Skip to main content

การนิยามว่า ‘อวัยวะครบ 32’ คือมนุษย์ที่มีร่างกายครบสมบูรณ์ ท่องซ้ำๆ จนกลายเป็นความเคยชิน บ่อยครั้งเราเผลอเกิดความรู้สึกบางอย่าง เป็นการมองเห็นกันและกันโดยไม่เกี่ยวกับทฤษฎีใดๆ โดยไม่รู้ตัว.. ฟากหนึ่งคือคนที่ ‘ครบ’ อีกฟากคือคนที่ ‘ขาด’

บรรยากาศบนรถไฟฟ้า

หลังรัฐประหาร 2557

ท่ามกลางบรรยากาศทางการเมืองที่ปิดกั้นคนเห็นต่าง กลางปี 2558 คำกล่าวว่า ‘เราคือเพื่อนกัน’ แพร่กระจายอยู่ในโลกออนไลน์ ทั้งเป็นสเตตัสเฟซบุ๊ก เป็นคลิปวีดีโอ เป็นลายเสื้อ เป็นบทเพลง เป็นทุกสิ่งทุกอย่างที่แสดงออกซึ่งมิตรภาพกับกลุ่มคนที่ถูกจับกุมจากการต่อต้านอำนาจไม่ชอบธรรม

ถึงจะถูกรัฐ (ที่ไม่ผ่านการเลือกตั้ง) ตราหน้าในทางเสียหาย แต่พวกคุณคือเพื่อนของเรา

ด้วยพลังของโซเชียลมีเดีย หลายคนรับรู้ เปิดใจ จนกระทั่งเข้าใจ แต่เมื่อมองไปยังคนทั้งประเทศ ภายใต้การสื่อสารกระแสหลักที่ถูกปิดกั้นและควบคุม ต้องบอกว่ามีเพียงไม่มากนักที่จะรับรู้ เปิดใจ จนกระทั่งเข้าใจ คนส่วนใหญ่หาได้มองพวกเขาเป็นเพื่อน มิหนำซ้ำ บางคนยังมองว่าพวกเขาเป็นศัตรูที่ควรกำจัด

ถึงจะเรียกร้องความชอบธรรม แต่พวกเขากำลังกีดขวางความสงบเรียบร้อยของประเทศไทย

ผมตั้งชื่อคอลัมน์และบทความชิ้นแรกว่า ‘เราคือเพื่อนกัน’ ด้วยรู้สึกว่าบรรยากาศทางการเมืองที่แบ่งแยก ทั้งที่ไม่เคยทำความเข้าใจ ทั้งที่คิดเอาเองแล้วปักหลักความเชื่อไปล่วงหน้า ทำให้ผมนึกถึงสิ่งที่คนพิการกำลังเผชิญ

- -

เมื่อพูดถึง ‘คนพิการ’ คุณนึกถึงอะไร

เราต่างนึกถึงมนุษย์ที่มีร่างกายบางส่วนใช้การไม่ได้ (หรือใช้ได้ไม่เต็มที่) ตามทฤษฎี คือ การมองเห็น การได้ยินและพูด การเคลื่อนไหวร่างกาย สติปัญญา จิตใจ และการเรียนรู้ ทั้งเป็นมาตั้งแต่เกิดและเพิ่งเป็นภายหลัง ส่งผลให้การใช้ชีวิตแต่ละวันมีข้อจำกัด บางคนค่อยๆ เรียนรู้จนใช้ชีวิตได้อย่างกลมกลืน บางคนยังคงติดๆ ขัดๆ และบางคนแทบใช้ชีวิตไม่ได้เลย

 การนิยามว่า ‘อวัยวะครบ 32’ คือมนุษย์ที่มีร่างกายครบสมบูรณ์ ท่องซ้ำๆ จนกลายเป็นความเคยชิน บ่อยครั้งเราเผลอเกิดความรู้สึกบางอย่าง เป็นการมองเห็นกันและกันโดยไม่เกี่ยวกับทฤษฎีใดๆ

โดยไม่รู้ตัว.. ฟากหนึ่งคือคนที่ ‘ครบ’ อีกฟากคือคนที่ ‘ขาด’

ผมคงไม่บอกว่า ‘คนพิการ’ กับ ‘คนไม่พิการ’ ไม่แตกต่างกัน เพราะความจริงไม่ใช่แบบนั้น มองด้วยตาก็เห็นอยู่ว่าคนนี้กับคนนั้นไม่เหมือนกัน แต่จริงหรือไม่ว่า มนุษย์ทุกคนล้วนแตกต่างกัน -- เป็นธรรมดา (ขนาดเป็นพี่น้องท้องเดียวกัน หรือแม้แต่ฝาแฝด รายละเอียดของร่างกายยังแตกต่าง) การมีบางอวัยวะไม่เหมือนกันเป็นหนึ่งในความแตกต่าง ดังนั้น ต้องมีอะไรสักอย่างที่ขับเน้นความแตกต่างให้มากจนกลายเป็นความรู้สึกแบ่งแยกโดยไม่รู้ตัว

ว่ากันโดยแนวคิด ‘สภาพแวดล้อม’ คือองค์ประกอบที่ขับเน้นให้คนพิการมี ‘ความแตกต่างเป็นพิเศษ’ เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานแทบทั้งหมดออกแบบเพื่อคนส่วนใหญ่ (กลุ่มคนที่เสียงดังกว่าในทางการเมืองนั่นแหละ) โดยละเลยการออกแบบให้เอื้อกับทุกคน ตั้งแต่เรื่องใหญ่ๆ ไปจนถึงรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ

ใช่ เมื่อเป็นคนส่วนใหญ่ที่ได้ประโยชน์ เราจึงแทบไม่สังเกตผลกระทบที่เกิดขึ้นกับคนส่วนน้อย

เพื่อให้เห็นภาพ ลองถามอาม่าอากงดูก็ได้ จะขึ้นรถเมล์รุ่นเก่าๆ สักที การก้าวขาไปเหยียบบันไดขั้นแรก มันยากแค่ไหน แล้วคนพิการที่ใส่ขาเทียมล่ะ (รถเมล์บ้านเราตัดคนใช้วีลแชร์ไปได้เลย) / ฟุตบาทเดี๋ยวมีเดี๋ยวไม่มีทางลาดคือการสัญจรที่คิดถึงแต่คนก้าวขาได้คล่องแคล่ว โดยละเลยคนที่ใช้วีลแชร์ไป (ไม่มีทางลาดแค่หนึ่งคืบ หมายถึงการไปต่อไม่ได้ของวีลแชร์เลยนะ) / คนตาบอดแทบไม่ใช้ทางเท้าที่ออกแบบให้นูนขึ้นแล้ว เพราะที่ผ่านมามักก่อสร้างแบบสะเปะสะปะ เดินๆ อยู่ก็โผล่ไปชนตู้โทรศัพท์ สะพานลอย เสาไฟฟ้า หรือบางครั้งนูนอยู่ดีๆ ก็หยุดเป็นแผ่นเรียบเอาดื้อๆ (เคยมีคนตาบอดเล่าให้ฟังว่า เขาใช้ไม้เท้าขาวเขี่ยทางเท้าที่นูน ไม่ได้ยืนอยู่บนความนูนแล้วอีกอย่างก็คือ ความนูนจะไม่จำเป็นเลย ถ้าทางเท้าไม่ชำรุดและเรียบเสมอกัน) ฯลฯ

ลองจินตนาการดูว่า ถ้าโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ได้รับการออกแบบให้เอื้อสำหรับทุกคน เช่น ฟุตบาท ทางลาด ลิฟท์ ห้องน้ำ รถโดยสารสาธารณะ ฯลฯ บรรยากาศนอกบ้านจะเอื้อให้ทุกคนอยากออกมาใช้ชีวิตขนาดไหน (เจ้าหน้าที่รถไฟฟ้าทั้งบนดินและใต้ดินบอกว่า ทุกวันนี้มีชาววีลแชร์มาใช้บริการเพียงหลักหน่วยต่อวันเท่านั้น) เราจะรับรู้และคุ้นเคยกับเมืองที่มีผู้คนอันหลากหลาย และรู้สึกถึง ‘ความแตกต่างเป็นพิเศษ’ น้อยลง จนมองพวกเขาเหมือนๆ กับเพื่อนมนุษย์ที่มี ‘ความแตกต่างเป็นธรรมดา’

- - -

หันซ้ายหันขวาในเมืองกรุงเทพฯ คุณคงเห็นว่าโครงสร้างพื้นฐานยังขับเน้นให้เกิด ‘ความแตกต่างเป็นพิเศษ’ อย่างทั่วถึง (เป็นเช่นนั้นมาเนิ่นนาน และอาจเป็นเช่นนั้นไปอีกนานเลย) ระหว่างที่ประชาชนและรัฐต้องต่อรองกัน ยังมีบางอย่างที่คุณสามารถเริ่มต้นได้ทันที

เมื่อ ‘คนไม่พิการ’ พบเจอกับ ‘คนพิการ’ แล้วสัมผัสได้ถึงความยากลำบากที่เขาและเธอเผชิญอยู่ บางคนรู้สึกสงสารจับใจ รีบร้อนคิดหาวิธีการใดๆ ไปแก้ไขสถานการณ์ติดขัดให้ดีโดยเร็ว ผ่านความเข้าใจที่มีอยู่อย่างจำกัด
 

สงสาร > ช่วยเหลือ > รู้สึกดี


แค่นี้ก็พอแล้วไม่ใช่เหรอ

ความสงสารไม่ใช่เรื่องผิดนะครับ (แล้วจริงๆ ก็ห้ามยากด้วย) แต่ปัญหาคือพอมันมากเกินไป จนเกิดการช่วยเหลือที่คุกคามความรู้สึก คนพิการหลายคนกระอักกระอ่วนและอึดอัด เพราะสัมผัสได้ถึงคุณค่าในตัวเองที่แตกต่าง บางคนแทนที่จะดีใจว่าได้รับมิตรภาพ ก็อาจรู้สึกว่าตัวเองด้อยค่าไปเลย ซึ่งส่วนใหญ่ผู้กระทำไม่ค่อยรู้ตัวหรอก

เคยมีคนพิการหลายคนพูดให้ฟังว่า ส่วนใหญ่ (อาจเรียกได้ว่าเกือบทั้งหมด) ของคนพิการ ต้องการความช่วยเหลือเท่าที่จำเป็น คุณอาจอุดหนุนข้าวของที่คนพิการนำมาขาย มากกว่ายื่นเงินให้ด้วยความสงสาร เพราะพ้นไปจากการมีชีวิตรอด กินอิ่ม นอนหลับ มนุษย์ทุกคนปรารถนาคุณค่าและความภูมิใจในตัวเอง 

ถ้าทำได้ เขาและเธอก็อยากช่วยเหลือตัวเองให้มากที่สุด ดังนั้น ถ้าเราอยากช่วยเหลือ ทางออกคือการเรียนรู้วิถีชีวิตที่แตกต่าง ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดก็คือ การถาม
 

ถามเพื่อทำความเข้าใจ

ถามเพื่อไม่ใช่แค่คิดไปเอง

ถามเพื่อให้เกิดการปฏิบัติต่อกันที่เหมาะสม


“มีอะไรให้ช่วยไหมครับ/คะ” คุณอาจถามง่ายๆ เมื่อเจอคนตาบอดยืนเก้ๆ กังๆ อยู่ที่ป้ายรถเมล์ แล้วเขาหรือเธอจะตอบกลับมาเองว่าอยากให้ช่วยอะไร หรือถ้ามีโอกาส การสนทนากันยาวๆ ในเรื่องที่สงสัย ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ทำความเข้าใจเพื่อนมนุษย์ (เชื่อว่าคนพิการหลายคนยินดีพูดคุยด้วยนะ)

มันดีงามมากๆ นะครับ ที่มนุษย์มีจิตใจอยากช่วยเหลือกัน แต่มันคงเป็นมิตรมากกว่า ถ้าเรารักษาระยะและสงวนท่าทีไม่ให้มากเกินไป เพื่อคงไว้ซึ่งคุณค่าที่มนุษย์ทุกคนปรารถนาจะได้รับไม่ต่างกัน

และนั่นคงเป็นการแสดงออกได้ตรงมากกว่า

สำหรับคำว่า ‘เราคือเพื่อนกัน’