้น ป.3 อยู่ดี

 
กาญจณี สุคะมะโน
นักศึกษาฝึกงาน