Skip to main content

12 ก.ย. 2566 ที่รัฐสภาเกียกกาย มีการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) แถลงนโยบายต่อรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 162 เป็นวันที่ 2 โดยมีวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม 

ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล กรุงเทพมหานคร   กล่าวถึงเอกสารการแถลงนโยบายของรัฐบาลในเรื่องของรัฐสวัสดิการ โดยระบุว่าเป็นสวัสดิการโดยรัฐ ไม่ใช่สวัสดิการถ้วนหน้า และระบุถึงสวัสดิการที่จะมีเฉพาะกลุ่มคนพิการ กลุ่มเปราะบางและกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งเป็นการเลือกให้เฉพาะกลุ่ม ทั้งที่ควรเป็นสิ่งที่รัฐจะต้องกระทำอยู่แล้ว 

“สวัสดิการถ้วนหน้าเป็นสิ่งที่ยืนยันให้กับประชาชนทุกคนอย่างถ้วนหน้าเท่าเทียมกันเป็นหน้าที่ของรัฐอยู่แล้วที่ต้องบริการประชาชน ไม่ใช่ของขวัญอะไรทั้งนั้น ที่สำคัญเรื่องรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าไม่ใช่แค่การดูแลแค่คนบางกลุ่ม เหมือนที่ท่านเขียนเอาไว้ในนโยบายหน้า 12 ย่อหน้าที่ 2 สิ่งที่รักยิ่งต้องทำคือการลงทุน  ส่งเสริม ทรัพยากรมนุษย์ที่เป็นคนรุ่นใหม่ให้เติบโตอย่างมีศักยภาพอย่างมีคุณภาพโดยไม่เลือกว่าเขาจะยากจนหรือใครจะเปราะบาง”

ศศินันท์ กล่าวถึงนโยบายขึ้นเบี้ยความพิการเป็น 3,000 บาท ของพรรคชาติไทยพัฒนา โดยหวังว่านโยบายนี้จะสามารถทำได้จริง เพราะที่ผ่านมาจากการลงพื้นที่ของตนพบว่ามีปัญหาไม่ได้รับเบี้ยความพิการ และปัญหาจากการไม่มีบัตรคนพิการ รวมถึงบัตรคนพิการหมดอายุ  

“เบี้ยคนพิการไม่ได้ไม่พอ บัตรคนพิการมีหมดอายุด้วย บัตรหมดอายุจะออกไปก็ลำบาก จะต่ออายุก็ต้องทำบัตรประชาชนก่อน จะรอทำบัตรประชาชนก็ต้องรอรถเคลื่อนที่ จะรอรถเคลื่อนที่ก็ต้องรอจนถึงสิ้นปี ทุกวันนี้ยังไม่ได้เบี้ยยังชีพเลย”

ศศินันท์หวังว่ารัฐบาลคงจะไม่มองเห็นว่าประชาชนเป็นเพียงแค่กลไกทางเศรษฐกิจ โดยไม่ได้คำนึงถึงชีวิตความเป็นอยู่และอนาคต และก็หวังเห็นนโยบายที่เป็นสวัสดิการถ้วนหน้าไม่ตกหล่นไม่ต้องพิสูจน์ความยากจน  

มณเฑียร บุญตัน สมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่านายกรัฐมนตรีในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ว่ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ซึ่งยังเป็นส่วนราชการ ยังอยู่ภายใต้เงื่อนไขของพระราชบัญญัติทุนหมุนเวียนและไม่ได้รับการยกเว้นตามพระราชกฤษฎีกาเหมือนกองทุนบำเหน็จบำนาญและกองทุนประกันสังคมและอีกหลายกองทุน

ซึ่งเป็นเหตุให้กองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการจะต้องส่งเงินคืนกระทรวงการคลัง โดยปี 2559 ถูกยึดไป 2 พันล้านบาท และไม่นานมานี้ก็มีท่าทีว่าจะยึด 3 พันล้าน โดยอ้างว่ามีเงินเหลือเกินสัดส่วนที่กำหนด จึงอยากถามไปทางนายกรัฐมนตรีว่าจะยึดเงิน 3,000 ล้านบาทก้อนนี้ไหม  แต่สิ่งที่ดีที่สุดคือควรแก้พระราชกฤษฎีกา ปี 2561 คือให้กองทุนคนพิการไม่อยู่ในเงื่อนไขที่ต้องส่งเงินคืน

มณเฑียรตั้งคำถามถึงกรณีนโยบายดิจิตอล wallet ของรัฐบาล ว่าจะสามารถทำให้คนทุกกลุ่มเข้าถึงได้อย่างสะดวกหรือไม่ ซึ่งใจความสำคัญอยู่ที่เรื่องของการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐว่ารัฐไม่ยอมใส่เงื่อนไขเรื่องการจัดทำให้ประชาชนเข้าถึง ปัญหาความสามารถในการเข้าถึงดิจิตอลก็จะเกิดขึ้น 

“ท้ายที่สุด ผมขอให้ท่านไม่ต้องตอบ แต่ขอให้ท่านสนับสนุนการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ซึ่งรัฐบาลไทยรัฐไทยเป็นผู้เริ่มต้นและรัฐบาลเพื่อไทยสมัยท่านนายกยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นผู้สานต่อ มาช่วยแก้ไขเพิ่มเติมให้มันสมบูรณ์”  

ต่อมา วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ลุกขึ้นตอบข้อซักถามจากสมาชิกรัฐสภาถึงกรณีรัฐสวัสดิการของคนพิการ มีใจความว่า ปัจจุบันสวัสดิการด้านคนพิการใช้เงินเป็นจำนวน 20,000 ล้านบาท กับจำนวนคนพิการ 2.2 ล้านคน การเพิ่มให้เป็นสวัสดิการถ้วนหน้าสามารถทำได้ แต่ต้องดูว่ารายรับของรัฐบาลเป็นเช่นไรด้วย จะต้องพิจารณาจากความเป็นจริง มิฉะนั้นจะล้มเหลวแบบประเทศทางฝั่งยุโรป 

“3,000 บาทไม่ได้อยู่ไกลเกินเอื้อม วันนี้ให้อยู่ประมาณ 1,000 บาท ถ้าหากนับจากวันนี้ไปอีกประมาณ 4 ปี แล้วทำขึ้นไปเป็นขั้นบันได 1,000 ปีนี้ 2,000 ปีหน้า 2,000 ปีถัดไปแล้วไป 3,000 บาทประมาณปี 2570 ปริมาณจำนวนคนพิการวันนี้ที่มีอยู่ประมาณ 2.25 ล้านคน จะขึ้นไปประมาณเป็น 2.55 ล้านคนในปี 2570 งบประมาณที่จะต้องใช้ จะเพิ่มจากประมาณ 23,000 ล้านถึง 24,000 ล้าน ขึ้นไปอยู่ที่ประมาณ 91,800 ล้าน หรือเกือบจะใกล้ๆ 1 แสนล้านบาท 

“เรียนว่าพวกเราก็อยากจะให้กับพี่น้องคนพิการที่จะได้รับความช่วยเหลือ ทั้งนี้การจะให้เงิน 100,000 ล้านหรือสองหมื่นกว่าล้าน ก็ต้องดูด้วยเช่นกันว่ารายรับของรัฐบาลเป็นเช่นไร จากนี้ไปจนถึง 2570 เพราะเราไม่อยากให้ประเทศไทยไม่เหมือนเมืองบางเมืองในทวีปยุโรปที่ประกาศให้ตัวเองเป็นรัฐล้มละลายเนื่องจากมีรายจ่ายมากกว่ารายได้”

ในกรณีเรื่องการทำบัตรคนพิการ วราวุธ ศิลปอาชา กล่าวว่าปัจจุบันกรมได้มีการจัดทำจุดบริการทำบัตรคนพิการแบบ One Stop Serviceโดยปัจจุบันมีจุดให้บริการในโรงพยาบาล 111 จุดใน 76 จังหวัด และมีระยะเวลาการทำบัตรเพียง 15 นาทีเท่านั้น และยังสามารถทำได้ที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ทุกจังหวัด