Skip to main content

เขียนและภาพโดย: ลลิล ก่อวุฒิกุลรังษี

สถานีรถไฟฟ้าเซนต์หลุยส์ (S4) เป็นสถานีที่เพิ่งเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยก่อสร้างตามแนวเส้นทางเดิมระหว่างสถานีรถไฟฟ้าช่องนนทรี และสถานีรถไฟฟ้าสุรศักดิ์ การก่อสร้างนี้ได้รับอนุมัติจากกองทุนโครงสร้างพื้นฐานและสนับสนุนโดย ร่วมลงทุนก่อสร้างตามข้อมูลจากเว็บไซต์ฐานเศรษฐกิจ (อ่านที่นี่

อย่างไรก็ดี ขณะที่มีการฟ้องคดีต่อศาลปกครองเกี่ยวกับสิ่งอำนวยความสะดวกคนพิการเมื่อปี 2558  สถานีรถไฟฟ้าเซนต์หลุยส์ยังไม่มีแผนก่อสร้าง ข้อแตกต่างที่สำคัญคือ การก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าเซนต์หลุยส์เกิดขึ้นหลังประเทศไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ และมีกฎหมายเกี่ยวกับมาตรฐานการเข้าถึงสถานที่ต่างๆ (accessibility standards) แล้วได้แก่ กฎกระทรวงกำหนดลักษณะหรือการจัดให้มีอุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวกหรือบริการในอาคาร สถานที่ ยานพาหนะ และบริการขนส่ง เพื่อให้คนพิการสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ พ.ศ. 2556 อีกทั้งยังมีกฎหมายเพื่อส่งเสริมในการนำรายจ่ายจากการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกไปยกเว้นภาษีเงินได้ ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 214) เรื่องการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินได้ที่จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดให้คนพิการได้รับสิทธิเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากสิ่งอำนวยความสะดวกและความช่วยเหลืออื่นจากรัฐ

แม้สถานีรถไฟฟ้าเซนต์หลุยส์มีห้องน้ำสำหรับคนพิการ และคนพิการที่ใช้สุนัขนำทางสามารถใช้บริการรถไฟฟ้าได้เช่นเดียวกับรถไฟฟ้าสถานีอื่นๆ (ดูที่นี่) อย่างไรก็ตาม เมื่อสถานีเซนต์หลุยส์เปิดให้บริการ แม้บางแหล่งจะแจ้งว่าเป็นการเปิดให้บริการขณะที่สร้างเสร็จเพียง 95% ก็ตาม แต่ก็เพียงพอที่จะเห็นได้ว่า ลิฟต์จากถนนขึ้นสู่สถานีมีเพียงฝั่งเดียวและอยู่ระหว่างการติดตั้งบริเวณฝั่งถนนสาทร 9 แต่ฝั่งถนนสาทรเหนือซึ่งเป็นซอยเลขคู่ กลับไม่มีการติดตั้งลิฟต์แต่อย่างใด (ดูที่นี่

ภาพป้ายขออภัยในความไม่สะดวก
ลิฟต์ที่ยังสร้างไม่เสร็จ
 

นอกจากนี้ยังพบว่า หลังการก่อสร้างบันไดขึ้น-ลงสถานี พื้นที่ทางเท้ายังเหลือแคบจนเกิดความลำบากในการสัญจร (ดูที่นี่)

ภาพบันไดขวางเต็มทางเดิน

นอกจากประเด็นการปฏิบัติตามกฎหมายไทยแล้ว บทความนี้จะยกตัวอย่างกรณีคำตัดสินของคณะกรรมการว่าด้วยสิทธิคนพิการแห่งสหประชาชาติ (United Nations Committee on the Rights of Persons with Disabilities หรือคณะกรรมการ CRPD) ในคดี F v. Austria (Communication No. 21/2014) จากกรณีที่ F ผู้ร้องชาวออสเตรียกล่าวอ้างว่าออสเตรียฝ่าฝืนพันธกรณีตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการเกี่ยวกับการเข้าถึงบริการขนส่งสาธารณะ และยกประเด็นที่เหมือนและแตกต่างเพื่อวิเคราะห์ต่อไป

ข้อเท็จจริง

F ชาวออสเตรีย อาศัยอยู่ที่เมือง Linz ซึ่งเป็นเมืองหลวงของรัฐ Upper Austria ซึ่งเป็นหนึ่งในเก้ารัฐของออสเตรีย F เป็นคนตาบอดและใช้ขนส่งสาธารณะในการเดินทาง โดยมักใช้รถรางสาย 3 ในเมือง Linz ที่บริหารจัดการโดย Linz Linien GmbH บริษัทที่เมือง Linz เป็นเจ้าของ

ในเดือนมีนาคม ค.ศ.2004 Linz Linien GmbH ติดตั้งระบบเสียงพูดแบบดิจิตัลเพื่อแปลงข้อความที่แสดงเป็นตัวอักษรเป็นเสียงผ่านการกดปุ่ม ระบบดังกล่าวจะให้ข้อมูล ณ ขณะนั้น (real-time information) ทำให้ทราบถึงเส้นทางรถราง สถานีที่จอด หรือเหตุขัดข้องที่เกิดขึ้น ระบบดังกล่าวทำให้ ผู้ที่บกพร่องทางการมองเห็นสามารถใช้บริการรถรางได้ด้วยตัวเองอย่างเสมอภาคกับผู้โดยสารอื่น 

ต่อมาในเดือนสิงหาคม ค.ศ.2011 Linz Linien GmbH ได้ขยายเส้นทางวิ่งรถรางสาย 3 ออกไปอีก 7 ป้ายแต่ส่วนต่อขยายไม่มีระบบเสียงพูดแบบดิจิตัล ข้อมูลที่ให้แก่ผู้โดยสารมีแต่แบบตัวอักษรเท่านั้น ทำให้ F ต้องขอให้ผู้โดยสารอื่นช่วยบอกข้อมูลให้

F ได้ยกข้อมูลเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายของระบบเสียงดิจิตัลมาประกอบการสู้คดีต่อศาลภายในประเทศออสเตรีย วันที่ 2 พฤษภาคม ค.ศ. 2013 ศาล District Court ตัดสินว่าการไม่มีระบบเสียงพูดดิจิตัล ไม่สร้างอุปสรรคในการใช้บริการขนส่งสาธารณะแก่ผู้บกพร่องทางการเห็น เพราะว่าข้อมูลในส่วนต่อขยาย ทั้งเรื่องระยะเวลาการมาถึงของรถรางขบวนถัดไป ที่มีระยะเวลาแน่นอนอยู่แล้ว และหากเกิดบริการขัดข้อง ก็สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ทางอินเทอร์เน็ต และผู้ที่บกพร่องทางการมองเห็นก็สามารถเข้าถึงได้ อีกทั้งการยกเลิกขบวนรถหรือเหตุไม่อาจคาดหมายนั้นเกิดขึ้นได้ยาก จึงไม่เป็นการเลือกปฏิบัติต่อคนพิการแต่อย่างใด

F อุทธรณ์คำตัดสินไปยัง Regional Court of Linz เพราะแม้ข้อมูลจะสามารถตรวจสอบได้ทางอินเทอร์เน็ต แต่ F ไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ตลอดเวลาขณะเดินทาง อย่างไรก็ตามศาลได้ยืนตามคำพิพากษาของศาล District Court คดีนี้ไม่สามารถยื่นฎีกาได้เนื่องจากถูกจำกัดด้วยเงื่อนไขทางทุนทรัพย์

F จึงยื่นเรื่องไปยังคณะกรรมการ CRPD ว่าการที่ออสเตรียในฐานะรัฐภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ (Convention on the Rights of Persons with Disabilities: CRPD) ไม่ติดตั้งระบบเสียงดิจิตัลในรถรางสาย 3 ส่วนต่อขยายฝ่าฝืนพันธกรณีเรื่องการเข้าถึง (accessibility) และทำให้ไม่สามารถใช้ชีวิตได้โดยลำพังและอิสระ

ออสเตรียให้การต่อสู้ด้วยเหตุผลเดียวกับที่ศาลภายในประเทศได้ตัดสิน และเสริมว่ามีแอปพลิเคชันที่ให้บริการข้อมูลการเดินทางหลายแอปพลิเคชันให้บริการโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ออสเตรียจึงเห็นว่ามีทางเลือกอื่นในการให้ข้อมูลแก่ผู้โดยสารทันท่วงที และสำหรับผู้โดยสารที่ไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตก็สามารถโทรศัพท์ไปยังฝ่ายบริการลูกค้าของ Linz Linien GmbH เพื่อรับทราบข้อมูลได้

ประเด็นที่คณะกรรมการ CRPD พิจารณา

คณะกรรมการ CRPD เห็นว่าคดีนี้สามารถรับเข้าสู่การพิจารณาได้ จึงพิจารณาประเด็นในเนื้อหา ได้แก่

  1. การประเมินว่ารัฐภาคีได้ดำเนินการตามสมควรเพื่อให้แน่ใจว่าข้อมูลเกี่ยวกับบริการการขนส่งที่ได้ให้แก่คนที่ไม่มีความบกพร่องทางการเห็นนั้นเท่ากับที่ให้แก่คนบกพร่องทางการเห็น คณะกรรมการ CRPD ได้พิจารณาว่า ป้ายรถรางในส่วนต่อขยายไม่มีการติดตั้งระบบเสียงดิจิตัล ทั้งที่ผู้ให้บริการทราบถึงบริการดังกล่าว และสามารถติดตั้งได้โดยเสียค่าใช้จ่ายไม่มาก ณ เวลาก่อสร้าง

  2. ประเด็นการให้ข้อมูลผ่านทางเลือกอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นแอปพลิเคชันที่เข้าถึงได้เมื่อใช้อินเทอร์เน็ต และโทรศัพท์มือถือนั้น คณะกรรมการเห็นว่าการเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวไม่สามารถทำให้คนที่บกพร่องทางการเห็นเข้าถึงข้อมูลได้ทันท่วงทีอย่างกรณีการให้ข้อมูลผ่านระบบเสียงดิจิตัล 

  3. คณะกรรมการ CRPD เห็นว่าหน้าที่ของรัฐตามอนุสัญญา CRPD ข้อ 9 ยังรวมไปถึงหน้าที่ที่จะไม่ก่อให้เกิดอุปสรรคใหม่เพิ่ม (not creating new barriers) ด้วย 

ดังนั้นรัฐบาลออสเตรียจึงฝ่าฝืนข้อ 5(2) และ ข้อ 9(1), (2)(f) และ (h) แห่งอนุสัญญา CRPD

ผลคำตัดสิน

คณะกรรมการ CRPD ได้แนะนำให้ออสเตรียเยียวยาผู้ฟ้องคดี และให้ออสเตรียดำเนินการดังต่อไปนี้

  1. ทำให้แน่ใจว่ามาตรฐานขั้นต่ำในการเข้าถึงการขนส่งสาธารณะนั้นสามารถทำให้คนพิการทุกประเภทเข้าถึงขนส่งสาธารณะได้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน ณ เวลาเดินทาง ออสเตรียควรออกกฎหมายที่มีสภาพบังคับ และการกำกับดูแลรถรางสายใหม่ที่จะมีในอนาคตว่าต้องเป็นไปตามมาตรฐานที่ให้คนพิการเข้าถึงได้

  2. จัดให้มีการอบรมเกี่ยวกับอนุสัญญา CRPD รวมถึงข้อบทที่เกี่ยวกับการเข้าถึงของคนพิการแก่ผู้ให้บริการทุกประเภท รวมถึงการออกแบบ การก่อสร้างในเครือข่ายขนส่งสาธารณะ เพื่อให้แน่ใจว่า โครงข่ายการขนส่งจะมีการก่อสร้างและติดตั้งอุปกรณ์ที่เป็นไปตามหลักการการออกแบบเพื่อทุกคน (universal design)

  3. ทำให้แน่ใจว่ากฎหมายเรื่องสิทธิคนพิการเกี่ยวกับการไม่เลือกปฏิบัติในการเข้าถึงการขนส่งสาธารณะและการจัดซื้อจัดจ้างได้คำนึงถึงสิทธิคนพิการ และมีการปรึกษาคนพิการ หรือตัวแทนของคนพิการในการออกกฎหมาย

ข้อสังเกต

  1. สถานีที่สร้างหลังสถานีเดิม กรณีตามคดี F v. Austria แตกต่างจากกรณีสถานีเซนต์หลุยส์ในข้อเท็จจริง คือ กรณีรถรางนั้นเป็นส่วนต่อขยาย แต่สถานีเซนต์หลุยส์เป็นแผนเดิมที่เป็นสถานีอนาคต และเพิ่งสร้าง อย่างไรก็ตามจุดที่เหมือนกันคือ การให้บริการขนส่งสาธารณะทั้งสองเกิดขึ้นหลังรัฐเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา CRPD แล้ว และได้วางมาตรฐานเกี่ยวกับสิ่งอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงการขนส่งสาธารณะไว้แล้ว เอกสาร General Comment No. 2 เรื่อง Article 9: Accessibility ได้ระบุไว้ชัดเจนว่าสิ่งก่อสร้างที่สร้างใหม่ต้องออกแบบในลักษณะที่ให้ทุกคนรวมถึงคนพิการเข้าถึงได้ตามหลักการออกแบบที่เป็นสากล (universal design) กรณีนี้จะแตกต่างจากสิ่งปลูกสร้างที่สร้างก่อนประเทศไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา CRPD

  2. การจัดสิ่งอำนวยความสะดวก คดี F v. Austria แตกต่างจากกรณีสิ่งอำนวยความสะดวกที่สถานีเซนต์หลุยส์ ในแง่ที่ออสเตรียได้ชี้แจงว่ามีทางเลือกอื่นที่เทียบเคียงได้ให้กับผู้ร้อง ดังนั้นการพิจารณาจึงต้องพิจารณาว่าทางเลือกนั้นทดแทนวิธีการอำนวยความสะดวกแบบเดิมได้หรือไม่ ในขณะที่กรณีสถานีเซนต์หลุยส์นั้น ลิฟต์ที่สร้างมีเพียงฝั่งเดียวซึ่งแน่นอนว่าแตกต่างจากสถานีอื่นๆ ที่ต้องสร้างลิฟต์เพิ่มตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด การมีลิฟต์เพียงฝั่งเดียวย่อมไม่สามารถอำนวยความสะดวกให้กับผู้บกพร่องทางการเคลื่อนไหวที่ไม่สามารถใช้บันได และต้องใช้ลิฟต์เพื่อเดินทางได้

  3. หน้าที่ไม่ก่อให้เกิดอุปสรรคใหม่เพิ่ม ในคดี F v. Austria ได้กล่าวถึง “หน้าที่ไม่ก่อให้เกิดอุปสรรคใหม่เพิ่ม” หน้าที่นี้ได้ระบุไว้ใน General Comment No. 2 เรื่อง Article 9: Accessibility คณะกรรมการ CRPD ให้ความเห็นไว้ว่า ความเป็นเมือง (urbanization) ในบางครั้งก่อให้เกิดอุปสรรคใหม่เพิ่มแก่คนพิการในการเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวก การขนส่ง และบริการต่างๆ รัฐต้องป้องกันไม่ก่อให้เกิดอุปสรรคเพิ่ม โดยควรใช้หลักการออกแบบที่เป็นสากล การใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ตามหลักการในอนุสัญญา CRPD การสร้างบันไดทำให้พื้นที่ทางเท้าไม่พอใช้เดินทางนับเป็นตัวอย่างของอุปสรรคใหม่ที่เพิ่มขึ้นมา

ดังนั้นจึงต้องจับตาดูต่อไปว่าผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะแก้ไขอุปสรรคในการเข้าถึงที่สถานีเซนต์หลุยส์ให้เป็นไปตามพันธกรณีที่มีในทางระหว่างประเทศอย่างไร