Skip to main content

เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา The Active Thai PBS เสวนาเปิดอนาคตสุขภาพจิตคนไทย 2576 “ระเบิดเวลาของความหวาดกลัว” หรือ “จุดหมายแห่งความสุข” อยู่ที่เราเลือกและกำหนดได้ 

นี่เป็นงานวิจัยอนาคตสุขภาพจิตสังคมไทยอีกประมาณ 10 ปีข้างหน้าผ่านการคาดการณ์ 5 ฉากทัศน์ ตั้งแต่กรณีที่ไม่มีการแก้ไขปัญหา จนกระทั่งภาพที่ดีที่คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นคือ ทุกภาคส่วนร่วมมือกันนำประเทศไทยเป็นต้นแบบสุขภาวะทางจิต สำหรับการใช้ชีวิตของผู้คนทั่วโลกได้ 

เปิดภาพฉากทัศน์สนทนาโดยกุลิสรา บุตรพุฒ นักกลยุทธ์นวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) และ วิพัตรา โตเต็มโชคชัยการ นักวิจัยด้านการคาดการณ์อนาคตอาวุโส Future Tales Lab by MQDC มีผู้ร่วมแลกเปลี่ยนโดย ผศ.ธีรพัฒน์ อังศุชวาล คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และสถาบันวิชาการเพื่อความยั่งยืนทางสุขภาพจิต, นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข, รศ.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย และชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส.

ภาพรวมผู้เข้าร่วมเสวนาทั้งหมด 6 คนและผู้ดำเนินรายการ 1 คน
 
ทำไมเราต้องมองภาพอนาคตสุขภาพจิตคนไทย

กุลิสรา: งานวิจัยอนาคตสุขภาพจิตของคนไทยในอีก 10 ปีข้างหน้าจะเริ่มจากนักวิจัยไปหาข้อมูลสัญญาณการเปลี่ยนแปลงเรื่องของสุขภาพจิต เช่น เหตุการณ์กราดยิง การฆ่าตัวตาย แล้วเก็บข้อมูลมาวิเคราะห์และวิจัยว่า ปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญที่อยู่เบื้องหลังพวกนี้มันคืออะไร หลังจากค้นพบปัจจัยที่ก่อให้เกิดการขับเคลื่อนสำคัญ จำลองสถานการณ์ถ้าปัจจัยขับเคลื่อนทิศทางบวกจะเป็นอย่างไร ทิศทางลบจะเป็นอย่างไร พอควบคุมได้เราสร้างอนาคตสุขภาพจิตที่ดีให้กับคนไทยได้

5  ฉากทัศน์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

วิพัตรา: ภาพอนาคตที่  1 การระเบิดของความหวาดกลัว (Terror outburst) ปัญหาความรุนแรงต่างๆ ที่ค้างและสะสมอยู่ในสังคมไทยมานาน ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงในครอบครัว ความรุนแรงในโรงเรียน สุราและสารเสพติด ความเหลื่อมล้ำ จริยธรรมสื่อ กระบวนการยุติธรรม เกิดถี่ขึ้นมากๆ แล้วปะทุจนกระทั่งประชาชนเกิดความหวาดกลัว เจ็บปวด บอบช้ำ โกรธแค้น แล้วมองว่าความรุนแรง โศกนาฏกรรมและอาชญากรรมเป็นเรื่องพวกนี้เป็นปกติ แล้วส่งผลให้อัตราผู้ป่วยจิตเวชและการฆ่าตัวตายสูงจนยากจะยับยั้ง นอกจากนี้ยังทำให้คนไม่กล้าไว้วางใจใคร ไม่กล้าออกจากบ้านด้วยซ้ำ คนไม่อยากมีลูกเพราะสังคมเป็นแบบนี้ ทุกวันนี้คนเริ่มมีแนวคิดแบบนี้มากขึ้นด้วย ประเทศไทยถูกกดดันจากนานาประเทศให้แก้ปัญหาเหล่านี้แต่สายไปแล้วเพราะปัญหาทับถมมานาน การแก้ปัญหาทันทีทำได้ยาก

ภาพอนาคตที่ 2 วิกฤติที่แฝงด้วยโอกาส (Opportumity in adversity) ภาพอนาคตนี้ถูกพัฒนาจาก Mega Trends  ต่างๆ ที่ทำให้เห็น 10 ปีข้างหน้าประเทศไทยเผชิญกับความผันผวนเรื่องเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ภัยคุกคามจากเทคโนโลยี ทำให้ประชาชนอยู่ด้วยความไม่แน่นอน ปัญหานี้มีทางออกหรือเปล่าก็เป็นเรื่องที่น่ากลัวเหมือนกัน แล้วส่งผลต่อสุขภาพจิตได้ แต่สตาร์ทอัพ ธุรกิจ SME ที่สนใจเรื่องสุขภาพจิตพยายามหาทางช่วยเหลือประชาชนที่มีปัญหาทางด้านจิตใจค่อนข้างเยอะ จะเอาเทคโนโลยีมาช่วยเหลืออย่างไร ลดความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงบริการทางสุขภาพจิต

ภาพอนาคตที่ 3 มวลชนผู้โดดเดี่ยว (Pack of Lone wolves) หลายคนอยู่ท่ามกลางผู้คนมากมายแต่ใจรู้สึกโดดเดี่ยว สะท้อนมาจากการที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมดิจิทัลอย่างสัมบูรณ์ การพัฒนาเมืองทำให้คนมีชีวิตที่ดีขึ้น แต่ความรวดเร็วที่แฝงมากับสิ่งเหล่านี้ทำให้วิถีชีวิตเร่งรีบ เกิดความเครียด มุ่งหาแต่ผลสำเร็จแต่ก็เหงาโดดเดี่ยวอีกด้วยจากโครงสร้างเมืองที่ไม่ได้ยึดความสุขของประชาชนเป็นศูนย์กลางแต่มุ่งเน้นพื้นที่เชิงพาณิชย์

ภาพอนาคตที่ 4 สุขภาพใจที่กระจายถึงกัน (Decentralized mental well-being) ถ้าหน่วยงานภาครัฐใช้การะจายอำนาจสู่ท้องถิ่นโดยสมบูรณ์ ก็จะทำให้การพัฒนานโยบาย การจัดสรรทรัพยากรในการช่วยเหลือเรื่องสุขภาพจิตก็จะกระจายไปถึงชุมชน ทำให้คนรู้สึกว่ามีการดูแลเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน นโยบายทางสุขภาพจิตไม่เกิดจากบนลงล่างแต่เกิดจากกล่างขึ้นบน ภาพอนาคตนี้จะทำให้คนรู้สึกว่ามีคนรอบตัวพร้อมซัพพอร์ต การดูแลสุขภาพใจของคนในชุมชนดูแลอย่างดีและยั่งยืนตามบริบทของแต่ละพื้นที่

ภาพอนาคตที่ 5 จุดหมายแห่งความสุข  (Land of smeling minds) ภาพนี้แสดงให้เห็นว่าประเทศเป็นประเทศต้นแบบด้านสุขภาพจิตและเป็นจุดมุ่งหมายของการใช้ชีวิตของผู้คนจากทั่วโลก ประเทศไหนที่มีความโดดเด่นเรื่องการพัฒนาเมือง พัฒนานโยบายที่ไม่ใช่แค่การพูดถึงสุขภาพจิตและช่วยคนป่วยเท่านั้น แต่มีการป้องกันโดยใช้นโยบายภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา เพื่อให้ประชาชนมีความสุข นอกจากนั้นใช้ข้อมูลเตรียมพร้อมไว้ด้านหน้า ส่งผลให้คนอยากมาพักใจที่ประเทศไทย

ภาพอนาคตที่ 5 มีโอกาสเป็นภาพที่เกิดขึ้นในประเทศไทยได้ไหม

วรตม์ : ทุกภาพสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งหมด งานวิจัยนี้เก็บข้อมูลจากคนมหาศาลว่าอะไรเป็นสิ่งที่จะขับเคลื่อนภาพของประเทศไทยไปสู่อนาคตเป็นอย่างไร ทั้งหมดไม่ได้เป็นคาดเดาแต่มีหลักฐานเชิงสถิติ เชิงวิทยาศาสตร์ที่โยงไปได้ทั้งหมด 5 ฐาน บางทีเราอาจจะรู้สึกว่าภาพที่ 5 เป็นภาพโลกสวยไปหรือเปล่า แต่ถ้าตั้งใจทำจริงๆ คิดว่าเกิดภาพที่ 5 ได้ 

ต้องเกิดภาพใดภาพหนึ่งก่อน หรือทั้ง 4 ภาพนำไปสู่ภาพที่ 5 ได้ทั้งหมด

วิพัตรา: สำหรับรายงานเล่มนี้มีปัจจัยขับเคลื่อน 6 ตัว อย่างภาพแรกถ้าทุกปัจจัยเลวร้ายหมดจะเป็นอย่างไรหรือถ้าทุกปัจจัยดีมากๆ ก็จะกลายเป็นภาพที่ 5 แต่ละภาพไม่จำเป็นต้องเกิดตามลำดับ ภาพที่ 2 ดี ภาพที่ 3 พอใช้ได้ ก็พอทำให้เห็นภาพที่ 5 เป็นอย่างไร นี่เป็นตัวแทนของระดับความรุนแรง

ทั้ง 5 ภาพอนาคตชอบภาพไหนมากที่สุด 

ชาติวุฒิ: เรามีเป้าหมายเดียวกันคือ ทำให้สังคมไทยไม่เหงา เป็นสังคมที่มีความสุข แบ่งปันกัน แผ่รัศมีของความปิติยินดี ผมว่า นี่คือเป้าหมายของการผลักดันให้เกิดนโยบาย กลไก หรือปฏิบัติการณ์ระดับพื้นที่เพื่อถึงจุดร่วมการพัฒนาสุขภาพจิตของคนไทย หลายครั้งเราพูดถึงสุขภาพจิต คนส่วนใหญ่นิยามเป็นเรื่องการดูแลผู้ป่วยจิตเวช การใส่ใจดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบ แต่หัวใจสำคัญ 95 เปอร์เซ็นต์ของคนที่รู้สึกว่าดูแลตัวเองได้ มีใครสักคนที่กระซิบเล่าเรื่องเวลาที่กังวลหรือเรื่องที่ไม่โอเค นี่เป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้ภาพอนาคตเป็นภาพ 4-5 

เราจะทำอย่างไรให้ไปถึงภาพที่คนมีความสุขร่วมกันได้ ความต่างของคำว่าสุขภาพจิตกับคำว่าสุขภาวะมันต่างกันอย่างไร

ธีรพัฒน์: คำว่า Mental Health ถูกใช้แบบไหนบ้าง ในทั่วโลกใช้ 3 แบบด้วยกัน แบบแรกคือ ส่วนขยายบริการการดูแลอะไรบางอย่างโดยรัฐ เราก็พูดถึงการบริการทางสุขภาพจิต (Mental Health Service) ก็จะเป็นเรื่องของหมอ พยาบาล หรือคนที่ถูกฝึกมาดูแลด้านนี้โดยตรง แบบต่อมาคือ การถูกใช้งานเรื่องโรค เราพูดปัญหาโรคเกี่ยวกับสุขภาพจิต ซึ่งเป็นการใช้งานที่เจอเยอะที่สุดแบบสุดท้ายคือ เป็นภาวะเชิงบวกของการมีอยู่ทางจิตใจที่ดี เข้มแข็ง เติบโตได้

การใช้งานแบบแรก เรากำลังพูดถึงความสามารถที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับตัวเองและคนอื่น เรารับรู้ว่าเรื่องอะไรทำให้เรามีความสุขได้ เราสามารถหาความหมายของชีวิตได้อย่างไร ส่วนการใช้งานแบบสุดท้ายคือ พยายามทำความเข้าใจคำว่าสุขภาวะซึ่งไม่เหมือนสุขภาพจิต 

เวลาเราพูดถึงสุขภาพจิตเราใช้งานคำนี้ในแง่ของโรคและปัญหาส่วนใหญ่ เพื่อแก้ปัญหาความสับสนเราเรียกใหม่ดีกว่า นั้นก็คือ สุขภาวะ พอเราเข้าใจว่าสุขภาวะกำลังหมายถึงสุขภาพจิตเชิงบวกแล้ว ความเข้าใจนี้ช่วยให้เรามองเรื่องสุขภาพจิตได้ง่ายขึ้น การมองว่าสุขภาพจิตเป็นแค่โรค เรากำลังมองเส้นแนวนอนโดยตรง มองว่ามีคนป่วย แล้วอีกฝั่งหนึ่งคือการมองว่าไม่ป่วย และยังมีแกนแนวตั้งอีกอันที่พูดว่าเราอยู่ภาวะที่เป็นบวกหรือเป็นลบ การพูดเรื่องสุขภาวะเราพูดถึงกราฟข้างบนหมดเลย ไม่ว่าจะป่วยหรือไม่ป่วยแต่ต้องมีภาวะเชิงบวกทางสุขภาพจิต สามารถเติบโตได้ รุ่งเรืองได้ รู้ความหมายสัมพันธ์กับผู้อื่นได้ มีความสุขเป็น

อะไรเป็นปัจจัยสำคัญที่จะไปถึงจุดที่ไม่ได้ป่วยแต่ไม่มีความสุข

ธีรพัฒน์: หากยึดโยงกับงานวิจัยชิ้นนี้ ทุกภาพอนาคตมีหลายปัจจัยแต่มีอยู่ 2 ปัจจัยที่เรียกได้ว่ามีบทบาทที่ทำให้เกิดความหวังในอนาคตหรือความกลัว ปัจจัยขับเคลื่อนอันแรกคือ พื้นที่และสภาพแวดล้อมที่เอื้อ ปัจจัยขับเคลื่อนที่สองคือ นโยบายของรัฐ ทั้ง 2 ตัวเป็นปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญมากในการกำหนดอนาคตสุขภาพจิตไทย 

คนที่ป่วยเราจะสร้างสถานการณ์ให้มีความสุขในแนวตั้งอย่างที่อาจารย์ธีรพัฒน์ไหม

วรตม์ : ไม่เสมอไป บางคนเราคิดว่าเรื่องการป่วยกับไม่ป่วยไปยึดโยงกับเรื่องมีความสุขกับไม่มีความสุข หลายคนที่มีอาการเจ็บป่วยไม่ว่าจะทางกายหรือทางจิตสามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้ ถ้าเขารู้ว่าตัวเองป่วย เขารู้ว่าตัวเองมีศักยภาพอะไร เขารู้ว่าต้องไปรักษาที่ไหน ครอบครัวเข้าใจ บางคนอยู่ๆ ก็ป่วยขึ้นมาเองไม่ได้แปลว่าเขาจะไม่ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ทุกคนมีสิทธิป่วยได้ บางคนไม่ป่วยเลยกลับใช้ชีวิตแบบไม่มีความสุข ทั้งที่ตัวเองไม่ป่วยทางจิต ไม่สามารถหาความสุขให้กับตัวเองได้ ไม่สามารถสร้างความสุขให้ใครได้ เราอยากให้มองใหม่ว่าอาการเจ็บป่วยเป็นเรื่องหนึ่ง อาการสร้างให้ตัวเองมีความสุข สร้างให้ตัวเองมีความเข้มแข็งทางจิตใจ ให้ตัวเองหาความสุขผ่านทางที่ทำให้เราไม่มีความสุขได้ มีอะไรที่ทำให้ทุกข์ใจเราปล่อยวาง เราปล่อยผ่านบาง แล้วเราก็ไปโฟกัสจุดที่ทำให้เรามีความสุข ผมคิดว่าตรงนี้ไม่ได้เกี่ยวกับอาการเจ็บป่วย อาการเจ็บป่วยอาจจะมีผลบ้าง ทำให้มุมมองเราเปลี่ยน แต่ถ้าใจเราเปิดใจความสุขที่เกิดขึ้นได้ ผมคิดว่าเราสามารถใช้ชีวิตได้โดยที่ไม่ต้องไปพะวงว่าวันหนึ่งจะเจ็บป่วยหรือเปล่า 

สื่อมีบทบาทสำคัญอย่างไรกับรักษาสุขภาพจิตคนไทยบ้าง

วิลาสินี: ภาพอนาคตที่ทำให้ขึ้นมาสร้างความเข้าใจที่ดีมากๆ เพราะภาพอนาคตนี้เอาความรู้ที่แยกย่อยมาเรียงกัน ทำให้เห็นว่าเรื่องสุขภาวะทางจิตดึงเรื่องบางอยากออกจากมือของหมอมาเยอะมาก และมองว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดีแล้ว สุขภาวะทางจิตเกี่ยวกับปัจจัยกำหนดการมีความสุขของผู้คนอย่างมากมาย เทคโนโลยีและการสื่อสารเป็นหนึ่งในนั้นที่สำคัญมาก แล้วมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วย ถ้าย้อนไปสัก 20-30 ปีก่อนความรู้ปัจจัยกำหนดการมีสุขภาพที่ดีจะไม่ค่อยมีเรื่องเทคโนโลยีเท่าไหร่แต่ตอนนี้เทคโนโลยีทั้งหลาย โลกเสมือนจริงเป็นปัจจัยที่เร่งและรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเรามองภาพคำว่าสุขภาวะทางจิตแบบที่เห็นว่ามีปัจจัยกำหนดมากมาย แล้วเทคโนโลยี การสื่อสารเป็นหนึ่งในนั้น เราจะเข้าใจว่าต้องทำอะไรก่อนหลังแล้วมีผลอย่างไร

นอกจากมองสุขภาวะทางจิตเป็นแกนตั้งแกนนอนอย่างที่อาจารย์ธีรพัฒน์ ถ้าในแง่ของนักสื่อสาร เราจะมองสุขภาวะทางจิตเป็นวงกลมซ้อนกันหลายๆ วง  ถ้าอยากสื่อสารให้ดีต้องมองให้ออกว่าทุกเรื่องมันซ้อนทับกันอยู่อย่างไร ถ้ามองเป็นเรื่องๆ  คิดว่าจะสื่อสารไม่ตรงจุด จะเกิดการแก้ปัญหาทีละชิ้นแล้วกลับมาแก้เรื่องเดิมอีก ศักยภาพที่คนจะอยู่ได้อย่างความสุข ปรับตัวได้ ล้มแล้วฟื้นขึ้นมาได้แล้วลุกขึ้นมาได้เป็นวงกลมวงเล็กสุดที่คิดว่าสำคัญมากๆ แต่เราจะเข้าใจได้ถ้าเห็นว่ามีวงกลมถัดไปอีกวง เป็นตัวของเจ้าของวงกลมที่อยู่กับคนอื่น อีกวงกลมเป็นสังคมใหญ่ขึ้นอีกอย่างชุมชน ถัดอีกวงกลมเป็นมิติทางเศรษฐกิจ มิติทางสังคม มิติทางวัฒนธรรม วงกลมที่คลุมทุกวงกลมคือนโยบายสาธารณะ

ถ้ามองเห็นสุขภาวะทางจิตในภาพวงกลมซ้อน คนที่ทำงานเรื่องสื่อสารสาธารณะจะต้องเข้าใจเรื่องนี้ก่อน เพราะถ้ามองเรื่องสุขภาวะทางจิตเป็นอาการเจ็บป่วยของคนก็จะสื่อสารเรื่องโรค เรื่องการดูแลตัวเอง สื่อในโลกสังคมออนไลน์จำนวนมากมีแอพพลิเคชั่นการฝึกจิตมาอยู่กับสติตัวเองในวงกลมเล็กสุดด้านใน แต่ถ้าจะพูดถึงสื่อสารสาธารณะต้องสื่อสารทุกวงให้ถึงวงที่อยู่ไกลที่สุดคือ การมีเป้าหมายไปสู่การเตรียมพร้อมการทำงานของทุกภาคส่วนในการผลักดันไปสู่นโยบายสาธารณะ

แฟลต์ฟอร์มที่จะช่วยให้พูดเรื่องนี้ได้มีแฟลต์ฟอร์มอะไรบ้าง

วิลาสินี: Policy Watch ที่ Thai PBS ทำคือให้ความรู้ก่อน สิ่งแรกคือ การทำให้คนมีความรู้ ทะลุจากกรอบความรู้เก่าๆ มายาคติเดิม และการตีตราคนป่วยสุขภาพจิต แต่ต้องย่อยให้เป็นความรู้ที่อ่านแล้วเข้าใจง่าย แล้วทำให้คนหันกลับมามองแบบเข้าใจ สิ่งต่อมาคือ ลำดับเหตุการณ์ ถ้าอยากให้คนติดตามเรื่องนี้อย่างเข้าใจต้องให้คนรู้ว่านโยบายดำเนินงานไปถึงไหนแล้ว ทำถูกต้องหรือเปล่า ช่องความสำเร็จของนโยบายมาจากนโยบายด้านสาธารณสุขก็จะเป็นเรื่องระบบบริการสุขภาพเป็นส่วนใหญ่ มองแค่นี้จะเห็นเลยว่านโยบายหลายมิติยังไม่เกิดขึ้นหรือหายไป

แต่ละองค์กรเข้าใจคำว่าสุขภาพจิตอย่างไรบ้าง 

ธีรพัฒน์ : มีคนพยายามจะบอกว่า ถ้าประเทศเราจะดี สุขภาพต้องดี แต่ผมอยากพูดให้ชัดกว่านี้อีก ถ้าประเทศเราจะเจริญรุ่งเรืองได้ สุขภาพจิตต้องดี ที่ผมพูดแบบนี้มี 4 เรื่องสำคัญที่รู้สึกว่าไม่พูดถึงมันไม่ได้แล้ว เรื่องแรกต้องเข้าใจว่า สุขภาพจิตเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ผมว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สังคมไทยรับรู้แต่ละเลยการพูดถึงมายาวนาน พอเราเข้าใจว่ามันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคนต้องมีภาวะเชิงบวกของชีวิตหรือสามารถจัดการปัจจัยในการเข้าถึงความสุขของตัวเองได้ อันนี้เป็นเรื่องพื้นฐานที่สุดและทั่วโลกรับรองเรื่องนี้ เพราะนี้เป็นสิ่งสำคัญพื้นฐานมากๆ เรื่องต่อมาผมอยากให้เข้าใจว่า เราไม่สามารถมีสุขภาพทั้งหมดที่ดีได้เลยถ้าไม่มีสุขภาพจิตที่่ดี นี่เป็นอีกเรื่องที่ต้องเข้าใจ เราไม่สามารถคำว่าสุขภาพแบบแยกส่วนเพราะสุขภาพเป็นองค์รวม กาย จิต ปัญญา สังคม จิตวิญญาณ ทุกอย่างสัมพันธ์กัน เราจะมีสุขภาพจิตที่ดีไม่ได้เลยถ้าไม่มี Mental Health ที่ดีซึ่งถูกใช้ในหลายประเทศแล้ว ถึงเวลาแล้วที่เมืองไทยต้องเริ่มใช้คำแบบนี้มาเป็นการขับเคลื่อนเรื่องสุขภาพทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีปัจจัยทางสังคมและปัจจัยอื่นๆ มากมายกำหนดสุขภาพจิตของเรา การจ้างงาน โครงสร้าง โอกาส การศึกษา ความเป็นอยู่ ถ้าเราเข้าใจภาพนี้ เราจะรู้เลยว่าเงื่อนไขการมีความสุขของคนสัมพันธ์กับเรื่องความเหลื่อมล้ำอย่างแยกขาดกันไมไ่ด้ หากมองแยกส่วนเป็นวงกลมเล็กๆ แบบที่อาจารย์วิลาสินีพูด เราไม่สามารถขับเคลื่อนให้สุขภาพจิตเป็นเรื่องสุขภาวะ เรื่องสุดท้ายคือ สุขภาพจิตไม่ใช่แค่ปัญหาสุขภาพหรือสาธารณสุข เอาจริงๆ แล้วเป็นความท้าทายเรื่องการพัฒนาชาติเลยเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาการที่ยั่งยืน สุขภาพจิตต้องเป็นหนึ่งในหัวหอกสำคัญมาก เราอาจจะรับรู้กันว่ามีเป้าหมายพูดเรื่องการมีสุขภาพที่ดี การมีชีวิตที่ดี หากเรายังเข้าใจสุขภาพจิตเป็นเรื่องของการตอบเป้าหมาย เราจะไปไม่ถึงเลย เพราะเรายังมองแยกส่วนอยู่ และสัมพันธ์กับเป้าหมายอื่นๆ ดังนั้นเรื่องสุขภาพจิตไม่ใช่แค่เรื่องเป้าหมายใดเป้าหมายหนึ่ง นี่แหละคือคำตอบว่าทำไมต้องมาคุยกันแล้วว่าไม่ใช่ปัญหาสุขภาพส่วนตัวหรือแค่ระบบสุขภาพของสาธารณสุขที่กรมสุขภาพจิตหรือหน่วยงานรัฐดูแล แต่เป็นเป้าหมายการพัฒนาประเทศ เคยมีการสำรวจครั้งหนึ่งพบว่า ทั่วโลกเราสูญเสียวันทำงานมากกว่า 10,000 ล้านวันต่อปีที่สูญเสียไปกับปัญหาสุขภาพจิตเป็นแรงมากขนาดไหน ถือว่าเป็นตัวเลขที่สำคัญมากๆ

สมดุลของการใช้เทคโนโลยีกับปัญหาสุขภาพจิต

วรตม์ : ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีหรือสื่อต่างๆ เป็นเครื่องมือชนิดหนึ่ง ถ้าเรารู้วิธีการใช้เครื่องมืออย่างถูกต้องสามารถเป็นประโยชน์ได้ ไม่ใช่โทษอย่างเดียว ลองคิดตามดู ที่บ้านมีมีดอยู่เล่มหนึ่งใช้ไปทำร้ายคนอื่นก็เป็นตัวร้าย ถ้าเอาไปใช้ทำเป็นกับข้าวก็ทำให้อิ่มท้อง มันขึ้นอยู่กับวิธีการใช้และคู่มือในการใช้แต่เราไม่ค่อยอ่าน เวลาซื้อเครื่องซักผ้า ทีวีมา อย่างแรกที่เราทิ้งไปพร้อมกับกล่องก็คือคู่มือการใช้ พอเราใช้ไม่ถูกต้อง ผลร้ายก็ตามมาเพราะเราใช้ไม่เป็น สื่อพอเราใช้ไม่เป็นมีผลกระทบมากมาย ระยะเวลาในการใช้ไม่ถูกต้อง ไปกินข้าวกับเพื่อนแล้วทุกคนหยิบมือถือขึ้นมา เพื่อนบางคนก็รู้โดดเดี่ยวเหมือนกัน เราเริ่มโดดเดี่ยวตั้งแต่วันนี้เพราะเราไม่รู้เวลาที่ควรใช้ การเข้าถึงเนื้อหาที่เป็นอันตรายที่เราไม่รู้ ทุกวันนี้ประชาชนทุกคนเป็นสื่อได้ถ้าสามารถเอาเครื่องมือนี้มาสื่อสารตรงกลาง ข้อมูลพวกนี้อาจจะไปช่วยคนรอบข้างได้ เพราะฉะนั้นสื่อพัฒนาต่อไปในอนาคตเรื่อยๆ แน่นอน ถ้าเราเข้าใจ ถ้าเราอ่านคู่มือ ผมคิดว่าเราได้รับผลกระทบเชิงลบน้อยลง และสามารถใช้งานในเชิงบวกได้มากขึ้น

กุลิสรา: เห็นด้วยกับหมอวรตม์ในการหาสมดุล แล้วจะต้องมีคู่มือ สิ่งสำคัญที่จะอยู่ในคู่มือคือ ความรอบรู้ในการใช้เครื่องมือต่างๆ  สื่อเองให้ความรู้ที่ถูกต้องได้ว่ามองหน้าจอไม่เกินวันละเท่าไร สร้างความตระหนักรู้ขึ้นมาด้วยการทำสื่อ เช่น การบูลลี่คนอื่น องค์กรมีความเครียดจะมีผลกระทบอย่างไร จะสร้างความรอบรู้ทางด้านสุขภาพจิตในระดับที่เขาอยากจะเปลี่ยนแปลงตัวเองแล้วส่งผลที่ดีในคนทุกกลุ่มเลย 

วิพัตรา: คิดว่ามีการขยับได้หลายระดับ ระดับประเทศ ไปช่วยคุมเรื่องกฎหมาย จริยธรรมในการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิตอล องค์กรก็สามารถดูแลควบคุมตรงนี้ได้ ส่วนเรื่องที่จะอยู่ในสังคมดิจิทัลอย่างไร ไม่ให้ส่งผลต่อสุขภาพใจ ส่วนแรกคือ Digital Literacy ความรอบรู้ทางด้านสุขภาพ ส่วนต่อมา Mental Health Literacy เราใช้เป็นแล้วแต่ถ้ามีอะไรมากระทบใจ เราก็จะได้มาดูแลจิตใจของเราและคนรอบข้างได้ ส่วนสุดท้าย รู้และเข้าใจตัวเอง ตอนเรียนที่คณะแพทย์ จุฬาฯ อาจารย์เคยสอนอยู่อย่างหนึ่งว่า เข้าใจคนไข้ เข้าใจโรค เราเข้าใจทุกๆ อย่าง สิ่งที่สำคัญก่อนนิสิตจบไปคือ เข้าใจตนเอง เพราะฉะนั้นเมื่อเขามีความรู้ทางสุขภาพจิต แล้วก็เข้าใจตัวเองด้วยว่าใช้ดิจิตอลเรื่องอะไร เขาก็จะสามารถบาลานซ์ว่าอะไรคือความสุขของเขา บาลานประโยชน์หรือเป้าหมายต่างๆ ของเขาจะเป็นอย่างไร

เพราะเข้าถึงคู่มือทำให้คนเข้าถึงสื่อ เทคโนโลยีไม่ได้ถูกต้อง

วรตม์ : มีงานวิจัยที่ศึกษาแล้วมีคำถามว่า ทำไมคุณพ่อคุณแม่ไม่สามารถควบคุมการใช้เทคโนโลยีของลูกได้ แล้วค้นพบว่า ไม่ใช่พ่อแม่ไม่รู้วิธีควบคุมแต่พวกเขาไม่รู้จักโซเชียลมีเดียเลย เขาตามไม่ทัน ถ้าเขาตามทันแล้วทำความเข้าใจกับลูก พูดคุยสื่อสารกันสามารถเกิดคู่มือในบ้านได้ ครอบครัวนี้ให้ลูกเล่นเกมได้วันละ 3-4 ชั่วโมงต่อวัน ถ้าหากพ่อแม่ไม่มีเวลาดูกำหนดเป็นสัก 1-2 ชั่วโมงไหม คอนเทนต์แบบนี้อนุญาตให้ลูกดู บ้านอื่นไม่ให้ดู ผมคิดว่าการสร้างองค์ความรู้ Literacy เรื่องสื่อ สุขภาพจิต หรือแม้กระทั่งการรู้จักตัวเอง ครอบครัวมีส่วนช่วยอย่างมาก

ภาพอนาคตที่ 3 เน้นไปที่ท้องถิ่น มันมีกลไกอะไรบ้างทำงานนี้อยู่ในประเทศไทย 

ชาติวุฒิ : ความน่าสนใจสิ่งที่เราพูดคุยกันอยู่ใน Recommendation ของคนทำงานระดับโลกใช้ชื่อว่า The Lancet Commission on Global Mental Health ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการตระหนักรู้ ลดการตีตราสุขภาพจิต สุขภาวะทางจิตใจเป็นเรื่องปกติเมื่อไหร่ไม่สบายใจมีทางออก ช่วยกันป้องกันหรือแก้ไขปัญหาได้ การเพิ่มช่องทางการเข้าถึงรักษาที่ไม่ใช่การรักษาอย่างเดียว แต่เป็นการสร้างนำซ่อมให้จัดการตัวเองในวันที่ไม่โอเค สิ่งที่สสส. และภาคีดำเนินการเพราะมีข้อจำกัดเรื่องบุคลากรทางด้านสุขภาพจิตที่มีอยู่น้อยมาก ถ้าอย่างนั้นเราสร้างคนในชุมชนเพื่อทำให้เขาสามารถดูแลสุขภาพจิตของคนในชุมชนเอง มีหลายโมเดลเลยแต่ที่อยากเล่าชื่อว่าสุขเป็น  ลงพื้นที่แล้วชวนผู้คนมาคุยกัน 98 เปอร์เซ็นต์เชื่อว่าทำงานกับผู้ป่วยจิตเวช คนที่ทำงานในโมเดลสุขเป็นไปไม่เป็นเลย เลยกลับมาแล้วมานั่งคิดกันว่าสุขภาพจิตมิติสร้างนำซ่อมคนจะมีภาพจำเป็นการดูแลผู้ป่วยจิตเวช กลับมาแล้วสร้างโครงการใหม่ ใช้ชื่อใหม่ นิยามใหม่ เรียกว่าสุขเป็น สุขเป็นใช้วิธีคิดจิตวิทยาเชิงบวกที่เรียกว่า PERMA จิตใจมีความสุขต้องทำอย่างไรบ้าง มีส่วนร่วมกับคนอื่นๆ ตัว PERMA เป็นตัวอย่างที่ดีที่ทำให้ชุมชนไม่รู้สึกว่าเป็นเรื่องทางการแพทย์ แต่คนในชุมชนที่สนใจประเด็นสุขภาพจิตถูกฝึกสอนให้เข้าใจว่าสุขภาพจิตไม่ใช่เรื่องที่ต้องให้ยา การมีผู้รับฟัง การมีคนที่ช่วยทำให้เข้าใจว่าตอนนี้รู้สึกอย่างไร เมื่อไหร่ที่กังวล เครียด เรามีวิธีการจัดการกับความเครียดเหล่านั้น นี่คือหัวใจสำคัญที่ปลูกสร้างวิธีการทำงานแบบใหม่ที่ไม่ใช่  One on One Base สิ่งที่โลกต้องการคือ Population base เพราะบุคลากรทางสุขภาพจิตน้อยมาก นักจิตวิทยา 1 คนดูแลประชากรหนึ่งแสนกว่าคน ในทางปฏิบัติยากมาก เอาสิ่งที่ชุมชนเขาทำงานกันอยู่แล้วหยิบมาสร้างเป็นชุดประสบการณ์แล้วเตรียมขยายผล หยิบประสบการณ์จากสุขเป็นเอาไว้ใช้ต่อ สุดท้ายไม่ใช่การทำงานเชิงชุมชนอย่างเดียวแต่เราพูดถึงกลไกที่เป็นพรบ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ.2562 ให้ความสำคัญกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หน่วยงานต่างๆ ในชุมชนสามารถตอบสนองเรื่องสุขภาพจิตได้ สิ่งสำคัญในการทำงานองค์กรส่วนท้องถิ่น หากสร้างมาตรการ กลไก สร้างคู่มือของชุมชนเองแล้วสามารถจัดการเรื่องการมอนิเตอร์ อาจจะมีผู้คนที่จิตไม่สุขตอนนี้ คนที่มีแนวโน้มก่อความรุนแรง ผู้คนที่ต้องการเป็นพิเศษ ชุมชนจะรู้จักชุมชน ทำอย่างไรให้คนในชุมชนสามารถที่จะดูแล ใส่ใจ เอื้อประโยชน์ในการดูแลสุขภาพจิตในชุมชนได้ นี่คือหัวใจสำคัญที่เราพยายามจะเร่งสร้าง

โมเดลสุขเป็นเริ่มทำ 9 จังหวัด เสียงตอบรับดีมากเรากำลังเตรียมเข้าสู่กรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติเพื่อให้เห็นว่านโยบายชุมชนคู่ขนานไปกับการทำงานระดับประเทศได้ 

ระบบทางสุขภาพจิตก็มีการวางแผนอยู่แล้วให้การแพทย์ระดับปฐมภูมิไปเชื่อมโยงเรื่องกับชุมชน 

วรตม์: การทำงานด้านสุขภาพจิตผ่านหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งได้ ถ้ากรมสุขภาพจิตทำงานด้วยกันอย่างเดียวก็จะไม่เห็นภาพรายละเอียดแต่ละชุมชนเหมือนกับภาพอนาคตที่ 4 เราเรียกว่า  Centralized หมายถึงการรวมศูนย์ตรงกลาง Decentralized หมายถึงการกระจายออก สาเหตุที่ต้องกระจายออกแทนที่รวมศูนย์ทำงานง่ายกว่าคือ ชุมชนรู้ว่าต้องการอะไร บางชุมชนในภาคเหนือมีปัญหาการฆ่าตัวตายสูง แต่บางจังหวัด ภาคอื่นอาจจะไม่มีปัญหาการฆ่าตัวตาย เขาอาจจะไม่ต้องเลือกทำในสิ่งที่ส่วนกลางบอกว่า ต้องทำเรื่องการฆ่าตัวตายอย่างเดียวหรือบางชุมชนมีปัญหาเรื่องยาเสพติดบริเวณชายแดน แต่ส่วนกลางไม่มีปัญหาเรื่องนี้ ถ้าเราให้คนที่เขาเข้าใจชุมชนร่วมออกนโยบาย คนในชุมชนเขาต้องการอะไร แล้วทำงานประสานกันผ่านกลไกต่างๆ 

ข้อต่อของแต่ละหน่วยงานจะเชื่อมกันได้อย่างไร

วรตม์: ย้อนไปที่อาจารย์ธีรพัฒน์บอกว่าเรื่องสุขภาพจิต ถ้ามองว่ามีปัจจัยเรื่องสุขภาพจิตอย่างเดียวแบบนี้เป็นการมองที่ไม่ครอบคลุม เราต้องรู้ว่ามีปัจจัยทางสังคมมากมายที่ส่งผลต่อสุขภาพจิต โดยที่ปัจจัยทางสังคมนั้นไม่ได้อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงสาธารณสุขแต่อยู่ภายใต้สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ หน่วยงานอสังหาริมทรัพย​์ ภาคเอกชน ถ้าเรามองว่าปัจจัยเล็กๆ น้อยๆ ในสังคมเกี่ยวข้องกับสุขภาพจิตทั้งหมด เราจะเห็นว่าทุกคนสำคัญ พอเห็นภาพแบบนี้ก็ต้องเอื้อมมือออกไปทำงานกับทุกภาคส่วนที่ไม่ใช่หน่วยงานทางสุขภาพจิตด้วยแต่มีบทบาท ถือปัจจัยสุดท้ายจะส่งผลต่อด้านสุขภาพจิตของคน

ทำไมเราเห็นนวัตกรรมฮีลใจไม่น้อยเลยแต่ทำไมไม่ถูกไปใช้

วพัตรา:  ยกตัวอย่างศูนย์วิจัยอนาคตศึกษา Future Tales Lap เพราะเรามีบริษัทแม่ที่ MQDC ซึ่งเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ ทุกผลการศึกษาที่มุ่งเผยแพร่สู่สาธารณะเป็นสิ่งสำคัญ เราก็ยังนำงานวิจัยนั้นมาพัฒนาที่อยู่อาศัย ชุมชน รวมถึงการพัฒนาเมือง เราจะพัฒนาเมืองอย่างไรให้คนมีสุขภาวะที่ดี ทุกงานวิจัยที่พวกเราทำต่อยอดเพื่อไม่ให้งานวิจัยทำมาแล้วก็จบไป นอกจากนี้ยังมีสร้างผลิตภัณฑ์และบริการสู่คน คิดว่าการทำอะไรสักอย่างหนึ่งขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้บริหารองค์กรมากกว่าแล้วนำไปใช้งานต่อได้ นโยบายของไทยขาดการติดตามและการวัดผล เลยไม่ได้วัดประสิทธิภาพว่าเป็นอย่างไร ควรจะต้องยกระดับมาตราฐาน สิ่งต่างๆ ที่จะนำไปดำเนินการให้เกิดประสิทธิภาพจริงๆ 

กุลสิรา: ภารกิจหลักของเราคือ การให้ทุนวัตกรและนักวิจัยเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางด้านสุขภาพจิต ในส่วนนี้เราช่วยพัฒนาผู้ประกอบการด้วยเนื่องจากเราต้องการให้การพัฒนานวัตกรรมไปเรื่อยๆ จะต้องอาศัยความยั่งยืนจากกำไร เพราะฉะนั้นการใส่ผู้ประกอบการลงไปในนวัตกรที่สร้าง Mental Health Technology or Innovation ค่อนข้างสำคัญ เมื่อกี้ถามว่าเรามีผลิตภัณฑ์และกระบวนการนวัตกรรมที่มาช่วยส่งเสริมด้านสุขภาพจิตแต่ทำไมยังกระจายไปสู่มือผู้คน เพราะเราต้องการไปสู่ทุกคนแต่เราทำเองไม่ได้ วันนี้เราเลยมาหาเพื่อน จับมือกับเครือข่ายและพันธมิตรเพื่อขยายไปให้ผู้คนใช้ประโยชน์จากนวัตกรรม 

Hackaton มีโจทย์ว่าอย่างไรบ้าง

วรตม์: HACK คือกระบวนการบางอย่างทะลุทะลวงให้เราได้ข้อมูลมาอย่างรวดเร็ว a ton นี่มาจากมาราธอน สื่อถึงการใช้พลังงานอย่างสูงในการทำต่อเนื่องและเต็มที่ Hackaton เป็นคำที่ถูกใช้ในวงการด้านนวัตกรรมต่างๆ เพื่อเร่งรัดให้เกิดอะไรบางอย่างขึ้นมา เช่น นโยบาย นวัตกรรม ทาง Thai PBS ก็เคยจัดหลายครั้ง แล้วเกิดไอเดียใหม่ขึ้นมาหลังจากทำเล่มอนาคตศึกษา ซึ่งก่อให้เกิดอะไรหลายๆ อย่างมากมาย เช่นคนที่ทำนโยบายด้านสุขภาพจิตขึ้นมานอกเหนือจากกรมสุขภาพจิต ตอนนั้นผมไปทำงานกับสสส. เพื่อร่างไอเดียนี้ขึ้นมาจูงมือเพื่อนๆ ที่สมัครใจบางไม่สมัครใจบาง มามีแนวคิดเดียวกับเราแล้วเกิดสถาบันวิชาการความยั่งยืนทางสุขภาพจิต  ถามว่าทำไมเราต้องทำงาน Hackaton ทางสุขภาพจิต เพราะเรารู้ว่าในงานวิจัยมากมายต้องการนวัตกรรมเกิดจากหน่วยงานสาธารณสุขหน่วยงานเดียวได้ จะต้องอาศัยหลายหน่วยงานที่คนมองว่าไม่เกี่ยวกับสุขภาพจิตเลยแล้วเกิดนวัตกรรมต้องเกิดอย่างรวดเร็ว เพราะสถานการณ์ทางสุขภาพจิตนำหน้าไปไกล เราดูข้อมูลจากระบบ HDC ของกระทรวงสาธารณสุขเราพบว่ามีคนไข้จิตเวชผู้ป่วยนอกพ.ศ. 2565 กับ พ.ศ. 2566 เพิ่มขึ้น 10 เปอร์เซ็นต์ ผู้ป่วยในเพิ่มขึ้น 20 เปอร์เซ็นต์ เรากำลังไล่ตามตัวเลขที่มากขึ้น ถ้าจะไล่ตามให้ทันเราต้องเร่งความเร็วต้องอาศัยนวัตกรรม และการสร้างนวัตกรรมอย่างรวดเร็ว งาน HACK ใจ เลยเกิดขึ้นเพื่อสร้างนำซ่อมอย่างที่ผอ.ชาติวุฒิ จะไม่เน้นการรักษาแต่เน้นการสร้างอย่างไรให้คนมีสุขภาพจิตที่ดี แข็งแรง เข้มแข็ง โดยคนที่ทำไม่ใช่กรมสุขภาพจิตองค์กรเดียวแต่เป็น 8 ภาคส่วนที่พันธกิจหลักไม่ได้เกี่ยวกับสุขภาพจิตเลยแต่ลองคุยจะรู้ว่าทำเรื่องสุขภาพจิตมาโดยตลอดแต่ไม่ได้พูดว่าทำเรื่องสุขภาพจิต นี่เป็นการจับมือกันเพื่อให้เกิดมิติใหม่ๆ ของการทำงานด้านสุขภาพจิต

แล้วคุณกุลิสราและวิพัตราได้โจทย์อะไรมาทำอะไรใน HACK ใจ 

กุลิสรา: โจทย์ของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ เป็นเรื่องนวัตกรรมสุขภาพจิต นวัตกรรมเราไม่ได้พูดแค่เป็นผลิตภัณฑ์หรือบริการเทคโนโลยีแต่เราหมายถึงกระบวนการด้วยที่เข้าถึงทุกคนหรือเปลี่ยนสภาพแวดล้อมประเทศไทยแห่งความผาสุข

วิพัตรา: ทางเราได้รับโจทย์การออกแบบเมืองอย่างไรให้คนอยู่เมืองแล้วมีความสุข และออกแบบพื้นที่สาธารณะให้คนเข้าถึง แล้วมีการเตรียมความพร้อมของเมืองว่าควรมีอะไรบ้าง พวกเราประชุมกันแล้วผลงานอะไรที่เกิดจาก HACK ใจ เราจะดำเนินงานให้เกิดผลต่อทุกคน 

เป้าหมายสำคัญของ HACK ใจคืออะไร  นวัตกรรมที่ได้มาแต่ละกลุ่มจะไปต่อยอดอะไรได้บ้าง

ธีรพัฒน์:  HACK ใจ วางอยู่บนแนวคิดสำคัญที่เราคุยกันมาเยอะมาก มีตัวหนึ่งที่ผมอยากจะเน้นย้ำเกี่ยวกับการทำงานสุขภาพจิตจำเป็นต้องใช้ความร่วมมือจากทุกคนเนื่องจากสุขภาพจิตเป็นเรื่องของทุกคน ผมว่าอันนี้เป็นพื้นฐานเลย องค์กรทั่วโลกยอมรับแล้วว่าไม่มีทางเลยที่ใครคนใดคนหนึ่งจะทำได้ HACK ใจ บนฐานสำคัญคือ ความร่วมข้ามภาคส่วน เป็นการออกแบบให้ทั้งรัฐและเอกชนมาทำงานรวมกัน ท้ายที่สุดความร่วมมือตรงนี้สอดรับเรื่องสำคัญอย่างปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพจิตแต่ซับเซตย่อยที่กำลังพูดกันในระดับโลกคือ ปัจจัยเชิงพาณิชย์ที่ภาคเอกชนมามีบทบาทต่อสุขภาพจิต เรื่องนี้เป็นเหตุผลสำคัญว่าทำไมเราต้องเชิญภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างมาก เนื่องจากตัวแปรสำคัญในการเปลี่ยนแปลงสังคมเกือบทุกเรื่องไม่อยู่ภาครัฐ ภาคประชาชน ยังมีภาคเอกชนอยู่ในสมการ ต่อมาการทำให้สิ่งดีๆ ที่เกิดจาก HACK ไปต่อได้ ทำอย่างไรให้แนวคิดเชิงนโยบายและเชิงนวัตกรรมสามารถไปอยู่ในธรรมเนียมปฏิบัติของคนที่มีอำนาจในการตัดสินใจ ผมคิดว่าอันนี้เป็นเรื่องสำคัญให้ผู้มีอำนาจเอาเรื่องนี้ไปใช้และทำได้หลายอย่าง อย่างแรกคือ การที่เราเอาข้อเสนอนี้ไปต่อกับกลไกของภาครัฐที่มีเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นกรม คณะกรรมการทางด้านสุขภาพจิต อย่างต่อมาคือ พูดคุยกับคนที่มีทรัพยากรและส่งเสริมให้เกิดโครงการแบบนี้แล้วกระจายไปทั่วประเทศหรือภาคประชาชนรวมตัวกันล้อมมีอำนาจอีกทีหนึ่งก็ได้ ท้ายที่สุดแล้วความคิดที่ดีเกิดจะไปอยู่ตรงไหนมันย่อมดีเสมอ แต่ตอนนี้เราต้องร่วมมือกันแล้วกำหนดกรอบให้ชัดดว่า สุขภาพจิตไม่ใช่แค่เรื่องส่วนบุคคลแต่เป็นการพัฒนาชาติแล้วทุกคนต้องร่วมมือกัน

เราจะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสุขภาพจิตได้ไหม 

วิลาสินี: สิ่งที่พวกเรากำลังช่วยกันทำทั้ง Thai PBS และภาคีเครือข่ายคือ ทำให้สุขภาวะทางจิตเป็นเรื่องของทุกภาคส่วน หากอยากทำให้แก้ปัญหาสำเร็จหรือสร้างเสริมความสุขของคนทั้งชาติได้ต้องทำให้สุขภาวะทางจิตไม่ใช่แค่เรื่องบริการสุขภาพสื่อสาธารณะอย่าง Thai PBS ทำให้เกิดความมั่นใจว่าทุกข้อเสนอที่จะมาจากเวที HACK ใจ และกระบวนการทำงานของพวกเราส่งต่อไปถึงคนกำหนดนโยบายทุกนโยบาย ไม่ว่าจะเป็นนโยบายเรื่องการจราจร นโยบายเรื่องผังเมือง นโยบายเรื่องเศรษฐกิจ นโยบายเรื่องการศึกษา นโยบายเรื่องผู้สูงอายุ นโยบายเรื่องอาญากรรม และนโยบายเรื่องยาเสพติด 
 

ความร่วมมือต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นคิดว่าจะช่วยคิดว่าจะแก้ไขปัญหาจนบุคลากรไม่พอ สร้างกลไกที่เข้มแข็งในสังคมได้ไหม 

ชาติวุฒิ: เมื่อเติมความเชี่ยวชาญที่หลากหลายจากมิติที่แตกต่างกันเราจะได้นวัตกรรมที่สู่คนประเภทต่างๆ ได้ นี่คือหัวใจสำคัญว่าทำอย่างไรเราถึงจะมีมิติในการเชื่อมโยงผู้คนที่ดูไม่ค่อยเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพจิต แต่มีดัชนีชี้ความสุข World Happiness Index เก็บข้อมูลใน 150 ประเทศหลายปีมาก พบว่ามีเรื่องที่เป็นเรื่องสาธารณสุขเรื่องเดียวที่เหลือเป็นเรื่องอื่นหมดเลย เช่น GDP ความโปร่งใส ความมีอิสระในการตัดสินใจ มันชี้ชัดเลยว่าเรื่องสุขภาพจิต สุขภาวะทางจิตในไม่ใช่แค่เรื่องสาธารณสุข แต่เป็นเรื่องของทุกคน สสส. จะช่วยให้พวกเราเติมใจผู้คน เติมความเข้มแข็ง เราออกกำลังกายกันอย่างสม่ำเสมอ เราจะมีนวัตกรรมเพื่อออกกำลังใจพร้อมใช้ในวันที่เราไม่โอเค เหน็ดเหนื่อย ซึมเศร้า

นี่เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราเห็นปลายทางว่าเรามีเครื่องเมืองพร้อมใช้ แล้วนำไปขยายผลต่อได้ ขยับกลไกเพราะมีเครื่องมือต่างๆ แล้วจะเอาไปใช้ในจังหวัด จากที่หมอวรตม์ว่าประเทศต้องเร่งขยับพัฒนานวัตกรรมสมัยใหม่ที่ตอบสนองต่อชีวิตผู้คน ตอบสนองต่อใจที่ไม่ฟู ทำให้เกิดการจุดประกายความสุขเป็นระยะ  ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญและชื่นชมมากๆ 

 

 

 

ขอบคุณภาพจาก https://theactive.net/news/publichealth-20240221/?fbclid=IwAR2lw2gzyiyqSq7YldtDdurqQLIXs1fcvCV7xBRruWYNXeHQpqZOyog_HRY