Skip to main content

2 ตุลาคม 2566 เฟสบุ๊กของศูนย์บริการล่ามภาษามือทางอินเตอร์เน็ตหรือทีทีอาร์เอส (TTRS) ประกาศหยุดให้บริการล่ามภาษามือตั้งแต่วันที่ 3 - 9 ตุลาคม โดยก่อนหน้านี้ศูนย์บริการได้ปรับเวลาให้บริการจาก 24 ชั่วโมง เป็น 7 โมงถึง 2 ทุ่ม ทำให้มีคนหูหนวกเข้ามาแสดงความคิดเห็นกันมากมายเนื่องจากได้รับผลกระทบจากการให้บริการที่น้อยลง จนกระทั่งวันนี้หยุดให้บริการเป็นวันแรก 

ด้าน ศ. วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ประธานมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ ผู้จัดบริการ TTRS กล่าวถึงกรณีที่เกิดขึ้นว่า เป็นเรื่องของการแบกรับภาระค่าใช้จ่ายไม่ไหวและ กสทช. ควรสนับสนุนงบประมาณเพราะวันนี้คนหูหนวกเดือดร้อน ตนเองยืนยันที่จะพิทักษ์สิทธิ์คนพิการแต่วันนี้ไม่สามารถแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นไหว โดยผู้สื่อข่าวได้มีโอกาสสัมภาษณ์วิริยะดังนี้ 

“วันนี้เราจำเป็นต้องประกาศหยุดให้บริการหนึ่งสัปดาห์ จึงอยากขออภัยคุณหูหนวก ณ ที่นี้จริงๆเนื่องจากเรื่องงบประมาณในช่วงรอยต่อ ที่ผ่านมา กสทช. ชุดเก่าไม่ได้มีปัญหา เขาให้ใช้เงินของโครงการที่แล้วไปก่อนจะมีงบประมาณชุดใหม่มา เมื่อเงินก้อนใหม่มาก็หักส่วนที่ใช้ไปก่อนหน้านี้ ซึ่งไม่เคยมีปัญหา   แต่ผ่านมาแล้ว 15 เดือน กสทช. ยังไม่ได้ ดำเนินการอนุมัติ แต่อย่างไร  ทำให้มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ แบกรับค่าใช้จ่ายไป เกือบ 100 ล้านบาท  โดยการหากู้เงินมาดำเนินการ ให้บริการคนหูหนวก  จนมาถึงเดือนที่ 16  เราไม่ได้รับข่าวการอนุมัติโครงการจาก กสทช. เลย  และไม่สามารหายืมเงินเพื่อมาดำเนินการต่อได้ จึงต้องตัดสินใจหยุดให้บริการเพราะรู้สึกว่าไปไม่ไหว ถึงแม้จะคิดบนฐานว่าคนหูหนวกจะได้ประโยชน์มากที่สุด แต่วันนี้มันไม่ไหวจริงๆ” 

“วันนี้เป็นวันแรกที่เราเริ่มยุติการให้บริการ นั่นหมายความว่าคนหูหนวกอีกหลายคนจะไม่สามารถโทรหาคนอื่นได้และไม่สามารถสื่อสารกับใครได้ เราพยายามปิดชั่วคราวเพื่อแก้ไขปัญหาหลายอย่าง ถ้าท่านนายก รับทราบปัญหาและสั่งการมาในฐานะที่ท่านเป็นผู้บังคับบัญชา กสทช. ก็จะสามารถแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ได้” 

“คนหูหนวกเดือดร้อนแน่นอน จากที่เคยคุยกับคนอื่นได้ วันนี้ไม่สามารถคุยได้แล้ว กลับไปเป็นคนพิการเต็มตัวแล้ว หรือคนหูหนวกที่ต้องใช้ในการประกอบอาชีพ เช่น การเป็นไรเดอร์ เขาจำเป็นต้องต้องใช้วันหนึ่งประมาณ 500 คน วันนี้ก็หมดสิทธิแล้ว ผู้ใช้บริการวันหนึ่งมีประมาณ 2,000 กว่าราย เขาต้องสูญเสียอะไรไปบ้าง คนหูหนวกก็คงต้องไปขอให้นายกฯ ช่วยเหลือ”

“เราทำบริการนี้เพราะอยากเห็นชีวิตของคนหูหนวกเหมือนกับชีวิตของคนทั่วไป ที่สามารถอยู่ในสังคมได้ โลกของเราสื่อสารด้วยการใช้เสียงแต่เมื่อคนหูหนวกไม่สามารถใช้เสียงได้ เขาก็สื่อสารกับผู้อื่นไม่ได้ แต่พอมี TTRS คนหูหนวกก็สามารถเข้าถึงบริการได้มากขึ้น ใช้สื่อสารกับคนหูดีได้ คุณภาพชีวิตเขาก็ดีขึ้น สามารถไปโรงพยาบาลหรือสื่อสารกับบุคลากรทางการแพทย์ได้ดียิ่งขึ้น วันนี้ถ้าบริการต้องปิดลงคำถามคือพวกเขาจะทำอย่างไร” 

“อนาคตถ้าจะแก้ปัญหาระยะยาวก็คงจะต้องแก้กฎหมาย ให้มีการเขียนชัดเจนไปเลยว่า ให้ศูนย์บริการล่ามภาษามือทางอินเทอร์เน็ต หรือ TTRS ต้องได้รับทุนการสนับสนุนจาก กสทช. เพื่อให้เกิดการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง”

“ผมอยากฝากถึงกสทช.ว่าเขาควรให้ความสำคัญเรื่องสิทธิ มากกว่าเรื่องความเป็นโปรเจ็ค เรื่องนี้ควรเป็นสิทธิของคนหูหนวก ที่ควรมีโอกาสสื่อสารกับคนหูดี มันเป็นหลักสิทธิมนุษยชน เข้าข่ายการเลือกปฏิบัติ โดยไม่เป็นธรรม ซึ่งเรื่องนี้สามารถร้องเรียนได้ถ้าคนหูหนวกรู้สึกว่าถูกกระทำ เป็นภารกิจของท่านในการทำให้คนหูหนวกได้มีสิทธิเท่าเทียมกับผู้อื่น แต่คุณก็ไม่ทำ ละเว้นการปฎิบัติหน้าที่และทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติ”

“กสทช. ควรคิดเรื่องนี้เป็นฐานสิทธิแต่เขาดันไปคิดเป็นเรื่องของโปรเจค ซึ่งมันใช้กันไม่ได้ ฐานคิดแบบโปรเจคหมายความว่าเมื่อจบโครงการหนึ่งแล้วก็ต้องทำเรื่องมาขอโครงการใหม่ ในระหว่างนี้คุณก็หยุดให้บริการไป ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ เพราะคนหูหนวกเดือดร้อน และเรามีล่ามภาษามือที่ต้องดูแล มันแสดงให้เห็นว่าเขาไม่เข้าใจ มันไม่ควรเป็นการให้เป็นโปรเจ็คแล้วมันจบไป” 

“มองแบบกว้างขึ้นผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาของสังคมไทย เราไม่ค่อยคิดถึงกันเรื่องความเท่าเทียม เราติดอยู่กับอำนาจนิยมแต่ไหนแต่ไร กสทช.วันนี้เขาก็คิดว่าตัวเองเป็นใหญ่ ฉันจะให้ไม่ให้มันเรื่องของฉัน มันไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตยที่เคารพให้ทุกคนมีสิทธิมีเสียงอย่างเท่าเทียมกัน เขาควรเปลี่ยนความคิดว่าวันนี้มันเข้าสู่โลกแห่งประชาธิปไตยแล้ว ประชาชนมีสิทธิเท่าเทียมกัน เขาควรต้องส่งเสริมให้คนหูหนวกมีสิทธิเท่าเทียมกับคนอื่น” 

ศูนย์บริการถ่ายทอดการสื่อสารแห่งประเทศไทย หรือ Thai Telecommunication Relay Service: TTRS ดำเนินงานตามขอบเขตและภารกิจของพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 มาตรา 27 (12) และ มาตรา 50 ประกอบ พระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 มาตรา 17 (4)  และโดยมีประกาศ กสทช. เรื่องแผนการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2555-2559) ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2560-2564) และปัจจุบันเป็นฉบับที่ 3 (พ.ศ.2565) ซึ่งแผนดังกล่าวได้กำหนดให้มีความสอดคล้องเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2558-2577)  ในยุทธศาสตร์ที่ 4 ด้านการสร้างโอกาสความเสมอภาคและเท่าเทียมกันทางสังคมและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2565) ในยุทธศาสตร์ที่ 2 การสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม รวมถึงนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ศูนย์ TTRS มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นหลักประกันขั้นพื้นฐานในการติดต่อสื่อสารสำหรับคนพิการทางการได้ยินและคนพิการทางการพูดกับคนทั่วไปได้อย่างกว้างขวางมากขึ้น และสามารถเข้าถึงบริการของภาครัฐและเอกชนได้อย่างคล่องตัวและมีประสิทธิภาพมากขึ้น 

จากข้อมูลระบุว่า มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการได้ดำเนินโครงการศูนย์ TTRS มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 50,320 คน และให้บริการรวมมากกว่า 2 ล้านครั้ง โดยการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงาน กสทช.

ซึ่งหลังจากที่ศูนย์บริการได้ประกาศการงดให้บริการก็มีคนหูหนวกเข้ามาแสดงความเห็นเป็นจำนวนมากถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้ใช้บริการ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือนับดาว องค์อภิชาติ ก็ได้โพสต์แสดงความเห็นกับเรื่องนี้ไว้ว่า 

“ขออนุญาติแสดงความคิดเห็นนะคะ

จากกรณีนั้นทำให้เกิดมีปัญหาและผลกระทบของกลุ่มคนหูหนวก (คนพิการที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน) เป็นอย่างมาก

ทำให้พื้นที่ของคนหูหนวกลดลง และ ความเท่าเทียมของคนหูหนวกลดลง ขาดการสื่อสารด้วย สิทธิของคนหูหนวกอยู่ที่ไหน ?

ลำบากของการสื่อสารระหว่างคนหูหนวกและคนหูดี มากขึ้น

บอกตรงๆนะคะ TTRS Thailand ไม่ควรปิดบริการ ควรจะเปิดบริการทุกวัน เพื่อให้กลุ่มคนหูหนวก (กลุ่มคนพิการที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน) เข้าถึงและใช้การสื่อสารกับคนหูดีทั่วไป เช่น สั่งอาหาร รับ-ส่งพัสดุ, หาพบหมอที่รพ. หรือคลินิก ต่างๆ, ประสานงานกับคนหูดีในการทำงานร่วมกัน และ ครอบครัว พี่น้อง ญาติ ฯลฯ

เนื่องจาก งบของ TTRS ที่ได้รับจาก กสทช ยังไม่ได้สนับสนุนและยังไม่ได้ให้ TTRS เปิดบริการต่อ

ข้าพเจ้า นับดาว เป็นคนหนึ่ง ของกลุ่มคนหูหนวก จึงความประสงค์เรียนถึง หน่วยงานต่างๆของราชการ, รัฐบาล ขอให้เข้ามาช่วยเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน และเพื่อให้คนหูหนวก (คนพิการที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน) ได้มีโอกาสและเข้าถึงและใช้บริการ TTRS เพื่อล่ามการสื่อสารกับคนหูดีมากขึ้น”

ซึ่งนอกจากนี้ก็มีคนหูหนวกท่านอื่นมาแสดงความคิดเห็นถึงเรื่องว่าการที่ศูนย์บริการไปต่อไม่ได้เป็นปัญหาสำหรับคนหูหนวกอยากให้รัฐบาลเข้ามาช่วยแก้ปัญหาเนื่องจากเป็นบริการคนหูหนวกใช้งานจริงและมีความจำเป็นกับชีวิตประจำวันมาก

“เห็นด้วย อย่างยิ่ง คนหูหนวกก็มีความจำเป็นในการสื่อสารทางมือถือด้วยทาง TTRS แล้วอีกอย่างหนึ่ง ก็คือ คนหูหนวกอ่านหนังสือไม่ค่อยถนัด อยากให้เป็นส่วนมาก โดยการใช้ TTRS คอยแปลล่ามมากกว่าการอ่าน การส่งข้อความทางไหนก็ได้ เป็นเหตุทำให้เสียเวลารอตอบทางข้อความนานมากกว่า ถ้าสื่อสารทางโทรศัพท์ยิ่งเร็วกว่า และสะดวกสบายในการสื่อสารทางบริการ TTRS อยากให้ทางรัฐบาลสนับสนุนบ้าง”