Skip to main content

 

เมื่อวันที่ 19 สิงหาคมที่ผ่านมา Thisable.me ร่วมกับศูนย์การดำรงชีวิตอิสระคนพิการพุทธมณทล จัดงานเสวนาเสรีภาพหรือเสรีพร่อง “ฉันจะช่วยเมื่อเธอต้องการ” เล่าถึงสิทธิและสวัสดิการของผู้ช่วยคนพิการ (พีเอ PA - personal assistant) มีผู้ร่วมเสวนา 3 คน ได้แก่ ไซ ซิน ผู้ช่วยคนพิการนอกระบบ, ชศรา จรัสธนสกุล พีเอจากศูนย์ดำรงชีวิตอิสระคนพิการ นนทบุรี , สันติ รุ่งนาสวน คนทำงานอิสระและทำงานเบื้องหลังคนพิการ ชวนคุยโดยอรรถพล ศรีชิษนุวรานนท์ 

ภาพถ่ายรวมงานเสวนาเสรีภาพหรือเสรีพร่อง “ฉันจะช่วยเมื่อเธอต้องการ” เล่าถึงสิทธิและสวัสดิการของผู้ช่วยคนพิการ (พีเอ PA - personal assistant) มีผู้ร่วมเสวนา 3 คน ได้แก่  สันติ รุ่งนาสวน คนทำงานอิสระและทำงานเบื้องหลังคนพิการ ผู้ชายที่ใส่เสื้อยืดสีดำอยู่ด้านซ้ายสุดของรูป ถัดมาเป็นชศรา จรัสธนสกุล พีเอจากศูนย์ดำรงชีวิตอิสระคนพิการ นนทบุรี ผู้หญิงที่ใส่เสื้อแขนยาวสีชมพูเอี๊ยมสีน้ำตาล  ต่อมาเป็นอรรถพล ศรีชิษนุวรานนท์ ผู้ชายนั่งวีลแชร์ใส่เสื้อยืดสีกรมท่าเป็นผู้ดำเนินรายการ  และไซ ซิน เป็นผู้ช่วยคนพิการนอกระบบ ที่นั่งอยู่ขวามือสุดของภาพ ไซเป็นผู้หญิงสวมแว่น ใส่เสื้อแขนกุดสีฟ้า

จุดเริ่มต้นที่มาอยู่แวดวงพีเอ

สันติ: เราเคยเข้าร่วมอบรมแนวคิดดำรงชีวิตอิสระ และใช้แนวคิดนี้ทำงานกับคนพิการ 

ชศรา: พี่สาวเป็นคนพิการที่ทำงานอยู่ศูนย์ดำรงชีวิตอิสระคนพิการจังหวัดนนทบุรี ตอนแรกเราไม่ได้เป็นพีเอ แต่ก็ช่วยดูแลพี่สาวและคนพิการอีกคนหนึ่งก่อน ที่นี่พี่สาวเราอยากให้ไปช่วยคนพิการคนอื่น เลยให้ไปอบรมพีเอซึ่งถูกจัดโดยกรมพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ 

ไซ: เราเป็นแรงงานข้ามชาติ ทำงานดูแลผู้สูงอายุมาประมาณ 6 เดือนแล้วรู้สึกไม่ไหว เลยลาออกไปที่ศูนย์จัดหางานเพื่อหางานทำ แล้วนายจ้างคนปัจจุบันโทรมาพอดี และได้งานพีเอแต่เป็นพีเอนอกระบบตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน

 

ภาพชศรา ถือไมค์พูดคุยเรื่องราวเกี่ยวกับพีเอ ชศรา จรัสธนสกุล

พีเอบนแนวคิดการดํารงชีวิตอิสระของคนพิการ

สันติ:  พีเอเริ่มต้นจากการมีแนวคิดดํารงชีวิตอิสระของคนพิการ เมื่อคนพิการไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองไม่ได้แต่อยากชีวิตด้วยตัวเอง สิ่งที่เขาทำไม่ได้ต้องมีคนสนับสนุน คนพิการคิด อะไรที่คนพิการทำไม่ได้ พีเอก็ค่อยช่วยสิ่งที่คนพิการทำไม่ได้ แต่มันต้องเกิดจากความต้องการคนพิการเองเป็นหลัก สมมติว่าคนพิการอยากแปรงฟันก่อนอาบน้ำแต่พีเอบอกว่าอาบน้ำก่อนแปรงฟันไหม หรือ คนพิการอยากใส่เสื้อสีแดงแต่พีเอหยิบเสื้อสีส้มมาให้ คนพิการปฏิเสธไม่ใส่เสื้อสีนี้ได้ และพีเอไม่ควรละเมิดสิทธิการเลือกของคนพิการ

ชศรา: หากเป็นพีเอตามแนวคิดการดํารงชีวิตอิสระของคนพิการ เราจะให้คนพิการตัดสินใจเอง 

รับฟังว่าเขาต้องการอะไร ช่วยเหลือให้ขาทำกิจวัตรประจำวันลุล่วง แล้วพาคนพิการออกสู่สังคม 

ไซ: เราเรียนรู้งานพีเอจากการติดตามนายจ้างไปทำงานที่ต่างๆ นอกจากนี้นายจ้างเป็นคนฝึกให้เราทำงานพีเอบนฐานแนวคิดการดํารงชีวิตอิสระของคนพิการ 

ความต่างระหว่างผู้ดูแลคนสูงอายุ (Caregiver) กับ พีเอ

สันติ: เราไม่รู้ตอนอบรมเป็นผู้ดูแลคนสูงอายุ เขาสอนอะไรบ้าง งานดูแลผู้สูงอายุอาจจะมองเรื่องการดูสุขอนามัยเป็นหลักแต่พีเอมองเรื่องสังคม โดยมองว่า จะทำอย่างไรให้คนพิการออกมาชีวิตในสังคม 

ไซ: ผู้สูงอายุไม่ออกไปข้างนอก ชอบให้อยู่ดูแลที่บ้าน บางทีตกลงกับเขาว่าทุก 20 นาทีจะมาพลิกตัวให้ทีหนึ่ง พอเวลาทำงานจริง 5 นาทีเรียกครั้ง 2 นาทีเรียกครั้ง อีกอย่างที่แตกต่างกันคือ งานดูแลผู้สูงอายุทำเป็นขั้นตอน แต่งานดูแลคนพิการ จะแล้วแต่คนพิการจะเรียกร้องขอความช่วยเหลือ  

อุปสรรคการทำงาน 

ชศรา: ญาติของคนพิการที่เราไปดูแลเขามาตัดสินใจแทนตลอด เราบอกให้คนพิการบอกญาติว่าเราไม่สามารถทำตามคำสั่งเขาได้ แต่ทั้งสองคนไม่คุยกัน อีกอย่างคือ ตัวคนพิการใหญ่ เขาต้องพลิกตัวบ่อยเลยต้องใช้แรงเยอะ

เงินค่าตอบแทนคนพิการได้น้อย เราได้ชั่วโมงละ 50 บาท ทำได้ไม่เกิน 6 ชั่วโมงต่อวัน หากทำเกินเวลาไม่ได้เงิน เงินค่าเดินทางไม่ได้เบิกได้ตามจริงแต่ขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่ศูนย์จะจัดให้เท่าไร ซึ่งเงินหาได้เดือนนึงไม่พอต่อการดำรงชีพ 

ไซ: เราเป็นพีเอนอกระบบ ทำงานตลอด 24 ชั่วโมง ไม่มีวันหยุด หากมีพีเอของรัฐมาดูแลนายจ้าง เราจะได้มีเวลาหยุดพักบ้าง เจ้านายเราทำเรื่องขอพีเอจากรัฐบาล ปีที่ผ่านมาบอกว่าได้แล้ว จนถึงเดือนสิงหาคมปีนี้ก็ยังไม่มีพีเอรัฐมา

ภาพนายสันติถือไมคฺ์กำลังพูดคุยถึงเรื่องปัญหาพีเอไทยอยู่สันติ รุ่งนาสวน

ปัญหาสวัสดิการผู้ช่วยดูแลพิการไทย

สันติ: กลุ่มคนพิการนำหลักการดำรงชีวิตอิสระและพีเอเข้ามาให้เป็นสวัสดิการคนพิการรุนแรง โดยทำเฉพาะในจังหวัดที่มีองค์กรที่มีแนวคิดนี้เข้มแข็งก่อนแล้วค่อยกระจายไปทั่วประเทศ แต่พอนำเรื่องนี้เสนอรัฐบอกไม่ได้ ต้องทำทั่วประเทศ แต่ติดปัญหาเรื่องงบประมาณส่งผลให้แต่ละจังหวัดมีพีเอ 5 คน องค์กรคนพิการที่เริ่มต้นเรื่องดังกล่าวยอมรับวิธีนี้ก่อน แล้วค่อยปรับเอาทีหลัง สุดท้ายเรื่องพีเอก็กระท่อนกระแท่นมาถึงทุกวันนี้ 

ครั้งหนึ่งเคยลงพื้นที่เก็บการเข้าถึงบริการพีเอ เราถามพีเอของรัฐว่ามาจากไหน บางคนตอบว่าเป็นอสม.บางคนเคยเป็นอดีตนายก อบต.แล้วมีความสัมพันธ์กับกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ จึงได้เป็นเจ้าภาพจัดอบรมพีเอ พอเราไปสัมภาษณ์คนพิการ เขาบอกว่า มีคนมาหาก็ดีใจที่สุดแล้ว ซื้อก๋วยเตี๋ยวมาฝากก็ดีแล้ว ซึ่งคนพิการไม่ได้รับบริการที่ควรจะเป็น 

ชศรา: ตอนที่เราเคยไปดูเขาจัดอบรมพีเอ ผู้เข้าร่วมอบรมพีเอส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ไม่ตั้งใจอบรมแต่มาเพื่อเอาเงินค่ารถ เวลาอบรม กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการจะให้คนพิการมาเป็นวิทยากรน้อย นอกจากนี้แล้วเนื้อหาไม่เน้นเท่ากับองค์กรคนพิการจัดเอง ได้แก่ การป้อนอาหาร การเทปัสสาวะ การล้วงถ่าย การอาบน้ำ การเข็นรถ การพาคนตาบอดเดิน 

ไซ: เราเคยไปอบรมพีเอเห็นแต่คนสูงวัยไปอบรม หากเขาไปต้องทำงานจริงน่าจะทำงานยาก อยากให้รัฐเปิดให้แรงงานข้ามชาติสมัครเป็นพีเอได้ 

ภาพไซ กำลังนึก เรียบเรียงคำพูดเพื่อตอบคำถาม

ไซ ซิน

ข้อเสนอจากใจคนทำงานพีเอถึงรัฐ

สันติ: ที่ผ่านมารัฐไม่เชื่อมั่นว่า เจ้าของปัญหาคือคนที่แก้ไขปัญหาได้ รัฐไม่เชื่อว่าเจ้าของปัญหาแก้ไขปัญหาได้ดีที่สุด เวลาเจ้าของปัญหาเสนอว่า นี่คือปัญหาของฉัน ฉันอยากจัดการปัญหาแบบนี้ แต่รัฐคิดว่าเป็นอีกอย่าง หากรัฐต้องจัดงานบริการคนพิการเอง แล้วกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จะตรวจสอบและจัดบริการคนพิการได้ดีแค่ไหน ถ้าเป็นเรื่องของคนพิการก็ควรให้องค์กรคนพิการเป็นคนดูแล ทำให้เกิดการแข่งขันเพื่อให้เกิดการให้บริการที่มีคุณภาพ นอกจากนี้ยังช่วยลดภาระของรัฐอีกด้วย

ชั่วโมงการทำงานของพีเอควรกำหนดจากคนพิการว่าต้องการความช่วยเหลือกี่ชั่วโมง เขาควรได้รู้ว่าจะได้ผู้ช่วยคนพิการกี่ชั่วโมง ไม่ใช่ตีกรอบว่า และพีเอให้บริการได้ไม่เกิน 6 ชั่วโมง ชั่วโมงละ 50 บาท เงินที่ได้ก็ต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำ ไม่น่าแปลกใจเลยที่คนเข้ามาทำพีเอน้อย หากทำให้พีเอเป็นอาชีพได้เงินสมน้ำสมเหนือกับค่าแรง ไม่ถูกด้อยค่าเพราะทำถ่าย ทำอึได้ คิดว่าดึงความสนใจให้คนมาทำอาชีพนี้

คนพิการต้องยืดหยัด มั่นใจว่า สิ่งที่เราคิดถูกต้องและยืดกรานต้องทำแบบนั้น หากมีคนพิการุนแรงสัก 500 คนออกมาเรียกร้องว่าต้องการพีเอแบบนี้ เพราะทำให้คนพิการมีชีวิตที่ดี กลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้จริง ดีกว่าจำยอมสิ่งที่รัฐยัดเยียดให้เรา 

ชศรา: อันดับแรกอยากให้พีเอเข้าสู่มาตรา 33 เหมือนอาชีพอื่น เบิกค่ารถได้ตามจริง หากค่าตอบแทนเป็นรายชั่วโมงก็อยากให้เปลี่ยนเป็น 100 บาทต่อชั่วโมง เพราะพีเอทำงานจริง ไม่เหมือนอสม.ถ่ายรูป ให้ของเสร็จแล้วกลับ เวลาอสม.มาอบรมเพื่อเอาชมแล้วไปเบิกเงิน แต่ไม่ได้ช่วยเหลือคนพิการ และควรให้เงินกับองค์กรคนพิการมาอบรมพีเองเอง จะได้มีพีเอเยอะขึ้น คนพิการใช้ชีวิตในสังคมได้

ไซ: คนพิการอยากได้พีเอก็ไม่ได้ พีเออยากจะทำแต่ค่าแรงน้อย อยากให้บริการพีเอ มีเหมือนแกร็บไลน์แมน หากคนพิการอยากให้พีเอมาช่วยคนพิการอยู่ตรงไหน พีเออยู่ตรงไหน คิดชั่วโมงละเท่าไร อยากให้เกิดขึ้นแบบนี้มากๆ