Skip to main content

เมื่อวันเสาร์ที่ 23 กันยายนที่ผ่านมา Thisable.me, ศูนย์การดำรงชีวิตอิสระคนพิการพุทธมณทล, บุญรอดบริวเวอรี่และเท่าพิภพบาร์โปรเจคร่วมจัดงานเสวนา “เสรีภาพหรือเสรีพร่อง 2.0” ในประเด็น “คนพิการกับการเมืองมรณะ” ที่จะชวนทุกคนตั้งคำถามถึงการมีอยู่และการมีส่วนร่วมของคนพิการในการเมืองไทย ผ่านคนพิการที่สนใจการเมือง และคนพิการที่มีส่วนร่วมทางการเมือง อะไรทำให้พวกเขาเข้าไม่ถึง ถูกกีดกันและถูกทำให้ไร้เสียงในการเมืองที่ผ่านๆ มา ร่วมคุยกับ ชัชชญา สิริวัฒกานนท์, สุริยา แสงแก้วฝั้น และสิริชัย กรุดสุข ดำเนินเสวนาโดยอาร์ทตี้ ปฐพร ทรัพย์ไพฑูล

ทำไมการเมืองถึงมรณะ

ชัชชญา: เพราะมันตุยเย่สำหรับคนออทิสติก ไม่มีนโยบายที่เอื้อกับคนออ นอกจากการเมืองตีตราไม่ให้พวกเรามีส่วนร่วมแล้ว ยังมองว่าพวกเราตัดสินใจเองไม่ได้ว่าต้องการการเมืองแบบไหน สิ่งเหล่านี้เริ่มที่บ้าน ที่บ้านคนออมักมองว่า เราถูกล้างสมอง เราเองเป็นสามกีบ มีเพื่อนทำงานก้าวไกล ที่บ้านก็มองว่าถูกล้างสมอง ก็เลยอยากถามว่าแล้วเรื่องที่ที่บ้านเชื่อนี่ถูกล้างสมองหรือป่าว 

สิริชัย: ครอบครัวและคนในชุมชนยังมองว่าเราเป็นใบ้ เราถูกกดทับ ไม่ให้เกียรติ คนหูหนวกไม่ใช่คนใบ้ แต่คนทั่วไปไม่ยอมรับ ภาครัฐเองก็ยังพูดถึงผมว่าเป็นคนใบ้ การเมืองมรณะก็เหมือนกับคำว่าใบ้ที่เราถูกกดทับมาตลอด ทั้งที่คนหูหนวก หูตึงสื่อสารได้ แต่ในเรื่องนโยบายกลับไม่ให้เกียรติหรือสิทธิที่เพียงพอ 

สุริยา: ผมว่าการเมืองคือการจัดสรรปันส่วนให้ทุกคนได้เข้าถึงพื้นที่การมีส่วนร่วม และการจัดสรรอำนาจอย่างเท่าเทียมกัน แต่ในความเป็นจริงการเมืองได้ทำหน้าที่เหล่านี้หรือยัง ผมมองว่าการเมืองมี 2 แบบ หนึ่งแบบทางการคือคนพิการได้เข้าไปมีบทบาทในรัฐสภามากน้อยเพียงใด ถึงไม่ได้เป็นส.ส. ส.ว. แล้วในกรรมาธิการต่างๆ มีคนพิการเข้าไปนั่ง มีหน้าที่ตรวจสอบผลักดัน สนับสนุนรัฐสภามากน้อยเพียงใด แม้แต่ในกรรมาธิการคนพิการก็ต้องถามว่าท่านได้ทำหรือผลักดันอะไรที่เป็นรูปธรรมไหม 

สองคือการเมืองภาคประชาชน เช่น การมีส่วนร่วมในการเดินขบวนประท้วง การผลักดันนโยบายภาคประชาชนกลุ่มต่างๆ แต่คนพิการก็มีอุปสรรคในการเข้าถึงการเมืองภาคประชาสังคม ซึ่งมีส่วนสำคัญอย่างมากในการช่วงชิงอัตลักษณ์ทางการเมืองอย่างหนึ่ง


สุริยา แสงแก้วฝั้น

ที่ผ่านมาเห็นอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง 

ชัชชญา: เราไม่ได้ขับเคลื่อนเรื่องคนออโดยตรง แต่จากการสังเกตในรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ไม่ได้มีอะไรดี ถอยหลังลงคลอง เสรีภาพของเพือนๆ นักกิจกรรมก็ลดลง เช่น คุณวันเฉลิมที่หายตัวไป คนที่ขับเคลื่อนด้านสิทธิคนพิการก็มีความเสี่ยงกว่าเดิมเพราะเรามีอัตลักษณ์ทับซ้อน เรื่องที่สำคัญมากๆ ก็คือ บ้าน ซึ่งเป็นพื้นที่อำนาจอย่างหนึ่ง หากบ้านไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัย คนออจะออกมามีส่วนร่วมทางการเมืองได้อย่างไร

สิริชัย: ผมเห็นนโยบายต่างๆ ที่หาเสียงแต่ทำไม่ได้จริง ผมอยากเห็นนโยบายที่ทำได้จริง เช่น เพิ่มเบี้ยคนพิการ และต้องเกิดความชัดเจน ตรงกับความต้องการของคนพิการ

สุริยา: เมื่อดูนโยบายย้อนหลังไป 20 ปีที่แล้ว ช่วงปี 2006 - 2007 ว่าเกิดอะไรขึ้นกับทั่วโลกในประเด็นคนพิการ ตอนนั้นมีการร่างอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ (CRPD) ที่นิวยอร์ก ในช่วงแรกมีการทักท้วงว่า อนุสัญญาระบุเสมือนว่าคนพิการเป็นพวกร้องขอ ใช้แนวคิดแบบสังคมสงเคราะห์ คนจึงขอให้รัฐที่รับอนุสัญญาทบทวนเพิ่มสิทธิมนุษยชน หลังจากปี 2007 ก็ได้ประกาศใช้ CRPD โดยมีนักรณรงค์เข้าไปมีส่วนร่วม ตัวอย่างนี้ทำให้เห็นว่า ไม่ว่าจะเกิดกฏหมายอะไรขึ้น คนพิการจะต้องเข้าไปมีส่วนร่วม เพราะไม่มีใครรู้ดีเท่ากับเจ้าของประเด็นปัญหา  คำถามก็คือแล้วในบ้านเราเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ความเป็นพลเมืองตื่นรู้ (Active citiizen) ของคนพิการมีมากแค่ไหน

แล้วคนพิการจะมีส่วนร่วมได้อย่างไร

ชัชชญา: หลักๆ ก็คือให้เจ้าของประเด็นมีสวนร่วม ช่วยกันออกกฏหมาย ให้ครอบคลุมทุกความหลากหลายของคนพิการ ไม่ใช่มีแต่คนพิการชายเป็นผู้นำ แต่ต้องมีอัตลักษณ์ทับซ้อนอื่นๆ เช่น คนพิการชาติพันธ์ุ คนออทิสติก ผู้หญิงพิการ ฯลฯ มีส่วนร่วมจริง ไม่ใช่แค่ไม้ประดับ ตอนนี้คนออส่วนหนึ่งถูกตีตรา อยู่ในอีกโลกหนึ่ง ยังมองว่าต้องรักษาออทิสติก หากอยากผลักดันอะไรสักอย่างก็ถูกโจมตี คนออหลายคนถูกคนออด้วยกันล่าแม่มด เราเองก็เช่นกันหลังจากที่เปิดตัวว่ามีความหลากหลายทางเพศ ก็ถูกโจมตีว่าเป็นเพศวิบัติ ผมรู้สึกเห็นใจและมองว่า พวกเขาก็เป็นผลผลิตจากการกดทับของสังคม 

สิริชัย: ต้องขจัดอุปสรรคก่อน คนหูหนวกเองต้องการล่าม ถึงแม้บอกให้เรามีส่วนร่วมแต่ก็มีความลำบากของการสื่อสาร  หากขจัดอุปสรรคได้ คนหูหนวกก็จะมีส่วนร่วมในนโยบายที่เข้าถึง ตรงความต้องการ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นตามความต้องการของคนพิการ

สุริยา: ผมไม่เชื่อว่าคนพิการไทยหรือทั่วโลกเกิดมาเป็นอิกนอแรน (Ignorance) แต่บ้านเราเป็น เป็นเพราะอะไร ผมมองว่า ค่านิยมของคนในสังคมมีส่วนสำคัญกับการกำหนดนโยบายคนพิการ เราเชื่อกันตามคำพูดว่า งานคนพิการคือการช่วยเหลือ ทำประโยชน์เพื่อสังคม ช่วยเหลือเขาเพื่อให้เขาช่วยเหลือตนเองและสามารถทำประโยชน์เพื่อสังคม วลีนี้มีอิทธิพลต่อความเชื่อของคนพิการและคนไม่พิการในสังคมไทยอย่างมากในหลายทศวรรตที่ผ่านมา ผมขอวิพากษ์ด้วยความเคารพในฐานะมนุษย์ที่เท่าเทียมว่า  ถ้อยคำดังกล่าวบอกให้คนพิการสมยอมต่อระบบเครือข่ายอุปถัมภ์ค้ำจุน มากกว่าส่งให้เสริมให้คนพิการเข้าไปมีส่วนร่วมทางสัมคมบนความขัดแย้ง ไม่สนับสนุนให้สร้างอำนาจต่อรอง มีอำนาจและผลักประเด็นของตัวเอง แนวคิดดังกล่าวจึงไม่สามารถทำให้คนพิการในสังคมกระตือรือล้นที่อยากจะพัฒนาตัวเองให้เท่าเทียมกับคนทั่วไปและไม่แสวงหาอำนาจให้ตัวเอง แต่ผมเชื่อมั่นว่าคนพิการสามารถเป็นผู้นำทางสังคมได้


สิริชัย กรุดสุข

ทำยังไงให้คนพิการออกมามีเสียง

สิริชัย: เราต้องมีความกล้า คนหูหนวกเองต้องเรียนรู้คำใหม่ๆ อ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์ อินเตอร์เนต ผมเข้าใจว่าสิ่งนี้ยากสำหรับคนหูหนวก หลายครั้งผมก็ถามล่าม แต่เราต้องพัฒนาตัวเองตลอดเวลาเพื่อจะได้เท่าเทียม สื่อสารรู้เรื่อง และสื่อสารประเด็นที่ต่อสู้ให้ภาครัฐเข้าใจ 

สุริยา: ต้องลองท้าทายคนพิการด้วยชุดความรู้ใหม่ๆ ซึ่งอาจให้สามัญสำนึกได้ ทุกอย่างไม่ได้สวยงามแต่อยู่ที่เราจะสื่อสารออกมาให้สังคมรับทราบอย่างไรเพื่อท้าทายค่านิยมเดิม ลองคิดว่าสิ่งที่ทำกันมาใครได้ประโยชน์ ตัวเราหรือตัวเขาได้ประโยชน์ ผมคิดว่าแนวคิดเหล่านี้จะผลักดันให้คนพิการตื่นรู้ และกล้าวิพากษ์ความเชื่อเดิมๆ 

จะแก้อคติต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ยังไง

สิริชัย: ถ้าสังคมมองคนพิการลบ เราควรเอาเค้ามาใส่ใจเราด้วยการมองคนไม่พิการลบเหมือนกัน ด่าให้ได้รู้สึกเหมือนคนหูหนวก

ชัชชญา: ต้องแก้ไขหลายระบบทั้งที่บ้าน การเมือง การศึกษา อีกอย่างคือสื่อและละคร การนำเสนอภาพคนพิการ เช่น ละครบ้านทรายทองที่นำเสนอว่าคนพิการไร้สมรรถภาพ ไม่มีความสามารถ ภาพยนตร์เรื่องหนึ่งเคยนำเสนอคนออเป็นนักแบตมินตัน เราทนดูไม่จบเพราะภาพยนตร์นั้นตีตราคนออทิสติกเหมือนคนออเป็นเด็กทารก จนคนทั่วไปจำเหมารวมว่าคนออเป็นแบบนั้น ฉะนั้นสื่อต้องมีคุณภาพในการนำเสนอ ต้องไม่เอาคนไม่พิการไปเล่นแทน 

สุริยา: นอกจากอคติจากสื่อแล้วเรายังผลิตซ้ำภาพจำในสังคม ที่ใช้ค่านิยมเดิมฉายซ้ำไปซ้ำมา ชีวิตนอกจอยิ่งเลวร้ายเหมือนการเมืองมรณะเพราะคนพิการกลายเป็นผลประโยชน์ของคนกลุ่มหนึ่ง โดยเฉพาะผลประโยชน์ของชนชั้นนำ รอยัลลิสต์และชาตินิยม ส่วนตัวมองว่า คนสองกลุ่มนี้ต้องได้พูดคุย ถกเถียงกันโดยไม่ต้องคำถึงผลประโยชน์ 

ชัชชญา สิริวัฒกานนท์

นโยบายไหนที่จะทำให้คุณภาพชีวิตของคนพิการดีขึ้น

สุริยา: คนบางคนที่มาเป็นกรรมธิการไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเด็ก สตรี คนพิการเลย ไม่เคยมีการทำงานที่เกี่ยวข้องเลย ปัจจุบันมีการแถลงนโยบาย แต่ผมอ่านดูแต่ละข้อแทบไม่มีนโยบายที่เกี่ยวกับคนพิการ เราควรต้องทำอะไรสักอย่างในนามภาคประชาสังคมที่ตื่นตัวเรื่องคนพิการ ทำอย่างไรจะผลักดันคนพิการที่หลากหลายเข้าไปในกระบวนการภายใน 4 ปี ให้เป็นรูปธรรมมากที่สุด อีกเรื่องจะต้องผลักดันคนพิการที่ตื่นรู้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง สร้างแคมเปญสร้างการตระหนักรู้ในวิถีของคนพิการที่ไม่ยอมจำนน และในการเลือกตั้งท้องถิ่น จะมีแคมเปญอะไรไหมที่จะส่งเสริมคนพิการตื่นรู้ไปมีส่วนร่วมในการปกครองส่วนท้องถิ่น ไปกำหนดนโยบายภาคท้องถิ่น เพราะท้องถิ่นก็เป็นข้าราชการทางการเมืองที่มีบทบาทไม่น้อยไปกว่าบทบาทหน้าที่ทางรัฐสภา

ชัชชญา: ต้องให้โอกาสในการทำงาน ไม่ใช่ให้เพียงโควต้า ไม่ใช่จ้างแบบไม้ประดับ  การศึกษาจะต้องอยู่บนพื้นฐานสิทธิมนุษยชนไมใช่สงเคราะห์ เกิดการเรียนรวม และภาคส่วนต่างๆ ให้ความสำคัญกับการทำงานในประเด็นคนพิการ 

สิริชัย: ควรส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือ ภาครัฐต้องแสดงให้เห็นว่า คนหูหนวก หูดี สามารถอยู่ร่วมกันได้เพื่อร่วมกันต่อสู้ให้รัฐเห็นความต้องการของเรา นอกจากนี้อยากให้รัฐสื่อสารอย่างตรวไปตรงมา เข้าใจง่าย ไม่เล่นคำ เพื่อให้คนหูหนวกเข้าใจสิ่งที่ภาครัฐสื่อสารได้ 

ภาพฝันสุดท้ายในประเด็นคนพิการเป็นอย่างไร

สิริชัย: ทุกๆ การเลือกตั้งมีอายุสี่ปี ก็อยากเห็นนโยบายที่ต่อเนื่อง มีการพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ทำให้คนพิการได้มีส่วนร่วมในการทำนโยบาย เพื่อให้นโยบายเข้าถึงคนพิการจริงๆ 

สุริยา: ในระยะยาวผมอยากเห็นคนพิการทุกกลุ่มตื่นตัวและตั้งพรรคการเมืองที่มีความหลากหลายของความพิการ มีสัดส่วนของคนพิการในพรรคมากกว่าพรรคการเมืองทั่วไป เพื่อกลับไปที่ประโยคแรกว่า การเมืองคือการจัดสรรปันส่วนให้คนทุกคนได้ใช้ทรัพยากรที่มีอย่างจำกัดอย่างเท่าเทียมเพราะแต่ทุกวันนี้ยังไม่เท่าเทียมจึงเรียกการเมืองไม่ได้ อย่าลืมว่าตอนนี้ยังมีคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมีอำนาจเหนือกว่า โดยเฉพาะอำนาจในทางการเมืองที่จะกำหนดนโยบายสาธารณะ

ชัชชญา: อยากให้มีพรรคการเมืองที่นำโดยคนที่ถูกดทับจริงๆ เช่น ผู้หญิง คนที่มีความหลากหลายทางเพศ คนพิการและสร้างแรงสนับสนุนให้ผู้ที่ถูกดทับ อยากเห็นคนออ หรือคนที่ถูกกดทับในรัฐสภาเพื่อเป็นตัวแทนของประชาชน ปลดแอกจากการถูกกดทับ ตีตราตนเองเพื่อพวกเขาได้ออกมาสู้เพื่อสิทธิของตัวเอง