Skip to main content

เวลาเล่นสื่อโซเชียลมีเดีย หนึ่งโพสต์ที่หลายคนเห็นผ่านตาคงเป็นโพสต์ของเพื่อนหรือคนรู้จักโพสต์ข้อความบรรยายความเจ็บปวดทรมานจากการป่วยเป็นโรคจิตเวช บางคนเศร้าหดหู่จนไม่อยากทำอะไรทั้งสิ้น บางคนไม่มีสมาธิจดจ่อทำอะไรนานๆ  บางคนได้รับผลข้างเคียงจากยานอนหลับ กินยาแล้วมึนๆ เบลอๆ จนทำงานไม่ไหว บางคนหลับต่อจนไปทำงานสายเป็นประจำ จนเริ่มมีปัญหากับเพื่อนร่วมงานและเจ้านาย พออยู่ไม่ไหวก็ลาออก หากลาออกไม่ได้ ต้องจำใจทนทำงานกันไป

วิธีการแก้ไขปัญหาอาจต้องอาศัยโชคชะตา ภาวนาให้เพื่อนร่วมงานและเจ้านายเข้าใจเรื่องสุขภาพจิต ภาพงานด้านสุขภาพจิตที่คุ้นตาจึงมีแต่เรื่องการรักษาและป้องกัน ทั้งที่จริงแล้วยังมีเรื่องการฟื้นฟูที่ช่วยให้ผู้ป่วยกลับเข้าสู่สังคม ทำงานได้เหมือนคนอื่นๆ

Thisable.me ชวนบาส—ฉัตรดนัย ศรชัย Certified Rehabilitation Counselor ผู้เรียกตัวเองว่าเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษาด้านการฟื้นฟู หนึ่งในไม่กี่คนที่อยู่แวดวงงานฟื้นฟูผู้ป่วยจิตเวช มาพูดคุยว่า อาชีพนี้คืออาชีพอะไร ทำงานอย่างไร แล้วทำไมที่ประเทศสหรัฐอเมริกาถึงให้ความสำคัญกับการทำให้คนพิการทางจิตมีงานทำ และอะไรเป็นปัญหาที่ทำให้ไม่มีนักฟื้นฟูยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือผู้ป่วยจิตเวชที่ไม่ถึงกับเป็นคนพิการทางจิตกำลังมีปัญหากับที่ทำงาน

จุดเริ่มต้นที่เข้าไปเป็นนิสิตคณะจิตวิทยาและนักศึกษาป.โท การให้คำปรึกษาด้านฟื้นฟู

ฉัตรดนัย: ตอนนั้นดูหนังจิตวิทยาระทึกขวัญอย่างเรื่อง The Butterfly Effect  ตัวเอกของเรื่องนอนที่โซฟาแล้วมีหมอมาถามเรื่องในอดีต ผมรู้สึกว่าฉากนี้เท่ เลยลองหาข้อมูลคณะจิตวิทยา แต่ สิบสี่ปีก่อนไม่ได้ข้อมูลเยอะ จึงสอบถามจากรุ่นพี่ที่รู้จักพอดีเรียนคณะจิตวิทยา จุฬาฯ ได้ข้อมูลว่า คณะนี้สอนเกี่ยวกับอะไร

สมัยเรียนที่จุฬาฯ ผมเน้นเรียนวิชาที่เกี่ยวกับจิตวิทยาการปรึกษา หลังจากนั้นได้ทุน ก.พ. ที่เขียนระบุไว้เลยว่า ต้องไปเรียนการให้คำปรึกษาด้านฟื้นฟู (Rehabilitation Counseling) ตอนนั้นผมไม่รู้ว่าฟื้นฟูคืออะไร พอไปเรียนจริง นักจิตวิทยาให้คำปรึกษาด้านการฟื้นฟูค่อนข้างต่างจากที่คิดไว้ เพราะนักจิตวิทยาทั่วไปถูกสอนให้ทำงานกับคนตรงหน้า ทุกอย่างที่คุยกันจบที่ห้อง แต่พอเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษาด้านการฟื้นฟูจะต้องพูดถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมของคนไข้ร่วมด้วย 

ความหมายของคำว่าฟื้นฟูทางจิต

ฟื้นฟูคือ ทำอย่างไรก็ได้ให้กลับมาเป็นเหมือนเมื่อก่อนมากที่สุด ถ้าใช้คำว่าฟื้นฟูกับร่างกายก็จะหมายถึง ร่างกายได้รับบาดเจ็บแล้วก็ฟื้นฟูให้ร่างกายกลับมาเป็นเหมือนเดิม แต่พอเป็นการฟื้นฟูจิตใจคือ การทำให้ใจที่บาดเจ็บกลับมาเป็นใจที่แข็งแรงเหมือนกับก่อนหน้าที่จะบาดเจ็บให้มากที่สุด คอนเซปต์ที่เอาไว้สื่อสารกับคนทั่วไปก็จะประมาณนี้ แต่ถ้าคอนเซปต์ทางวิชาการ การทำงานของคำว่าฟื้นฟูครอบคลุมตั้งแต่เรื่องการป้องกัน ไม่ให้เกิดความเจ็บป่วย   (Prevention) และการแทรกแซงอย่างการให้ความช่วยเหลือตั้งแต่เริ่มเห็นอาการหรือความผิดปกติ (Early intervention) การบำบัดรักษา (Treatment) และการดูแลระยะยาว (Long-term care)

คุณบาสตัดผมทรงสกินเฮด ใส่เสื้อโปโลสีเลือดหมู มองตรงมาที่กล้อง

อาชีพ Rehabilitation Counseling 

อาการของโรคจิตเวชมองไม่เห็นเหมือนคนแขนขาด ขาขาด ที่มีแนวทางการฟื้นฟูชัด เมื่อคนไข้มีอาการของโรคจิตเวชแล้วต้องการฟื้นฟูและรับการเยียวยาจิตใจก็ต้องใช้ทักษะให้คำปรึกษามาช่วย แล้วเอาข้อมูลจากพูดคุยซักถาม โดยชุดคำถามที่ผมใช้ถามคนไข้จะเป็นการถามความเข้าใจต่อสุขภาพจิตของตัวเองว่าเขาเข้าใจมันว่าอย่างไร อะไรคือจุดแข็ง มีความต้องการจะใช้ชีวิตอย่างไร ที่เหลือก็จะคุยเกี่ยวกับข้อมูลการใช้ชีวิตทั่วไป และนำมาใช้ฟื้นฟู คอยดูแลจิตใจระหว่างฟื้นฟูเพราะการฟื้นฟูอาจมีระยะเวลานาน

ความเข้าใจต่อสุขภาพจิตของตัวเองมีความสำคัญต่อกระบวนการฟื้นฟู หากคนไข้เข้าใจก็จะช่วยให้กระบวนการฟื้นฟูง่ายขึ้น ดีกว่าคนไข้บอกว่า ฉันไม่ได้เป็นอะไร กรณีแบบนี้ฟื้นฟูยากกว่า แต่ผมไม่ได้มองประโยคนี้ในแง่มุมปฏิเสธอย่างเดียว อีกมุมหนึ่งเขาอาจรู้ตัวว่ามีโรคอยู่ แต่ไม่รู้สึกว่ามันส่งผลอะไรกับชีวิตขนาดนั้น

ไม่ว่าจะถูกวินิจฉัยด้วยโรคจิตเวชอะไร ผมเช็คหมดว่า เขารับรู้ตัวเองอย่างไร หากปล่อยให้คนไข้ไปเข้าสังคม ทำงานจริง แล้วภาพการรับรู้ตัวเองไม่เหมือนกับที่คิดไว้ หรือยังขาดทักษะที่จำเป็นต่อการทำงาน หรือบางคนไม่รู้อะไรเกี่ยวกับตัวเองเลยเพราะไม่เคยออกไปทำงาน ไม่รู้ว่าทำงานยากขนาดนี้ เพราะก่อนป่วยกับหลังป่วยประสิทธิภาพการทำงานต่างกัน จะทำให้ผลงานออกมาไม่ดี

วัฒนธรรมการใช้ชีวิตชาวอเมริกาส่งผลต่องานฟื้นฟู

การดำรงชีวิตอิสระ (Independent Living) เป็นสิ่งที่ประเทศสหรัฐอเมริกาให้ความสำคัญมาก โดยสะท้อนผ่านวัฒนธรรมการใช้ชีวิตที่ครอบครัวที่ปล่อยให้ลูกออกไปใช้ชีวิตตั้งแต่อายุ 18-19 ปี หากลูกพิการ หมอ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะเช็คว่า ครอบครัวมีกำลังดูแลไหม และมีศูนย์ฟื้นฟู (Rehab Center) รวมถึงกรุ๊ปโฮม (Group home) สนับสนุนให้คนพิการอยู่ได้ด้วยตัวเอง ส่วนแนวคิดบ้านเรา หากเกิดความพิการ คนทำงานด้านสาธารณสุขส่วนใหญ่จะถามหาครอบครัวก่อน ให้ครอบครัวมาดูแล และไม่ได้ตั้งเป้าหมายเรื่องการใช้ชีวิตได้ด้วยตัวเองเท่าไหร่

ตอนฝึกงานที่ศูนย์ฟื้นฟูออทิสติกและสมาธิสั้นสำหรับผู้ใหญ่ที่อเมริกา จะมีบริษัทข้างนอกเอางานประกอบเข็มฉีดยามาให้คนในศูนย์ทำ แล้วส่งสินค้าไปให้บริษัท ในช่วงหลังระเบียบข้อบังคับของรัฐเปลี่ยนเป็นให้สมาชิกในศูนย์ลงพื้นที่ทำงานในชุมชน พอเก้าโมงทุกคนก็ขึ้นรถตู้ ขึ้นรถเมล์เดินทางไปทำงานที่ต่างๆ พร้อมกับเจ้าหน้าที่ 8-9 คน ตอนเย็นพอเลิกงานก็กลับมาที่ศูนย์ แล้วเจ้าหน้าที่ชวนพูดคุยสั้นๆ ว่า วันนี้แต่ละคนได้ทำงานอะไรบ้าง ชอบทำอะไร ไม่ชอบทำอะไร มีอะไรอยากทำหรือเปล่า เสร็จแล้วก็แยกย้ายกันกลับบ้าน

ที่ศูนย์ฟื้นฟู เจ้าหน้าที่จะพาผู้ป่วยไปอบขนม พอได้ยิน ผมก็คิดว่าสมาชิกจะอบขนมได้เหรอ ขนาดตัวเราเองยังอบไม่เป็นเลย แต่สุดท้ายเขาก็อบขนมกันได้ เมื่อมาถึงหัวหน้างานมอบหมายงานให้แต่ละคนทำ บางอย่างก็ต้องอาศัยความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่อย่างเรื่องการเตรียมแป้ง ดูส่วนผสม บางคนไปครั้งแรกแล้วทำงานนี้ได้ผมรู้สึเซอร์ไพรส์เหมือนกันเพราะเป็นงานที่ละเอียด ใช้ทักษะเฉพาะ แล้วผมยังได้มีโอกาสติดตามสมาชิกไปทำงานแจกข้าวของให้กับคนไร้บ้านด้วย 

เป้าหมายของงานการฟื้นฟูคนพิการทางจิตคือ ทำอย่างไรให้คนที่มีโรคจิตเวชใช้ชีวิตด้วยตัวเองแต่ละวันอย่างอิสระ เพราะบางคนต้องอยู่บ้านคนเดียวหรืออยู่กับผู้ดูแล 2 คน ไม่ได้ออกไปไหนเลย เพราะไม่เข้าใจความพิการ บางบ้านเข้าใจว่า หากปล่อยคนที่มีโรคออกไปข้างนอกก็จะทำอันตรายต่อผู้อื่น ทั้งที่จิตแพทย์ประเมินแล้วว่า เขาออกจากบ้านได้ ไม่เป็นอันตรายต่อผู้อื่น เรื่องเหล่านี่เป็นเรื่องยากแต่ต้องพยายามทำความเข้าใจและแก้ปัญหาให้ตรงจุด 

ที่อเมริกาเน้นการฟื้นฟูด้านอาชีพ เพราะส่วนใหญ่ประกันสุขภาพผูกอยู่กับงาน หากไม่มีงานก็ใช้ชีวิตยากเวลาเจ็บป่วย เราจึงต้องผลักดันให้คนพิการทางจิตทำงานถึงแม้รัฐจะมีสวัสดิการต่างๆ ให้

คุณบาสตัดผมทรงสกินเฮด ใส่เสื้อโปโลสีเลือดหมู ยืนอยู่ตรงกลางเฟรมแล้วมองตรงมาที่กล้อง

งานนักจิตวิทยาให้คำปรึกษาด้านการฟื้นฟูทับซ้อนกับนักสังคมสงเคราะห์

ตอนไปฝึกงานอีกที่หนึ่ง เป็นศูนย์บำบัดยาเสพติดในประเทศสหรัฐอเมริกา นักสังคมสังเคราะห์ที่ทำงานเชิงจิตบำบัดจะมีใบอนุญาต Mental Health Social Worker อยู่ ซึ่งเป็นงานมีความเฉพาะแต่ไม่เหมือนกับนักสังคมสงเคราะห์ทั่วไป ต่างจากที่ไทยที่งานนักจิตวิทยาและนักสังคมสงเคราะห์จะแยกกันชัดเจน

สมัยตอนอยู่โรงพยาบาลศรีธัญญาผมให้คำปรึกษา พูดคุยกับครอบครัวในประเด็นต่างๆ เพื่อปรับความเข้าใจกับคนป่วย ถ้ามีคนไข้คนไหนที่อยากทำงาน ผมเข้าไปช่วยให้คนไข้รู้ว่าตัวเองอยากทำงานอะไร แล้วให้คนไข้เสิร์ชหางาน 2-3 อัน ส่วนผมเสิร์ชดูรายละเอียดงานที่คนไข้อยากทำเพื่อสร้างคำถามประมาณ 10 ข้อ แล้วจำลองสถานการณ์สัมภาษณ์งาน ทดลองสัมภาษณ์งานเขา เพราะบางคนไม่มีประสบการณ์ในการสมัครงานหรือสัมภาษณ์งาน บางคนก็ลืมไปแล้วว่าต้องทำอะไรบ้าง

ส่วนตอนลงพื้นที่จะมีพยาบาล นักสังคมสงเคราะห์ และไปเยี่ยมบ้าน ดูว่าชุมชนยอมรับคนไข้ที่เพิ่งออกจากโรงพยาบาลหรือไม่ คนไข้มีความประพฤติตัวอย่างไร ทานยาสม่ำเสมอไหม อยู่ร่วมกับชุมชนได้ไหม งานของผมจะเข้าไปดูว่า เขาทำงานอะไรในบ้านได้บ้าง พยายามกระตุ้นให้ทำนู้นทำนี่ทำให้ได้มากที่สุด ไปทำงานได้ไหม ซึ่งงานเหล่านี้เป็นงานที่นักสังคมสงเคราะห์ทำอยู่ตามโรงพยาบาลจิตเวชทั่วไป

พองานทับซ้อนกันก็มีปัญหาคือ งานเราไม่ชัด พองานไม่ชัดก็ทำงานยาก งานฟื้นฟูจิตใจบางครั้งต้องใช้ทีมที่มองเห็นภาพเป้าหมายเดียวกัน ทุกวันนี้คนยังมองภาพว่า คนไข้อยู่ได้ไม่มีปัญหา อาการป่วยไม่กำเริบก็เพียงพอแล้ว ไม่เหมือนที่สหรัฐอเมริกาที่มีศูนย์ฟื้นฟูอยู่ในชุมชนต่างๆ พยายามให้คนไข้กลับมาใช้ชีวิตได้เต็มศักยภาพ

ประเทศไทยมีนักจิตวิทยาให้คำปรึกษาด้านการฟื้นฟูน้อย

มีคนเรียนน้อยมาก ถ้าคนที่ได้ใบอนุญาตแบบผมตอนนี้มีแค่ 2 คน และมีอีกคนกำลังเดินทางไปเรียนต่างประเทศ เรียนจบแล้วสิ่งที่เรียนก็เอามาใช้ได้ค่อนข้างน้อย เพราะไม่มีระบบรองรับอาชีพนี้ ที่มหาวิทยาลัยมหิดลมีสอนมีนักจิตวิทยาให้คำปรึกษาด้านการฟื้นฟู แต่อาจไม่ได้เน้นสุขภาพจิตเป็นหลัก เรียนจบมาอาจเป็นนักวิชาชีพและ นักวิชาการมากกว่า เพื่อดูว่าโครงสร้างของบ้านเราเอื้อต่อผู้พิการทางจิตมากน้อยแค่ไหน ควรมีสิทธิประโยชน์และมีบริการอะไรบ้าง 

ถ้ามีคนเรียนแบบผมเยอะขึ้น ก็ทำให้เราเห็นภาพว่า เราไม่ได้จะรักษาคนไข้แล้วให้เขากลับไปอยู่บ้าน แต่เรารักษาคนไข้ให้เขากลับไปทำงานได้ มาใช้ชีวิตในสังคมได้ โดยพึ่งพาคนอื่นน้อยที่สุด ซึ่งควรปูภาพนี้ให้เห็นชัดในระบบการทำงานกับคนพิการทางจิตบ้านเรา

วิธีการฝึกอาชีพปัจจุบันไม่ตอบโจทย์หัวใจสำคัญของการฟื้นฟู

งานถักพรม ร้อยลูกปัด ถามว่าทำได้ไหม ทำได้ และเป็นจุดเริ่มต้นการฟื้นฟูที่ดีเพราะทำง่าย ทำได้ เพิ่มความมั่นใจ แล้วค่อยขยับมาทำงานที่บริษัท ซึ่งยังเป็นการขยับที่เกิดขึ้นน้อย ผมมองว่า งานถักพรม ร้อยลูกปัดเป็นกิจกรรมที่ดี แต่เราต้องไม่มุ่งขายความน่าสงสาร ไม่ทำให้เรื่องนี้เป็นแนวคิดการกุศล (Charity Model) ถ้าให้ดีที่สุดควรไปทำงานที่เป็นงานจริง ๆ ในสังคม

คุณบาสตัดผมทรงสกินเฮด ใส่เสื้อโปโลสีเลือดหมู หันซ้ายเล็กน้อยแล้วยิ้ม

ฟื้นฟูทักษะการทำงานของคนป่วยจิตเวช 

โรคจิตเวชทำให้วิถีชีวิตเปลี่ยนไปมากน้อยต่างกัน งานฟื้นฟูเริ่มตรงนี้แหละ เมื่อคนเริ่มไปทำงานยากขึ้น ไม่มีสมาธิทำงาน ผมเข้าไปทำงานกับปัจเจกก่อน โดยให้เขาลองปรับตัวเองดูว่าช่วยอะไรได้ไหมเรื่องการทำงาน ให้เทคนิคการทำงาน ถ้าหากคนไข้ดูแลตัวเองได้ กลับมาทำงานราบรื่น งานผมก็จบ แต่ถ้าแก้ไขระดับปัจเจกไม่ได้ ผมเริ่มไปทำงานกับเจ้านายคนไข้แล้วว่า อย่าสั่งงานทีละ 3-4 ชิ้นได้ไหมเพราะคนไข้ไม่สามารถทำงานหลายๆ อย่างได้พร้อมกัน บางคนเป็นโรคซึมเศร้าแล้วทานยาเยอะ ตื่นเช้าไม่ไหว งานเริ่มเจ็ดโมงแต่ตื่นเช้าแล้วงัวเงียมาก กว่าจะมาถึงที่ทำงานก็เก้าโมงเช้าแล้ว แล้วผมไปคุยกับนายจ้างว่าปรับเวลาเข้างานได้ไหม ซึ่งสิ่งเหล่านี้ยังเป็นสิ่งที่ยังทำไม่ได้ในบ้านเราเพราะบางคนรู้สึกว่าทำไมต้องมีอีกคนมาคุยให้ที่ทำงาน ทำไมไม่พูดเอง

ความเข้าใจในบ้านเราเรื่องฟื้นฟูจิตใจยังน้อย แต่คนรับรู้เยอะขึ้นว่ามีโรคจิตเวช ผมเห็นคำว่าคนบ้าน้อยลงเยอะ ไอ้บ้าแทบไม่ได้ยินเลย คนที่อายุเยอะกว่าผมสัก 30-50 ปี เขาไม่ใช้คำพูดนี้แล้ว แม่ผมอายุหกสิบกว่าก็รู้แล้วว่ามีโรคแบบนี้อยู่ แต่เขาไม่เข้าใจว่ามีโรคแบบนี้แล้วทำอย่างไรต่อ นี่เป็นสิ่งที่สังคมต้องมาเรียนว่า หากต้องการฟื้นฟูจิตใจต้องทำอย่างไร แล้วเราจะอยู่กับคนที่มีโรคอย่างไร เพราะวันหนึ่งเราอาจจะป่วยเป็นโรคจิตเวชเองก็ได้ 

คนในสังคมจะช่วยกันฟื้นฟูจิตใจผู้ป่วยโรคจิตเวชได้อย่างไร

อันแรกผมว่าเป็นเรื่องทัศนคติที่มีต่อโรคจิตเวช เราต้องเข้าใจคนใกล้ตัวที่มีโรคจิตเวชว่าเขามีลักษณะอย่างไร โรคจิตเวชที่เกิดขึ้นกับแต่ละคน ถึงชื่อโรคเหมือนกัน หน้าตา อาการของโรคไม่เหมือนกันเป๊ะ ๆ แล้วมาเรียนรู้กันว่าแต่ละคนเป็นอย่างไร โฟกัสสิ่งที่เขาสามารถทำได้ สามารถพัฒนาได้ อันต่อมาผมเน้นไปที่เปิดโอกาสให้เขาทำงาน ให้เขาลองทำอะไรด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นงานบ้าน งานที่ทำงาน ให้เขาได้ออกไปทำงานข้างนอกโดยเราไม่กลัวว่าเขาจะไปทำอะไรไม่ดี เชื่อใจเขา อันสุดท้ายเป็นการปรับวิธีการทำงานให้เอื้อกับคนที่ป่วยโรคจิตเวช หากจะให้ลงรายละเอียดว่าปรับอย่างไรก็ยากเพราะแต่ละคนมีความต้องการและมีวิธีการทำงานให้ดีต่างกัน ก่อนจะไปถึงจุดนั้นได้ต้องมีการพูดคุย คิดเปิดกว้างว่า การเปลี่ยนไม่ใช่ให้สิทธิพิเศษกับคนป่วย แต่คนไม่คิดแบบนั้น บางคนแกล้งป่วย เพราะเห็นว่าคนป่วยได้สิ่งต่างๆ ความคิดแบบนี้เป็นอุปสรรคกับงานฟื้นฟูทางจิตใจ  ผมอยากให้มองว่าทำทางลาด ทุกคนก็ได้ใช้ หรือการทำงานที่บ้าน (Work From Home) ทำให้หลายคนมีความสุข ประสิทธิภาพการทำงานเพิ่มขึ้น เราต้องคิดหาทางให้ทุกคนได้ประโยชน์ อาจจะเป็นไกดไลน์ กฎเกณฑ์ หรือวิธีการให้คนป่วยที่ต้องการความช่วยเหลือได้สิ่งที่เอื้ออำนวยให้ทำงานเหมือนคนอื่น ไม่ได้ถูกจำกัดด้วยความเจ็บป่วยทางจิตของเขา เวลาคนตาบอดสอบ เขาอ่านหนังสือไม่ได้ก็มีโปรแกรม Screen Reader ช่วยอ่าน แต่ทำไมคนที่ป่วยทางจิตถึงทำแบบนี้ไม่ได้ ทำไมถึงมองว่าเป็นสิทธิพิเศษ ทั้งที่ผมยังไม่เคยมองเลยว่าโปรแกรม Screen Reader เป็นสิทธิพิเศษ ทุกคนใช้โปรแกรมนี้ได้แต่เราไม่ใช้เท่านั้นเอง

 

 




 

 

 

 

คชรักษ์ แก้วสุราช
มัลติมีเดีย, Editor
content creator ที่หน้าตาดีที่สุดในตำบลบึงยี่โถ