Skip to main content

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 18.10 น. ของวันนี้ กลุ่ม Allism (Alliance for Inclusive Society Movement) จัดกิจกรรมการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ผ่านละครคนหน้าขาวบนวีลแชร์ คว้าชุดนักเรียนที่ถูกวางไว้บนขั้นบันไดบริเวณสกายวอร์คหน้าหอศิลป์กรุงเทพฯ เพื่อเรียกร้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาของคนพิการ โดยได้อ่านแถลงการณ์ใจความว่า
.
สืบเนื่องจากรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 54 ว่าด้วยเรื่องการศึกษา ใจความว่า ‘รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลาสิบสองปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย’ กลับไม่มีเนื้อหาใดที่กล่าวถึงคนพิการดัง เช่น มาตรา 49 วรรค 2 ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ซึ่งบัญญัติว่า ‘คนพิการมีสิทธิที่จะได้รับการสนับสนุนจากรัฐเพื่อให้ได้รับการศึกษาทัดเทียมกับบุคคลอื่น’ การบัญญัติเช่นนี้ทำให้คนพิการทุกประเภทถูกละเลย เข้าไม่ถึง จนอาจนำไปสู่การละเลย เพิกเฉยต่อหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐ ส่งผลต่อเนื่องทำให้คนพิการไม่ได้สิทธิขั้นพื้นฐานด้านการศึกษา กระทบคุณภาพชีวิต และขาดโอกาส ถูกแบ่งแยกกีดกันจากกิจกรรมทางสังคม จนขาดโอกาสในการทำงาน ถูกทิ้งไว้ข้างหลังและไม่สามารถเป็นกำลังในการขับเคลื่อนประเทศได้

เราเชื่อในจุดยืน 2 ข้อ ได้แก่
1. ข้อเรียกร้องทุกข้อต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของแนวคิด IL-Independent Living หรือแนวคิดการดำเนินชีวิตอิสระ ที่เป็นกระบวนการสำคัญในการสร้างและคืนอำนาจในการตัดสินใจให้คนพิการ
2. ข้อเรียกร้องทั้งหมดต้องเกิดขึ้นบนสภาพแวดล้อมของสังคมที่เป็นประชาธิปไตย ประชาชนมีอำนาจสูงสุด ปราศจากการรัฐประหาร ฉีกรัฐธรรมนูญ ดังเช่นที่เป็นมาตลอด เพราะเราเชื่อว่าหลักการประชาธิปไตยจะทำให้เสียงและคุณค่าของคนทุกคนเท่ากัน และเกิดการกระจายอำนาจ ที่จะช่วยให้เกิดการมีส่วนร่วมต่อการตัดสินใจในชีวิตของตัวเองบนทุกระดับ

กลุ่ม Allism ขอเรียกร้องให้
1. ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ มาตราที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการศึกษาควรระบุให้ คำนึงถึงความแตกต่างหลากหลาย และรัฐต้องสนับสนุนสิ่งที่เอื้อให้เกิดการเข้าถึงการศึกษาของคนพิการทุกประเภท เช่น ผู้ช่วยคนพิการ สื่อการสอน สภาพแวดล้อม ฯลฯ โดยคำนึงถึงความต้องการของผู้เรียนเป็นสำคัญ และมีบทบังคับใช้กับทุกสถานศึกษา ไม่ว่าจะของภาครัฐหรือเอกชน
2. รัฐธรรมนูญต้องมีผลบังคับให้สถานศึกษาตามความหมายของกฎกระทรวงกำหนดสิ่งอำนวยความสะดวกในอาคารสำหรับคนพิการและคนชรา ทำตามหลักเกณฑ์ข้อบังคับ และมีผลย้อนหลังครอบคลุมถึงทุกโรงเรียน
3. รัฐธรรมนูญควรคุ้มครองสิทธิในการเข้าถึงและทำกิจกรรมทางสังคม โดยมีการให้สวัสดิการเบี้ยความพิการ ครอบคลุมมาตรฐานค่าครองชีพตามเกณฑ์เส้นความยากจน โดยเฉลี่ยของประเทศ เพื่ออำนวยต้นทุนให้คนพิการมีโอกาสในการเข้าถึงการศึกษา ตราบที่ประเทศไทยยังไม่มีระบบขนส่งสาธารณะที่เอื้อและอาศัยต้นทุกต่ำสำหรับทุกคน

เราเห็นด้วย และสนับสนุน ข้อเรียกร้องของนักศึกษา และแนวร่วมอื่นๆ ที่ตั้งอยู่บนแนวทางประชาธิปไตย เพราะเชื่อว่า การมองเห็นคนทุกคนเท่ากัน ยอมรับความแตกต่างหลากหลาย และการมองว่าเสียงของทุกคนมีคุณค่าจะนำพาประเทศไปสู่สังคมที่อยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันได้

นอกจากนี้ อรรถพล ศรีชิษณุวรานนท์ ตัวแทนกลุ่ม Allism ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า 

"การเมืองแย่ สภาพแวดล้อมแย่ เราถูกริดรอนสิทธิหายไป การบริหารบ้านเมืองของรัฐบาลนี้ก็เห็นอยู่ในแง่เศรษฐกิจ ปัญหาการงานของคนพิการช่วงโควิดก็กระทบ คนทั่วไปถูกปลดโควต้าการทำงานคนพิการก็น้อยลง กระทบในมิติด้านการใช้ชีวิต ค่าครองชีพที่สูงขึ้น คนที่พิการรุนแรงมีต้นทุนในการใช้ชีวิตที่สูง ถ้าการเมืองดี สวัสดิการคนพิการก็จะดีขึ้น จะมีสิทธิที่เข้าถึงได้ การศึกษาที่มีมิติทั้งการเรียนร่วมและเรียนรวมได้ เขาจะได้พบมุมมองที่ตัวเองไม่ได้ถูกจำกัด มีเพื่อนหลากหลายกลุ่ม เข้าถึงโอกาสหลากหลายช่องทาง

กิจกรรมวันนี้ สัญลักษณ์บันไดเปรียบเสมือนอุปสรรคสี่ด้าน ด้านสภาพแวดล้อม ทัศนคติ การมีส่วนร่วมกับสังคม และกฏหมายกับนโยบาย ทำให้เด็กพิการคนหนึ่งไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพ เสื้อคือตัวแทนของเด็กพิการที่อยากจะเรียนแต่สภาพแวดล้อมไม่เอื้อ เราคาดหวังให้กิจกรรมนี้เป็นการส่งเสียงว่า เราเห็นด้วยกับการร่างรัฐธรรมนูญใหม่

เราเน้นเรื่องนี้เพราะว่าการศึกษาคือเครื่องนำทาง ทำให้เห็นสังคมมากขึ้น อนาคตที่เขาจะนำไปต่อยอดในอาชีพและความฝันที่เขาถนัดก็มีโอกาสมากขึ้น

หลังจากนั้นจึงจบกิจกรรม

ประมวลภาพกิจกรรม