Skip to main content

23 พฤษภาคม 2565 มูลนิธิการดำรงชีวิตอิสระคนพิการร่วมกับกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการได้จัดเสวนาช่วงเช้าในหัวข้อ “10 ปี ระบบสวัสดิการผู้ช่วยคนพิการกับก้าวต่อไปในการทำสิทธิที่เป็นจริงในสังคมไทย” โดยมีผู้เข้ารวมทั้งจากองค์กรคนพิการ ผู้ช่วยคนพิการและหน่วยงานภาครัฐ

ภพต์ เทภาสิต รองประธานมูลนิธิการดำรงชีวิตอิสระคนพิการกล่าวเปิดเสวนาว่า เสวนาในครั้งนี้สืบเนื่องจากที่รัฐบาลได้มีนโยบายให้คนพิการเข้าถึงสิทธิและบริการของรัฐตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์และการคุ้มครองคนพิการเพื่อไม่ให้เกิดการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมด้วยเหตุแห่งความพิการ และมีบริการต่างๆ เช่น เบี้ยความพิการ การปรับสภาพแวดล้อม กายอุปกรณ์และผู้ช่วยคนพิการหรือพีเอ ซึ่งเป็นกลไกเพื่อส่งเสริมให้คนพิการมีคุณภาพชีวิตที่ดี ได้รับการยอมรับ และมีส่วนร่วมทางสังคม เศรษฐกิจ การเมืองอย่างเต็มที่ ผ่านความช่วยเหลือ สนับสนุนผู้ช่วย กู้ยืมเงิน ส่งเสริมการประกอบอาชีพและการให้คำแนะนำปรึกษา 

ผู้ช่วยคนพิการเป็นกลไกที่สนับสนุนคนพิการที่ลำบากในการดูแลตัวเอง เช่น การขับถ่าย การดูแลตัวเอง มีความยากลำบากในการกิน ปัจจุบันมีผู้ช่วยพันกว่าคน เทียบเป็นอัตราส่วนผู้ช่วยต่อคนพิการรุนแรง 1:219 คน ซึ่งไม่เพียงพอ นอกจากจำนวนแล้ว การยื่นคำร้องเป็นผู้ช่วยคนพิการก็ได้ค่าตอบแทนน้อย คนพิการเองก็ไม่รู้ว่ามีบริการ ไม่ทราบว่าจะขอรับบริการได้ที่ไหน หรือไม่ได้รับบริการเนื่องจากมีผู้ช่วยไม่เพียงพอ เพื่อแก้ปัญหานี้จึงจัดเสวนาโดยมีกลุ่มเป้าหมายคือ คนพิการ ผู้ช่วยคนพิการและองค์กรที่ทำงานด้านคนพิการ เพื่อรับฟังปัญหา รับทราบสถานการณ์การเข้าไม่ถึงของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รับฟังและระดมความคิดเห็นในการจัดบริการผู้ช่วยคนพิการ

 

สราญภัทร อนุมัติราชกิจ อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) ระบุต่อว่า กรมได้ดำเนินงานตามนโยบาย​นำโดยพลเอกประยุทธ์ จัทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ภายใต้ยุทธศาสตร์ 20 ปี มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ที่ระบุว่า การจัดผู้ช่วยคนพิการเป็นบริการตามกฏหมายเพื่อส่งเสริมให้คนพิการมีส่วนรวมทางสังคม ทั้งนี้ปัจจุบันมีผู้ช่วย 1,261 คน จัดบริการมากกว่า 6,000 คน ทำให้คนพิการมีสวนร่วมทางสังคมและตัดสินใจเลือกการมีชีวิตอิสระได้ระดับหนึ่ง ลดการพึ่งพิง ไม่เป็นภาระต่อครอบครัว ลดอุปสรรคในการดำเนินชีวิตประจำวัน หากไม่มีผู้ช่วยคนพิการก็อาจต้องกลับสู่ภาวะพึ่งพิง โดยขยายการพัฒนาตามหลักสูตรผู้ช่วยคนพิการระดับพื้นฐานเพื่อรับการจดแจ้ง และเป็นกลไกระดับพื้นที่ในการช่วยเหลือคนพิการและพัฒนาศักยภาพคนพิการให้มีส่วนร่วมทางสังคม โดยยึดหลักถูกต้อง ตรงใจ เข้าถึงง่าย เพื่อให้คนพิการสามารถดำรงชีวิตอิสระและหวังว่าเสวนานี้จะได้ข้อมูลที่ดี ที่เป็นประโยขน์ในการพัฒนาสวัสดิการต่อไป  

 

ในวงเสวนา สุภรธรรม มงคสวัสดิ์ได้เริ่มต้นแนะนำว่า วันนี้มีผู้เข้าร่วมจากหลายภาคส่วน ทั้งผู้คุมกฏกติกา หน่วยหรือกลไกในการให้บริการ คนพิการผู้ใช้บริการ และพีเอผู้ให้บริการ

 

ผู้แทนจากกองส่งเสริมสิทธิและสวัสดิการคนพิการ พก.ระบุว่า ตั้งแต่มีพระราชบัญญัติส่งเสริมฯ ปี 50 ก็มีการออกระเบียบที่เป็นกลไกในการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ มีการสนับสนุนงบประมาณ การจดทะเบียนต่างๆ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีการเพิ่มจำนวนพีเอค่อนข้างน้อย เนื่องจากมีหลายส่วนที่คาบเกี่ยว ตั้งแต่การฝึกอบรมและการหาคนที่มีความสนใจ ตอนนี้ใช้ระบบอาสาสมัคร อสม.ดึงเข้าจดแจ้งเป็นพีเอ โดยจากการอบรมจะมีผู้สอบผ่านประมาณ 70 - 80 เปอเซนต์ และมีคนมาจดแจ้งเป็นผู้ช่วยจริงน้อยกว่านี้ กองก็พยายามประชาสัมพันธ์เชิญชวน แต่ก็มีข้อจำกัด เช่น  อัตราค่าตอบแทนที่น้อย การผ่านการอบรมตามหลักสูตรโดยคณะอนุกรรมกองส่งเสริมสวัสดิการ 

 

เมื่อจำนวนพีเอมีน้อย การบริการก็ไม่แพร่หลาย เมื่อคนพิการยื่นคำขอก็ต้องประเมินคนพิการว่ามีความจำเป็นต้องใช้พีเอช่วงเวลาใด บางพื้นที่พีเอก็อยู่ไกลก็ต้องปฏิเสธการให้บริการ นอกจากนี้อุปสรรคอีกอย่างคือการรายงานผลต่างๆ ยังเป็นเอกสาร อีกทั้งในการพัฒนาพีเอหนึ่งคนมีค่าใช้จ่ายมากต่อหัวถึงหลักแสน พอเปลี่ยนเป็นอบรมออนไลน์ก็มีข้อจำกัดของการใช้ระบบและไม่สามารถฝึกปฏิบัติได้ 

 

องอาจ แก่นทอง ประธานศูนย์การดำรงชีวิตอิสระของคนพิการจังหวัดชลบุรี ระบุว่า ศูนย์ชลบุรีเป็นหน่วยบริการกว่า 10 ปีแล้ว มีพีเอ 18 คน ผู้รับบริการ 31 คน ปัญหาอุปสรรคคือผู้ช่วยมีไม่เพียงพอต่อคนพิการในพื้นที่ จึงพยายามค้นหาคนที่สนใจที่อยากเป็นผู้ช่วยและส่งอบรม แต่ก็เจออุปสรรคเรื่องระยะเวลา ในปี 54 หน่วยจัดบริการได้รับค่าตอบแทนโดยตรง แต่ภายหลัง สตง.ระบุว่า เงินรัฐไม่สามารถโอนตรงได้ แต่ต้องผ่าน พมจ.ทำให้เกิดปัญหาล่าช้า ศูนย์ต้องเขียนโครงการของบประมาณ ซึ่งระยะเวลานั้นผู้ช่วยจะขาดรายได้ตั้งแต่เดือนตุลาคมจนถึงมกราคม

 

เขาเสริมว่า ปัจจุบันมีคนต้องการเข้ามาทำงานเป็นผู้ช่วยคนพิการ หลายคนรู้อยู่แล้วว่าต้องช่วยเหลืออะไรบ้าง บางคนหากพิการรุนแรงต้องป้อนข้าว อาบน้ำ จัดการอึฉี่ ศูนย์ก็เสริมเรื่องแนวคิดการดำรงชีวิตอิสระ แสดงให้เห็นว่า พีเอต่างจากงานที่เขาเคยทำอย่างไร เพื่อให้เขาช่วยเหลือตรงตามความต้องการของคนพิการ

 

อย่างไรก็ดี องอาจเสริมว่า หน่วยจัดภาคเอกชนต่างกับภาครัฐที่มีความเข้าใจเรื่องแนวคิดการดำรงชีวิตอิสระอยู่แล้วในการทำความเข้าใจกับพีเอ มีการติดตามการทำงาน มีการประเมินคนพิการเป็นระยะว่าได้รับการบริการตามแผนหรือไม่และเป็นตัวกลางในการพูดคุย เพื่อป้องกันปัญหาการไม่รู้บทบาทของผู้ช่วย เขาจึงอยากให้หน่วยจัดบริการสามารถจัดบริการได้โดยลดความยุ่งยากของงานเอกสาร แต่เน้นให้เกิดแนวคิดการดำรงชีวิตอิสระให้ได้

 

นายแพทย์สันติ สาภเบญจกุล ผู้อำนวนการโรงพยาบาลท่าวุ้ง เล่าว่า โรงพยาบาลท่าวุ้งทำงานในชุมชนมานานจึงต้องการทำงานเชิงรุกมากขึ้น โดยเฉพาะการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนเปราะบาง จึงรวบรวมเครือข่ายอาสาที่อยากทำเรื่องราวดีงามอย่างการดูแลชีวิตคนพิการในชุมชน ซึ่งทำให้เกิดคุณค่าและความหมายและแรงบันดาลใจ โดยประกอบไปด้วย 4 เรื่องคือ หนึ่ง ชวนโรงพยาบาลมาเป็นผู้เล่นหลักเพื่อยกระดับเป็นศูนย์บริการคนพิการทั่วไป สอง สนับสนุนให้คนพิการไม่รุนแรงแต่ขาดโอกาสเข้าทำงานในโรงพยาบาล คนพิการก็ภูมิใจที่ได้เป็นประชาสัมพันธ์ เป็นแม่ครัว เป็นคนสวน เป็นคนซักฟอก เนื่องจากที่โรงพยาบาลมีหลายแผนกทั้งธุรการ เวชศาสตร์ชุมชน และสำหรับคนพิการรุนแรงก็ต้องมีผู้ช่วย จึงร่วมมือกับ พก.สร้างพีเอ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเครือข่ายร.พ.มีพีเอ 150 คนและกำลังจะมีอีก 100 คน โรงพยาบาลเป็นคนกำกับดูแลว่าพีเอควรจะไปดูแลใครและช่วยพีเอทำแผน จากเดิมที่ดูแลแต่คนป่วย คนติดเตียงก็สามารถเพิ่มแนวคิดการดำรงชีวิตอิสระ นอกจากนี้โรงพยาบาลยังผลิตคลิปเรื่องราวดีๆ ของคนพิการที่ดูแล้วต้องน้ำตาไหล 

 

เขาได้เสริมว่า ข้อจำกัดเดียวของโรงพยาบาลคือ ถ้าเป็นเขตเมืองใหญ่ เช่น กรุงเทพฯ หรือพัทยาอาจจะใช้กลไกโรงพยาบาลลำบาก ต่างจากในต่างจังหวัดที่ 40 - 50 เปอเซ็นมีความพร้อมเป็นผู้เล่นหลักและพร้อมสนับสนุนให้เกิดการรวมกลุ่มของคนพิการ

 

ดร.พิมพา ขจรธรรม อดีตคณะบดีวิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า ตนยังไม่ค่อยเห็นความเปลี่ยนแปลง และอยากชวนย้อนกลับไปตอนที่ศึกษาโมเดลของทั่วโลกจะพบว่า มีสองรูปแบบคือ หนึ่งหน่วยจัดบริการเป็นผู้ดำเนินการทั้งหมด (Provider-led Model) ที่บ้านเราใช้ค่อนข้างเยอะ สอง หน่วยบริการโดยศนย์การดำรงชีวิตอิสระ (User-led Model) ซึ่งบ้านเรามีน้อย  ทั้งที่ต่างรู้ว่าพีเอสำคัญแต่ทำไมผู้จัดบริการถึงไม่ไปไหน ในต่างประเทศคนพิการสามารถหาพีเอเอง ฝึกเอง จัดตารางและมีหน่วยของภาคครัฐกำกับดูแล นอกจากนี้ยังมีระบบศูนย์เป็นคนจัดหา และมีลักษณธของการเป็น CO-OP ที่มีคนพิการรุนแรงเป็นสมาชิก 

 

ดร.พิมพาชี้ว่า หากดูจากข้อมูลสถิติจะพบว่ามีคนพิการรุนแรงกว่า 3 แสนรายที่ต้องการพีเอ ขณะที่พีเอมีพันกว่าคนตลอดสิบปีที่ผ่านมา จึงไม่แน่ใจว่าหลักสูตรที่ พก.จัดนั้นเกิดขึ้นปีละกี่ครั้ง แต่แน่นอนว่าไม่พอและมีปัญหาเรื่องระบบและกลไก ถ้าหน่วยงานรัฐเป็นคนจัดแล้วคนเข้ามาไม่รู้ว่าต้องทำอะไรบ้าง พอจบไปแล้วรู้ว่าต้องทำเยอะก็เลือกก็ไม่ทำ ต่างจากศูนย์การดำรงชีวิตอิสระเป็นคนหาคนที่รู้อยู่แล้วว่าต้องทำอะไร 

 

นอกจากนี้ ดร.พิมพายังสะท้อนว่า หลักสูตรอาจไม่จำเป็นต้องใช้วิชาการมาก และอาจสามารถทำคลิปอธิบายส่งกระจายยังศูนย์หรือศูนย์บริการให้เผยแพร่ แนวคิดเรื่องการดำรงชีวิตอิสระนั้นเป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้พีเอแตกต่างจากแคร์กีฟเวอร์ (Care Giver) ที่ช่วยคนพิการทำในสิ่งที่ทำไม่ได้เพราะความพิการ แต่ไม่ใช่การจัดการแทน มากไปกว่าหากดูเรื่องรายได้จะพบว่า ในปี 59 ค่าตอบแทนก็อยู่ที่ 50 บาทต่อชั่วโมง ปัจจุบันก็เท่าเดิม ทั้งที่ตอนนี้จ้าง 500 บาทต่อวันก็ยังหาคนมาทำงานบ้านยาก หากเราอยากได้พีเอคุณภาพแต่ให้เงินแค่นี้ก็คงเป็นเรื่องยาก 

 

จึงมีข้อเสนอแนะให้ หนึ่ง รวบรวมฐานข้อมูลคนพิการ การรายงานเรื่องสมรรถนะ เพื่อดูว่าความต้องการเรื่องผู้ช่วยนั้นมีที่ไหนบ้าง วางแผนในการพัฒนาระบบ 

สอง ให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม เพราะ พก.มีหลายหน้างาน ยากที่จะโฟกัสและกำกับติดตามคุณภาพพีเอ 

สาม สนับสนุนค่าบริหารจัดการให้เพียงพอ สมน้ำสมเนื้อ 

สี่ พีเอต้องเป็นอาชีพที่เลี้ยงตัวได้ ไม่ใช่งานอาสา 

ห้า ทำอย่างไรให้คนพิการมีสิทธิในการเลือกผู้ช่วยคนพิการได้ เราควรจะเลือกและประเมินได้ พีเอคืออาชีพหนึ่ง ไม่ใช่คนรับใช้ จะต้องปฏิบัติอย่างไรกับเขา และต้องมีการกำกับติดตาม เพื่อไม่ให้มีการละเมิดกันทั้งสองฝ่าย 

หก องค์กรส่วนท้องถิ่นต้องเข้ามามีบทบาทในเรื่องนี้ โดยเธอเองเชื่อในพลังประชาชน คนพิการ ต้องการจะได้รับบริการอย่างไร ต้องลุกขึ้นมาเป็นคนออกแบบวางแผน ถ้ารอคนอื่นทำให้ก็คงไม่สามารถสอดคล้องกับความต้องการได้ 

 

เสน่ห์ หมวกยอด ตัวแทนผู้ช่วยคนพิการระบุว่าตัวเองทำงานมา 13 ปี อยู่กับศูนย์ 10 ปี เริ่มจากตอนแรกตกงานและเป็นอาสา คนพิการก็คล้ายกับคนไข้แต่ยังมีชิวิตเหมือนคนปกติ ตนจึงเป็นมือเป็นไม้ให้กับคนพิการ ทำกิจวัตรให้คนพิการ อยากให้มีสวัสดิการคนพิการและสวัสดิการพีเอ และให้รัฐสนับสนุนค่าตอบแทน ถ้าทำได้จะมีคนเข้ามาทำงานมากขึ้น 

 

ศุภวัฒน์ เสมอภาค ตัวแทนคนพิการรุนแรงที่จำเป็นต้องมีผู้ช่วยคนพิการ ระบุว่าตนพิการตั้งแต่ปี 49 เพราะโดนลูกหลงของกระสุนที่ท้ายทอย ทำให้ตั้งแต่ไหล่ลงมาไม่สามารขยับได้ ถ้าไม่มีพีเอก็ไม่รู้ว่าชีวิตจะเป็นอย่างไร หรืออาจไม่มีชีวิตอยู่แล้วก็ได้ ตนเคยขอบริการพีเอของรัฐแต่ก็ไม่ได้ จนมาปี 62 ได้มีโอกาสไปเป็นคณะกรรมการติดตามประเมินการจัดบริการพีเอเลยทราบว่า กทม.เพิ่งมีพีเอเมื่อปี 61 และมีเพียง 15 คน เมื่อทำการขอที่นนทบุรีอีกครั้งก็ได้รับคำตอบปฏิเสธ เพราะมีผู้ช่วยอยู่แล้ว คำถามคือเขาต้องไล่ผู้ช่วยคนเดิมออกก่อนเพื่อขอรับบริการจากภาครัฐหรือไม้ ทั้งที่จริงๆ แล้วคนพิการทุกคนที่ยื่นคำร้องควรได้รับการจัดสรรตามความเหมาะสม มีการสลับผู้ช่วยหากผู้ช่วยคนเดิมไม่สามารถให้บริการได้ 

 

ในช่วงบ่ายได้มีการพูดคุยถึงประเด็นการศึกษาการจัดบริการผู้ช่วยคนพิการและก้าวต่อไปของระบบสวัสดิการ โดย ดร.กมลพรรณ พันพึ่ง จากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้เล่าถึงความเป็นมาของแนวคิดการดำรงชีวิตอิสระว่าในสหรัฐฯ จากกรณีของเอ็ด โรเบิร์ต ชายผู้ถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งความพิการผ่านการปฏิเสธการเข้าศึกษาต่อ ได้ต่อสู้เคลื่อนไหวเรียกร้องให้องค์กรคนพิการเป็นหน่วยบริการ ทั้งในด้านในข้อมูล การให้คำปรึกษาฉันท์เพื่อน พิทักษ์สิทธิและให้บริการผู้ช่วยคนพิการ ทำให้ที่สหรัฐฯ มีศูนย์การดำรงชีวิตอิสระกว่า 400 แห่ง 

 

บริการพีเอให้บริการผ่านระบบกลไก เช่นในสก๊อตแลนด์และสหรัฐฯ รัฐให้เงินคนพิการเพื่อจ้างพีเอได้โดยตรง จากเดิมที่ถูกจัดผ่านกลไกส่วนกลางเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้ยังมีรูปแบบการจัดบริการผ่านรัฐ โดยเฉพาะในกลุ่มคนพิการที่เพิ่งมีความพิการและยังจัดการตัวเองไม่ได้ แต่หลังจากที่คนพิการสามารถจัดการตัวเองรัฐก็เน้นให้คนพิการควบคุม คิด และตัดสินใจในการจ้างพีเอด้วยตัวเอง

 

ในอังกฤษคนพิการทางจิตก็มีอำนาจในการคิดตัดสินใจและมีสถานะเป็นนายจ้างของผู้ช่วยคนพิการ นั่นทำให้ผู้ช่วยคนพิการเป็นแรงงานที่มีสวัสดิการ โดยผู้ช่วยคนพิการสามารถเป็นใครก็ได้เพียงแต่มีข้อควรระวังต่างกัน เช่น หากผู้ช่วยเป็นคนในครอบครัวก็อาจเจอปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ อำนาจ เป็นต้น ในช่วงโควิด - 19 พีเอถือเป็นบุคคลด่านหน้าไม่ต่างจากบุคคลากรทางการแพทย์ 

 

ในสหรัฐอเมริกาฯ กำหนดว่าพีเอเป็นบริการสำหรับคนพิการระดับท่อนบนขึ้นไปที่ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้เอง 2 กิจกรรมขึ้นไป และไม่มีการกำหนดลักษณะของพีเออย่างเฉพาะตัว นอกจากนี้ยังมีข้อกำหนดที่ชัดเจน เช่น พีเอจะไม่บริการออกข้อแนะนำชี้แนะ 

 

เช่นเดียวกับผู้ช่วยคนพิการในประเทศญี่ปุ่น อาคีโกะ โยโคยามะ นักศึกษาปริญญาเอกมหาวิทยาลัยโอซาก้าได้ระบุว่า การรับบริการในญี่ปุ่นมีความคล้ายคลึงกับไทย เริ่มจากการสมัคร คัดกรอง ร่างแผน อนุมัติจากองค์กรส่วนท้องถิ่น ประชุมทีมงานและทำแผนให้บริการ แต่หน่วยงานให้บริการเป็นหน่วยงานเอกชน และมีองค์กรท้องถิ่นคอยประเมินผลเรื่อยๆ บริการที่คนพิการได้รับมี 3 ประเภท หนึ่ง ช่วยงานที่บ้าน สอง ช่วยคนพิการรุนแรงทั้งร่างกาย สติปัญญาและจิต ทั้งในบ้านและนอกบ้าน สาม ช่วยออกไปทำกิจกรรมนอกบ้านสำหรับคนพิการทางการเห็น สติปัญญา และจิต การจ่ายค่าบริการจะใช้ระบบ Co-Payment คนรับบริการจ่ายส่วนหนึ่ง ถ้าคนพิการมีรายได้ปานกลางขึ้นไปต้องจ่าย 10% ถ้าครอบครัวไม่มีรายได้หรือรายได้น้อยไม่เสียค่าพีเอ สรุปแล้วถ้าครอบครัวรายได้ปานกลางจะต้องจ่ายไม่เกิน 2,400 บาทต่อเดือน ถ้ารายได้สูงจ่ายไม่เกิน 10,000 บาทต่อเดือน 

 

คุณสมบัติของผู้ช่วยคนพิการในญี่ปุ่นไม่มีตำแหน่งที่เรียกโดยตรง อาจเป็นได้สองอย่างคือผู้ดูแลที่ได้รับการรับรอง (Certified care worker) ที่ต้องมีประสบการณ์ 3 ปี หรือจบมหาวิทยาลัย 2 ปี หรือจบมัธยมปลายพร้อมประสบการณ์ 9 เดือน และผู้ช่วยงานในบ้าน (Home helper or Care giver) พื้นฐานที่ต้องจบหลักสูตรบรรยาย 130 ชั่วโมง ปฏิบัติ 90 ชั่วโมง และขั้นก้าวหน้าที่จบหลักสูตรบรรยาย 450 ชั่วโมงและมีการสอบวัดผลด้วย