Skip to main content

เมื่อวันเสาร์ที่ 18 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ศูนย์การดำรงชีวิตอิสระคนพิการพุทธมณฑล, Thisable.me, บุญรอดบริวเวอรี่ และดิคอมมูเน่ จัดงานเสวนาเสรีภาพหรือเสรีพร่อง 2.0 ประเด็นคนพิการกับแรงบันดาลใจชวนคุยกับปราโมทย์ ชื่นขำ , กมลวรรณ กระถินทอง และนลัทพร ไกรฤกษ์ ดำเนินรายการโดยคชรักษ์ แก้วสุราช 

แต่ละคนนิยามความพิการว่าอย่างไร แล้วเคยเป็นแรงบันดาลใจให้ใครหรือเปล่า

ปราโมทย์: สำหรับผมแรงบันดาลใจคือ สิ่งที่ทำให้เรามีพลังที่จะใช้ชีวิตต่อไป ทำให้เราไม่ได้อยากตาย ผมเคยเจอสิ่งที่คนอื่นทำให้ผมรู้สึกเป็นแรงบันดาลใจของเขา สมัยตอนเรียนประถมมัธยมผมค่อนข้างเรียนดี มักถูกเปรียบเปรยกับเพื่อนตาไม่บอดว่า เพื่อนเขาตาบอดยังเรียนดี ผมรู้สึกอึดอัดเพราะเราเป็นแค่คนๆ หนึ่งที่อยากใช้ชีวิตอยู่กับเพื่อน อยากเล่นกับเพื่อนเหมือนเด็กทั่วไป พอเกิดการเปรียบเปรยก็กลัวเพื่อนหมั่นไส้หรือรังเกียจ

สำหรับตัวเรา ตอนนั้นเราเป็นนักเรียนก็ตั้งใจเรียน ได้คะแนนดี ผมก็ดีใจ พอคะแนนลด ผมก็รู้สึกไม่ดี แต่ผมไม่ได้เบลมตัวเองว่าเก่งกว่าเพื่อนในห้อง คนที่มองเห็นสู้ฉันไม่ได้  ผมไม่เคยคิดแบบนี้ทั้งอดีตและปัจจุบันเลย 

กมลวรรณ: เมื่อประมาณ 8 ปีแล้ว เวลาคนไม่พิการเจอเราตามทางที่เราเข็นวีลแชร์หรือรถไฟฟ้า เขาไม่คิดคนพิการไปทำงาน เขาถามไปไหน ไปเที่ยวเหรอ เราตอบว่าเปล่า ไปทำงาน เขาก็ตกใจมากเลย เป็นคนพิการทำงานอะไร เก่งมากเลย เป็นแรงบันดาลใจให้เขามากเลย ทั้งที่เรื่องนี้เป็นหน้าที่พลเมือง เป็นเรื่องที่เราต้องทำในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไร เวลามีคนอื่นมาบอกเราว่า Have a nice day ดีกว่าเป็นแรงบันดาลให้คนอื่น เก่งมากเลย สู้ๆ นะ 

เราเคยนั่งรถไฟฟ้าไปทำงาน แล้วมีคนมาบอกว่าจะไปลาออกจากงาน แต่พอเขาเห็นเรา มีแรงใจสู้ชีวิต ไม่ออกจากงานแล้ว การที่เราไปทำงานเป็นแรงบันดาลใจ ทำให้คนๆ หนึ่งไม่อยากลาออกจากงานขนาดนั้นเลยเหรอ ทั้งที่จริงแล้วเงื่อนไขที่แต่ละคนต้องเจอไม่เหมือนกัน บางคนไม่ต้องทนทำงานเพราะมีเราเป็นแรงบันดาลใจก็ได้

นิยามแรงบันดาลใจของเรา ไม่ใช่การมองคนพิการแล้วเป็นแรงบันดาลใจทุกเรื่อง แรงบันดาลใจควรเป็นเรื่องเฉพาะเจาะจงและเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับคนนั้น สมมติเราไปออกกำลังกาย มีกล้ามเนื้อที่แข็งแรง อยากมีสุขภาพที่ดีขึ้นแบบนี้ เราเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนที่รักสุขภาพเหมือนกัน 

การที่คนพิการเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนปกติหรือว่าคนพิการด้วยกันเป็นความเหลื่อมล้ำทางสังคม ต้องมองย้อนกลับไปว่าสวัสดิการที่รัฐให้เหมือนกันไหม อย่างเราคุณแม่ทำงานหาเงินเยอะเพื่อมาผ่าตัดอาการภาวะสมองส่วนการควบคุมเคลื่อนไหวบกพร่อง ซึ่งเป็นโรคที่หนักมาก ถ้าไม่มีเงินหลักล้านไปผ่าตัด เราจะมาถึงจุดนี้ไหม เรามีต้นทุนมากกว่าคนอื่น เราถึงมาตรงจุดนี้ได้ นี่ทำให้เราไม่ได้อยากถูกตัดสินว่าเป็นคนที่เป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่น คนที่มองว่าคนพิการที่ประสบความสำเร็จคนหนึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนอื่นๆ เป็นการมองเชิงเปรียบเทียบมากกว่า

นลัทพร: สิ่งที่เราเห็นแล้วรู้สึกว่าน่าสนใจหรือเราอยากเป็นแบบนั้น นอกจากคนพิการเป็นแรงบันดาลใจแล้ว คนพิการมีเรื่องบันดาลใจเป็นคนอื่นได้ไหม เราคิดว่าได้ ในฐานะคนพิการเองเราก็มีหลายๆ อย่างที่เป็นแรงบันดาลใจให้ลุกขึ้นมาทำ

เราเห็นว่าคนพิการมีโอกาสน้อยกว่าคนอื่นตั้งแต่เด็กในหลายเรื่อง เช่น หาโรงเรียนยาก เรารู้สึกเหนื่อยกับการหาโรงเรียนแล้ว อยู่บ้านดีกว่า แต่เพื่อนที่เรียนด้วยกันตั้งแต่อนุบาลเป็นแรงบันดาลใจให้กับเรา เราเห็นเพื่อนหลายคนได้เรียนต่อได้ เราก็เรียนต่อได้เหมือนกัน 

พอไปโรงเรียน เราคิดว่าเจอสถานการณ์คล้ายๆ กับปราโมทย์เลย แต่อาจจะต่างกันนิดนึงคือ ปราโมทย์เรียนเก่งแต่เราเรียนอยู่ระดับกลางๆ สมมติห้องเรียนมี 40 คน เราสอบได้ลำดับที่ 20 ครูจะมองว่าเราขาไม่ดี ไปเรียนกับคนอื่นไม่ค่อยได้ อยู่ในห้องตลอดเลยแต่สอบไม่ได้ที่โหล่ แล้วเอาไปเปรียบเทียบกับเพื่อนหรือคนสอบได้เท่าเรา ซึ่งเราสอบได้กลางๆ ก็ต้องอยู่ห้องกลางแต่ครูจับเรามาอยู่ห้องคิงเพราะเขารู้สึกว่าเด็กห้องคิงเป็นเด็กดี จะไม่แกล้งเพื่อนนั่งวีลแชร์ เพื่อนจะคอยช่วยเหลือ 

การเป็นเด็กพิการคนหนึ่งทำให้เห็นว่าระบบการศึกษาเขาปฏิบัติต่อทัศนคติที่เด็กเรียนเก่งอย่างไร เพราะเขาจะมองว่าเด็กห้องท้ายจะเกเร ถ้ามีเด็กพิการอยู่ห้องนั้นแล้วจะโดนแกล้ง ซึ่งทัศนคติแบบนี้ทำให้เรากดดันตัวเองเพื่อเรียนร่วมกับเด็กที่เก่งกว่าเรามาก อีกอันหนึ่งที่ได้ยินเขาพูด ขาไม่ดีก็ต้องมีอะไรดีบ้าง ซึ่งมันเกี่ยวอะไรกันว่ะ ขาไม่ดี หัวก็ต้องดีบ้างแหละ มันจะไม่ดีไปหมดได้ยังไง แล้วมีอีกเรื่องหนึ่งที่เราคิดว่าคล้ายกับปราโมทย์ เรากลัวเพื่อนเกลียดมากเลย วิชาหนึ่งที่เราไม่เคยได้เรียนเลยคือ วิชาพละ ในขณะที่เพื่อนไปเรียนที่โรงยิม อาจารย์ก็จะให้เรานั่งอยู่ในห้อง ทำรายงานหนึ่งหน้ากระดาษต่อเทอมส่งอาจารย์ อย่างเทอมนี้เรียนวอลเลย์บอล ก็จะให้เราค้นประวัติวอลเลย์บอล เอามาเขียนลงกระดาษแล้วปรินซ์รูปวอลเลย์บอลมาติด ทำแบบนั้นมาตั้งแต่ป.1 - ป.6 ได้เกรดสี่ทุกเทอม ขณะที่เพื่อนๆ เล่นกีฬาแทบตาย บางคนขึ้นมาเป็นลม เหงื่อไหล ตัวเปียกเลย ได้เกรดสอง เพราะเดาะวอลเลย์บอลไม่ได้ เรื่องนี้ทำให้เกิดคำถามในใจว่าเพื่อนจะเกลียดกูไหม ในขณะเพื่อนร้อนกันทุกอาทิตย์ เรานั่งในห้องแอร์ ทำรายงานกระดาษแผ่นเดียวทำชั่วโมงเดียวก็เสร็จแล้ว เท่ากับทั้งเทอมเราเล่นมือถือ เราอ่านหนังสือ เราทำอย่างอื่นทั้งเทอม เราคิดว่าอาจารย์คงไม่รู้ว่าให้เราเล่นวอลเลย์ยังไงเลยเลือกแบบนี้ การปฏิบัติเช่นนี้ทำให้หลายครั้งเพื่อนอิจฉาเรามาก เพื่อนพูดว่า อยากเกิดเป็นหนู สบาย แต่ความที่คนอื่นอยากเกิดเป็นเรา เรารู้สึกว่า เราไม่ได้อยากเป็นแบบนี้ รู้สึกแบบนี้

จุดเปลี่ยนคือ ตอนม.4 เราย้ายโรงเรียนไปอยู่โรงเรียนใหม่ พอถึงคาบวิชาพละเหมือนกัน เราเตรียมหยิบมือถือ หยิบหนังสือมาอ่าน เพราะรู้ว่าไม่ต้องลงไปเรียนเหมือนเดิม อาจารย์พละมายืนเท้าส่ายเอวอยู่ข้างหน้า ถามว่าไม่ไปเรียนพละเหรอ ปกติถ้าเราพูดว่าหนูนั่งวีลแชร์ค่ะ อาจารย์คนอื่นจะเดินไปเลย แต่อาจารย์พละถามว่า นั่งวีลแชร์แล้วไง ลงไปกินข้าวยังลงได้ ทำไมจะลงไปเรียนไม่ได้ วันนั้นเรางงเลย พละเรียนยังไง ไม่เคยเรียนมาก่อนเลย วันนั้นเป็นวิชาเทนนิส เราถือไม้เทนนิสไม่ไหว เราถามอาจารย์ว่าหนูจะตีเทนนิสกับเพื่อนยังไง แล้วอาจารย์ถามว่า ถือลูกเทนนิสถือไหวไหม อาจารย์ก็ยื่นลูกเทสนิสมาให้ถือ เราถือไหว อาจารย์ให้ใช้มือโยน เขาบอกว่าทำได้แค่ไหนทำได้แค่นั้น เขาถามว่าเพื่อนถือไม้เทสนิสเป็นหรือเปล่า เพื่อนถือไม่เป็นเลย อาจารย์ขอแค่ออกกำลังกาย แล้วมาใช้อุปกรณ์กับเพื่อน อยู่ในสนามกับเพื่อนก็พอแล้ว 

วันนั้นเป็นวันเปิดโลกเลย เรารู้สึกว่าไม่เอาเปรียบเพื่อนในวิชาเรียนพละ หลังจากนั้นทำทุกอย่างเลย นั่งนับคะแนน เป็นกรรมการ เปิดเพลง ถ่ายคลิปเต้นลีลาศ แล้วได้กลับมาเรียนวอลเลย์บอลอีกรอบหนึ่ง เราตีลูกไม่ไหว เรากลัว เลยขออาจารย์อยู่นอกสนาม อาจารย์ให้เอาลูกไปเดาะด้วย เรารู้สึกว่าการทำแบบนี้ทำให้เพื่อนไม่ต้องมาเห็นว่า หนูสบาย หนูนั่งเฉยๆ รวมถึงตัวเราเองก็ได้เปิดโลกในชีวิตเหมือนกันที่รู้สึกว่าพละไม่ได้ไกลตัวขนาดนั้น ห้องเรามี 50 คน คนที่ตีวอลเลย์บอลโดน เสิร์ฟมาแล้วรับได้มีคนเดียว เพราะฉะนั้นไม่ได้ต่างอะไรกับเราเลย คนอื่นเขาก็รับไม่ได้เหมือนกัน 

เพราะคนพิการพยายามมากกว่าคนอื่น เราเลยต้องชื่นชม มองเป็นแรงบันดาลใจ

ปราโมทย์: ถามว่าเราต้องใช้ความพยายามมากกว่าคนอื่นหรือเปล่า แล้วแต่เรื่อง ถ้าเป็นเรื่องการใช้ชีวิต คนพิการพยายามใช้ชีวิตมากกว่าคนอื่นแน่นอนเพราะสภาพแวดล้อมในสังคมไทยไม่ดีเลย ไม่เชื่อลองเดินที่ทางเท้าดูว่าคุณต้องใช้ความพยายามแค่ไหนกว่าจะเคลื่อนตัวไปที่ต่างๆ ที่คุณอยากไปได้ คนตาบอดต้องเผชิญกับเสาไฟฟ้า ป้ายหาเสียง ต้นไม้ ส่วนที่เพื่อนวีลแชร์ก็ต้องเจอกับตัวหนอน ทางเท้าไม่เรียบเสมอกัน เจอแหล่งน้ำ ต้องลงไปเดินบนถนน แต่กับเรื่องบางเรื่อง เช่น เรื่องเรียน เรื่องทำงานที่ตัวเองถนัด ผมไม่ได้ใช้ความพยายาม ฟังรอบเดียว อ่านหนังสือก็อ่านรอบเดียว ผมก็เข้าใจ 

ผมเป็นคนหนึ่งที่ค่อนข้างมีปัญหาทางเท้า ใครจะด่าว่าผมอคติ ผมยอม ผมเดินทางเท้าที่กรุงเทพ เจอทั้งป้ายห้าเสียง เจอทั้งเสาไฟฟ้า เจอทั้งป้ายส่องทาง นอกจากทำทางเท้าไม่ดีแล้ว ก่อให้เกิดอันตรายกับเราด้วย รวมถึง Guiding Block ที่เป็นเส้นสีเหลือง ลองไปเดินตามดูจะมีจุดหนึ่งที่เดินไปชนต้นไม้ ทำแล้วทำหวยๆ ทำออกมาทำไม 

มุมของคนตาบอดเวลาเจอ Guiding Block ก็จะรู้สึกสบายใจแล้ว เดินไปแล้วไม่ชนแน่นอน แต่ปรากฏเดินไปแล้วชน เพราะสร้างไม่ถูกตามแบบ ไม่ได้มาตรฐาน ก่อให้เกิดอันตรายกับคนตาบอด

ถ้าสิ่งอำนวยความสะดวกที่ดีมากพอ ภาพความพิการก็จะลดน้อยลง อย่างเช่น เพื่อนตาบอดก็เดินได้ เพื่อนวีลแชร์ก็ไปได้ เวลาเราไปไหนก็ไม่ต้องใช้ความพยายาม ถ้าไปขึ้นรถไฟฟ้า แล้วลงมาเจอทางเท้าดี พอทำธุระเสร็จกลับมาขึ้นรถไฟฟ้ามาเหมือนเดิม แล้วใช้ความพยายามตรงไหน 

นลัทพร: ในฐานะคนนั่งวีลแชร์เราก็รู้สึกว่า เราต้องพยายามมากกว่าคนอื่นอยู่  เราอยากใช้ชีวิตสบาย ง่าย รวดเร็วเหมือนคนอื่น คนพิการจะข้ามถนนทีอาจจะต้องรอพี่วินมอเตอร์ไซด์มาช่วยกันรถให้หรือขึ้นตึกทีต้องให้รปภ.มาหาม คนจะเห็นว่าคนพิการไปไหนทีดูพยายาม ดูสู้จังเลย มายากแต่เขาก็ยังกระเสือกกระสนมา คนเห็นภาพแบบนั้นจนรู้สึกว่า คนพิการเป็นคนพยายาม แต่ถ้าเรามองไปลึกๆ จริงๆ เรารู้สึกว่าสิ่งเหล่านั้นไม่ได้มีแค่ความพยายามแต่มีความไม่เอื้อให้เราตั้งแต่แรก ถ้าฟุตบาธดี ทางเท้าที่ไหนก็เข็นง่าย วีลแชร์ไปสะดวก มี Guiding Block ที่นำทางคนตาบอดสามารถไปไหนมาไหนได้เอง โดยที่ไม่ไปชนต้นไม้ ไปชนเสา เราคิดว่าเราจะเห็นภาพคนพิการที่ไม่ต้องพยายามมาก มันก็เป็นเรื่องปกติ  แต่ทุกวันนี้มันดูเป็นภาพทรหด สู้ชีวิต กมลวรรณปั่นวีลแชร์ไปทำงานกว่าจะถึงเหงื่อท่วม เพราะว่าทางมันเหี้ยมาก เรารู้สึกว่าเป็นอย่างนั้น คนเลยมองว่าสู้ชีวิตทั้งๆ ที่เราไม่ได้อยากสู้ชีวิตหรือพยายามมากกว่าคนอื่น แต่โลกบังคับให้ฉันเป็นแบบนั้น

กมลวรรณ: หากเมืองไม่พิการ ชีวิตเราไม่ต้องพยายาม ไม่ต้องเป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่น ทุกคนเกิดมาต้องใช้ชีวิต ไม่ว่าคนพิการหรือไม่พิการก็ต้องมีเรื่องที่ตัวเองต้องพยายาม มีปัญหาเหมือนกัน มีเรื่องที่แต่ละคนต้องพยายาม เงื่อนไขในชีวิตแต่ละคนก็แตกต่างกัน ใครจะเป็นแรงบันดาลใจให้ใครได้ 

บางอย่างเป็นความเชื่อว่าคนพิการไม่เท่ากับคนไม่พิการ ทำให้คนมองว่าคนพิการเป็นคนด้อยโอกาส ด้อยศักยภาพ เลยมองเป็นภาพเดียวว่าคนพิการเป็นแรงบันดาลใจ ทั้งที่จริงแล้วทุกคนก็ต้องสู้เหมือนกัน

ภาพคนพิการเกิดมาแล้วต้องมีอะไรสักอย่างดีมากกว่าคนอื่นเกิดขึ้นได้อย่างไร

ปราโมทย์: ผมเคยเจอคำพูดว่าเราสมองดี ผมมองว่าเราสมองดีเพราะเราฝึกฝน ไม่ใช่เพราะพระผู้เป็นเจ้าประทานมา ผมรู้สึกว่ามนุษย์ทุกคนจะพิการหรือไม่พิการถ้าชอบทำอะไรสักอย่างต้องฝึกฝน แต่ถ้าคุณไม่ฝึกฝนอะไรเลย ไม่พยายามทำอะไรเลย คุณจะเก่งเรื่องนั้นไหม

บางคนบอกว่าคนตาบอดหูดีกว่าคนอื่น แน่นอนที่คนตาบอดประสาทหูดีกว่าคนอื่น เพราะคนอื่นไม่ยอมใช้หู ถ้าคุณใช้หูเหมือนผม ทำไมคุณหูไม่ดี อย่างซอมเมอลิเยร์ คนที่ชิมไวน์ ถามว่าคนแบบนี้ต้องเป็นคนพิการแล้วถึงลิ้นเทพไหม ก็ไม่จำเป็น ที่เขาเก่งเพราะฝึกฝน  

นลัทพร: ทุกปีกลุ่มผู้ปกครองที่มีลูกเป็นกล้ามเนื้ออ่อนแรงชนิด SMA นัดคุยกัน สิ่งหนึ่งที่เราจะได้ยินคือ เด็กกลุ่มนี้หัวดีกว่าปกติ สมองดี ฉลาด เป็นเด็กเรียนรู้ไว แต่ร่างกาย กล้ามเนื้อไม่แข็งแรง ถ้าให้ตีความจากการฟังกลุ่มพ่อแม่คุยกัน เราคิดว่าเขาปลอบใจตัวเองก่อนว่า ไม่เป็นไรถ้าลูกไม่สมบูรณ์ แต่เขาเป็นเด็กฉลาด เรียนรู้ไว หัวดี เรารู้สึกว่าเขาเยียวยาตัวเองเบื้องต้นแล้วมาเยียวยาเรา ไม่ให้รู้สึกเสียใจมากที่เดินไม่ได้ หรือบอกให้น้องสาวเราที่เดินได้เป็นขาให้เรา แล้วเราเป็นหัว เพื่อให้รู้สึกว่าชีวิตเรามีอะไรดีสักอย่าง เราคิดว่าเขาไม่ได้มีเจตนาเปรียบเทียบหรอกแต่เจตนาที่ทำให้รู้สึกว่าเรามีอะไรที่ดี 

ถ้าอยากชม ชมกันได้เลย ไม่จำเป็นต้องไปเปรียบเทียบกับความพิการ เราจะรู้สึกมีความสุขกว่าเมื่อชมเราโดยไม่มีข้อแม้ เช่น วันนี้แต่งตัวน่ารักจังเลย เฮ้ยไปทำสีผมมาใหม่ ตัดผมมาใหม่เหรอ ทาเล็บใหม่เหรอ เรารู้สึกสามารถชมกันได้เลยโดยไม่ต้องเปรียบเทียบว่ารองเท้าน่ารักจังเลย แพงด้วย แต่เดินไม่ได้ ซื้อทำไม ทำให้เรารู้สึกลังเลว่าที่พูดชมเราหรือเปล่า ที่พูดแปลว่ารองเท้าสวยแต่ไม่เหมาะกับเราหรือเปล่า เราคิดว่าสามารถชมได้เลย รองเท้าสวยจังเลย ทั้งผู้พูดและผู้ฟังรู้สึกดี 

ทำไมภาพคนดีกับคนพิการมาคู่กัน

กมลวรรณ:  เรามองว่าคนพิการมีกรรมมาแต่ก่อน เชื่อว่าชาตินี้ต้องชดใช้กรรม ต้องเป็นคนที่ดี มีศีลธรรม ห้ามดื่มเหล้า ห้ามพูดคำหยาบ แล้วยังมีคนทำคอนเทนต์ว่ารับคนพิการเขาทำงานดียังไง สร้างภาพเหมารวมให้กับสังคมว่าคนพิการเป็นคนขยันกว่าคนอื่น เวลาทำงานก็ทำมากกว่าคนอื่น ตั้งใจมากกว่าคนอื่น ถามว่าคนที่ทำคอนเทนต์นี้เอาอะไรมาวัด ทำคอนเทนต์แบบนี้มันเหมือนตีกรอบ ทั้งที่จริงแล้ว คนอื่นเขาก็ขยันเหมือนกัน อาจทำงานได้มากกว่าเรา เราอาจจะทำงานน้อยกว่าคนอื่นก็ได้ 

ปราโมทย์: เพื่อนในกลุ่มเรียกผมว่าไอ้คนบาป เพราะว่าผมไม่นับถือศาสนา พระผมก็ไม่ไหว้ แต่สิ่งหนึ่งที่ผมไหว้คือคุณพ่อคุณแม่ ครูบาอาจารย์ ผมเคยบริจาคเงินให้กับองค์การเกี่ยวกับมนุษยธรรม เวลาที่ผมรู้สึกอยากแบ่งปัน ผมไม่เชื่อว่าผมจะได้บุญแต่ผมเชื่อว่าผมคนที่ได้รับอย่างน้อยมีอาหารให้เขากิน อิ่มท้อง สิ่งที่ผมทำเรียกว่า ผมเป็นคนดีหรือคนเลว 

ผมชอบเที่ยววัด ผมชอบจับศิลปะ ชอบอ่าน ชอบศึกษา แต่ผมไม่เคยไปบอกเพื่อน เฮ้ย อย่าไหว้  อย่าทำ มันงมงาย แต่เพื่อนอย่ามาล้ำเส้น อย่ามาบอกว่าผมต้องไหว้ เพื่อนก็จะแซวผมว่า ผมคือคนบาป คำถามอย่างนี้ผมเป็นคนดีหรือคนไม่ดี แล้วอะไรคือความดี นี่เป็นเรื่องที่ต้องไปเถียงกันต่อ

อย่างข่าวเรื่องคนตาบอดกินเหล้าถูกปลดออกจากรายการยูทิวบ์ ผมคิดว่า คนที่มีอิทธิพลต่อรายการน่าจะพยายามโปรโมทองค์กรตนเองว่า ต่อต้านการดื่มแอลกอฮอล์เนื่องจากก่อให้เกิดความเดือดร้อนหรือทำลายสุขภาพ ถ้าพิธีกรตาบอดถูกปลดไปทำสิ่งที่เขามีภารกิจที่เขาต่อต้าน ประเด็นนี้เรื่องนี้ไม่ได้มีสัญญากันไว้ 

ชีวิตคนพิการบางคนเจอเรื่องเครียด มีงานหนัก ไม่ได้ต่างอะไรกับคนไม่พิการเลย เราจะบอกว่าคนพิการ ต้องไม่ทำอย่างนี้เพราะมาตราฐานของสังคมบอกว่า พิการอยู่แล้วยังดื่มอีก จะทำร้ายสุขภาพตัวเองไปถึงไหน ผมมองว่า ทุกคนที่คิดจะดื่มยอมรับว่ามีผลเสียต่อสุขภาพได้ 

ผมขอให้สังคมมองคนพิการอย่างเช่นคนทั่วไปที่มีรัก โลภ โกธร หลง มีความรู้สึกอะไรก็ได้ เราอย่าไปตีกรอบกันเลยว่าคนพิการต้องอยู่ในกรอบแบบไหน ต้องไม่ทำอะไร แต่เรื่องที่ถามว่าทำไมคนกินเหล้าถูกปลดออกจากรายการ ถ้าคุณไม่อยากเห็นภาพอย่างนั้น ให้ทำสัญญาขึ้นมาว่าช่วงระหว่างที่คุณถ่ายรายการ รายการออนแอร์ ถ้าคุณกินเหล้าจะปลดออกจากพิธีกร แต่อะไรที่คุณไม่ได้บอกในสัญญาแล้วคุณมาปลดด้วยเหตุผลคนพิการไม่ควรทำ ผมว่าทำแบบนี้ไม่ได้ 

นลัทพร: มาตรฐานของคำว่าคนดีใครเป็นคนคิด ส่วนมากคนที่บอกว่าตัวเองเป็นคนดีจะคิดเอง แล้วใช้มาตรฐานตัวเองบอกเป็นการบอกว่าคนอื่นต้องทำแบบนี้ถึงจะเป็นคนดีหรือควรจะเป็นคนดีแบบนี้ ถ้ามาตรฐานของเราเอง เราก็เป็นคนที่โอเคคนหนึ่ง เราได้เป็นคนในแบบที่เราต้องการ เป็นคนที่ไม่ได้เอาเปรียบคนอื่น ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้คนอื่น สำหรับเรา ไม่ต้องดีมากแต่ได้เป็นคนที่ได้ใช้ชีวิต 

ทำไมถึงมองว่าคนพิการต้องเป็นคนดี เราเคยได้ยินว่า ถ้าเกิดมาเป็นคนพิการแล้วยังทำไม่ดีอีก ทำผิดศีลห้า เดี๋ยวชาติหน้าเกิดมาเป็นแบบนี้อีกหรอก และยังมีวาทะกรรมเมาแล้วขับเท่ากับพิการ เราคิดว่าคนสร้างวาทกรรมไม่ได้เข้าใจว่า การกินเหล้า การสังสรรค์เป็นความสุขหาง่ายที่สุด ราคาถูกที่สุด แต่การดูหนังทุกครั้งที่เครียด เป็นความสุขที่แพงและทำได้คนเดียว แต่การตั้งวงเหล้า มานั่งกับเพื่อนเป็นความสุขที่เรารู้สึกมันหาง่ายในประเทศที่หาความสุขยากแล้วมันแพง เพราะฉะนั้นเราก็มองว่าเวลาคนพูดแบบนี้เหมือนโยนภาระให้กับคนอื่นว่า คุณทำอย่างนี้ไม่ดี ไปหาความสุขอย่างอื่น ทั้งๆ ที่จริงความสุขบ้านเรามันแพงแล้วก็หายาก นอกจากผลักภาระให้คนอื่น ยังผลักภาระให้คนพิการด้วย เห็นคนพิการนั่งวีลแชร์บอกเขาเมาแล้วขับหมด 

นี่เป็นการสร้างภาพจำเดียวว่า คนพิการที่นั่งวีลแชร์น่าจะต้องเมาแล้วขับแน่ๆ เลย ทั้งที่จริงแล้วมีเหตุผลร้อยแปดพันเก้าที่ทำให้พิการ บางคนพิการตั้งแต่เกิดเหมือนกับเรา ไม่ได้เกิดจากการเมาแล้วขับ สุดท้ายแล้วแม้เขาจะเมาแล้วขับจนเกิดความพิการ ก็ไม่ใช่เหตุผลที่คุณจะมาพูดว่า ชีวิตต่อไปนี้ห้ามมีความสุขกับการนั่งดื่ม คนที่เคยมีประสบการณ์กับเหตุการณ์นั้น เขาได้บทเรียนด้วยตัวเขาเองแล้ว คุณเป็นใครก็ไม่รู้ที่รู้ดีไปบอกเขา มันตลก เขาน่าจะรู้ดีกว่าเรา และคงไม่ต้องให้ใครมาบอกว่า กินอีกเดียวก็เมาแล้วพิการซ้ำอีกรอบหนึ่ง คนๆ นั้นคงขำว่าพิการไม่ได้มากกว่านี้แล้ว

ทำไมภาพแรงบันดาลใจจากคนพิการถึงขายดี 

นลัทพร: คอนเทนต์สร้างภาพคนพิการสร้างเป็นแรงบันดาลใจมี 2 ลักษณะ คอนเทนต์แรกเป็นคนพิการที่ดูน่าสงสาร ชีวิตต้องการความช่วยเหลือ ในทีวีคนพิการคนนี้อยู่บ้านที่ไม่มีหลังคา ต้องไถ่ตัวเองไปกับพื้นเพื่อไปเข้าห้องน้ำ เนื้อหาแบบนี้คนจะรู้สึกสะเทือนใจ รีบโอนเงินช่วยเหลือ คอนเทนต์ต่อมาเป็นคนพิการผ่านอุปสรรคร้อยแปดประการมาได้ด้วยตัวเอง ยืนด้วยลำแข้งตัวเอง สู้ด้วยตัวเอง ไม่ได้รับความช่วยเหลือจากนโยบายภาครัฐ คนทั่วไปจะรู้สึกชื่นชมและมองว่าขนาดเป็นพิการเขายังทำได้ เรามีอวัยวะครบ 32 ประการก็ต้องทำได้สิ พอเป็นภาพคนพิการที่ดูเข้มแข็ง คนพิการที่ออกมาให้กำลังใจคนอื่น เป็นคนพิการที่เป็นต้นแบบให้คนอื่นสู้ชีวิตหรือให้กำลังใจคนที่ท้อแท้ เราว่าคล้ายกับหนังสือสร้างกำลังใจ หนังสือสร้างแนวทางการดำเนินชีวิต 

คนไม่พิการแต่ไม่มีแรงใจในการทำงาน รู้สึกท้อในการใช้ชีวิตเลยเอาชีวิตไปเปรียบเทียบกับคนพิการ ดูสิขาเขาก็ไม่มี แขนก็ใช้ได้ข้างเดียว เขายังออกไปทำงานเลย แล้วทำไมเราแขนครบขาครบ ทำไมเราไม่ทำ จะทำให้เริ่มฮึกเหิม เราไม่ได้บอกว่ามันดีหรือไม่ดี สุดท้ายแล้วเราคิดว่า คนเราควรหากำลังใจจากที่อื่นบ้าง ไม่ควรต้องเปรียบเทียบว่าใครต่ำกว่าสูงกว่าตลอดเวลาเพื่อทำให้ตัวเองมีกำลังใจ

ในกลุ่มที่ป่วยเป็นกล้ามเนื้ออ่อนแรงมีผู้ใหญ่น้อยมาก ประมาณ 3-4 คน แล้วน้องๆ ที่อยู่ในกลุ่มโตมากับการเปรียบเทียบกับเราตลอด เช่น ลูกดูไว้นะ พี่หนูเรียนอันนี้ได้ หนูก็ต้องเรียนได้ ถ้าพี่หนูทำงานอันนี้ได้ หนูต้องทำงานอันนี้ได้ แต่เราบอกน้องเสมอว่า ถ้าน้องอยากทำ น้องจะทำได้ แต่ถ้าน้องไม่ได้อยากทำ น้องก็สามารถทำอย่างอื่นได้ เรารู้สึกว่าไม่จำเป็นที่ต้องเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นตลอดเวลา เราเปรียบเทียบตัวเองกับตัวเองก็ได้ เปรียบเทียบกับตัวเองเมื่อวาน เปรียบเทียบกับตัวเองปีที่แล้วก็ได้

ปราโมทย์: ผมมองว่าที่มันขายดี เพราะคนรู้สึกอึดอัดกับสังคมมากกว่า คนเลยต้องการหาแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต ดูสภาพประเทศตอนนี้สิ เศรษฐกิจก็ย่ำแย่ หุ้นก็ตก ออกไปทำงานได้ค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท ที่เคยสัญญากันไว้ว่าจะขึ้นเป็นวันละ 600 บาทก็ยังไม่ทำสักที เบี้ยคนพิการ 3,000 ก็ยังไม่ได้ แจกเงิน 10,000 บาทไม่ใช่ประชาชนทุกคนที่ได้ นโยบายรัฐที่ไม่ได้ทำให้คนมีความสุขมีมานานแล้ว ผมเลยมองว่าแรงบันดาลใจขายได้

ในฐานะที่ผมเป็นคนพิการ ไปห้ามความคิดให้ไม่ให้คนสร้างแรงบันดาลใจกับคนพิการไม่ได้หรอก แต่ผมอยากให้คนสำรวจจิตใจตัวเองว่า ที่ผ่านมาเรามองตัวเองกับคนพิการในลักษณะเปรียบเทียบหรือเปล่า ถ้าไม่มองเปรียบเทียบแล้วจะมองได้อย่างไรบ้าง เรามองว่าคนหนึ่งคนเกิดมาต่างกัน มีหน้าที่ในสิ่งที่ทำต่างๆ เราก็ทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด อย่าไปโฟกัสว่าคนพิการมีความแตกต่างจากคนอื่นเลย เขาก็เป็นคนเหมือนกันแต่เป็นคนที่มีความหลากหลาย

ผมเคยเลี้ยงกล้วยไม้ต้นหนึ่งชื่อว่า ต้นไร้ใบ เป็นกล้วยไม้ที่ไม่มีใบมันก็เติบโตได้ ซึ่งเป็นประเภทหนึ่งของกล้วยไม้ที่มีความหลากหลาย ในวงการกล้วยไม้เราไม่เคยพูดว่า ต้นไร้ใบเป็นต้นไม้ที่พิการ แต่คือพันธุ์หนึ่งของคนกล้วยไม้ที่มีความพิเศษที่ต้องการมาเลี้ยง มองว่าเป็นของหายาก ถ้ามาเทียบกับคนพิการ พอไม่มีตา ไม่มีแขน ไม่มีขาปุ๊บแตกต่างกบคนอื่นทันที ทำไมเราปล่อยคนพิการเป็นความหลากหลายหนึ่งของมนุษย์ไม่ได้เหรอ ไม่ต้องไปเปรียบเทียบว่าทำอะไรได้หรือไม่ได้ มองว่าเป็นความหลากหลายหนึ่งของเขา

ผมไม่เคยสร้างแรงบันดาลใจจากการเปรียบเทียบ สิ่งเหล่านี้ขึ้นอยู่กับครอบครัว คุณพ่อคุณแม่ผมไม่เคยสอนให้ผมเปรียบเทียบกับใครว่าคนนู้นทำได้เราต้องทำได้ ผมไม่เคยคิด ตอนเป็นนักเรียนมีหน้าที่เรียน ตอนนี้เราทำงาน เราก็ทำงานให้ดีที่สุด 

กมลวรรณ: สาเหตุที่คอนเทนต์สร้างแรงบันดาลใจจากคนพิการขายดีเพราะคนพิการเหลื่อมล้ำกว่าคนพิการไม่ตั้งแต่แรก ถ้าเรารู้ว่าเขาเกิดมาพิการ เรามีเบี้ยคนพิการ มีการรักษาเท่าเทียบกันในกลุ่มคนพิการทุกคนแล้วให้คนพิการสามารถใช้ชีวิต ช่วยเหลือตัวเองให้มากที่สุด จะทำให้ไม่เกิดความเหลื่อมล้ำ เราไม่ต้องพยายาม เราไม่ต้องสู้ชีวิต ทำให้มุมมองที่เราต้องเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนอื่นหมดไป 

นลัทพร: นอกจากคนพิการมีสวัสดิการที่เพียงพอแล้วเขาจะไม่เป็นแรงบันดาลใจให้ใครถ้าคนทั่วไปทั้งสังคมมีสวัสดิการที่พอ สามารถหาความสุขได้ง่าย ไม่ต้องมานั่งเปรียบเทียบตัวเองกับคนต่ำกว่าว่าเขาทำได้ สำหรับคนทั่วไปไม่ได้พิการ เราคิดว่าการมองคนพิการเป็นแรงบันดาลใจก็หมดไปด้วย 

อยากเป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่นบ้างไหม

ปราโมทย์: ส่วนตัวผมไม่ได้อยากเป็นแรงบันดาลใจให้กับใคร คนที่เห็นผมแล้วรู้สึกว่าผมเป็นแรงบันดาลใจ ผมก็ห้ามไม่ได้ หากช่วยทำให้คนรู้สึกอยากมีชีวิตอยู่ ผมก็ไม่รังเกียจ แต่ไม่ใช่หน้าที่ของผมที่ต้องเป็นแรงบันดาลใจให้กับใครสักคนหนึ่งให้กับคนที่รู้สึกแย่ รู้สึกเศร้า ผมมองว่าอันนี้เป็นหน้าที่ของคนที่ดูแลประชาชนอย่างรัฐ 

มีอยู่ช่วงหนึ่งผมเคยไปพูดอะไรสักอย่างให้น้องคนหนึ่งฟัง หลายปีต่อมาพอผมเรียนจบ น้องเขาทักมาบอกว่า ตอนแรกเขาอยากจะลาออก แล้วเขาได้ฟังผมพูด เขาก็ตั้งใจเรียน สอบจนเขาจบ อันนั้นผมก็ยินดีด้วย ผมเหยียบเรือสองแคม ไม่ตอบฟันธงสักอย่าง ถามว่าผมอยากเป็นแรงบันดาลใจไหม ไม่อยากเป็น แต่ถ้าเข้ามาหาผม ถามเรื่องกฎหมาย แล้วกลับไปตั้งใจเรียนจนจบ อันนี้ผมยินดีช่วย ยินดีให้คำตอบ แต่ถ้าเข้ามาแล้วพูดว่ามองไม่เห็นแล้วยังทำนู้นทำนี้ได้หรือผมมองเห็น ผมต้องทำได้ดีกว่า ขอร้องอย่างคิดแบบนั้นเลย คุณจะมองเชิงเปรียบเทียบว่าคุณทำได้เพราะมองว่าคนพิการด้อยกว่านั่นเอง

กมลวรรณ: แล้วแต่ว่าอยากมองว่าเราเป็นแรงบันดาลใจหรือไม่เป็นแรงบันดาลใจก็ได้ แต่ถ้าให้เราเลือกไม่เป็นดีกว่า เพราะรู้สึกว่าชีวิตเราก็เหมือนคนทั่วไป ถ้าเวลาเราบอกว่าเป็นแรงบันดาลใจ เราไม่รู้ว่าเป็นแรงบันดาลใจให้ใคร เป็นแรงบันดาลใจเรื่องอะไร ถ้ามีคนมาบอกเราว่า เราเป็นแรงบันดาลใจให้เขามองโลกในแง่ดี เพราะเราเป็นคนชอบยิ้ม อารมณ์ดี ทำให้เขารู้สึกว่าวันนี้เป็นวันที่ดีของเขา ถ้าเราสร้างความสุขให้กับคนอื่น เราถือว่า แบบนี้เป็นการสร้างแรงบันดาลใจ แต่ถ้าให้เป็นแรงบันดาลใจทุกๆ อย่างในชีวิตของเขา เช่น การมีชีวิตอยู่ต่อโดยที่เราไม่รู้เหตุผลว่าทำไมเราถึงเป็นให้เขาได้ เห็นเราแล้วไม่อยากตาย เรารู้สึกว่ามันไม่ใช่

นลัทพร: ถ้ามีตัวเลือกระหว่างอยากกับไม่อยากก็คงตอบว่า ไม่อยาก บางครั้งเวลามีคนมาบอกว่า เห็นเราแล้วมีกำลังใจ เห็นเราดูสู้ชีวิต เรายังไปตั้งคำถามต่อตัวเองเลยว่าเราไปทำอะไรให้เขาคิดแบบนั้น แค่เราหายใจ ออกไปห้างทำให้เขารู้สึกมีกำลังใจ บางครั้งเราตั้งคำถามกับตัวเองว่าสิ่งที่เราทำไม่ใช่สิ่งที่ประหลาดเลย ไม่ใช่สิ่งที่ดูเก่ง ไม่ใช่สิ่งเราจะว้าว แต่เขาว้าวเพราะอะไร 

แต่มีบางเรื่องที่เราเคยเจอแล้วรู้สึกว่าก็ยินดีที่เขามองเราแบบนั้น เคยมีครั้งหนึ่งเราไปเที่ยวในสถานบันเทิงแล้วมีผู้หญิงคนหนึ่งวิ่งเข้ามากอดแล้วร้องไห้ ตอนนั้นเรางงเพราะคิดว่าคนที่มาเที่ยวไม่น่าจะมีอารมณ์นี้ แล้วเราถามว่าเขาเป็นอะไร ร้องไห้ทำไม เขาบอกว่า เมื่อก่อนเขากับเพื่อนสนิทคนหนึ่งมาเที่ยวด้วยกันตลอด แล้วเพื่อนเจออุบัติเหตุอะไรสักอย่างแล้วกลายเป็นคนพิการ นั่งวีลแชร์เหมือนเรา แล้วไม่เคยออกมาเที่ยวอีกเลยหลังจากมีความพิการ พอเขาเห็นเรามาเที่ยว เราเต้นใหญ่เลย อยู่ในพื้นที่เดียวกันกับที่เขาและเพื่อนเคยอยู่ เขารู้สึกว่า น่าจะพาเพื่อนออกมาเที่ยวอีกได้

เวลาจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับใคร เรารู้สึกว่าต้องมีเนื้อหา ต้องมีประเด็นว่าทำไมรู้สึกว่าเราเป็นแรงบันดาลใจให้เขาทำอะไรสักอย่าง กรณีนี้เขาไม่เคยคิดเลยว่าเพื่อนเขาจะได้มาเที่ยวอีก แค่มองว่าเขาจะออกจากบ้านก็ออกไม่ได้แล้ว แต่พอเขาเห็นว่าเราเข้ามาอยู่ในพื้นที่นี้ได้ มาเต้นได้ มากินเหล้าได้ เขามองว่าเดี๋ยวไปลองพาเพื่อนออกมาดีกว่า วันนั้นเราไม่รู้สึกแย่เลยเพราะเรารู้สึกว่าเขารู้สึกอย่างที่พูดจริงๆ ว่าเขาอยากจะพาเพื่อนมาออกมา เรามองว่าการเป็นแรงบันดาลใจใครสักคน ไม่ใช่หนูเดินเข้าไปสถานบันเทิง แล้วบอกว่าหนูมาเป็นแรงบันดาลใจให้คนพิการมาเที่ยวนะคะ เราคิดว่ามันต้องเกิดจากการเห็น ความรู้สึก เราคิดว่าสิ่งที่เขาทำมันให้อะไรกับเราสักอย่างจริงๆ มันถึงเป็นแรงบันดาลใจ ไม่ใช่เพียงแค่ว่าฉันเป็นคนพิการแล้วก็เป็นแรงบันดาลใจได้แล้ว 

ในสมัยก่อนประโยคถ้าหนูทำได้ ทุกคนก็ทำได้ ฮิตมากเลย มันสร้างแรงบันดาลใจ ถ้าเราสังเกตช่วงปีสองปีที่ผ่านมา ก็มีการพูดประโยคนี้อยู่แต่คอมเมนต์ต่างไป คนเริ่มรู้สึกว่าการจะเป็นได้ขึ้นอยู่กับบริบทหลายอย่าง เราไม่สามารถพูดว่าเราเป็นได้ คุณก็เป็นได้ ทั้งที่เราไม่ได้เข้าใจว่าชีวิตเขาเป็นยังไง เราคิดว่าการพูดแบบผิวเผินไปหน่อย เราไม่จำเป็นต้องให้กำลังใจแบบนั้นเลย สุดท้ายถ้าเราเป็นกำลังใจแบบนั้นไม่ได้มันเจ็บปวด เพราะเราเคยเป็นคนที่อยู่สถานการณ์แบบนั้น โรคของเรามีความรุนแรงต่างกัน ที่นี่น้องๆ บางคนโตมาไม่เคยนั่งได้เลยทั้งชีวิต แล้วแม่บางคนก็พูดว่า เดี๋ยวหนู 10 ขวบ หนูก็นั่งได้เหมือนพี่หนู ทั้งที่เรารู้อยู่เต็มอกว่าเป็นไปไม่ได้ด้วยอาการของโรค เพราะฉะนั้นการสร้างภาพจำ การสร้างกำลังใจที่อาจจะเป็นไปไม่ได้ มันอาจจะไม่เกิดขึ้น สุดท้ายแล้วคนเจ็บปวดไม่ใช่ใครมันเป็นคนที่ถูกบอกให้เป็นอย่างนั้น เราคิดว่าไม่ควรไปสร้างความหวัง ไปสร้างแรงบันดาลใจแบบนี้ให้กับใคร ทั้งๆ ที่เราไม่ได้เข้าใจบริบททั้งหมดในชีวิตเขา