Skip to main content

“เราไม่เคยคิดว่าวันหนึ่งจะได้พูดในสภาฯ แทนผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้า นี่เป็นหมุดหมายสำคัญมากตั้งแต่เข้ามาเป็น ส.ส. ว่าจะผลักดันเรื่องสุขภาพจิต แต่กว่าเราจะเดินทางมาส่งเสียงถึงจุดนี้ได้ก็ยากลำบากมาก และต้องทำการบ้านอย่างหนักเพื่ออภิปราย 15 นาที” 

 

Thisable.me ชวนหมิว—สิริลภัส กองตระการ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล พูดคุยชีวิตเบื้องหลังตั้งแต่เป็นนักแสดงสู่นักการเมืองที่เรียกร้องให้จัดสรรงบประมาณสุขภาพจิตให้เหมาะสมตามสถานการณ์ด้านสุขภาพที่เกิดขึ้นเพราะจากสถิติจำนวนผู้ป่วยสุขภาพจิต พ.ศ.2560 - พ.ศ.2565 จากกระทรวงสาธารณสุขจะพบว่า มีผู้ป่วยซึมเศร้ามากกว่าผู้ป่วยจิตเวชจากการติดสารเสพติด 

 

ซึมเศร้าเริ่มที่ไหน และทุกวันนี้เปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง

สิริลภัส: ครั้งแรกที่เรามีอาการคือนอนไม่หลับ นอนได้ทีละ 2 ชั่วโมงแล้วก็ตื่น ช่วงที่มีอาการเรารู้สึกว่า มีปัญหาแต่ยังไม่กล้าไปพบจิตแพทย์ จนเพื่อนบอกว่า ‘มึงเชื่อไหมการหาจิตแพทย์ในต่างประเทศเป็นเรื่องที่ธรรมดามากเลยนะ ถ้ามึงรู้สึกมีปัญหา มึงเดินเข้าไปหาจิตแพทย์ได้โดยที่ไม่ต้องรอให้เกิดอาการ’ แต่เรากลับไม่กล้าไปทั้งที่ตอนนั้นอาการค่อนข้างหนัก ส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงาน ไม่ค่อยมีสมาธิท่องจำบท แต่เรากลัวเพราะตีความว่าโรงพยาบาลศรีธัญญาคือ โรงพยาบาลบ้า แต่วันที่เราได้เข้าไปพบจิ​​ตแพทย์แล้ว เรารู้สึกว่าโรคซึมเศร้าคืออาการเจ็บป่วยธรรมดาทั่วไป 

 

หลังจากเข้าไปอยู่ในคอมมูนิตี้คนที่เป็นโรคซึมเศร้า เราก็พยายามศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมมากขึ้น คุยกับจิตแพทย์ พบนักจิตบำบัด มีอยู่ช่วงหนึ่งที่เราคิดว่าตัวเองอาการดีขึ้นแล้วหยุดยา ปรากฏว่าอาการแย่ลงกว่าเดิมจนต้องกลับมารักษาใหม่ ทำให้เรามีความรู้เยอะขึ้นว่าห้ามหยุดยาเองเพราะจะส่งผลให้แย่ลง การหาจิตแพทย์ควรไปหาควบคู่ไปกับการหานักจิตบำบัด ที่ประเทศไทยมีกิจกรรมบำบัดต่างๆ กิจกรรมฮีลใจเยอะแยะมาก แต่คนไม่รู้เพราะประชาสัมพันธ์ที่ไม่เพียงพอ คนเลยยังไม่รู้ว่าเราจะเข้าถึงกิจกรรมจากทางไหนได้บ้าง

 

ส่วนการสร้างการตระหนักรู้เรื่องโรคจิตเวช หากมองย้อนไปเมื่อสมัย 5-10 ปีที่แล้วยังไม่มากพอ แต่เพราะคนมีความสนใจเกี่ยวกับโรคนี้เยอะขึ้น อัลกอริทึมในสื่อโซเซียลมีเดียต่างๆ ขึ้นเรื่องโรคซึมเศร้าก็มีเต็มหน้าหลัก จนเมื่อ3-4 ปีที่แล้ว พี่ทราย เจริญปุระทำพอดแคสต์แชร์ประสบการณ์การรักษาโรคซึมเศร้าจนอาการดีขึ้น เราฟังตลอดและอยากเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งเสียงเรื่องโรคซึมเศร้า ตอนที่เป็นดาราเลยไปออกรายการคุยแซ่บShow เพราะอยากสื่อสารกับคนที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าให้รู้ว่าไม่ได้อยู่คนเดียว บางคนคิดว่าตัวเองเป็นโรคนี้อยู่คนเดียวแล้วไม่กล้าบอกใครเพราะกลัวอคติและแรงต้านจากสังคม

 

ตอนเราเป็นดาราทำงานได้เงินเยอะกว่าคืนอื่น ได้ไปเที่ยวที่อยากไป ได้กินของที่อยากกิน พอดาราป่วยเป็นซึมเศร้า คนจะมองว่าชีวิตดีขนาดนี้ทำไมถึงป่วย ทั้งที่จริงแล้วไม่ว่าจะเป็นใครก็แล้วแต่ โรคซึมเศร้าเกิดขึ้นได้กับทุกคน โรคซึมเศร้าไม่ได้เลือกใคร วันที่ไปออกรายการ อยากบอกคนดูว่ามีเราพร้อมจะรับฟังด้วยความเข้าใจ มีคนทักอินบ็อกซ์มาหาเยอะมากเลย เราให้กำลังใจเขาไป มีอยู่คนหนึ่งไม่รู้จักกันเลย เรานัดเจอเขาที่ห้างแล้วกินข้าวกัน เขาบอกว่าไม่อยากมีชีวิตอยู่แล้ว เพราะเหนื่อยกับผลข้างเคียงของการกินยาและการรักษาด้วยการซ็อตไฟฟ้า หลังจากนั้นเราพาเขาไปซื้อเครื่องเขียนแล้วบอกว่าถ้ามีความสุขหรือความทุกข์อะไรให้เขียนลงไปในนี้ แล้วขอให้มีชีวิตอยู่ต่อไป ดีใจที่เราไม่ได้รู้จักกันแต่มากินสเวนเซ่นส์ด้วยกัน 

 

ภาพคุณหมิวใส่ชุดสูทสีแดงเลือดหมูมองตรงมาที่ตากล้องแล้วก็ยิ้ม
 
มีเรื่องอะไรบ้างที่คนในสังคมยังไม่เข้าใจ

คนถามเราว่าทำไมต้องกรีดที่แขน ทำไมต้องกรีดให้คนอื่นเห็นแผลด้วย ทำไมไม่ไปกรีดตรงอื่น เราก็อยากจะบอกว่าตรงอื่นก็ได้แต่จะให้ถกโชว์ยังไง มันโชว์ไม่ได้ วันที่เราตัดสินใจกรีดแขนเพราะเราเจ็บที่ใจไม่ไหว เลยขอไปโฟกัสความเจ็บด้วยการกรีดที่แขน กรีดที่ขาเราได้ไหม เห็นว่าความเจ็บเป็นรูปธรรม เราไม่รู้ว่าเวลาคนอื่นคิดจะทำร้ายตัวเองแล้วเป็นยังไง แต่เราเชื่อว่าหลายคนที่เป็นแบบนี้ เขาเจ็บที่ใจจนอธิบายไม่ได้ ไม่รู้จะพูดออกมาว่ายังไง ร้องไห้ก็ร้องไม่ออก พอลงมือกรีดแขน กรีดขาแล้วรู้สึกดีขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็รู้สึกผิดเพราะเป็นการทำร้ายตัวเอง 

 
คิดว่าการทำร้ายตัวเองเป็นการเรียกร้องความสนใจไหม 

สำหรับเราไม่เคยทำร้ายตัวเองเพื่อเรียกร้องความสนใจจากใคร เราอยากตายเงียบๆ ด้วยซ้ำ ทุกครั้งที่คิดแผนฆ่าตัวตาย เราจะคิดอยู่เสมอว่าถ้าใช้วิธีการฆ่าตัวตายแบบนี้ใครจะได้รับความเดือดร้อนบ้าง ถ้าเราปล่อยให้รถชนตาย คนขับรถเดือนร้อน ถ้าเราขับรถบนทางด่วนแล้วหักหลบ คนที่อยู่ข้างล่างก็เดือนร้อน ถ้าเราโดดตึกลงมาเจ้าของตึกหรือเจ้าของห้องเดือดร้อน แผนฆ่าตัวตายที่เราคิดออกคือ กินยาอยู่เงียบๆ ที่ห้องเป็นวิธีที่โอเคสุดแล้ว แต่มีอยู่ครั้งหนึ่งเราเคยคิดว่าอยากนั่งเรือออกทะเลไปไกลๆ นั่งดูพระอาทิตย์ตกแล้วตายที่นั่น แต่สุดท้ายทำไม่ได้เพราะวิวพระอาทิตย์ตกนั้นสวยจนอยากอยู่ดูอีกหลายครั้ง เลยกลับมา

 
สาเหตุทำให้ตัดสินใจหยุดยากินเอง

เราเข้าเวิร์กช็อปการแสดง แล้วมีช่วงขุดปมในใจ ตอนนั้นเรารู้สึกว่าทำความเข้าใจกับปมได้แล้ว พยายามบอกกับตัวเองตลอดว่ามึงคู่ควรกับสิ่งที่มีความสุข มึงคู่ควรกับคนที่ดี มึงคู่ควรสิ่งดีๆ ในชีวิต เป็นช่วงที่ชีวิตเรามีความสุขมาก เราเห็นคุณค่าในตัวเอง เห็นคุณค่าในชีวิต เลยคิดว่าน่าจะหายจากโรคซึมเศร้าแล้วเลิกกินยา หลังจากนั้นใจไม่นิ่ง เริ่มมีอาการดิ่ง รู้ตัวอีกทีใจเราอยู่ใกล้ก้นบ่อ พอช่วงโควิด-19 มีหลายเหตุการณ์เข้ามาพร้อมกันทีเดียว ใจเราดิ่งไปที่ก้นบ่อแล้ว ตอนนั้นเรากินเหล้าทุกวันจนถามหมอว่าสิ่งที่เราเป็นตอนนี้คือ สัญญาณของอาการติดเหล้าแล้วใช่ไหม หมอบอกว่าใช่ ตอนนี้เป็นระยะเริ่มต้นก็ต้องรักษาโรคพิษสุราเรื้อรัง แล้วยังต้องรักษาโรคซึมเศร้าควบคู่กันไปด้วย ตอนนั้นเราเบลอยา รู้สึกมึนหัวมากเลย พยายามหาอะไรทำให้ตัวเองมีความสุขแต่สุดท้ายก็ไม่ได้ช่วยอะไรเลย 

 

สำหรับใครที่คิดจะหยุดยาเราแนะนำว่าอย่า เพราะชีวิตจะแย่ลงไปกว่าเดิม ตอนที่แรกคุณกำลังขึ้นไปนรกขุมที่ 13 หรือขุมที่ 12 แต่วันที่หยุดยาจะมือจากที่ไหนก็ไม่รู้ดึงคุณลงไปที่อเวจีเหมือนเดิม

 

อะไรเป็นเรื่องยากที่สุดที่ทำให้คนรับรู้ ตระหนักรู้เรื่องสุขภาพจิต

การทำงานกับความคิดคนเป็นเรื่องยากสุด เราไม่สามารถทำคนเดียวได้ สิ่งที่เราทำได้คือ การพูดให้เกิดแรงกระเพื่อมแล้วออกไปเรื่อยๆ คนติดต่อมาสัมภาษณ์เราเกี่ยวกับเรื่องนี้ เขาก็บอกว่าเป็นโรคซึมเศร้า ทำให้เรามั่นใจว่าเขาจะถ่ายทอดเรื่องราวได้ดีเพราะเราพูดภาษาเดียวกัน ภาษาที่คนเป็นซึมเศร้า จะทำให้เกิดแรงกระเพื่อมส่งไปถึงคนที่ไม่เข้าใจว่าซึมเศร้าคืออะไร ซึมเศร้าเท่ากับบ้า ซึมเศร้าต้องหง่อย

 

ภาพคุณหมิวหันหน้าข้างขวาแล้วมองเหม่อไปข้างหน้า

 

เพราะอะไรทำให้ตัดสินใจพูดเรื่องสุขภาพจิต

หลายครั้งที่มีการอภิปรายในสภา อย่างเรื่องกรณีสะพานถล่มที่ลาดกระบัง เราเสนอให้ประเมินและวิเคราะห์โรคเครียดหลังเหตุการณ์ร้ายแรง (PTSD) คนที่อยู่ในเหตุการณ์นั้นด้วย บางคนที่เป็นโรคนี้ขับรถไปเจอสะพานไม่ได้เลยตลอดชีวิต แล้วก็มีเหตุการณ์พลุระเบิดที่มูโนะ เรายกเรื่องปัญหาบุคลากรด้านสุขภาพขาดแคลน ครั้งนี้เราได้โอกาสลงลึกไปดูงบประมาณกรมสุขภาพจิตปี 67 ก็เห็นว่ารัฐไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง 

 

ที่เราเข้ามาทำงานการเมืองเพราะอยากอยู่คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข ทุกคนถามเราว่าทำไมอยากอยู่คณะกรรมาธิการนี้เพราะเราอยากผลักดันประเด็นเรื่องสุขภาพจิต บางคนมองว่าประเด็นนี้ niche ไป พอมีคนคิดแบบนี้ เรารู้สึกว่ายิ่งต้องทำเพราะคนจะได้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้มากขึ้น คนที่เป็นอยู่จะได้เข้าใจอาการตัวเองว่าเป็นยังไง แล้วจะหาทางรักษายังไง คนที่มีคนรอบข้างเป็นซึมเศร้า ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน คนในครอบครัว ต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้องเพื่ออยู่ร่วมกัน

 
ปัญหาด้านสุขภาพจิตอะไรบ้างที่ควรแก้ไขอย่างเร่งด่วน 

อันดับแรกที่สามารถทำได้คือ การผลักดันการเพิ่มบัญชียาหลัก เป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ป่วยได้ ช่วยให้คนที่เข้าสู่ระบบรักษาแล้วไม่หลุดจากระบบการรักษา บางคนไปกินยาต้านเศร้าในบัญชียาหลักแล้วได้รับผลข้างเคียงจากการกินยา พอจะเปลี่ยนเป็นยาต้านเศร้านอกบัญชียาหลักที่มีประสิทธิภาพดีกว่าแต่ค่ายาแพงกว่า ทำให้บางคนก็ตัดสินใจไม่รักษา แล้วหลุดออกจากระบบการรักษา เขาอาจจะกลายเป็นคนที่จบชีวิตก็ได้ 

 

อันดับต่อมาคือ ออกใบประกอบวิชาชีพให้นักจิตบำบัด ทุกวันนี้เรามีคนเรียนจบออกมาเป็นนักจิตบำบัดเยอะมากแต่ยังไม่สามารถประกอบการได้ เพราะยังไม่มีใบประกอบวิชาชีพ ถ้ามีระบบหรือกลไกเพิ่มใบประกอบวิชาชีพจะลดภาระงานของจิตแพทย์ เพราะกว่าจะเพิ่มจิตแพทย์แต่ละปียากมากและใช้ระยะเวลานาน

 

อันดับสุดท้ายคือ เพิ่มบุคลากร สิ่งที่เราได้ข้อมูลมาคือ จิตแพทย์ต้องรับเคสผู้ป่วยและเคลียร์ให้หมด เขาใช้เวลาคุยกับคนไข้ไม่ถึงสิบนาที บางคนเจอจิตแพทย์แล้วไม่โอเค มีคนหนึ่งส่งไลน์มาหาเราเล่าให้ฟังว่าจิตแพทย์พูดกับเขาว่า ‘เรื่องแค่นี้เองทำไมถึงคิดเองไม่ได้’ คำพูดนี้ทำให้อาการแย่ไปกว่าเดิมอีก แล้วคนนี้เคยกินยาฆ่าตัวตายมาแล้ว อาการหนักมากเกือบตายไปแล้วทีหนึ่ง

 

เราต้องแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ให้จิตแพทย์มีเวลารักษาผู้ป่วยแต่ละเคส ให้เขามีเวลาได้พักหายใจบ้าง ไม่ใช่ตรวจคนนี้เสร็จกดกริ่งเรียกผู้ป่วยอีกคนมาตรวจ เพราะการทำงานกับความคิดความรู้สึกคน ต้องนั่งคุยนั่งประเมินใช้พลังงานมาก แพทย์คือมนุษย์คนหนึ่ง ภาระงานหนักก็ทำให้เขาเหนื่อย

 

ภาพคุณหมิวใส่ชุดสูทสีแดงเลือดหันหน้าตรงถ่ายภาพ
ยาที่ส่งผลข้างเคียงทำให้เป็นอย่างไร

เราเคยกินเซอร์ทราลีนแล้วเราใจสั่น มือสั่น นอนก็ไม่ได้เพราะตัวสั่นตลอดเวลา ถึงแม้จะกินยานอนหลับแล้วนอนหลับไม่สนิท ต้องโฟกัสกับบางอย่างนานกว่าปกติ เราต้องดึงตัวเองให้มาอยู่จุดปกติที่สุด เพราะว่าเราต้องทำงาน ซึ่งมันทรมาน 

 

เราทวิตเกี่ยวกับผลข้างเคียงของยาเซอร์ทราลีน แล้วมีคนโควททวิตเราแล้วพูดถึงผลข้างเคียงที่เจอจากการกินยาเซอร์ทราลีน (https://twitter.com/Sirilapas_mfp/status/1743946945079697441) แต่ละคนน่าสงสารมาก บางคนท้องร่วง บางคนไม่อยากอาหาร บางคนกินเยอะเกินไปจนรู้สึกผิด บางคนไม่ถ่ายเลยจนเป็นริดสีดวง บางคนกินยาแล้วดิ่งอยากจะฆ่าตัวตายมากกว่าตอนที่ยังไม่กินยา แต่มียานอกบัญชียาหลักอยู่ตัวหนึ่งชื่อว่าเวนลาฟาซีน หลายคนถูกกับยาตัวนี้ ไม่ต้องทรมานกับผลข้างเคียงของยา

 
ตอนกินยาแล้วน้ำหนักเพิ่มเป็น 10 กิโลกรัมทำแล้วทำยังไง

ตอนที่รักษาโรคซึมเศร้าน้ำหนักเราก็ขึ้นมาเป็น 10 กิโลกรัมเหมือนกัน เป็นสิ่งที่ต้องแลกถ้าเราไม่กินยาอาการก็จะแย่กว่าเก่า แฟนบอกเราว่า น้ำหนักขึ้นได้ก็ลดได้ ไม่ว่าคุณจะน้ำหนักเท่าไหร่ ถ้าคุณรักตัวเองในแบบที่เป็น คนอื่นเขาก็จะรักเราแบบที่เราเป็นเหมือนกัน ขนาดคนอื่นยังรักคุณอย่างที่คุณเป็นแล้วทำไมคุณถึงไม่รักตัวคุณเองแบบที่คุณเป็นบ้าง น้ำหนักที่เพิ่มมา 10 กิโลกรัมแลกกับการใจดีกับตัวเอง อยากให้ตัวเองหายจากอาการที่เป็นอยู่ มันคุ้มค่าที่จะแลก ไม่ว่าจะน้ำหนักเท่าไหร่นั่นคือ เวอร์ชั่นที่ดีที่สุดของคุณในตอนนั้น อย่าเอาน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นมาคิดลบทำร้ายตัวเอง เฆี่ยนตีตัวเอง ใจร้ายกับตัวเองไปเรื่อยๆ จนวันหนึ่งคุณแตกสลายข้างในถึงผอมลงมาอีกกี่กิโลกรัมก็ไม่มีประโยชน์ 

 
การทำงานมีผลกระทบกับสุขภาพจิตไหม

เราอยู่วงการบันเทิง เราเจอมาหมดแล้ว เสือ สิง กระทิง แรด เราเป็นเพื่อนกับโม อะมีนา คนในวงการบันเทิงก็ไม่มีใครกล้ายุ่ง พอมาอยู่นอกวงการบันเทิงก็เป็นเช่นเดียวกัน ไม่มีใครกล้ามาเต๊าะ จะมีแต่ทักทาย ยิ่งเกิดดราม่าเรื่องห่อข้าวกลับบ้าน อย่างชาดา ไทยเศรษฐ์แซวเราว่า วันนี้แต่งตัวสวยจังเลย เราก็บอกว่า ‘สวยมาก สวยเตะตา ส.ส.พรรคพี่แอบถ่ายรูปหนูกลับบ้าน’ เราก็จะมีวิธีการคุยกับเขา

 
การพบจิตแพทย์คู่กับนักจิตกับจิตบำบัดเป็นการรักษาที่ดีใช่ไหม 

ใช่ เราคุยกับจิตแพทย์แล้วเขาเอาสิ่งที่เราพูดมาวินิจฉัยเรา การจ่ายยาที่คิดว่าสามารถแก้ไขสารเคมีในสมองของเราที่ไม่สมดุลให้กลับมาสมดุลได้เป็นการแก้ไขปัญหาทางกายภาพ แต่การคุยกับนักจิตวิทยาเป็นการแก้ไขปัญหาที่พฤติกรรมและความคิด ทัศนคติ 

 

ถ้าป่วยแล้วกินยารักษาจนหายแต่ยังไปตากฝน ไปอยู่ในที่ที่มีฝุ่น ไปอยู่ในสถานที่เสี่ยงติดเชื้อ สุดท้ายแล้วเราก็กลับมาป่วยอยู่ดี สุขภาพกายเหมือนกับสุขภาพจิต ถ้าป่วยก็ต้องกินยาแต่ใจร้ายกับตัวเอง เฆี่ยนตีตัวเอง และไม่เคยชมตัวเองเลย ก็ต้องเปลี่ยนพฤติกรรมตัวเองด้วย จิตแพทย์เราให้หนังยางคล้องแขนไว้ ตอนไหนที่คิดลบกับตัวเองให้ดีดเรียกสติ แล้วก็ออกกำลังกายและกินยาควบคู่กัน ร่างกายก็จะแข็งแรง ร่างกายก็เหมือนใจ ถ้ากินยาแล้วพยายามปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ใจคุณก็แข็งแรงไวขึ้น

 

ภาพคุณหมิวใส่ชุดสูทสีแดงเลือดหมูนั่งที่โซฟาแล้วยิ้ม

อะไรคือสิ่งที่ตกตะกอนและไม่อยากให้คนอื่นต้องเจอเหมือนตัวเอง

วันที่มีอาการดิ่งเราพยายามกินฆ่าตัวตายมากว่า 3 ครั้ง เราจำไม่ได้ว่าเคยทำร้ายตัวเองมากี่ครั้ง แต่ครั้งที่อาการดิ่งหนักสุดก็จะฝากรอยไว้ที่แขนอย่างที่เห็นในข่าว ช่วงที่เรากินยา Fluoxetine เราลุกขึ้นนอนมองเพดาน ลุกขึ้นมาทำอะไรไม่ได้เลยก็ลงไปนอน ความทรมานจากผลข้างเคียงของยาทรมานกว่าตอนดิ่งอีก ขนาดเราได้รับการรักษาครบวงจรจากจิตแพทย์และนักจิตบำบัด ลองคิดถึงคนที่ไม่เข้าถึงการรักษาครบวงจรแบบเรา กว่าจะได้คิวพบจิตแพทย์ 1 ครั้งรอ 3-4 เดือน หมอจ่ายยามาให้กินแล้วมีทรมานจากผลข้างเคียงของยาอีก แล้วถ้าพบจิตแพทย์แต่ไม่ได้พบนักจิตบำบัดก็จะยืดระยะเวลาป่วยนานขึ้น บางทีอาจทำให้อาการป่วยแย่ลงไปกว่าเดิม 

 

วันที่อภิปรายงบปี 67 เราพูดว่าพูด ‘รอยกรีดนี้ไม่ได้กรีดที่แขนดิฉัน พ่อแม่บอกว่ามันกรีดไปที่ใจเขาด้วย’ แต่ไม่ได้เล่ารายละเอียดลงลึกว่าวันนั้นมีกระดาษแผ่นนึงวางไว้หนึ่งกับคัตเตอร์ที่หมิวเอาไว้ใช้ทำร้ายตัวเองวางไว้ แล้วมีข้อความเขียนว่า พ่อไม่เคยพูดอะไรกับลูกเลยแต่ขอให้รู้ไว้ว่าพ่อเป็นห่วง สิ่งที่วางอยู่มันไม่ได้กรีดที่แขนลูกแต่กรีดไปที่หัวใจของพ่อกับแม่ด้วย ปกติพ่อไม่เคยเขียนจดหมายหรือทำอะไรแบบนี้กับเราเลย วันนั้นเราตัดสินใจเขวี้ยงคัตเตอร์อันนั้นทิ้ง เก็บอุปกรณ์มีคมทุกอย่างในห้องเราแล้วเอาไปทิ้งหมดเลย หรือวันที่แม่เราเปิดห้องเข้ามาเห็นว่าแผงยานอนหลับ 30 เม็ดมันหายไป แม่ไม่พูดอะไรกับเราแต่เรารู้ว่าเขาหงอยลงอย่างเห็นได้ชัด เพื่อนเราที่เห็นรอยกรีดที่แขนก็ขอร้องว่าอย่าทำแบบนี้อีก ทั้งๆ ที่เพื่อนเป็นคนหยาบโลน เรารู้สึกว่าคนรอบข้างค่อนข้างได้กับผลกระทบจากการกระทำของเราเหมือน เรารู้แล้วว่าตอนอาการแย่เป็นยังไง เราไม่อยากให้คนอื่นมาจากเจอเหตุการณ์แบบนี้ 

 

วิธีการที่จะทำไม่ทำให้คนพยายามฆ่าตัวตายไปจากโลกนี้ไปคือ ข้อเสนอแนะที่เราบอกคือ การเพิ่มบุคลากรด่านหน้า การเพิ่มบัญชียาหลัก และการเพิ่มสิทธิในการรักษา สิ่งเหล่านี้ช่วยรักษาชีวิตคนกลุ่มนี้ไว้ เราไม่รู้หรอกว่าจะรักษาคนกลุ่มนี้ไว้ได้มากน้อยแค่ไหน อย่างที่เราบอกว่าจำนวนการฆ่าตัวตาย 7.97 ต่อประชากรแสนคน ทุกๆ วันจะฆ่าตัวตายสำเร็จ 14 คน แล้วกลุ่มคนที่พยายาม่าตัวตาย 224 ต่อประชากรแสนคนในวัยรุ่นอายุ 15-19 ปี และยังมีตัวเลขที่เราไม่รู้ซ่อนอยู่ภายใต้การใช้ความรุนแรงในสังคมว่ามีคนป่วยเป็นซึมเศร้าอีกเท่าไหร่ 

 

หลังจากอภิปรายเสร็จ มีปรากฎการณ์อะไรใหม่ๆ ให้เห็นบ้างไหม

มีคนมาขอบคุณเราที่พูดแทนเขาเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นคนที่ป่วยเอง มีคนรอบตัวที่ป่วย เพราะเขาไม่รู้จะไปพูดที่ไหน เขาไม่รู้ว่าจะพูดกับใคร เขาไม่เคยคิดว่าคนจะเอาเรื่องนี้ไปพูดในสภาฯ นั้นเป็นสิ่งที่เราดีใจ นี่เป็นหนึ่งจุดประสงค์เราตั้งไว้ในการอภิปรายงบปี 67 ครั้งนี้ เราอยากพูดแทนคนป่วยซึมเศร้าว่าเขารู้สึกยังไง เพราะเราเข้าใจ เราเคยรู้สึกแบบนั้นมาก่อน แล้วเราอยากให้คนที่นั่งอยู่ในห้องประชุมรู้สึกแบบเดียวกันกับที่คนป่วยรู้สึกบ้าง เขาจะได้เข้าใจว่าโรคซึมเศร้าเป็นเรื่องสำคัญ  

 

นอกจากนี้ยังมีคนมาบอกว่า มีลูกที่เป็นซึมเศร้า มีเพื่อนที่เป็นซึมเศร้า คนรอบตัวเป็นซึมเศร้าเยอะมาก เราคิดว่านี่เป็นสัญญาณสำคัญ ถึงแม้จำนวนผู้ป่วยซึมเศร้าเราสำรวจสถิติตัวเลข 360,000 ต่อจำนวนประชากร 66 ล้านคนอาจจะดูน้อยมาก แต่มีตัวเลขซ่อนอยู่ใต้ภูเขาน้ำแข็งที่เราไม่มีทางรู้อีกนับไม่ถ้วน

 

ภาพฝันที่เรื่องสุขภาพจิตที่อยากให้เป็นภาพจริงอยากเห็นมากที่สุดคืออะไร

เราอยากให้รัฐบาลเห็นความสำคัญปัญหาสุขภาพจิตมากกว่านี้ เราไม่อยากเห็นอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จแล้วลดลงเพราะฆ่าตัวตายไม่สำเร็จแต่ลดลงเพราะมีนัยยะ คนเข้าถึงระบบการรักษามากขึ้น และเราไม่อยากให้เขามองข้ามคนกลุ่มน้อยเหล่านี้เพราะโรคนี้น่ากลัว อย่างคนที่ป่วยหนักยังมีเวลานับถอยหลังให้ตนเอง บางคนอยู่ได้สามดือน บางคนอยู่ได้หนึ่งเดือน แต่โรคซึมเศร้าไม่มีเวลา วันนี้เรานั่งให้สัมภาษณ์อยู่แต่กลับไปบ้านแล้วเรายิงตัวตายหรือกรีดข้อมือตายในห้องน้ำ ไม่มีทางรู้ว่าเขาจากไปโดยไม่ส่งสัญญาณให้เราเลย ทั้งที่เราเพิ่งมีช่วงเวลาที่ดีกับเขา มันเจ็บปวดมาก

 

 

คชรักษ์ แก้วสุราช
มัลติมีเดีย, Editor
content creator ที่หน้าตาดีที่สุดในตำบลบึงยี่โถ